เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยทำเหรียญสกุลดิจิทัลเป็นของตัวเอง

Bank of Thailand with Inthanon project

Minyarinn Chaotrakul
Bitkub.com
2 min readMar 18, 2020

--

ถือเป็นก้าวที่สำคัญอีกก้าวหนึ่งของวงการการเงินประเทศไทย ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้บริหารระดับสูงขององค์กรการเงินในประเทศของเรา ที่เล็งเห็นความน่าสนใจและประสิทธิภาพของเทคโนโลยีบล็อกเชน หากนำสิ่งนี้มาปรับใช้กับวงการการเงินและระบบธนาคารจะโอกาสเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกรรมและจัดทำระบบอีกมากมาย เรียกได้ว่ามีความตื่นตัวกับกระแสโลกไม่แพ้เมืองนอก

สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงค์ชาตินั้น ได้มีการเล็งเห็นถึงความน่าสนใจของระบบการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology: DLT) จึงได้มีการนำเทคโนโลยีตัวนี้มาประยุกต์ทำระบบการชำระเงินระหว่างธนาคาร 8 แห่ง ซึ่งโครงการนี้ได้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 โดยมีทดลองและพัฒนาระบบการชำระเงินรวมไปถึงการออกเหรียญดิจิทัลที่ใช้เฉพาะภายในสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ ชื่อว่าเหรียญ CBDC (Central Bank Digital Currency)

โดยโปรเจคที่น่าสนใจนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาภายใต้ชื่อ “โครงการอินทนนท์”

ทำไมถึงต้องชื่อ “อินทนนท์”

โดยสาเหตที่ตั้งชื่อโครงการตามชื่ออุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ แหล่งท่องเที่ยวและยอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากในช่วงเริ่มต้นโครงการ ทางทีมงานผู้พัฒนาได้พอศึกษาหาข้อมูลของประเทศต่างๆ ที่มีการพัฒนา CBDC (Central Bank Digital Currency) มาบ้างแล้ว ทางทีมงานได้สังเกตว่าโปรเจคส่วนใหญ่ประเทศเหล่านั้นมักมีการตั้งชื่อตามเกาะ,สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติรวมไปถึงอุทยานของประเทศนั้นๆ
ทางผู้พัฒนาจึงนำไอเดียนี้เข้ามา ประกอบเข้ากับแนวคิดในการทำงานของแบงค์ชาติ ที่เน้น “มองการณ์ไกล” จึงทำให้เลือกชื่อ “ดอยอินทนนท์” เข้ามาเป็นชื่อโครงการ เพราะเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญอันดับต้นๆ แถมยังเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของไทย

จุดเริ่มต้นของโครงการ “อินทนนท์”

จากกระแสเงินดิจิทัลที่เริ่มได้รับความสนใจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บิตคอยน์เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ทางแบงค์ชาติค่อนข้างให้ความสนใจ ตั้งแต่ในส่วนของ “แนวคิด” ที่ทางระบบของบิตคอยน์ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาเรื่องความโปร่งใส ความเป็นอิสระ และการลดค่าธรรมเนียม รวมไปถึงย่นระยะเวลาในการทำธุรกรรมทีละมากๆ ลงไป ทางแบงค์ชาติได้เล็งเห็นคุณสมบัติที่น่าสนใจนี้จึงมีการรวบรวมพันธมิตรที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดลองการเงินระบบใหม่
โดยมีหน่วยงานที่เข้าร่วม 3 หน่วยงานด้วยกัน ได้แก่

  • แบงก์ชาติ
  • ธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง
  • บริษัท R3 ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม DLT ที่ทำระบบให้ธนาคารชื่อดังหลายแห่ง

ด้วยวิสัยทัศน์ของทางแบงค์ชาติ จึงได้มีการรวมตัวทีมพัฒนาและร่วมกันทดสอบระบบให้เสถียรที่สุด ซึ่งหากสำเร็จ ในอนาคตโมเดลนี้จะสามารถนำไปปรับใช้กับสถาบันการเงินอื่นๆ ได้อีกมากมายโดยมีแบงค์ชาติคอยดูแลระบบอยู่เบื้องหลัง

แนวคิดด้านการพัฒนา

จุดเริ่มต้นมาจาก ระบบการทำงานของธนาคารต่างๆ ในไทยรวมถึงแบงค์ชาติในปัจจุบัน โดยทั่วไปแล้วธนาคารต่างๆ ในไทยนั้น หากมีการโอนเงินระหว่างธนาคาร ธนาคารในเครือเหล่านี้จะไม่ได้เป็นผู้โอนเงินออกจากบัญชีต้นทางไปที่ปลายทางโดยตรง
แต่ละที่จะมีบัญชีของตัวเองที่เปิดไว้ที่แบงค์ชาติอยู่แล้ว การโอนจ่ายระหว่างธนาคารจึงเป็นเหมือนการทำระบบสั่งจ่าย และยื่นให้แบงค์ชาติ เพื่อให้แบงค์ชาติโอนเงินในคลังให้กับปลายทางอีกที (แบงค์ชาติทำหน้าที่เป็นผู้ถือเงินสำหรับสถาบันเหล่านั้นไว้) โดยแบงค์ชาติจะรับคำร้องการโอนเงินเช็คยอดเงินและโอนให้ตามยอด

แต่ด้วยคุณสมบัติของเทคโนโลยีบล็อคเชน ทั้งการประมวลผลและการจักเก็บข้อมูลแบบกระจาย
การจัดเก็บข้อมูลที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ไม่ว่าข้อมูลอะไรหรือธุรกรรมอะไร ยอดเท่าไหร่ที่เพิ่มเติมเข้ามาในระบบจะถูกเก็บบันทึกไว้เป็นเสมือนบัญชีเงินฝาก ทุกธุรกรรมจะถูกบันทึกไว้ต่อๆ กันตั้งแต่ธุรกรรมแรกที่เกิดขึ้น และทุกคนในเครือข่ายยังสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้อย่างอิสระ ระบบนี้หากถูกนำมาปรับใช้ภายในองค์กรโดยเฉพาะในโลกการเงิน ทางทีมงานเล็งเห็นว่าจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้สถาบันการเงินในเครือเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในแง่ของความโปร่งใส

ทางแบงค์ชาติจึงได้สร้างโครงการอินทนนท์ขึ้นมา พร้อมระดมพลปรึกษาหารือกับธนาคารในเครือที่เข้าร่วมด้วย 8 ธนาคาร เพื่อหาแนวคิดและ Concept ของระบบที่เป็นไปได้ที่สุด เพื่อสร้างระบบการชำระเงินที่มีความเสถียรมากพอที่จะใช้กับสถาบันการเงินระดับประเทศหรือแม้แต่ระหว่างประเทศในอนาคตได้
รวมไปถึงความที่คิดว่าอยากจะสร้างระบบการชำระเงินที่มีความเชื่อมั่นสูง ขนาดที่ธนาคารต่างๆ จะสามารถโอนย้ายเงินให้กันเองระหว่างสถาบันในเครือได้เลยโดยไม่ต้องส่งคำร้องให้แบงค์ชาติจัดการให้ (ธปท.จะผันตัวไปเป็นเพียงคนในระบบหลังบ้านเท่านั้น)

กำเนิดเงินบาทออนไลน์

โครงการอินทนนท์ได้มีการสร้างสกุลเงินดิจิทัลจำลองที่ออกโดยแบงก์ชาติเพื่อใช้ในการโอนเงินระหว่างสถาบันการเงิน แทนที่จะโอนด้วยเงินบาทจริงๆ เรียกว่า Central Bank Digital Currency (CBDC)

ซึ่งแตกต่างจากปกติที่หากธนาคารต่างๆ ในเครือจะโอนเงินระหว่างกันต้องมีการทำคำเรื่องโอนเงินไปยังธนาคารกลาง — แล้วธนาคารกลาง (ซึ่งเป็นผู้ถือเงินบาทในบัญชีของธนาคารย่อยทุกที่) แต่จะเป็นตัวกลางในการทำธุรกรรมโอนเงินให้ปลายทาง
แต่ทีนี้หากมีการนำเทคโนโลยีบล็อคเชนมาปรับใช้ ทำให้ในอนาคตระบบจะเปลี่ยนเป็นการที่ “ธนาคารกลางเปิดรับให้ธนาคารในเครือนำเงินบาทมาแลก Token โดยมีมูลค่า 1:1”หรือจะเรียกง่ายๆ ก็คือ “การ Tokenized เงินบาท” นั่นเอง ซึ่งรูปแบบการแลกเปลี่ยนในรูปแบบบาทคอยน์นี้จะยังถูกใช้เฉพาะในระดับสถาบันการเงินใหญ่ๆ ที่มีการโอนย้ายเงินทีละมากๆ เท่านั้น

นอกจากนี้สิ่งสำคัญคือระบบ Smart contract ของบล็อคเชน ที่ทางผู้โอนจะสามารถตั้งเงื่อนไขหรือแม้แต่ช่วงเวลาที่จะทำการโอนนั้นๆ ได้ เรียกได้ว่าหากโมเดลนี้สำเร็จก็จะพลิกโฉมให้ระบบการเงินระดับสถาบันไปได้อย่างมาก (ไม่ต้องรอแบงค์ชาติเป็นตัวกลางตลอดเวลา)
โดยทางโปรเจคมีการนำระบบของทาง Corda R3 มาช่วยในการพัฒนาตรงส่วนนี้ด้วย

ความเป็นไปได้ที่จะนำเทคโนโลยีตัวนี้ไปใช้ในระดับครัวเรือน

ณ ปัจจุบันขณะที่เขียนบทความนี้ (14 กุมภาพันธ์ 2020) โปรเจคอินทนนท์ในความดูแลของธปท.และพันธมิตรใครเครือยังคงเรียกได้ว่า “อยู่ในระหว่างการพัฒนา” ระบบยังต้องการเวลาอีกสักระยะในการปรับปรุงให้สมบูรณ์ ทั้งในแง่ของความปลอดภัย ความเสถียรของระบบ ความรวดเร็ว ความโปร่งใส ประสิทธิภาพโดยรวมเป็นอย่างไร

และที่สำคัญที่สุดอีกหนึ่งข้อคือเรื่องของกฏหมาย ทั้งความปลอดภัยทางไซเบอร์และความเสถียร ซึ่งถ้าสิ่งเหล่านี้เกิดปัญหาขึ้นทางหน่วยงานต้องมีการรับผิดชอบอย่างไร ตรงนี้ยังไม่มีกฏหมายควบคุมออกมาเฉพาะเจาะจง หากแก้โจทย์เหล่านี้ได้ครบทุกข้อ อนาคตก็เป็นไปได้ที่โครงการนี้จะถูกนำมาใช้กับระบบของแบงค์ชาติจริงๆ แต่ต้องเป็นหลังจากทดสอบระบบอย่างเข้มข้นว่ามีความพร้อมจริงๆ

นอกจากนี้ หากพูดถึง “ความเป็นไปได้หากนำมาปรับใช้กับระบบการชำระเงินกับประชาชนทั่วไป” ก็อาจเป็นไปได้ในอนาคตถ้าตัวระบบสมบูรณ์มากพอ แต่ด้วยความใหม่ของเทคโนโลยีบล็อคเชนกับแนวคิด Tokenization อาจมีอะไรให้ปรับและพัฒนาอีกมาก อย่างน้อยก็ 3–5 ปีนับจากนี้

แพลนในการพัฒนาระบบของ “อินนทนนท์” มีอะไรบ้าง?

โครงการอินทนนท์นั้นวางแผนการพัฒนาขึ้นเป็น 3 ระยะด้วยกัน ได้แก่

เฟส 1 พัฒนาระบบและทดสอบโอนเงินระหว่างสถาบันโดยใช้ CBDC (บาทคอยน์)

เฟส 2 มีการนำเทคโนโลยี DLT มาใช้เพื่อพัฒนาคุณสมบัติพิเศษเพิ่มเข้ามา 2 อย่าง คือ
- ธุรกรรมการซื้อขาย ซื้อคืนระหว่างสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องกับตราสารหนี้
- การกำกับดูแลและตรวจสอบข้อมูลการโอนเงินของลูกค้า เน้นเรื่องการลดภาระในการตรวจสอบและลดข้อผิดพลาดในการโอนเงินของลูกค้า

เฟส 3 การพัฒนาระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ (Cross border transfer) ซึ่งถือว่าเป็นแพลนที่ยากที่สุด เนื่องจากกฏหมายทางด้านการเงินของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน รวมไปถึงระบบการเงินที่ใช้ก็ไม่เหมือนกัน

สำหรับในปัจจุบันโปรเจคอินทนนท์ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาและเข้าสู่ระยะที่ 3 แล้ว โดยในปัจจุบันทางทีมงานกำลังอยู่ในช่วงเจรจาและหารือกับธนาคารกลางแห่งชาติของฮ่องกง (HKMA) เพื่อวางแผนการพัฒนาที่น่าจะเป็นไปได้ที่สุดเพื่อหาความเป็นไปได้ของการโอนเงินข้ามประเทศในรูปของสกุลเงินที่แตกต่างกัน หากธนาคารทั้งสองแห่งทำได้สำเร็จ ก็มีความเป็นไปได้ในอนาคตที่จะเชิญสถาบันการเงินแห่งชาติของประเทศอื่นๆ มาเข้าร่วม

เรียกได้ว่าน่าสนใจมากที่เดียวที่หน่วยงานยักษ์ใหญ่ของประเทศไทยได้มีการตื่นตัวและเล็งเห็นถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีและความเป็นไปได้ที่จะสามารถนำมาปรับใช้เพื่อประโยชน์สูงสุดและความโปร่งใสภายในระบบการเงินระดับประเทศ ทั้งนี้อาจต้องคอยจับตาดูกันต่อไปในอนาคตว่าโปรเจคตัวนี้จะถูกนำไปพัฒนาทิศทางไหน หากประสบความสำเร็จและถูกนำไปต่อยอดและผลักดันประเทศไทยสู่ยุค “สังคมไร้เงินสด” ได้จริงๆ นอกจากความโปร่งใสในการซื้อขายและเปลี่ยนและความเป็นระเบียบ สะดวกสบายต่อประชาชนที่ใช้แล้วยังมีความเป็นไปได้ที่เราจะนำระบบตัวนี้ไปพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างความโปร่งใสให้องค์กรอื่นๆ ของภาครัฐก็เป็นได้

รวมไปถึงสำหรับภาคเอกชนเองก็มีความตื่นตัวในเรื่องนี้ เช่น กระดานซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้องในประเทศไทยอย่างเว็บไซต์ Bitkub.com เองก็มีกระแสข่าวออกมาว่า หากโปรเจคอินทนนท์สามารถปล่อบให้มีการใช้ในภาคประชาชนทั่วไป ทางเว็บไซต์เองก็มีแพลนนำเหรียญดิจิทัลตัวนี้มาลิสต์ในกระดานซื้อขายเช่นกัน

--

--