รถเมล์ไทย ไปหลงทาง? ตอน เครื่องหยอดเหรียญ ซ้ำรอยค่าโง่?

Jib Zesto
Beachhead
Published in
1 min readFeb 8, 2018

ภาพชินตาของรถเมล์ไทย เมื่อขึ้นไปบนรถเมล์ไปแล้ว เราจะพบพนักงานอยู่สองคน นั้นคือ คนขับรถโดยสาร และพนักงานเก็บค่าโดยสาร แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ย่อมมีแนวคิดที่จะใช้อุปกรณ์เพื่อทดแทนแรงงานเกิดขึ้นเพื่อลดต้นทุนของกิจการ และนี่ก็คือเรื่องราวของเครื่องเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ

การเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติไม่ใช่เรื่องใหม่เลย ที่ผ่านมา ขสมก. เคยมีแนวคิดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี 2531 ที่ได้สั่งรถเมล์ใหม่สีครีม-แดง พร้อมตู้หยอดเหรียญโดยสาร ลักษณะมีที่กั้นตรงประตูด้านหลัง สำหรับให้ผู้โดยสารทางขึ้น และผู้โดยสารจะต้องลงทางประตูหน้า ต่อมาปี 2540 ก็ได้นำรถเมล์ใหม่พร้อมติดตั้งเครื่องเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ แต่ความพยายามที่ผ่านๆ มา ผลก็คือไม่เคยสำเร็จเลยสักครั้ง แต่ละครั้งเอามาใช้ได้ไม่นานก็ต้องกลับมาใช้พนักงานเก็บค่าโดยสารเหมือนเดิม เพราะมีปัญหาผู้โดยสารไม่สะดวกในการเตรียมเศษเหรียญให้พอดี ทำให้การขึ้น-ลงตามป้ายใช้เวลานานกว่าเดิมมาก และก็ยังเจอปัญหาเหรียญปลอมด้วย

และแล้วเรื่องราวได้วนลูปอีกครั้งหนึ่งในปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2560) ขสมก. มีแนวคิดต้องการลดจำนวนพนักงานเก็บค่าโดยสารลง โดยใช้เครื่องเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติบนรถเมล์ร้อนและปรับอากาศ เริ่มแรกได้ทดลองใช้บนรถครีม-แดง จำนวน 800 คันที่เคยเป็นรถเมล์ฟรีมาก่อน

ในส่วนของเครื่องเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ ขสมก. ได้หาบริษัทติดตั้งด้วยวิธีการประมูล โดยบริษัทที่ชนะประมูลการติดตั้ง คือ บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) มูลค่าโครงการ 1,665 ล้านบาท เพื่อเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมเครื่องอ่านบัตร (E-ticket) ให้รองรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและบัตรแมงมุม และเครื่องหยอดเหรียญค่าโดยสาร (Cash Box) สำหรับผู้ที่ไม่มีบัตร E-ticket ในรถเมล์ 2,600 คัน ระยะเวลาสัมปทาน 5 ปี จะเห็นได้ว่าต้นทุนติดตั้งระบบต่อคัน ถ้าคิดคร่าวๆ ขสมก. จะต้องจ่ายค่าเช่าเครื่องเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ คันละประมาณ 640,000 บาท (128,000 บาทต่อปี) ซึ่งถือว่าเป็นมูลค่าที่สูงมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้กลับมา

แต่ยังไม่ทันได้ใช้จริงก็เกิดเรื่องขึ้น ขสมก กลับยกเลิกเครื่องหยอดเหรียญอัตโนมัติ หลังติดตั้งบนรถเมล์ไปแล้ว 800 คัน เพราะพบปัญหาไม่เหมาะกับสภาพความเป็นจริง และมีข้อจำกัดในชั่วโมงเร่งด่วน ที่ทำให้รถเมล์ต้องจอดที่ป้ายเป็นเวลานานจนเกิดปัญหาจราจรติดขัด ซึ่งในความจริงปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยเกิดปัญหานี้เช่นกัน ประวัติศาสตร์ก็ได้บอกอยู่แล้ว แต่ ขสมก. ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเดิมๆ ที่เคยเกิดขึ้นแล้วหลายต่อหลายครั้งได้ ตอนนี้จึงเหลือเพียงแค่ E-ticket ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ หรือจะกลายเป็นค่าบทเรียนราคาแพงของ ขสมก. อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหากล้มเหลวอีก ขสมก. จะต้องแบกภาระงบประมาณที่ไม่เกิดประโยชน์ไปทั้งหมด 1,665 ล้านบาท ค่าเสียโอกาสดังกล่าวหมดโอกาสที่จะนำไปซื้อรถเมล์ใหม่เพิ่มได้อีก 456 คัน (คันละ 3.65 ล้านบาท)

ประวัติศาสตร์บอกความล้มเหลวที่ผ่านมา ขสมก. ควรศึกษาบทเรียนที่ผ่านมาเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม ประชาชนตาดำๆก็ได้แต่หวังว่า ขสมก. จะได้รับบทเรียนครั้งล่าสุดไปแก้ไขให้ความพยายามครั้งต่อไปไม่ล้มเหลวเหมือนกับในอดีตที่ผ่านมาอีก

--

--