ของใหม่ ๆ ใช่ว่าดีเสมอไป

Arnon Chonrawut
Billme Venture
Published in
2 min readJul 2, 2018

กับดักที่คนเริ่มออกแบบชอบโดนหลอก

ผมเชื่อว่าทุกคนที่เริ่มออกแบบ UI นั้น มักมีความชอบที่จะสร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาใช้เอง ไม่อยากตามใคร (ก็เรามันเป็น Designer นี่) และมักจะชอบคิดว่าสิ่งที่เราออกแบบดีกว่าสิ่งที่มีอยู่แล้ว แต่นั่นเป็นความคิดที่ผิดมหันต์ มันเหมือนกับเราเสียเวลาไปกับการสร้างรถยนต์โดยที่ไม่รู้ว่าจะวิ่งได้หรือไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ก็มีรถยนต์ขายอยู่ตามท้องตลาดอยู่แล้ว และมันก็วิ่งได้ดีซะด้วยสิ

ฉากรถลอยได้ใน Captain America วิ่งเข้ามาในหัวเลยทีเดียว 55555

Convention 101

Convention ก็คือ ข้อตกลง รูปแบบ หรือความคิดที่คนทั่ว ๆ ไปเข้าใจและใช้ร่วมกัน จะเรียกว่าธรรมเนียมก็คงได้ ยกตัวอย่างในชีวิตประจำวัน ก็คงจะเป็นป้ายจราจร เช่น ป้ายหยุดรถ หรือสัญญาณไฟจราจร ทุกคนจะเข้าใจร่วมกันหมดว่า ไฟเขียวคือรถวิ่ง ไฟส้มคือให้ระวัง (แต่ผมขอเรียกว่าไฟเร่งเครื่อง 55555) และไฟแดงคือต้องหยุด ซึ่งสีไฟตรงนี้ไม่ได้ใช้แค่ที่ใดที่หนึ่งเท่านั้น แต่มันถูกใช้ไปทั่วโลก ซึ่งคนจากทั่วทุกมุมโลกไม่ว่าจะขับรถที่ไหน เมื่อเห็นสัญญาณไฟเหล่านี้ก็จะเข้าใจได้ทันทีว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร

ในการออกแบบไม่ว่าจะเป็น Web หรือ Application นั้นต่างก็มี Convention เหมือนกัน เรามาดูกันดีกว่าว่าผู้ใช้งานเค้าคิดถึงเรื่องอะไรบ้างในงานออกแบบของเรา

ผู้ใช้มีภาพในหัวก่อนจะเริ่มใช้งานจริง ๆ

ทุกครั้งที่ผู้ใช้เข้าสู่ Web page หรือ Application ก็ตาม พวกเค้ามักจะมีภาพในหัวอยู่คร่าว ๆ แล้วว่าหน้าตามันจะออกมาเป็นแบบไหน ถ้าเป็น iOS Application พวกเค้าก็จะคาดหวังว่ามันต้องมีเมนูอยู่ล่างสุดของหน้าจอ (หรือที่เรารู้จักกันในนามของ Tab Bars) ซึ่งถ้าพวกเค้าไม่เจอสิ่งที่คาดหวังไว้ก็มีโอกาสที่จะปิดทิ้งไป เพราะรู้สึกว่าตัวเองจะต้องมาเรียนรู้วิธีการใช้งานใหม่

มีวิธีใช้ และการทำงานอย่างไร

ถ้าเราจะออกแบบแอปสำหรับขายของเราจะทำอย่างไร ? กลุ่มผู้ใช้งานของเราอาจจะผ่านการชอปปิ้งบนโลกออนไลน์มานับ และไม่ว่าจะเป็น Amazon หรือ Alibaba หรือจะเป็นแอปช้อปปิ้งทั่ว ๆ ไปก็ตาม แอปเหล่านี้มักจะมีรูปแบบการเลือกสินค้า การชำระเงิน และการใส่ข้อมูลในการจัดส่งคล้าย ๆ กัน การนำรูปแบบเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในแอปขายของของเรานั้นจะช่วยลดภาระการเรียนรู้ของผู้ใช้ได้เยอะเลยทีเดียว พวกเค้าไม่ต้องเสียเวลาเรียนรู้กับรูปแบบใหม่ ๆ ที่เราใช้เวลาเป็นสัปดาห์ในการคิดค้นมันขึ้นมา แถมยังมีความเสี่ยงที่ผู้ใช้จะคิดว่า “มันกดซื้อยังไงฟะเนี่ย”

องค์ประกอบต่าง ๆ มีหน้าตาอย่างไร

ถ้าจะให้ยกตัวอย่างมันคงคล้าย ๆ กับสัญญาณไฟจราจรที่ยกตัวอย่างไว้ด้านบน เช่นเดียวกันกับการออกแบบ UI ส่วนประกอบต่าง ๆ ก็จะมี Convention เหมือนกัน ผมยกตัวอย่างแอปฟังเพลง หรือพวก Music Player ละกัน สิ่งที่พวกนี้มีเหมือนกันก็คือปุ่ม Play, Pause, Stop, Next, Previous และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งในแต่ละแอปก็จะใช้สัญลักษณ์เหมือนกันหมด อาจจะต่างกันที่สี หรือการจัดวาง ไอคอนเหล่านี้คือมาตรฐานที่คนทั่วโลกเห็นก็ต้องเข้าใจว่ามันเอาไว้ใช้ทำอะไร แม้ว่าพวกเค้าจะอยู่คนละซีกโลก และคุยกันคนละภาษาก็ตาม

Convention ของแต่ละระบบไม่เหมือนกัน

แน่นอนครับ ระบบขายของก็จะมีรูปแบบของตัวมันเอง ในขณะที่ระบบจองตั๋วคอนเสิร์ตก็จะเป็นอีกรูปแบบนึง (แต่ผมมั่นใจว่าระบบล่มไม่ใช่ Convention ของระบบจองตั๋วแน่นอน 55555) เพราะแต่ละระบบนั้นถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาที่ต่างกัน ทำให้ Convention ของพวกมันแตกต่างกันออกไป ในขณะที่ระบบคล้าย ๆ กันก็จะมี Convention ที่ใกล้ ๆ กัน เพราะว่าเจอปัญหาที่มีรูปแบบคล้าย ๆ กันนั่นเอง

การนำ Convention มาประยุกต์ใช้กับงานออกแบบของเราจะช่วยให้ชีวิตทั้งของเรา และผู้ใช้งานนั้นง่ายขึ้นเยอะ เราไม่ต้องใช้เวลาเยอะ ส่วนผู้ใช้ก็ไม่ต้องมานั่งหาคำตอบว่ามันคืออะไร และใช้อย่างไร เพราะพวกเค้าเคยใช้พวกมันมาก่อนหน้านี้แล้วในระบบอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน ผมไม่ได้บอกว่าการคิดสิ่งใหม่ ๆ นั้นไม่ดีนะครับ แต่การสร้างสิ่งใหม่ ๆ นั้นเราต้องเข้าใจก่อนว่าทำไมของเก่ามันถึงใช้ไม่ได้ มันไม่ดียังไง ไม่งั้นเราจะเสียเวลาไปกับการออกแบบในสิ่งที่มันมีให้เราใช้อยู่แล้ว

ของแถม — หากไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไง ผมมีเว็บมาแนะนำครับ นั่นก็คือ UI-Patterns นั่นเอง ซึ่งเว็บนี้จะมีบอกเกี่ยวกับรูปแบบของ UI ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการสมัครสมาชิก การเช็คเอาท์สินค้า เป็นต้น ซึ่งเราสามารถเข้าไปดูเพื่อเป็น ตัวอย่างอ้างอิงในการออกแบบได้ครับ :)

--

--