ทิศทางการพัฒนาตนเองของบัณฑิตจิตวิทยา [TNCP 2019]

Panthipa Suksirisorn
Be PSY You
Published in
3 min readJul 31, 2019

บันทึกข้อมูลความรู้จากงาน โครงการประชุมวิชาการและนำเสนอผลงานวิจัยระดับชาติทางจิตวิทยา เรื่อง ”จิตวิทยากับพลวัตสังคมโลก” Thailand National Conference on Psychology (TNCP 2019) “Psychology with Dynamic of Global Society” ณ หอดนตรีและศิลปะการแสดงอโศกมนตรี อาคารนวัตกรรม : ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อวันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา

ภาพจาก 123rf.com

โดยในเวทีนี้มีผู้ร่วมเสวนาจากหน่วยงานต่างๆทั้งในมุมมองของผู้ที่ทำงานภาครัฐและภาคธุรกิจ-เอกชน โดยมีวิทยากรได้แก่…

ภาพจาก tncp.hu.swu.ac.th (สามารถดาวน์โหลดเอกสาร ISSN 2586–8837 ปีที่ 3ได้)
  • คุณบุษบา เจนมธุกร : รองประธานฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท NewHampshire Insurance Company
  • ทพญ.กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ : ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ “Ooca” บริษัท เทเลเมดิก้า จำกัด — แอพพลิเคชั่นในการพบแพทย์ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา รูปแบบใหม่ผ่านวิดีโอคอล
  • คุณพิริยาภรณ์ สุวรรณเตมีย์ : นักจิตวิทยาพัฒนาการ และผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช

บทความนี้เป็นเนื้อหาจากการเข้าร่วมงาน TNCP 2019 ในหัวข้อ “การพัฒนาบัณฑิตจิตวิทยาในมุมมองหลากมิติ” เป็นการเสวนาจากผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานในวงการจิตวิทยา (และการค้นคว้าเพิ่มเติม) มาให้ข้อมูลว่าคนที่เรียนจบจิตวิทยาไป ในปัจจุบันนี้จะทำงานในโลกยุค Digital Disruption ที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างไร

ภาพจาก The Psychological Society of Ireland

เรื่องราวของการบริการด้านสุขภาพจิตในอดีต

ย้อนไปเมื่อ 4–5 ปีก่อน หากใครพูดถึงจิตวิทยา ภาพในหัวของใครหลายคนก็จะนึกถึง คนบ้า คนเป็นโรคจิต ไม่เพียงแต่ความเข้าใจผิดที่แพร่หลายในสังคมไทย การให้บริการทางด้านสุขภาพจิตเองก็ไม่ได้มีภาพของการให้การดูแลและเยียวจิตใจของคนปกติในสังคม

คนจำนวนมากมีอคติต่อการเจ็บป่วยทางจิตผู้ป่วยมักถูกต่อต้านและรังเกียจจากสังคม (Stigma and Discrimination) การไปรับการรักษายังถูกมองว่าเป็นเรื่องน่าอับอาย ( ศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ, ม.ป.ป.)

รวมทั้งการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตและจิตเวชก็เป็นเรื่องยากที่ผู้ต้องการรับบริการจะเข้าถึง โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ศูนย์อนามัยบางแห่งมีแพทย์ไม่กี่คน รวมทั้งราคาในการให้บริการก็มีราคาสูง

3 ปัจจัย..อุปสรรคการเข้าถึงบริการจิตเวช บทความจาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (2560)

1. ความต้องการในการเข้ารับบริการ : ระดับความต้องการในการใช้บริการจะสูงขึ้นในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต เช่น กลุ่มคนยากจน มีการศึกษาต่ำ กลุ่มแรงงานนอกระบบ การย้ายถิ่น กลุ่มที่ขาดข้อมูลหรือความรู้เรื่องปัญหาสุขภาพจิตต่างๆ กลุ่มที่มีปัญหาค่าใช้จ่ายในการรับบริการ สิทธิการรักษาพยาบาลที่ไม่ครอบคลุมปัญหาจิตเวชบางประเภท
2. ทรัพยากรมีจำกัด : ทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับระบบการให้บริการมีอยู่อย่างจำกัด เช่น จำนวนจิตแพทย์ บุคลากรทางด้านสุขภาพจิต จำนวนสถานที่ที่ให้บริการ
3. ระบบการให้บริการ : เริ่มตั้งแต่การคัดกรองโรคจิตเวชต่างๆ การวินิจฉัยที่ถูกต้อง การดูแลรักษาเบื้องต้น การส่งต่อ ช่องทางการให้บริการ

ภาพจาก Trauma and Beyond Center

อีกทั้งกรมสุขภาพจิต (2551) พบว่า มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในประเทศไทยราว 1.2 ล้านคน แต่เข้ารับการรักษาเพียง 1.5 แสนคน แสดงว่ามีผู้ป่วยซึมเศร้าที่ได้เข้ารับการรักษาเพียง 12.5% เท่านั้น

จะเห็นได้ว่าการบริการด้านสุขภาพจิตในอดีตนั้น มีความท้าทายมากมายทั้งการให้และการรับบริการแต่โชคดีที่ปัจจุบันมีช่องทางมากมายทั้งในรูปแบบที่ไปพบได้ (Wellness Center, ศูนย์อนามัย, คลินิกให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต, โรงพยาบาล) รูปแบบการให้บริการแบบ HotLine และ ช่องทางออนไลน์ (VDO counseling)

ทำความรู้จักกับงานของนักจิตวิทยาในปัจจุบัน

ขอพูดถึงอาชีพ “นักจิตวิทยา” ก่อนจะทำความรู้จักกับงานของนักจิตวิทยาแล้วกัน นักจิตวิทยา (Psychologist) คือ คนที่เรียนรู้ศาสตร์ด้านจิตวิทยาจนมีความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมและจิตใจของมนุษย์หรือจิตวิทยา รวมถึงสามารถอธิบาย ทำนาย พัฒนาและควบคุมพฤติกรรม รวมทั้งคอยให้คำแนะนำ เผยแพร่ความรู้ และอีกมากมายเกี่ยวกับจิตวิทยา ทั้งนักจิตวิทยาคลินิกที่ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตในโรงพยาบาล หรือแม้กระทั่งอยู่ในสายอาชีพทรัพยากรบุคคลที่ทำงานในบริษัท

ที่ทำงานของนักจิตวิทยา (Workplace)

ภาพจาก successfulchange4u.com

· โรงพยาบาล (Hospital) : สำหรับนักจิตวิทยาที่ทำงานในโรงพยาบาลหรือศูนย์อนามัย จะเป็นนักจิตวิทยาคลินิก (Clinical Psychologist) โดยส่วนใหญ่ที่ทำงานกับผู้ป่วยจิตเวช และให้คำแนะนำแก่ผู้ใกล้ชิดในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช รวมไปถึงการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตแก่บุคคลทั่วไปแม้ไม่ได้เป็นโรคหรือไม่ได้มีอาการทางจิตเวชเลยก็ตาม

· บริษัทหรือองค์การภาคธุรกิจ (Corporate) : ส่วนใหญ่แล้วบัณฑิตจิตวิทยาที่ทำงานในองค์การภาคธุรกิจ ถ้าเป็นสาขาที่จบมาทำงานตรงสายเลยคือ จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ (Industrial & Organizational Psychology) หรือทำงานในฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล (Human Resource : HR) ให้การสรรหาคัดเลือก การดูแลพนักงาน และการพัฒนาฝึกอบรมพนักงาน

· การทำงานผ่านระบบออนไลน์ (VDO call counseling) : แม้ว่าจะเป็นการทำงานในรูปแบบใหม่ แต่เป็นที่กล่าวถึงกันมากในปัจจุบัน การให้บริการผ่านระบบออนไลน์ก็จะมีเทคโนโลยีในการให้ความช่วยเหลือ ผู้เข้ารับบริการสามารถนัดหมายได้ด้วยตนเองและไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ก็สามารถเข้ารับบริการด้านสุขภาพจิตได้โดยตรงจากจิตแพทย์ นักจิตวิทยาคลินิก และนักจิตวิทยาการปรึกษา

และมีการทำงานในสถานที่อื่นๆอีก เช่น ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการวัยเด็กของนักจิตวิทยาพัฒนาการ รวมทั้งโรงเรียนและหน่วยงานพัฒนาพื้นที่ชุมชนอีกมากมายที่เป็นที่ทำงานของนักจิตวิทยา

แล้ว…ทักษะหรือความสามารถอะไรล่ะ!? ที่ผู้เรียนจิตวิทยาหันมาเติมเต็มให้ตัวเองได้บ้าง

ภาพจาก Inner High Living
  1. ทักษะการให้คำปรึกษา (Counseling Skill) : ความสามารถในการสื่อสาร ทั้งการใช้ภาษาท่าทางและภาษาพูดในการช่วยเหลือบุคคลที่มีความทุกข์หรือผู้รับคำปรึกษาให้ เข้าใจปัญหาสาเหตุของปัญหาและความต้องการของตัวเอง แสวงหาและแนวทางการปรับเปลี่ยนการคิด การรู้สึกและการปฏิบัติตนเพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้น
  2. ทักษะการคิดเชิงตรรกะ (Logical Thinking) : การวิเคราะห์หาเหตุผลแท้จริงของความสำเร็จและล้มเหลว สามารถเข้าใจลำดับขั้นตอนของเรื่องราวอย่างชัดเจน เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจเลือกวิธีแก้ปัญหาได้อย่างสมเหตุสมผล
  3. ทักษะการสังเกตอย่างละเอียดอ่อน (Observing Skill) : การใช้ประสาทสัมผัสเข้าไปสัมผัสโดยตรงกับวัตถุหรือเหตุการณ์ โดยมีจุดประสงค์ที่จะหาข้อมูลซึ่งเป็นรายละเอียดของสิ่งนั้น ๆ โดยไม่ใส่ความคิดเห็นของผู้สังเกตลงไป
  4. ทักษะการฟังอย่างมีสติ (Active Listening & Empathy) : การเปิดใจ ตั้งใจรับฟังแบบเข้าอกเข้าใจโดยไม่ใช้ประสบการณ์หรือความคาดหวังของผู้ฟังเป็นตัวตัดสินผิด-ถูก โดยการสังเกตอากัปกิริยาอารมณ์ความรู้สึกของผู้พูด คิดวิเคราะห์แยกแยะ จับประเด็น และทวนกลับเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง
  5. การวางใจเป็นกลางอย่างไม่ตัดสิน (ฺNeutrality) : การทำสิ่งต่างๆด้วยความตั้งใจ โดยไม่ลำเอียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือมีอคติในการทำงาน พิจารณาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น หรือตามเหตุผลเพื่อใช้นำมาช่วยในการตัดสินภายใต้ความถูกต้อง
  6. ทัศนคติที่ดีในการทำงาน (Positive Attitude) : ในการทำงานจะมีทั้งความเครียด ความกดดันหรือความรู้สึกทุกข์ร้อนในใจที่เกิดขึ้นในการทำงาน จนอาจส่งผลต่อทัศนคติในการทำงานได้ สำรวจความคิดและจิตใจตนเองเป็นครั้งคราว และปรับเปลี่ยนมุมมองการทำงานให้เป็นแง่บวกอยู่เสมอ
  7. มีความรับผิดชอบ (Responsibility) : การรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่ตามตำแหน่งงานที่ได้รับ คำนึงผลกระทบที่ตามมา รวมทั้งการปฏิบัติงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย
  8. ทักษะการคิดเชิงนวัตกรรม (Innovative Thinking) : การคิดสิ่งใหม่ๆ ที่ช่วยแก้ปัญหา หรือพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือบริการใหม่ๆ หรือกระบวนการใหม่ ที่สามารถสร้างคุณค่าและประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์และสิ่งมีชีวิต อื่นๆบนโลกใบนี้ได้
ภาพจาก Forbes

“ทุ่มเต็มที่ ทำเต็มที่ด้วยใจ ใช้ศาสตร์ทุกแขนง”

— คุณบุษบา เจนมธุกร

ทั้งทักษะดังกล่าวทั้งหมดไม่เพียงแต่เป็นทักษะที่บัณฑิตจิตวิทยาสามารถนำไปพัฒนาตนเองได้เท่านั้น แต่สามารถนำไปใช้ในการทำงานอื่นๆ ได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

เนื้อหาน่ารู้ในการทำงานของนักจิตวิทยา และ การทำงานในยุคดิจิตัล

1. การทำงานเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยา (Counselor) :

  • วิชาชีพในการทำงาน (Profession): การให้บริการด้านสุขภาพจิตนั้นนักจิตวิทยาที่ประกอบวิชาชีพได้อย่างเหมาะสมจะเป็นจิตวิทยาการปรึกษา และนักจิตวิทยาคลินิก (โดยเฉพาะผู้มีใบประกอบโรคศิลป์) เนื่องจากเป็นผู้ที่ผ่านการเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการในการปรึกษา บำบัดรักษา เยี่ยวยาจิตใจผู้รับบริการ รวมทั้งมีระยะเวลาในการฝึกงานจนเชี่ยวชาญ
  • การรักษาความลับ (Confidentiality / Privacy) : ไม่ว่าจะเป็นการทำงานของนักจิตวิทยาสาขาใดๆก็ตาม การรักษาความลับเป็นหนึ่งในจรรยาบรรณของวิชาชีพ อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความเป็นมืออาชีพในการทำงาน
ภาพจาก ooca

2. เทคโนโลยีในการทำงานในรูปแบบต่างๆ (Technology)

  • ระบบปรึกษาทางไกล (Tele — Consultation) : เป็นบริการให้คำปรึกษาทางไกลระหว่างโรงพยาบาลกับโรงพยาบาล (One to One) โดยใช้อุปกรณ์ร่วมกับระบบการประชุมทางไกล (Tele-Video conference) หรือเป็นการปรึกษาระหว่างผู้ป่วยจากที่บ้านกับหมอในโรงพยาบาล (Tele-Medicine)
  • การเก็บข้อมูลทั้งในรูปแบบของการทำวิจัยและการวิเคราะห์คลังข้อมูลขนาดใหญ่ (Research & Data Analytic) : จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันจะมีกระแสเกี่ยวกับ Big Data มากขึ้น หรือบางคนอาจจะเรียกว่า “Data-Driven Organization” การให้ทุกๆบุคคลในองค์กรตัดสินใจโดยใช้ข้อมูล หรือในกรณีของ Ooca ผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิตเองก็มีการวิเคราะห์ข้อมูลด้านสุขภาพจิตเพื่อยกระดับการบริการอีกด้วย
ภาพจาก The Enterprisers Project

3. ค่านิยมการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป (Work Value)

  • ประสบการณ์ของพนักงาน (Employee Experience) : เมื่อประสบการณ์ที่บุคลากรได้รับจากองค์กรดีขึ้น ย่อมจะนำไปสู่การสร้างความผูกพัน ความกระตือรือร้นในการทำงาน ซึ่งจะนำไปสู่ความสามารถในการรักษาและดึงดูดบุคลากรที่มีค่าให้อยู่และทำงานให้กับองค์กรได้อย่างเต็มที่มากขึ้น องค์การต่างๆจึงหันมาให้ความสนใจกับกระบวนการทำงานของฝ่ายทรัพยากรบุคคล ตั้งแต่การรับสมัครงาน การพัฒนาบุคลากรไปจนถึงวันสุดท้ายของการทำงาน
  • งานแบบผสมผสาน (Hybrid Job ) : การหลอมรวมกันระหว่างเทคโนโลยีและทักษะยุคใหม่ เนื่องจากบริษัทต้องการพนักงานที่มีทักษะเชิงบูรณาการที่หลากหลาย ซึ่งหายากในตลาดแรงงาน อีกทั้งการทำงานที่หุ่นยนต์หรือ AI ไม่สามารถทำงานได้ ดังนั้นงานแบบแบบผสานจะมีคุณลักษณะของการตัดสินใจ หรือทักษะทางด้านอารมณ์ (Soft Skill)

บรรณานุกรม :

คณะกรรมการ TNCP 2019 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. (2562). การพัฒนาบัณฑิตจิตวิทยาในมุมมองหลากมิติ. การประชุมวิชาการและนำเสนอผลงานวิจัยระดับชาติทางจิตวิทยา ปี 2019 ณ หอดนตรีและศิลปะการแสดงอโศกมนตรี อาคารนวัตกรรม : ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. 24 มิถุนายน 2562. (น. 28–32)

ศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ. (ม.ป.ป.). แนวคิดใหม่กับการบริการด้านสุขภาพจิต. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2562, จาก https://www.bangkokhospital.com/th/disease-treatment/new-concepts-and-mental-health-services

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข. (2560). “จิตเวช” ความเจ็บป่วยที่ถูกลืม วิจัยสะท้อนช่องว่างการเข้าถึง พร้อมเสนอพัฒนาระบบบริการ แก้ปัญหาผู้ป่วยจิตเวช ลดผลกระทบสังคม. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2562, จาก https://www.hsri.or.th/researcher/media/news/detail/7860

--

--