เร็วๆ นี้ “สาขาจิตวิทยา” จะมีคุณวุฒิวิชาชีพกันแล้ว

Panthipa Suksirisorn
Be PSY You
Published in
3 min readApr 8, 2021

หลายๆคนอาจจะเคยสงสัย ว่า “นักจิตวิทยา” ต้องมีสอบอะไรรองรับไหม เช่น

  • ถ้าเป็นนักบัญชี ก็ต้องสอบ CFA
  • ถ้าเป็นสถาปนิก ก็ต้องสอบ ใบประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม
  • ถ้าเป็นครู ก็ต้องสอบ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู
  • ถ้าเป็นหมอ ก็ต้องสอบ ใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ
  • และในสาขาจิตวิทยาคลินิก ก็จะมี ใบประกอบโรคศิลปะสาขาจิตวิทยาคลินิก

และเร็วๆนี้ “สาขาจิตวิทยาการปรึกษา” ก็มีแว่วๆ มาว่า จะมีใบประกอบวิชาชีพกันตามๆมา

ก่อนเข้าเรื่องเราอยากชวนมารู้จักความแตกต่างของ คุณวุฒิวิชาชีพ (Professional Qualification) กับ ใบประกอบวิชาชีพ (License)

สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)

“คุณวุฒิวิชาชีพ” จากความหมายที่เราได้ทำความเข้าใจจาก สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) คือ มาตรฐานรองรับในการเทียบโอนประสบการณ์การทำงานหรือสิ่งที่ได้เรียนรู้ เพื่อมาเทียบเคียงกับมาตรฐานของอาชีพที่ควรทำได้ โดยมีเกณฑ์และระดับของวิชาชีพตามภาพด้านล่าง

สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)

และหลายคนอาจเกิดความสงสัยว่า “ใบประกอบฯ/คุณวุฒิ สำคัญมากขนาดไหน”
คำตอบก็คือ….

“มีความสำคัญอย่างมากกับการรักษามาตรฐานการให้บริการ เพราะการถือเป็นใบอนุญาตที่รับรองความพร้อมของบุคคลในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งช่วยการันตีให้ผู้รับบริการมีความมั่นใจว่าได้รับบริการจากบุคคลที่มีทักษะ ความรู้ และความสามารถ โดยตรงตามสายงาน ไม่ได้แอบอ้างหรืออุปโลกน์ขึ้นมา”
(อ้างอิงจาก
ความสำคัญของใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู, Plook Teacher, 2020)

หรือให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เป็นเครื่องหมายในการการันตีคุณภาพ/มาตรฐานการทำงานของคนคนนั้นนั่นเอง

และไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วม “การจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ และผลการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวกับกลุ่มอาชีพ เพื่อประกอบการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพบริการสุขภาพ สาขาจิตวิทยา” เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นโครงการที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานประชุมสัมมนาออนไลน์ โดยมีวัตถุประสงค์ คือ

  • เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการ การนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับคุณวุฒิวิชาชีพบริการสุขภาพ สาขาจิตวิทยา ให้แก่องค์กร หน่วยงาน และประชาชนที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ
  • เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการตอบข้อซักถามเกี่ยวกับการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อให้ทุกฝ่ายมีความเข้าใจตรงกันและถือเป็นการเริ่มต้นการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพทางด้านจิตวิทยา
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

5 รายชื่อขอบเขตอาชีพนำร่อง ที่มีมาตรฐานอาชีพ

  1. อาชีพนักจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก
  2. อาชีพผู้ปฏิบัติงานด้านพฤติกรรมและพัฒนาการเด็ก
  3. อาชีพนักจิตวิทยาพัฒนาการผู้สูงวัย
  4. อาชีพผู้ปฏิบัติงานด้านพฤติกรรมและพัฒนาการผู้สูงวัย
  5. อาชีพผู้ปฏิบัติงานเบื้องต้นด้านการให้บริการทางจิตวิทยา

และจะมีอาชีพอื่น ๆ ตามมาอีกในอนาคต ให้ได้ติดตามกันในอนาคตนะคะ

สำหรับคุณวุฒิวิชาชีพนี้ต้องบอกไว้ก่อนว่า หากเป็นนักจิตวิทยาจากต่างประเทศ ก็ต้องได้รับคุณวุฒิวิชาชีพจากประเทศนั้นๆ เนื่องจากระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ไมไ่ด้เชื่อมโยงกัน ดังนั้นหากต้องการทำงานในอาชีพนี้ในประเทศไหน ก็ต้องผ่านการสอบคุณวุฒิวิชาชีพจากหน่วยงานที่ได้รับการรับรองที่ทางสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) กำหนดเท่านั้น

ซึ่งเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ที่ผ่านมาเป็นการแจ้งให้ทราบว่า จะมีคุณวุฒิวิชาชีพนี้เกิดขึ้น แต่ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการสอบหรือกำหนดการในการสอบคุณวุฒิแต่อย่างใด บทความนี้จึงเป็นการกล่าวถึงถึงแนวทางในการกำหนดมาตรฐานอาชีพ เท่านั้น

แนวทางการกำหนดความรู้ ความสามารถด้านมาตรฐานอาชีพด้านจิตวิทยา (อ้างอิงจากเนื้อหาการประชุม)

1. นักจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก (Developmental Psychologist)

https://collegelearners.com/

คุณลักษณะ :

  • เข้าใจพื้นฐานและที่มาที่ไปด้านพัฒนาการเด็กในเชิงลึก
  • มีทักษะด้านการวัดและการประเมินที่จำเป็น
  • สามารถทำวิจัย สื่อสาร และประสานงานกับหน่วยงาน หรือ ผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่น เพื่อนำไปสู่องค์ความรู้ นวัตกรรรม และเทคโนโลยีที่นำมาแก้ปัญหาด้านพัฒนาการของเด็กได้

คุณสมบัติและวุฒิการศึกษา :

  • คุณวุฒิอาชีพนักจิตวิทยาพัฒนาการเด็กระดับ 7 :
    สำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาโท ด้านจิตวิทยาพัฒนาการหรือจิตวิทยาสาขาที่เกี่ยวข้อง
    พร้อมประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการเด็ก
  • คุณวุฒิอาชีพนักจิตวิทยาพัฒนาการเด็กระดับ 8 :
    สำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาเอก ด้านจิตวิทยาพัฒนาการหรือจิตวิทยาสาขาที่เกี่ยวข้อง
    พร้อมประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการเด็ก

สมรรถนะและความสามารถ :

  • มีความเข้าใจในพัฒนาการเด็ก พัฒนาการของพ่อแม่ผู้ปกครอง และมีความมั่นคงทางอารมณ์สูงในการสื่อสารและปฏิบัติงานกับเด็กและครอบครัว
  • ประเมินพัฒนาการเด็ก ทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา
    (แยกเด็กปกติ และเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าได้ ใช้เครื่องมือการประเมินพัฒนาการที่เป็นมาตรฐานได้ เช่น DENVER, BAYLEY, DSPM, TEDA เป็นต้น)
  • ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากสหวิชาชีพ
    เพื่อประเมินหรือแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกี่ยวกับเด็ก
    (เช่น พัฒนาการล่าช้า ปัญหาการถูก Abuse เด็กถูกละเลยการดูแล เป็นต้น)
  • ออกแบบโปรแกรม Early Intervention สำหรับเด็กและครอบครัว เพื่อสร้างเสริมพัฒนาการเด็ก และปรับพฤติกรรมเด็กเชิงบวก
    โดยคำนึงถึงบริบทสภาพแวดล้อมของเด็ก รวมทั้งประเมินประสิทธิภาพของโปรแกรมได้
  • ทำงานร่วมกับองค์กรรัฐ / เอกชน และผู้เชี่ยวชาญต่างสาขา
    เพื่อสร้างนวัตกรรม/เทคโนโลยีที่นำมาประยุกต์ใช้ในการสร้างเสริมหรือแก้ปัญหาพัฒนาการของเด็กได้
  • สื่อสาร ให้คำแนะนำและทำงานร่วมกับครอบครัว/ผู้ปกครอง/สถานศึกษาของเด็กได้ดี

2. ผู้ปฏิบัติงานด้านพฤติกรรมและพัฒนาการเด็ก

https://youthlivingskills.com.au/

คุณลักษณะ :

  • เข้าใจพัฒนาการเด็กในองค์รวม นำมาประยุกต์ใช้แก้ไขและเสริมสร้างพัฒนาการเด็กในแต่ละช่วงวัยได้อย่างเหมาะสม
  • ทำงานร่วมกับครอบครัว/โรงเรียนของเด็กได้ดี

คุณสมบัติ :

  • คุณวุฒิอาชีพผู้ปฏิบัติงานด้านพฤติกรรมและพัฒนาการเด็กระดับ 3:
    สำเร็จการศึกษา ระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3
    มีชั่วโมงฝึกงาน/ประสบการณ์การปฏิบัติงานด้านพฤติกรรมและพัฒนาการเด็ก
    ไม่เป็นโรคที่ไม่สมควรให้ดูแลเด็ก
    ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีที่เกี่ยวข้องกับการละเมิด/ทำร้ายเด็ก
  • คุณวุฒิอาชีพผู้ปฏิบัติงานด้านพฤติกรรมและพัฒนาการเด็กระดับ 5:
    สำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาตรี
    มีชั่วโมงฝึกงาน/ประสบการณ์การปฏิบัติงานด้านพฤติกรรมและพัฒนาการเด็ก
    ไม่เป็นโรคที่ไม่สมควรให้ดูแลเด็ก
    ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีที่เกี่ยวข้องกับการละเมิด/ทำร้ายเด็ก

สมรรถนะและความสามารถ :

  • สอนหรือทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก เพื่อสร้างเสริมพัฒนาการของเด็กในทุก ๆ ด้าน
  • เข้าใจเทคนิคทางจิตวิทยาพัฒนาการเบื้องต้นในการปรับพฤติกรรมเด็ก/สร้างเสริมวินัยให้เด็ก
  • สามารถแสวงหาและกลั่นกรองข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเลี้ยงดู/ปรับพฤติกรรมเด็กได้
  • สามารถสื่อสาร ให้คำแนะนำ และทำงานร่วมกับครอบครัว/ผู้ปกครองเด็กได้ดี
  • มีทัศนคติที่ดีต่อการทำงานกับเด็กและครอบครัว

3. นักจิตวิทยาพัฒนาการผู้สูงวัย (Geriatric Psychologist)

https://i2.wp.com/

คุณลักษณะ :

  • มีความรู้ความเข้าใจพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาในผู้สูงวัย รวมถึงช่วงวัยอื่นๆ
  • มีความรู้ด้านสุขภาพจิตและสุขภาวะของผู้สงวัย
  • สามารถวางแนวทาง/นโยบาย/แก้ปัญหา/และจัดโปรแกรม เพื่อเตรียมความพร้อมผู้สูงวัย ให้สอดรับ และรู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมยุคใหม่
  • สามารถสื่อสารและทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาอื่น เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงวัย
  • สร้างเสริมองค์ความรู้ นวัตกรรรม และเทคโนโลยีที่นำมาแก้ปัญหาด้านพัฒนาการในผู้สูงวัย

คุณสมบัติและวุฒิการศึกษา :

  • คุณวุฒิอาชีพนักจิตวิทยาพัฒนาการผู้สูงวัยระดับ 7 :
    สำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาโท ด้านจิตวิทยาพัฒนาการหรือจิตวิทยาสาขาที่เกี่ยวข้อง
    พร้อมประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตในผู้สูงวัย
  • คุณวุฒิอาชีพนักจิตวิทยาพัฒนาการผู้สูงวัยระดับ 8 :
    สำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาเอก ด้านจิตวิทยาพัฒนาการหรือจิตวิทยาสาขาที่เกี่ยวข้อง
    พร้อมประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตในผู้สูงวัย

สมรรถนะและความสามารถ :

  • มีความเข้าใจในพัฒนาการของผู้สูงวัย และมีความมั่นคงทางอารมณ์สูงในการสื่อสารและปฏิบัติงานกับผู้สูงวัยและครอบครัว
  • ให้ความรู้กับอาสาสมัครผู้สูงวัยในชุมชน และตัวผู้สูงวัยเองเรื่องการดูแลสุขภาพจิต และการเปลี่ยนผ่านของวัย
  • ประเมินผู้สูงวัยเกี่ยวกับปัญหาทางพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญาและปัญหาสุขภาพจิต
  • เป็นผู้นำทีม/ประสานงานกับผู้เชี่ยวขาญต่างสาขาในองค์กรรัฐและเอกชน
    เพื่อสร้างนวัตกรรม/เทคโนโลยีที่นำมาประยุกต์ใช้ในการสร้างเสริมพัฒนาการและสุขภาพจิตของผู้สูงวัย
  • ออกแบบโปรแกรม Intervention เพื่อชะลอความเสื่อมถอยของพัฒนาการในทุกด้าน เสริมสร้างสุขภาพจิตและการอยู่ร่วมกันอย่างมีคุณภาพกับช่วงวัยอื่นๆ โดยคำนึงถึวบริบทแวดล้อมของผู้สูงวัย รวมถึงประเมินประสิทธิภาพของโปรแกรมได้
  • ทำวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ เครื่องมือประเมิน หรือนวัตกรรมทางด้านจิตวิทยาพัฒนาการผู้สูงวัยได้

4. ผู้ปฏิบัติงานด้านพฤติกรรมและพัฒนาการผู้สูงวัย

https://trustworthycare.com/

คุณลักษณะ :

  • มีความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง และความเสื่อมถอยของวัย
  • มีทักษะเบื้องต้นในการสื่อสารกับผู้สูงวัยและครอบครัว
  • สามารถจัดกิจกรรมสร้างเสริมพัฒนาการและสุขภาพจิตของผู้สูงวัย
  • ช่วยให้ผู้สูงวัยอยู่ร่วมกับคนในวัยต่างๆ ตามกระบวนการมาตรฐานทางจิตวิทยาที่ได้ผ่านการอบรมมา

คุณสมบัติและวุฒิการศึกษา :

  • คุณวุฒิอาชีพผู้ปฏิบัติงานด้านพฤติกรรมและพัฒนาการผู้สูงวัยระดับ 3:
    สำเร็จการศึกษา ระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3
    มีชั่วโมงฝึกงาน/ประสบการณ์การปฏิบัติงานด้านพัฒนาการผู้สูงวัย
    ไม่เป็นโรคที่ไม่สมควรให้ดูแลจิตใจผู้สูงอายุ
    ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีที่เกี่ยวข้องกับการละเมิด/ทำร้ายผู้สูงอายุ
  • คุณวุฒิอาชีพผู้ปฏิบัติงานด้านพฤติกรรมและพัฒนาการผู้สูงวัยระดับ 5:
    สำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาตรี
    มีชั่วโมงฝึกงาน/ประสบการณ์การปฏิบัติงานด้านพัฒนาการผู้สูงวัย
    ไม่เป็นโรคที่ไม่สมควรให้ดูแลจิตใจผู้สูงอายุ
    ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีที่เกี่ยวข้องกับการละเมิด/ทำร้ายผู้สูงอายุ

สมรรถนะและความสามารถ :

  • มีความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง และความเสื่อมถอยของวัย และสามารถประเมินพัฒนาการเบื้องต้นด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญาในผู้สูงวัยได้
  • มีทักษะในการปรับพฤติกรรมเบื้องต้น เพื่อสร้างเสริมพัฒนาการและสุขภาวะของผู้สูงวัย โดยคำนึงถึงความต้องการและความปลอดภัยของผู้สูงวัยเป็นหลัก
  • มีทักษะในการสื่อสารด้วยความเข้าอกเข้าใจ เคารพและให้เกียรติในสถานะทางสังคมของผู้สูงวัย
  • สามารถจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพ และดำเนินกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์ทางสังคมในผู้สูงวัยได้

5. อาชีพผู้ปฏิบัติงานเบื้องต้นด้านการให้บริการทางจิตวิทยา

https://www.irisconnect.com.au/

คุณสมบัติ :

  • จบปริญญาตรีด้านจิตวิทยา

คุณลักษณะและสมรรถนะ :

  • มีความรู้ความเข้าใจในการจัดการและการให้บริการทางจิตวิทยา เช่น
    การให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยา
    การเสริมสร้างพัฒนาการเด็กและผู้สูงวัย
    การวัดและการประเมินทางจิตวิทยา เป็นต้น
    รวมทั้งมีจรรยาบรรณในการให้บริการทางจิตวิทยา
  • สัมภาษณ์ข้อมูลผู้เข้ารับบริการและสามารถจัดหานักจิตวิทยาที่ตรงกับความต้องการของผู้เข้ารับบริการได้
  • ให้คำอธิบายเบื้องต้นเกี่ยวข้องกับการให้บริการทางจิตวิทยาได้ เช่น
    ขั้นตอนการรับบริการ
    ประเภทของการให้บริการ ความเชี่ยวชาญของนักจิตวิทยา
  • สามารถแนะนำผู้เข้ารับบริการไปยังหน่วยงานอื่น ๆ หากเกินขอบเขตการทำงานของนักจิตวิทยา
  • ประสานงานนัดหมายกับผู้เข้ารับบริการ

นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่นักจิตวิทยาจะมีบทบาทที่ได้รับการรับรอง ทำให้คนทั่วไปและผู้ประกอบการได้มีความเข้าใจในวิชาชีพนี้มากนี้ และหลังจากนี้จะมีรายละเอียดเพิ่มเติมอย่างไร ไว้จะมาอัพเดตกันอีกทีนะคะ

ผู้เรียบเรียงบทความ : นางสาวพันธุ์ทิพา สุขสิริสรณ์

  • วิทยาศาสตรบัณฑิต (จิตวิทยา) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • นักศึกษาปริญญาโท จิตวิทยาองค์การและการจัดการทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
  • Founder, Patriny
  • Co-Founder, BE PSY YOU

--

--