Bitcoin vs ทองคำ ความเหมือนที่แตกต่าง?

Bitcoin vs Gold: Similar yet Different

Waranyu Suknantee
Bitkub.com
2 min readSep 1, 2020

--

สังเกตุกันไหม? ว่าช่วงเศรษฐกิจไม่ดีคนมักจะนิยมซื้อทองคำกัน จึงทำให้ราคาทองคำขึ้นเอาๆโดยเฉพาะในปี 2020 ที่เกิดวิกฤติด้านสุขอนามัยอย่าง COVID-19 สร้างผลกระทบเป็นวงกว้างแก่อุตสาหกรรมทั่วโลก แต่สิ่งที่แตกต่างกับวิกฤติครั้งก่อนๆคือสกุลเงินดิจิทัล หรือ Cryptocurrency ที่ได้รับความสนใจกันอย่างท้วมท้น โดยเฉพาะ Bitcoin!

สำหรับบทความนี้เราจะมาดูกันว่าระหว่าง Bitcoin และ ทองคำ อะไรคือปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคา ที่มา การใช้งาน และอื่นๆที่น่าสนใจไปด้วยกัน!

ต้นกำเนิด

ทองคำคือแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่สามารถจับต้องได้ พบได้ในบางพื้นที่ของโลก เป็นโลหะมีค่าที่หาได้ยากและมีทฤษฎีว่าต้นกำเนิดของทองคำอาจมาจากนอกโลก กล่าวคือการระเบิดของดวงดาวหรือที่เรียกว่า Supernova ทำให้เกิดแรงดันปริมาณมหาศาลก่อเกิดเป็นแร่ทองคำขึ้น และแร่ทองคำเหล่านี้ก็โดนแรงระเบิดล่องลอยออกไปทั่วอวกาศ บางส่วนก็อาจตกลงมาบนโลกเมื่อในอดีต พอเวลาผ่านไปดินก็ค่อยๆทับถมกันจนเกิดเป็นเหมืองทองคำที่มนุษย์ขุดพบนั่นเอง

สำหรับ Bitcoin คือสกุลเงินดิจิทัลที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีบล็อกเชน Bitcoin เกิดขึ้นในปี 2009 จากแนวคิดของผู้ที่เรียกตัวเองว่า Satoshi Nakamoto ซึ่ง ณ ปัจจุบันก็ยังไม่มีใครทราบว่าตัวจริงของเขาหรือพวกเขาเป็นใครกันแน่ ทุกอย่างของ Bitcoin เป็นระบบดิจิทัลที่ถึงแม้จะจับต้องไม่ได้ แต่สามารถตรวจสอบได้ด้วยเทคโนโลยีที่มีในปัจจุบัน

พลังงานในการขุด

ทั้ง Bitcoin และทองคำ ต่างก็ต้องใช้ทรัพยากรในการขุดด้วยกันทั้งสิ้น โดยกรณีทองคำจะเป็นเรื่องของแรงงาน คนขุดเหมือง การขนส่ง และการแปรรูป เป็นต้น ในขณะที่ Bitcoin จะใช้พลังงานไฟฟ้าและการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ในการแก้โจทย์สมการทางคณิตศาสตร์เป็นหลัก

งานวิจัยของ Digiconomist พบว่าพลังงานที่ใช้การขุด Bitcoin เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 66.7 เทราวัตต์/ชั่วโมง หรือเทียบเท่ากับพลังงานที่สาธารณรัฐเช็กซึ่งมีจำนวนประชากรอยู่ที่ 10.6 ล้านคนใช้กันตลอดปี หากเทียบสัดส่วนกับปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าทั่วโลก การขุด Bitcoin จะอยู่ที่ 0.07% หากลองเทียบกับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในสหรัฐอเมริกาที่ 10 เซนต์/กิโลวัตต์ (1 เทราวัตต์ = 1 พันล้านวัตต์) เท่ากับว่าพลังงานที่ใช้ขุด Bitcoin ทั่วโลกมีต้นทุนสูงถึง 6.67 พันล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

ทางด้านทองคำ พลังงานหลักที่ใช้ในการขุดคือน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรสำหรับการขุด หรือยานพาหนะสำหรับขนส่ง ซึ่งตามรายงานจาก Longhash พบว่าการขุดทองคำใช้น้ำมันต่อปีอยู่ที่ 92 ล้านบาร์เรล เทียบกับการใช้น้ำมันทั่วโลกที่ 3.4 หมื่นล้านบาร์เรล คิดเป็นสัดส่วนกับการใช้น้ำมันทั่วโลกประมาณ 0.27% หากสมมติว่าราคาน้ำมันเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 50 ดอลลาร์/บาร์เรล เท่ากับต้นทุนส่วนหนึ่งของการขุดทองคำภายใน 1ปี สูงถึง 4.6 พันล้านดอลลาร์

ในส่วนของพลังงานที่ใช้ จะเห็นได้ว่า Bitcoin มีการใช้พลังงานที่สูงกว่าการขุดทองคำ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นผลมาจากการใช้ระบบ Proof-of-work ที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์จำนวนมหาศาลมาแข่งกันประมวลผล แต่ปัจจุบัน เครือข่ายบล็อกเชนรุ่นใหม่ๆเริ่มหันมาใช้ระบบ Proof-of-stake ที่สามารถลดพลังงานและเวลาในการประมวลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่การขุดทองคำที่ต้องใช้พลังงานจากน้ำมันเป็นหลัก ก็ต้องจับตาว่าเทคโนโลยีใหม่ๆจะสามารถมาช่วยลดต้นทุนในจุดนี้ได้หรือไม่ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่เราจะเห็นเทคโนโลยียานพาหนะและเครื่องจักรรุ่นใหม่ๆที่หันมาใช้พลังงานไฟฟ้าเข้ามาแทนที่ในอนาคต

มูลค่าเกิดจากอะไร

ทองคำ นอกจากจะถูกใช้ในฐานะเครื่องประดับแล้ว บางส่วนยังถูกใช้ในการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือชิปประมวลผล เนื่องจากทองคำมีคุณสมบัติเป็นสื่อนำกระแสไฟฟ้าที่ดีที่สุดตัวหนึ่ง แต่ที่สำคัญที่สุดคือการที่รัฐบาลประเทศต่างๆเลือกที่จะถือครองทองคำเป็นป้องกันความเสี่ยงของเงินเฟ้อเพราะความหายากและการมีจำนวนจำกัดของทองคำนั่นเอง

Bitcoin ถูกใช้สำหรับการแลกเปลี่ยนทรัพย์สินเหมือนกับเงินสด แต่อยู่ในรูปแบบดิจิทัลและไม่มีตัวกลางอย่างรัฐบาลหรือธนาคารคอยควบคุมอยู่ หรือที่เรียกว่า Decentralized ทำให้มูลค่าของ Bitcoin ขึ้นอยู่กับปริมาณอุปสงค์และอุปทานอย่างแท้จริง

จุดที่คล้ายๆกันระหว่างทองคำและ Bitcoin ก็คือเรื่องของจำนวนที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยปริมาณทองคำจะขึ้นอยู่กับการขุดเจาะว่าจะสามารถค้นพบได้มากแค่ไหน และมีอยู่อย่างจำกัด แม้จะไม่มีใครสามารถตอบได้ว่าทองคำที่อยู่บนโลกจะหมดลงไปเมื่อไหร่ และปัจจุบันเริ่มมีการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการขุดทองคำในอวกาศกันบ้างแล้ว

ขณะที่การขุด Bitcoin ก็คือการใช้พลังในการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ในการแก้ไขสมการที่มีความซับซ้อนสูง ผู้ที่ทำได้สำเร็จก็จะได้รับ Bitcoin จำนวนหนึ่งไป ซึ่งในปัจจุบัน จำนวน Bitcoin ที่ถูกขุดออกมาได้แล้วอยู่ประมาณที่ 18.5 ล้านเหรียญ โดย Bitcoin ชุดใหม่ที่ระบบปล่อยออกมาจะถูกหักลดลงไปครึ่งหนึ่งทุกครั้งเมื่อเวลาผ่านไป หรือที่เรียก Halving ซึ่งก็ได้มีการคำนวณเอาไว้แล้วว่า Bitcoin ชุดสุดท้ายจะถูกปล่อยออกมาในปี 2120 หรืออีก 100 ปีต่อจากนี้ เมื่อนั้นโลกเราก็จะมี Bitcoin ทั้งหมดอยู่ที่ 21 ล้านเหรียญ

สรุป

อ่านมาถึงจุดนี้แล้ว พอทราบกันแล้วใช่ไหมว่าทำไมทองคำหรือ Bitcoin จึงเป็นที่ต้องการในภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ คำตอบก็คือเพราะว่าเงินสดที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้มันถูกควบคุมโดยรัฐบาลหรือธนาคาร เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี ไม่มีเงินหมุนเวียนในระบบ ทางรัฐบาลก็อาจพิจารณาออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหรือพิมพ์เงินเพิ่ม แต่มันเป็นดาบสองคม เพราะว่าการพิมพ์เงินเพิ่มเข้ามา แม้จะมีปริมาณเงินมากขึ้นแต่มูลค่าของเงินก็จะเริ่มตกต่ำลงเมื่อเวลาผ่านไป หรือที่เรียกว่าภาวะเงินเฟ้อนั่นเอง

จุดสำคัญที่ทองคำ และ Bitcoin แตกต่างจากเงินสดที่สุดก็คือเรื่องของจำนวนที่มีอยู่อย่างจำกัดนั่นเอง หมายความว่ามูลค่าของทองคำหรือ Bitcoin จะไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมเราจึงเห็นข่าวราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นในภาวะเศรษฐกิจซบเซานั่นเอง

ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับเทคโนโลยีบล็อกเชนและ Cryptocurrency กับ Bitkub ได้ที่ Facebook: @bitkubofficial

อ้างอิง

https://www.fxcm.com/markets/insights/gold-vs-bitcoin/#:~:text=Gold%20has%20a%20far%20greater,proven%20a%20bit%20more%20elusive.

https://www.sbcgold.com/blog/how-is-gold-formed-and-where-does-it-come-from/#:~:text=Gold%20Comes%20From%20Outer%20Space,to%20Earth%20in%20some%20way.

https://www.vox.com/2019/6/18/18642645/bitcoin-energy-price-renewable-china

https://www.statista.com/statistics/265203/global-oil-production-since-in-barrels-per-day/

https://decrypt.co/34876/why-is-bitcoins-supply-limit-set-to-21-million

https://markets.businessinsider.com/news/stocks/gold-price-record-inflation-fears-safe-haven-demand-recession-analyst-2020-7-1029434179#

--

--