ถ้าจะให้สรุปเคล็ดลับในการทำให้สุขภาพดีทั้งหมดเหลือเพียงแค่ข้อเดียว.. นี่คือสิ่งที่เราควรรู้กัน..

สบายๆ ทั้งสี่

BoNisa
BoBoat Yogi Life
6 min readSep 14, 2022

--

หัวข้อในวันนี้เขียนออกมาในทำนองแบบที่พวก Clickbait เค้าชอบเขียนกัน.. บางคนก็ไม่ชอบ บางคนอ่านแล้วก็ตื่นเต้นดี โดนดักเข้ามาไม่รู้ตัว 55

รู้จักพวก Clickbait มั๊ย? พวกที่เขียนหัวข้อให้น่าค้นหา ให้อยากรู้ ให้คนสนใจ เพื่อดักเพื่อตก ให้คนเข้ามาดู..

แต่จริงๆ แล้ว เราไม่มีเจตนาที่จะตกใครเข้ามาอ่านเรื่องเคล็ดลับสุขภาพดีแบบง่ายๆ อย่างนั้น.. ที่เอามาพูดถึงนี่ เพราะในวันนี้เรื่องการดูแลสุขภาพให้ดีดูเป็นเรื่องยุ่งยาก เยอะแยะ ไปหมด และต้องพึ่งพาสินค้า บริการต่างๆ มากมาย.. ที่ครูเขียนมานี่ มันออกมาจากความตั้งใจว่า ‘อยากให้คนจำหลักการดูแลสุขภาพตัวเองตัวเองได้ง่ายๆ’ ถามเข้าไปในใจว่าต้องให้เขาจำเรื่องไหนได้ คำตอบที่ออกมามันเลยเป็นเรื่องที่จะพูดนี้

วันนี้เลยจะมาพูดเรื่อง.. การที่จะทำให้สุขภาพดีได้ไม่อยากให้มองว่าเป็นเรื่องยาก ถ้าจำเรื่องนี้ได้และรักษาตัวนี้ไว้ได้ส่วนมาก.. เราจะไม่ต้องไปพึ่งพาอาหารเสริม ไม่ต้องไปพึ่งพายา ไปพึ่งพา Superfood หรือไปอ่านหนังสือเยอะๆ ไปเชื่องานวิจัยที่ใช้ภาษา ศัพท์เฉพาะทางยากๆ แต่ก็ยังไม่เห็นจะสุขภาพดีกันสักที :)

ไหนมีใครชอบอ่านงานวิจัยด้านสุขภาพมั้ย? บริโภคงานวิจัยไปแล้วสุขภาพดีมั้ย? อันนี้แซวเล็กน้อยนะ คือไม่ใช่งานวิจัยต่างๆ ไม่มีประโยชน์.. ถึงจะต้องลงทุนใช้เงินกันทดสอบหลายๆ หมื่นล้านต่อปี.. แค่เรื่องสุขภาพนี่แหละนะ.. แต่มันเยอะไปหมด มีศาสตร์นั้น ศาสตร์นี้ กินตัวนั้นตัวนี้ ใช้แสง ใช้ความร้อน ใช้ความเย็น ปรับฮอร์โมน ฯลฯ สุดท้ายมีหลักการไหน ที่เราไม่ต้องไปพึ่งพาเขา เรารู้แล้ว เราเอามาพัฒนาสุขภาพให้ดีด้วยตัวเราเองมั๊ย? พอมันเยอะไปหมดแล้วเราก็จำไม่ได้ ก็ต้องไปพึ่งความรู้ที่คนอื่นยืนยันมาให้ ที่เรียกว่างานวิจัย.. แต่ละเลยการตรวจการฟังร่างกายด้วยตัวของเราเอง

ดังนั้น ในวันนี้เราอยากจะมาพูดถึงเรื่องนี้
เรื่องของสุขภาพ แบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน จำได้ ที่เราจะดูแลได้เองทั้งชีวิต..
พอเข้าใจหลักการแล้ว เอาไปฝึกเอาไปต่อยอดเองได้ทั้งชีวิต
ไม่ได้ Clickbait บทความวันนี้ราคาแพงนะ แต่ให้ฟรีๆ 55
เอ้า มาลองฟังกัน..

สุขภาพไม่ใช่แค่เรื่องร่างกายและอาหาร.. ยังมีมิติอื่นๆ ที่สำคัญกว่า

สุขภาพที่คนส่วนมากเข้าใจ มุ่งเน้นไปที่การหาอาหารดีๆ มาทาน
แต่ในศาสตร์ของโยคะ ชั้นของอาหารเป็นเพียงร่างกายชั้นหนึ่งที่สังเคราะห์ธาตุต่างๆ จากสารอาหารมาเก็บเอาไว้

แต่การที่จะเปลี่ยนอาหารภายนอก เป็นการซ่อมแซม หรือบำรุงรักษาอวัยวะ ระบบต่างๆ ภายในได้นั้น.. จะเห็นว่ายังมีส่วนของพลังงาน หรือตัวปราณ ซึ่งเป็นธาตุลม ธาตุไฟภายนอก ที่ได้มาจากการหายใจ เช่นออกซิเจนที่ไปทำปฎิกิริยาในกระบวนการเคมีในเกือบๆ ทุกกระบวนการแลกเปลี่ยนภายใน..

อีกส่วนหนึ่งของสุขภาพอยู่ภายในเซล ในแต่ละอวัยวะ ไม่ว่าจะสมองก็ดี ตับ ปอด หัวใจ ระบบต่างๆ ก็ดี มีเซลที่มีซอฟ์แวร์ทำหน้าที่ต่างกันไป.. เรากินข้าวไปเซลต่างๆ เหล่านี้เขาก็เรียกหาและปรุงสารอาหารที่ไม่เหมือนกัน ระบบส่วนหนึ่งเป็นการบันทึกที่มีมาอยู่แล้วในพันธุกรรม อีกส่วนหนึ่งของข้อมูลสามารถเปลี่ยนไปได้ตามการตอบสนองต่อภาวะภายนอกและสิ่งเร้าต่างๆ

เช่น เราได้รับความกดดันจากสภาพแวดล้อมการทำงาน ความเครียดที่มาจากการจับจ้องทางความคิดและกระแสประสาท ทำให้ฮอร์โมนต่างๆ หลั่งออกมา เช่นคอร์ติซอล อดินาลีน เป็นต้น จะเห็นว่าส่วนหนึ่งของกระบวนการทางเคมีเกิดจากการตอบสนองของความฉลาดในตัวเราต่อเรื่องต่างๆ.. สมมุติว่าเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ คนไม่มีเงิน ของราคาแพง.. คนกลุ่มหนึ่งเครียดมากจนป่วย แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งมองเห็นความเครียดของตัวเอง และประคองรักษาความสบายของอารมณ์ไว้ได้.. ถามว่าสองกลุ่มนี้สุขภาพจะต่างกันไหม? ย่อมต้องต่างกันแน่นอน เพราะอันนี้เป็นเรื่องของ Intellect หรือสติปัญญาภายใน ที่ส่งผลต่อระบบเคมีของสุขภาพเรา.. จากตัวอย่างง่ายๆ นี้แสดงว่า ใครเป็นคนผลิตสุขภาพที่ดีหรือแย่? การตอบสนองของตัวเราใช่ไหม? ดังนั้นโรงงานสุขภาพอีกส่วนหนึ่งอยู่ที่ศักยภาพในการตอบสนองของตัวเราต่อพลังงานภายนอกนั่นเอง ที่จะส่งผลต่อเซลและระบบต่างๆ

~อยากให้พวกเราเข้าใจกันว่า.. ร่างกายของเรานี่ สุขภาพของเรานี่ ถูกผลิตมาจากภายในไม่ใช่ภายนอก..~ แต่ละคนกินอาหารแบบเดียวกัน หายใจได้เหมือนกัน อยู่ในสภาพแวดล้อมคล้ายๆ กัน.. แต่สุขภาพดีไม่เท่ากัน อารมณ์ดีต่างกันไป ใครเป็นคนผลิต? ภายในตัวเราใช่ไหม?

ดังนั้นการที่เราเอาระบบสุขภาพทั้งหมดไปอยู่ที่อาหารการกิน อาหารเสริม ยา เคมี หรือการรักษาด้วยสินค้าและบริการต่างๆ จึงเป็นการมองข้าม ความสามารถในการผลิตภายใน อันประกอบไปด้วย การจัดการระบบพลังงานและลมหายใจ อย่างที่เรามาฝึกลมหายใจกันนี่.. และความฉลาดทางอารมณ์และการตอบสนองต่อความรู้สึก ที่จะส่งผลต่อสุขภาพในระบบอวัยวะ, ระบบภูมิ, และการฟื้นฟูระดับเซลอีกจำนวนมาก ที่อาหารการกินก็ช่วยรักษาได้ไม่ทั่วถึง

การตรวจสุขภาพร่างกายด้วยตนเอง

ทุกวันนี้เราพึ่งพามืออาชีพมาก เพราะเราคิดว่าเขามีความรู้มากกว่า มีคำศัพท์ มีเครื่องมือตรวจวัด มีห้องแลปและเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่า.. อย่างเร็วๆ นี้ เรื่องคุณแม่ที่ไปตรวจสุขภาพ และทำ MRI ต่างๆ กระดูกคอมันก็เสื่อมเห็นภาพชัดเจนว่าข้อไหนๆ ไปทับเส้นประสาท แล้วมันปวดลามไปตรงจุดไหนบ้าง.. ซึ่งมันก็มีประโยชน์เราก็ไม่ได้ต่อต้านอะไร แนะนำเสียอีกอย่างคุณแม่เราก็พาไปตรวจจะได้เห็นภาพและฟังความเห็นของคุณหมอต่างๆ.. แต่ในฐานะของครูสอนโยคะ สอนลมหายใจ พอเราพาคุณแม่ลองตรวจร่างกายด้วยตนเอง.. อย่างลองพับตัวลงช้าๆ หายใจออกคุณแม่จะเห็นแล้วว่ามันตึงตรงไหนบ้าง เพราะเส้นเอ็น เส้นประสาท เส้นลม ตั้งแต่ส้นเท้ามันร้อยกันไปมาไปจนถึงศรีษะ.. พอเริ่มขยับสรีระต่างๆ ช้าๆ ประกอบกับลมหายใจ ตัวผู้ฝึกเองจะเริ่มได้ฟัง.. สี่งที่ร่างกายเข้ามีความทุกข์อยู่แต่ปกติเราละเลยที่จะใส่ใจทันที

อย่างสัปดาห์ก่อน คุณแม่แอบไปทำงานมามาก ตอนแรกที่ถามว่าวันนี้เป็นยังไงบ้าง.. ก็ตอบว่าปกติดี แต่จริงๆ ครูแอบเห็นหมดตั้งแต่น้ำหนักและความสบายของลมหายใจแล้วว่าไม่ค่อยดี.. พอมองไปที่บ่า ที่สะบัก เราเอาสามนิ้วคลำไปทีเดียวเราก็รู้แล้วว่าแอบไปทำอะไรมาบ้าง.. คือร่างกายมันไม่โกหกนะ บางทีเจ้าตัวไม่รู้ อยู่กับความเคยชินมานาน คิดว่าไม่เป็นไรแต่มันฟ้องออกมาที่กล้ามเนื้อมันเริ่มหดตัว แข็งๆ ปูดๆ รัดไว้ตามจุดต่างๆ แล้ว.. อย่างหมอนวดเขาก็จะมองตรงนี้ออก.. ทีนี้พอให้ค่อยๆ ทำท่าโยคะ เอียง บิด สรีระ ข้อต่อต่างๆ ช้าๆ ดู.. คุณแม่ก็จะรู้ทันทีว่า อ้อนี่ตรงนี้ร้าวขึ้นคอ.. ตรงนี้ปวดลงสะบัก ลงแขน ลงปลายนิ้วมือ.. มันตรวจได้ละเอียดมาก และหลังการฝึกก็จะรู้ว่าความโล่งเบาเมื่อเทียบกับก่อนการฝึกโยคะ ฝึกหายใจมันต่างกันแค่ไหนบ้าง.. และจากประสบการณ์ที่ครูบำบัดดูแลเคสเหล่านี้มา เราก็ใช้แค่ท่าง่ายๆ คู่กับลมหายใจสบายๆ แค่นี้แหละ แค่ไม่กี่สิบนาที Contraction หรือจุดที่มันหดรัดตัว จุดที่พังพืดมันเริ่มทำงานเกิน จนไปดันเส้นประสาท มันก็จะอ่อนนุ่มลงทันที อันนี้มันไม่ต้องคิด หมอกายภาพ หมอนวดไทย หรือหมอฝังเข็ม หรือครูโยคะที่ได้ทำงานกับคนป่วยแบบนี้จะเข้าใจทันที แค่เราช่วยเขาคลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าได้คลายไปถึงระบบลมหายใจด้วยแล้ว หรือคลายไปถึงระบบเส้นประสาท.. การฟื้นฟูมันจะเร็วมาก.. มีเคสหมออาสาท่านหนึ่ง ที่ไปรักษาน้องที่ป่วยเป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรง จนนอนติดเตียงน้ำลายไหลแล้ว ด้วยใจที่เมตตาและคุณหมอใช้การคลายด้วยวิชาตอกเส้นเอาเสียงเบาๆ ไปคลายเส้นประสาท.. ผ่านไปไม่กี่เดือน เคสแบบที่เขาว่ากันว่ารักษาไม่ได้แล้ว ทุกวันนี้น้องกระโดดโลดเต้นได้ อันนี้ครูเคยเห็นวีดีโอ กับเคยสัมภาษณ์มากับตัว เอาไว้โอกาสหน้าจะเล่าให้ฟังมากขึ้น

อันนี้เป็นเรื่องของ ระบบกล้ามเนื้อ และระบบกระดูก ที่สัมพันธ์กับระบบประสาท ที่เป็นชั้นร่างกายที่พื้นๆ มาก ระบบพวกนี้การฝึกโยคะอาสนะง่ายๆ คู่กับลมหายใจ ฟื้นฟูได้แน่นอน และที่สำคัญคือเราอยากให้มองว่าทุกคนมีเครื่องมือในการตรวจเช็คและบำบัดรักษาตัวเองได้ ทำได้ทุกวัน โดยที่ไม่ต้องรออาการหนักแล้วเอาร่างแหลกๆ ไปให้โรงพยาบาลหรือคุณหมอเข้ารักษา.. แค่ปรับสรีระให้สบาย ปรับลมหายใจให้สบาย เท่านี้เองง่ายไหม?

สบายๆ ไม่เหมือนกับ ความผ่อนคลาย

ในเวลาสอนโยคะ เวลาที่ครูสังเกตเห็นหน้าเครียดๆ หน้าอึดอัดๆ แบบมีความพยายามเต็มที่ในการฝึก.. แบบความตั้งใจมันล้นเกินออกมาทางสีหน้าน่ะ 55 ครูก็จะบอกให้หายใจออกยาวๆ บอกให้ผ่อนคลาย.. อันนี้คือความผ่อนคลาย คือให้คลายพลังงานลง ลดความตั้งใจหน่อย เป็นการช่วยเขาหาจุดสมดุล

ส่วนความสบายๆ คือภาวะที่
‘ไม่ได้มีความต้องการ’
‘ไม่ได้รู้สึกทุกข์ร้อนอะไร’
‘ไม่ได้รีบเร่งอะไร’

แต่มันมีพลังงานของมันนะ มีสติอยู่ไม่ใช่ว่าเคลิ้มๆ ไปขาดสติ.. ถ้าหยิบภาษามาใส่ ความสบายๆ เทียบเป็นอังกฤษ ก็ประมาณ I feel ‘at ease’. I feel comfortable. มันไม่ได้ต้องปรับจูนอะไรมากแล้ว การตอบสนองมันพอดีอยู่พอประมาณ.. คำว่าพอดีนี่คือปัจจุบัน มันไม่หยุด มันเคลื่อนตัวไปเรื่อยๆ.. เวลาเราทำงานในความสบายๆ คือเราตอบสนองต่อความกดดันต่างๆ ด้วยความไม่ทุกข์ร้อนอะไร.. ตรงนี้เป็นความสามารถที่ต้องฝึกนะ เพราะแต่ละคนจะมีศักยภาพในการรักษาความสบายได้ไม่เท่ากัน บางคนนี่ปรี๊ดง่ายมาแต่เกิดเลย บางคนก็ทนมากกกแต่หาความสบายไม่เจอเลย.. เมื่อพบอารมณ์ที่สบายๆ แล้วตัวรูปที่ปรากฎมันจะปราณีตขึ้น มีความเบา มีความคล่องตัว มีความสดชื่น มีความแจ่มใส.. อันนี้สังเกตไหมว่าคำศัพท์มันเป็นเชิงพลังงาน พลังงานมันสร้างรูปออกมาอีกที สร้างบุคคลิกออกมาทีหลัง.. ตอนเด็กๆ ครูไปเชียงใหม่ เขาจะชอบเปิดเพลง ต่อนยอน ต๊ะ ต่อนย๊อนน ฯลฯ นี่เคยฟังไหม แล้วเขาจะมีจังหวะเต้นรำไปด้วย.. อารมณ์ที่แสดงออก ประเพณีที่แสดงออกมา มันเป็นการพัฒนาของสังคมที่มีสุขภาวะที่ดี มันแสดงออกมาในรูป ในการเคลื่อนไหว ในจังหวะดนตรีต่างๆ อันนี้คือสังคมที่มีความสบายๆ.. หลังๆ เห็นน้องลงก็แอบน่าเสียดาย เราทิ้งพลังงานที่ดี ไปเอาพลังงานที่รีบเร่ง ที่ดิ้นรน มาแทน การเอาตัวรอดมันเป็นพลังงานที่คับแคบกว่า แต่ห้ามไม่ได้ มันเป็นไปตามยุคสมัย ตามกระแสสมมุติของเงิน

เมื่อพวกเราเริ่มต้นอะไรด้วยความสบาย และรักษาอารมณ์สบายๆ ไว้ได้เป็นส่วนมากของเวลา สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือเราจะไปเปิดช่องว่างในระดับพลังงาน เคยได้ยินคำว่า Space ไหม.. Spacious คือความกว้างขวาง เมื่อเราเป็นคนมีพลังงานที่เปิดกว้าง เราก็จะรับของใหม่ได้มากขึ้น ของเสียในระบบก็จะเจือจางลง วิธีนี้มันเลยเป็นวิธีที่ฉลาดคือแทนที่จะไปยุ่งกับแก้วใบเดิม เราอัพไซส์แก้วซะเลย เมื่อสบายๆ แล้วอะไรมันก็จะคล่องตัวไปหมด.. เอ เจอความทุกข์ความเครียดเท่าๆ เดิม แต่การตอบสนองเราเปลี่ยนไป.. พอมาฝึกโยคะ เอ๊ะ ท่านี้มันยาก แต่พอความสบายมันมาอยู่ในลมหายใจได้ ร่างกายมันขยับไปเพิ่มได้แฮะ เข้าท่ายากได้ลึกขึ้น.. พอมาที่สุขภาพเมื่อเราสบายๆ แล้ว พวกเส้นประสาทที่มันตึงๆ มันก็คลาย กล้ามเนื้อที่มันปูดมันบล็อกตามจุดต่างๆ มันก็คลายตัวลง.. เอาแค่ระดับแค่นี้นะ เราจะรู้สึกขอบคุณตัวเองแล้ว เราจะรู้สึกมีความสุขแล้ว.. บางคนฝึกโยคะอยู่หาจุดนี้ได้ ร้องไห้เลย.. คือมันไม่รู้ว่าที่ผ่านมาเขาแบกรับความทุกข์ แล้วมันสะสมเข้ามาอยู่ในร่างกายแค่ไหน.. เขาไม่เคยสำรวจมัน.. พอคลายให้ร่างกายเขาได้ น้ำตามันก็ไหลออกมา.. สมัยฝึกโยคะแรกๆ ครูฝึกไปๆ ก็จะเจอแบบนี้บ่อย จุดที่ร่างกายเรารู้สึกขอบคุณตัวเอง ที่เอาตัวเองมาฝึก มาฟัง ร่างกายเค้าสื่อสารได้นะ ทางความรู้สึกไง แต่พวกเรามัวแต่อยู่ในโลกของสมองของความคิด ละเลยตรงนี้ไปมาก.. ฟังดูเหมือนเว่อร์ ของแบบนี้ต้องเอาตัวเองมาเป็นพยาน อย่าพึ่งเชื่อครูมาก

Factory Reset กับ การเข้าอู่ซ่อม

ครูขอกลับมาที่ทฤษฎีโยคะศาสตร์เล็กน้อย จำได้ไหมในบทความที่แล้วเรื่อง ชั้นต่างๆ ของกาย.. เราจะมีชั้นของข้อมูล หรือ Manomaya Kosha ในกายชั้นนี้เขาจำแนกรวมไว้หมดตั้งแต่พวกรหัสพันธุกรรมต่างๆ และฟังก์ชั่นของระบบของอวัยวะต่างๆ ว่าเซลแบบนี้ทำงานหน้าที่นี้ มีการตอบสนองแบบนี้.. เหมือนคอมพิวเตอร์ที่มีระบบต่างๆ เยอะแยะเลย แต่มันทำงานประสานกัน เพื่อให้ชีวิตขับเคลื่อนไปได้ โดยอาศัยพลังงานจากภายนอกคืออาหารและลมหายใจ.. เวลาคนป่วยสุขภาพไม่ดี ส่วนมากมักคิดกันแต่เรื่องอาหารเทพๆ ซึ่งนั่นก็ช่วย, ส่วนเรื่องยา เรื่องสมุนไพร นี่ไปทำหน้าที่บางอย่าง เพื่อให้ร่างกายหาสมดุลและฟื้นตัวเองได้ นี่ก็ช่วยแต่ก็ต้องอาศัยหมอหรือคนที่เขามีความรู้เรื่องระบบและสารนั้นๆ ว่าทำงานกับเซลอย่างไร,.. หรืออย่างเรื่องลมปราณ ลมหายใจที่พวกเรามาฝึกกันนี่อยู่ มันก็ช่วยปรับระบบให้อยู่ในสมดุลได้ดีมาก เพราะลมหายใจมันเป็นอาหารที่เรากินเยอะที่สุดนะ เคยรู้กันบ้างไหม? และมันฟรีด้วย ถ้ารู้จักใข้มันก็สามารถปรุงเป็นยาขึ้นมาได้.. แต่อันนี้ต้องมาเรียน มาฝึกกัน

การรักษาสุขภาพแบบนี้เหมือนกับการเข้าอู่ซ่อมรถ ถ้าเราพังแล้วไปหาหมอคืออันนี้ไปซ่อมไปเปลี่ยนอะไร ไปปะผุ อะไรก็ว่าไป.. แต่ถ้าเราฝึกโยคะ ฝึกลมหายใจ อันนี้เหมือนกับเราหมั่นล้างรถ หมั่นตรวจเช็คสภาพรถ ได้ด้วยตัวเอง เราทำงานกับตัวเองนี่มันจะละเอียดมาก ใช้ความรู้สึกจากระบบประสาทนี่แหละนะ ไล่ไปๆ มันไม่ได้แพ้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์หลอก

แต่อยากพูดเพิ่มอีกเรื่องของวันนี้คือเรื่องของการบำบัดความเจ็บป่วยด้วยการ Factory Reset.. คือเรื่องนี้ฟังเอาไว้สนุกๆ ละกัน แต่ก่อนเราไม่เคยเห็นกับตาก็ยังไม่เชื่อเหมือนกัน.. แต่พอได้มาอยู่ในศาสตร์แบบนี้ทำให้ครูเริ่มได้เจอคนมาก หมอไทย หมอจีน หมออาสา ทิเบต อินเดีย หมอเทวดาต่างๆ.. มีครั้งนึงเจอคนต่างชาติฝึกทางทิเบตมา เขาบอกเขาอ่านคลื่นได้ เขาแม่นนะคือใครป่วยอะไรเขาทักได้เลย ถูกเป๊ะๆ แล้วเขาก็เล่าเปิดภาพเปิดวีดีโอที่เขาไปรักษาคนเป็นมะเร็ง เขาบอกเขาใช้วิธีจูนคลื่นความถี่ให้ตรงกัน แล้วขอให้มะเร็งหายไป.. อะไรแบบนี้ ครั้งสองครั้งมะเร็งก็หายไป มีภาพมีเสียงยืนยัน ก็ไม่รู้ว่าหลอกรึเปล่า แต่ได้ดูมาแบบนี้ 55

คือในระบบร่างกายของเรา ระบบต่างๆ มันมีข้อมูลชุดเดิมอยู่ แต่ด้วยการใข้ชีวิตของเรา เราสะสมร่างกายใหม่ขึ้นมา จากอาหารบ้าง จากความเครียดบ้าง จากความคิดบ้าง.. เวลาที่พลังงานใหม่ที่ใส่เข้ามามันไม่ค่อยดี สิ่งที่สะสมเข้ามาในร่างกายมันก็จะเริ่มเอามาสร้างเป็นของที่ไม่ดี โปรแกรมที่เราเขียนใหม่ขึ้นมามันไปทับกับชุดเดิมแล้วทำร้ายระบบเดิม อย่างโดนไวรัสก็ทำงานอยู่ในชั้นข้อมูลพวกนี้นะ เกิดเป็นความเจ็บป่วยต่างๆ อันนี้เขากำลังบอกความจริงเราอยู่.. ทีนี้ถ้าเราเราเคยฝึกโยคะมา หรือบางท่านปฎิบัติสมาธิแบบนี้มา จะทราบว่า ณ. จุดหนึ่งที่เราสงบ ว่าง จากความคิด และกระแสประสาท คือมันมีอยู่แต่น้อยมาก เหมือนเรานอนหลับลึกแต่ยังมีสติอยู่ ตรงนี้มันเป็นภาวะ ‘ว่าง’ คือไม่ใข่ละกิเลส บรรลุธรรมอะไรหลอก แต่ว่าเราไปแตะมิติของความว่าง ความกว้างขวางได้.. จุดนี้ถ้าอาศัยสติ เอามาอยู่ที่ร่างกาย ข้อมูลต่างๆ มันจะถูก Factory Reset เข้าสู่ภาวะปกติได้อีกครั้ง อย่างกับปาฎิหารย์.. คือในภาวะความว่างเนี่ย พวกการทำงานของกระแสประสาทต่างๆ มันจะสงบลง พวกของเสียต่างๆ มันคือการสะสมนะ เราสะสมเข้ามาในเซล เราสร้างขึ้นผิดรูป เราโดนไวรัสโดนข้อมูลที่มันผิดพลาดมา.. พออยู่ในภาวะแบบนี้ได้มันจะทิ้งออกไปหมด.. เหลือไว้แค่ของเดิมๆ ข้อมูลเดิมเค้ามีมา มันเลยเหมือนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง.. อันนี้สำหรับพวกคนฝึกมามาก พวกฤาษี โยคี พระหลายๆ ท่านก็ทำแบบนี้ได้ เป็นวิธีฟื้นสุขภาพของตัวเอง เวลาอยู่ป่า อยู่คนเดียว.. แต่อยากนำมากล่าวถึง เพราะแบบนี้ก็มีอยู่

แต่อย่างพวกเราอยู่กับความวุ่นวายใช่ไหม มีโซเชียลมีเดียทำสงครามกับสติอยู่ตลอดเวลา.. จะให้ทำแบบนั้นก็คงจะสอนกันยาก.. ครูมานั่งพิจารณา ก็เห็นว่ามีวิธีสำหรับคนธรรมดาๆ อย่างพวกเราอยู่ นั่นก็คือเรื่องนี้ เรื่อง ‘ความสบายๆ’

ความสบาย กับการบำบัดฟื้นฟูสุขภาพ..

Muscular Comfort, Skeleton Comfort, Organ Comfort, Prana Comfort, Neuron Comfort, Emotional Comfort

พวกเราคิดว่าเราต้องสุขภาพดีก่อนเราถึงสบาย หรือว่า เราต้องสบายๆ ก่อนเราถึงจะสุขภาพดี?

จริงๆ อะไรเกิดก่อนเกิดหลังก็ได้ มันสัมพันธ์กัน.. อย่างที่พูดไปด้านบน ความสบายๆ นี่มันเป็นภาวะทางอารมณ์นะ เป็นความสามารถที่ฝึกได้ และเมื่อรักษาไว้ได้แล้ว หรือมีสติคอยรักษามันไว้แล้ว ภาวะนี้เป็นพลังงานที่จะไปเหนี่ยวนำระบบต่างๆ ให้มีสุขภาพดีได้ด้วย..

วันนี้ครูจำแนกเรื่องความสบายๆ นี่ออกมาเป็นหมวดต่างๆ เพื่อให้พวกเราได้สังเกต ระบบต่างๆ ได้ถูกเวลาที่เราฝึกโยคะ ฝึกลมหายใจที่จะดูแลสุขภาพของตนเอง..

สบายๆ ทั้ง 4

  1. สบายท้อง

ชั้นที่พื้นฐานที่สุดของกายคืออาหาร เราต้องกินเพื่อที่จะมีพลังงานใช่ไหม แต่หลังๆ วิทยาศาสตร์ก็ออกมายืนยันมากมายแล้วว่า การอดอาหารบ้าง อย่างการทำ Fasting การทำ IF แบบที่พระหรือฤาษีทำกันมานานแล้ว เป็นการสร้างช่วงเวลาที่ระบบท้องไส้ของเราให้มีเวลาพัก เวลาที่เขาสบายๆ สิ่งที่เกิดขึ้นมีเยอะแยะไปหมด อย่างหนึ่งคือร่างกายจะเริ่มใช้ของสะสมพวกของที่พอกตามตับ ตามอวัยวะนี่แหละจะค่อยๆ ถูกดึงออกมา เขาจะกำจัดส่วนเกินก่อน.. การอดอาหารบางช่วงเวลานี่จึงเหมาะมากกับคนยุคนี้ เพราะเป็นยุคที่เรามีกินกันจนล้น หากินง่ายเกิน กดแอพมันก็มา ก็กดกันอยู่ทั้งวัน 55

สำหรับคนที่ไม่ชอบอด ครูอยากให้หลักจำ หลักสังเกต ในการรับประทานอาหารก็คือ อาหารแบบไหน, อาหารปริมาณสักเท่าไหร่ ที่เรากินไปแล้วเรายังรู้สึก “สบายๆ ท้อง” ได้อยู่ แบบที่ญี่ปุ่นเค้าบอกกินแล้วยังไม่ถึงกับอิ่มมากนั่นแหละคือปริมาณที่เหมาะสม และสัดส่วนอาหารที่ทานไปแล้วไม่หนักไม่ง่วงซึมเกิน ทานไปแล้วไม่สร้างก๊าซในท้องให้อึดอัด ไม่ทานไปแล้วร่างกายร้อนกระสับกระส่ายเกิน ให้คอยสังเกตหลังทางไปอีกสัก 1–4 ชั่วโมง ตัวความรู้สึก ตัวสติเรานี่แหละคุณหมอ.. คอยสังเกตว่า อันนี้กินแล้วง่วง.. ทำงานไม่ไหวเลย แปลว่าไม่ดีแล้วนะ อาหารมากินความสบายๆ ของเราซะแล้ว.. อันนี้กินไปแล้วตดเยอะเลย อันนี้ก็ไม่ดี อย่ามาอยู่ใกล้ๆ กัน.. แบบนี้ง่ายไหม? จริงๆ มีเรื่องอาหารที่ดีต่อลมปราณด้วยนะ กินไปแล้วเป็น Positive Pranic Food, Negative Pranic Food แต่เดี๋ยวยกไว้บทความอื่นๆ บ้าง เดี๋ยวจะยาวจนเกินไป

แค่สบายตัวแรก คือสบายท้อง เรารักษาไว้ได้ เชื่อไหมว่า โรคกว่า 80% พวกโรคเรื้อรังไม่ติดต่อเนี่ย มันจะหายไปเอง พวกเราทุกข์กันมากจากสังคมนิยมบริโภคในวันนี้ ใครฝึกโยคะถึงจุดนึงมันจะกินน้อย ไม่ได้อยากกินเยอะ เพราะแค่กินลมหายใจมันก็อิ่มแล้ว มันได้พลังงานส่วนมากแล้ว ระบบประสาทนี่ตื่นตัวแล้ว กินเพิ่มเอานิดหน่อยให้มีกำลัง สุขภาพก็จะดี ใข้ทรัพยากรโลกเท่าที่จำเป็น เห็นไหมว่ามันลดค่าอาหารลงได้ด้วยในยุคเศรษฐกิจไม่ดี

2. สบายกาย

ครูแบ่งเป็น สบายกล้ามเนื้อ สบายกระดูก และ สบายอวัยวะ
เรื่องนี้สัมพันธ์กับการฝึกโยคะแบบอาสนะโดยตรง ไม่ว่าจะ Hatha Yoga ก็ดี Vinyasa Yoga ก็ดี หรือศาสตร์ในการบำบัดรักษาอย่างการนวดแผนไทย การจัดกระดูก การตอกเส้น ต่างๆ นี่เรากำลังทำงานเพื่อสร้างความสบายในชั้นร่างกายชั้นนี้..

อย่างออฟฟิตซินโดรมนี่เจ็บป่วยกันทั้งเมือง เป็นยุคของการทำงานโดยใช้สรีระไม่เหมาะนะ นั่งไม่เป็น จนไหล่มันยึด.. ทุกคนที่พบเจอมาคือกล้ามเนื้อตรงบ่า ตรงสะบักมันจะมีจุดที่ปูดเป็นก้อนๆ อย่างถนัดขวาก็เป็นฝั่งขวา.. พอตรงนั้นมันเป็นก้อนๆ มันไปดึงเส้นเอ็นตรงคอนะ คอมันจะค่อยๆ ยื่นออกมาข้างหน้า ยิ่งคนสายตาสั้นชอบยื่นหน้ามองจอแล้วมันจะยิ่งหนัก.. พอคอยื่นออกมาด้วยแล้ว ศรีษะเรามันมีน้ำหนักนะ เคยเรียนฟิสิกส์ไหมเหมือนเราวางกระโหลกศรีษะบนคานยื่น มันเกิดแรงหมุนลงไปในกระดูกคอข้อต่างๆ ไอตัวแรงกดนี่แหละที่มันทำให้พวกกล้ามเนื้อรอบคอ พวกพังพืดมันเริ่มมาทำงานช่วยในการรับน้ำหนัก.. จนมันไปบี้ทับเส้นประสาทด้านหลังก้านคอ.. พอถึงจุดนี้ มันก็เกิดอาการปวดลาม เขาเรียกว่า Referred Pain ไปสามจุดหลัก ไปที่กระบอกตาไปขมับเป็นไมเกรน, ไปที่สะบักก็จะปวดบ่าไหล่รอบสะบักเลย.. และข้อล่างๆ ถ้าเสียรูปมันจะไปลงปลายนิ้วมือ เป็นโรคนิ้วชา.. เวลาเราไปนวดก็ช่วยได้นะ แต่มันอยู่ได้ไม่นาน สมัยก่อนที่ครูจะฝึกโยคะก็เป็นโรคนี้ทุกวันเราเข้าใจดีเพราะเราทำงานคอมพ์หนักวันละ 10–16 ชั่วโมง.. อาการแบบนี้หลังๆ เราเจอมากก็ให้ฝึกโยคะมันจะมีชุดท่าที่เหมาะในการคลายคอ บ่า ไหล่ พอทำประกอบลมหายใจแล้ว.. ความสบายมันเกิดขึ้น ตัวกระแสประสาทที่มันเคยทำงานบริเวณนั้นๆ ได้ยากเพราะมันมีกล้ามเนื้อ มีพังพืดปูดๆ บล็อคอยู่ มันก็เริ่มทำงาน.. แค่นี้แหละใช้แค่ท่าโยคะคู่กับลมหายใจสบายๆ ทำเรื่อยๆ ก็จะดีขึ้น อยากจะสอนให้ไปทำเองได้ที่บ้าน อย่ามาหาเราแบบเอาร่างมาให้ซ่อมเลยมันไม่จบไม่สิ้น.. อย่างที่เคยเล่าในครั้งก่อน ของคุณแม่ก็บำบัดอยู่แค่นี้ จากอาการที่หมอจะให้ใส่เหล็กก็ยังฟื้นตัวได้อยู่

สรุปว่าความสบายกาย เกิดจากการรู้จักจัดสรีระ จัดกระดูตนเอง และฟังเสียงร่างกายตัวเองในสรีระต่างๆ คือพอเราจะมาทำเพื่อสุขภาพนะ อยากให้ทุกท่าน หรือแม้กระทั่งครูสอนโยคะก็ตาม ฝึกโยคะไม่ใช่เพื่อเอาท่า.. “แต่ให้เอาลมหายใจที่สบายๆ ไว้ก่อน” หัวใจอยู่ตรงนี้เลยนะ เราให้หัวใจก่อน ท่าเอาเท่าที่ตัวเองทำได้ ให้มองว่าการฝึกคือการตรวจร่างกายตัวเองนั่นแหละ ได้เท่าไหร่เอาเท่านั้น ฟังความรู้สึกร่างกาย แต่อย่าทิ้งลม.. ฝึกแบบนี้จะไม่บาดเจ็บเลย

สำหรับครูโยคะ ก็อยากให้มีความรู้เรื่อง Anatomy เพิ่มสักหน่อย อย่างพวกออฟฟิตซินโดรมนี่เราจะให้เขาเหงนคอไม่ได้มันจะยิ่งไปบี้เส้นประสาท.. หรืออย่างคนปวดหลังล่างนี่ก็ต้องดูพวกท่าพับตัวอย่าไปฝืนให้นักเรียนพับไปดันมากๆ.. มีครูมากที่สอนแต่ไม่ฟังเสียงนักเรียน เป็นภาระให้หมอ ให้นักกายภาพ ต้องมาตำหนิในศาสตร์โยคะ ดังนั้นครูก็ต้องมีความเข้าใจด้วย ถ้าไม่ค่อยรู้ แค่ใช้สติ ใช้ความรู้สึกดู ทุกอย่างจะพอเหมาะ

เรื่องการนั่ง..
เดี๋ยวนี้เรามีเก้าอี้เยอะ คนชอบนั่งโซฟา แล้วก็จมลงไปเล่นมือถือ ส่วนต่างๆ ในร่างกายก็จมลงไป อวัยวะมันอึดอัดนะ การทำงานเค้าไม่สมบูรณ์ สุขภาพมันก็จะค่อยๆ แย่ลง.. แม้กระทั่งคนทำงานออฟฟิต มีช่วงหนึ่งครูก็บ้าเก้าอี้ ไปซื้อไอเก้าอี้ Ergonomic มาหลายรุ่นมาก ที่บ้านมีอยู่ 5–6 รุ่น เก้าอี้เทพต่างๆ.. ปรับได้หมด ตรงนี้ซัพพอร์ตแขน ตรงนี้รองคอ ตรงนี้รับหลังร่าง ตรงนี้เอนองศาต่างๆ ช่วยไหม ก็ต้องบอกว่ามันช่วยนะ แต่เอ๊ะ ครูมาสังเกตดู มันก็ไม่หายแฮะ มันยังปวดอยู่ดีไอสะบักเนี่ย นี่ขนาดเราบ้าจัดความสูงโต๊ะ จัดเก้าอี้ทุกอย่างแล้วนะ ใครซื้อเก้าอี้มาเยอะๆ แบบครูแล้วไม่หายบ้างไหม? จะบอกส่วนสุดท้ายที่ยังขาดไปให้ :)

เวลาเราเรียนโยคะเนี่ย เราฝึกการนั่งกันทั้งชีวิตเลยนะ เคยได้ยินไหมที่เค้าบอกให้นั่งแบบ.. ตั้งกายให้ตรง ก็คือยืดกระดูกสันหลังให้ยาวออก สูงขึ้นไปด้านบน.. หัวใจคือตรงนี้นะครับ Spine Erect คือเมื่อเราค่อยๆ ยืดกระดูกสันหลังเราให้สูงขึ้นด้วยตัวเอง ตรงนี้เราเอาศัยสติ และอาศัยการทำงานของกล้ามเนื้อรอบกระดูกสันหลัง.. แรกๆ มันจะไม่ใช่ท่านั่งที่สบายเลย เพราะพวกเราไม่เคยฝึกออกกำลังกายกล้ามเนื้อต่างๆ ที่ซัพพอร์ตเรื่องนี้.. ในโยคะ ท่านั่งนี้เรียกว่า ‘สุขอาสนะ’ .. และเมื่อเราอยู่ในท่านั่งแบบนี้ได้นานแล้ว ระบบประสาทต่างๆ เราจะทำงานได้เต็มที่ ลองนึกภาพสายไฟที่เป็นสายเมนของร่างกายมันอยู่รอบกระดูกสันหลังนะ.. เมื่อเรายืดออกมันสบายภายในขึ้น กระแสไฟก็ไหลได้มากขึ้น.. ความสามารถในการรับรู้ การหายใจต่างๆ มันจะพัฒนาขึ้นไปหมด.. แล้วทำไมนั่งยืดหลังเองดีกว่าใช้เก้าอี้ช่วย? เพราะว่าเก้าอี้มันออกแบบมาเหมือนเป็นไม้ค้ำยัน มันไม่ได้ยืดให้เรานะ มันแค่ล้อกเราไว้ มันเป็น Passive Ergonomic ที่นี้พอล้อกไว้นานๆ พลังงานมันไม่เดิน พวกอาการปวดมันก็ยังมีอยู่ดี แค่มันยืดเวลาในการปวดออกไปหน่อยแค่นั้น อันนี้เราพูดจากประสบการณ์ของเราเลยนะ ไม่ได้คิดจะโจมตีใคร.. แต่พอเราหัดนั่งหลังตรงเอง มันเป็น Active Ergonomic อะไรที่เราพัฒนาเองได้ มันจะดีกว่ามาก.. ดังนั้นเรื่องการนั่งนี้สำคัญมาก และเป็นเรื่องที่เราจะมาค่อยๆ ฝึกด้วยกัน อันนี้คือสรุปโดยย่อของเรื่อง “สบายกาย คือ สบายกล้ามเนื้อ มาจากการรู้จักตรวจ ด้วยท่าโยคะต่างๆ และ สบายระบบกระดูก ด้วยการรู้จักพัฒนาการนั่งให้ดี” หวังว่าจะเป็นประโยชน์กันบ้าง

3. สบายอวัยวะ

เราต้องเข้าใจกันก่อนว่า ในร่างกายของเรามีระบบต่างๆ อยู่ที่ทำงานสัมพันธ์กันไปหมด แต่ในระบบต่างๆ จะมีส่วนหลักที่เป็นศูนย์กลางในการทำงาน เช่นระบบหายใจก็จะมีปอด ระบบเลือดก็จะมีหัวใจ เป็นต้น ซึ่งอวัยวะส่วนใหญ่เหล่านี้ทำงานอยู่ในระบบที่เราไม่สามารถใช้สมองสั่งการได้ อย่างเราอยากให้หัวใจหยุดเต้นก็สั่งไม่ได้.. การทำงานของเขาจะเป็นไปเองตามระบบข้อมูลที่โปรแกรมมา แต่อวัยวะต่างๆ เหล่านี้ต้องการสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือพลังงานและเวลาในการฟื้นฟู.. ในการทำให้อวัยวะภายในเราอยู่ในภาวะที่มีสุขภาพดี ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่ใช่ระบบที่ควบคุมได้ แต่ในปัจจุบันงานวิจัยมากมายพบว่าอวัยวะต่างๆ นี้ สัมพันธ์อย่างมากกับสองเรื่อง หนึ่งคือเรื่องของ ‘สุขอารมณ์’ และสองคือ ‘เรื่องของลมหายใจ’
.
อย่างในปีก่อนครูได้มีโอกาสสอนโยคะเพื่อนท่านหนึ่ง ที่มีปัญหาในเรื่องของถุงน้ำดีและตับ คือมันมีนิ่วในถุงน้ำดี อย่างคุณพ่อของเราก็เคยป่วยเป็นโรคนี้ต้องผ่าใหญ่ถึงสองครั้ง ทำให้จำอาการต่างๆ ได้ดี.. เวลาอวัยวะพวกนี้มีปัญหา จะมีการสื่อสารออกมาให้ทราบก่อน อย่างเรื่องตับและถุงน้ำดีนี่สังเกตได้เลยว่าจะท้องอืด อาหารไม่ย่อย ทำให้มีลมตีออกมามาก บางคนมีกรดไหลย้อนร่วมด้วย ยิ่งอาการช่วงท้ายๆ ก่อนต้องผ่าตัดก็จะอ่อนเพลียและท้องอืดแน่นลมมาก.. ที่เป็นแบบนั้นเพราะตัวน้ำดี คือปิตตะ เป็นธาตุไฟ คือมีหน้าที่ย่อยอาหารประเภทไขมัน บางส่วนให้แตกตัว ไขมันบางประเภทสายสั้นสามารถย่อยเป็นอาหารสมองได้เลย ส่วนอื่นๆ เก็บไว้เป็นโคเรสเตอรอล เอาไว้ปรุงเป็นฮอร์โมนต่างๆ ต่อไป.. นี่พอส่วนนี้เริ่มทำงานผิดปกติ ส่วนมากมันมาจากการตอบสนองต่อการใช้ชีวิต.. รูปแบบนิสัยที่เรามักพบเจอคือจะเป็นคนที่กดดันตัวเองมาก แบบว่าต้องทำให้ได้ๆ หรือบางคนมีอารมณ์โกรธง่าย.. พลังงานแบบนี้ทำให้การพักผ่อนของระบบตับและน้ำดีมีน้อย เค้าต้องทำงานตลอดเวลาเพื่อผลิตธาตุไฟไปเลี้ยงสมอง และส่วนต่างๆ.. เมื่อเวลาพักมีน้อย รวมถึงคนที่ใช้ชีวิตทำงานกลางคืนที่เป็นเวลาพักของระบบนี้ด้วย ก็จะทำให้สารตกค้างต่างๆ ที่มาจากการผลิตเคลียร์ตัวเองไม่ทัน.. เริ่มตันในท่อน้ำดี ไปสะสมกันจนเป็นนิ่ว ต้องไปตัดทิ้ง

แบบนี้ตอนที่เราพาฝึกโยคะ ครูจะพาฝึกลมหายใจเป็นหลักเลย อย่างเรื่องนี้ต้องปรับสมดุลไปทางเย็น พวกการหายใจที่ทำให้ระบบเย็น การหายใจที่ผ่อนคลาย หรือการฝึกสมาธิ ใส่เข้าไปได้.. หลังจากฝึกไปสักระยะหนึ่ง จากที่ผลตรวจต่างๆ ไม่ดี จำที่น้องมาบอกเราได้ว่า สุขภาพเหมือนกับต้องอยู่ไปวันต่อวัน ตอนนั้นคำนี้มันสะกิดใจมาก เลยอยากเข้ามาทำงานด้วย แค่ฝึกลมหายใจเป็นหลักผ่านไปไม่กี่เดือน ไปตรวจอีกครั้ง นิ่วต่างๆ ก็หายไป ค่าตับที่เคยสูง ก็ลดลง จนตอนนี้น่าจะเป็นปกติทั้งหมด อันนี้ยกตัวอย่างเรื่องการบำบัดระบบอวัยวะด้วยลมหายใจให้ฟังเคสนึง

สำหรับบุคคลทั่วไป ถ้ามีโอกาสมาฝึกลมหายใจด้วยกันจะดีมาก แต่ถ้ายังไม่พร้อม วิธีที่ง่ายๆ และอาศัยสติคอยเตือนได้ก็คือ “ให้รักษาอารมณ์สบายๆ” ในอารมณ์ที่สบายๆ นี้ ถ้าสังเกตดูให้ดี มันจะส่งผลไปที่ระบบหายใจด้วย การหายใจของเราจะยาวขึ้นอัตโนมัติ เมื่อลมหายใจยาวและผ่อนคลาย แม้กระทั่งระบบอวัยวะต่างๆ จะถูกคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เป็นกระแสมาจากการเดินทางของเลือด และไฟฟ้าในเส้นลมปราณ เหนี่ยวนำให้เติมพลังงานเข้าไป เหมือนเราได้เสียบชาร์จให้เค้าอีกครั้ง.. อย่างของภรรยา เราก็จะมีคำติดปากตลอดว่า “สบายยยย สบายยย” คือบางทีอารมณ์มันเหวี่ยงไปมา ผู้หญิงจะได้รับอิทธิพลจากอารมณ์มากกว่า ก็ให้เตือนตัวเองว่า สบายยยๆ แล้วหายใจสบายๆ ไปสัก 2–3 นาที.. เวลาเจอความเครียดจากอะไรก็ตาม เช่นเวลาทำงาน เวลาเดินทาง เวลาเจอฝุ่นมาก ให้หาเวลาไปแอบหายใจ แล้วรักษาความสบายของอารมณ์ไว้ ทำแค่นี้จะช่วยเรื่องสุขภาพของระบบอวัยวะโดยรวมได้อย่างแน่นอน

อ้อ แถมให้อีกนิดในเรื่องของอวัยวะ พวกเราต้องเข้าใจร่างกายกันว่า ในระบบกล้ามเนื้อมีโครงกระดูกในการยึดเกาะอยู่ แต่สำหรับอวัยวะส่วนใหญ่แล้ว เป็นเหมือนก้อนลอยๆ ที่แขวนอยู่บนระบบเนื้อเยื่ออ่อน เหมือนกับของที่แขวนอยู่บนระบบตาข่ายห้อยไปมาได้บ้าง และพังผืดต่างๆ เวลาที่เราอยู่ในสรีระที่แข็งเกร็งเกินไป หรือปล่อยตัวหย่อนผ่อนคลายเกินไป เช่นเรานอนจมอยู่ในโซฟา.. อวัยวะหลายๆ อย่างโดนกดทับ และอยู่ในสภาพที่ไม่สบาย สิ่งที่เกิดขึ้นคือพลังงานที่ไปเลี้ยงก็จะไม่สะดวก หลายๆ คนนอนทำงานบนโซฟา บนเตียง นานๆ ก็จะเกิดภาวะอารมณ์ที่ซึมไม่สดชื่น และเฉื่อยเกินไป เกิดจากอวัยวะต่างๆ เริ่มได้รับพลังงานน้อยลง.. การนั่งหรือยืนยืดกระดูกสันหลัง เป็นสรีระที่ดีที่สุดในการทำให้ระบบต่างๆ ทำงานได้อย่างเต็มที่ ก็ขอฝากไว้เพิ่มเติม

4. สบายลมหายใจ

ลมหายใจเป็นของที่มหัศจรรย์ และในวันนี้เรามีงานวิจัยเกี่ยวกับลมหายใจและสุขภาพเพิ่มขึ้นเยอะมาก โดยพื้นฐานของศาสตร์เพื่อการฝึกลมหายใจนี้ มีมากมาจากการฝึกโยคะปราณยามะ เมื่อหลายพันปีก่อน และถ่ายทอดกันไปหลายที่ เช่นในทิเบตก็จะมีแบบหนึ่ง ในจีนก็จีมีเรื่อง “ชี่” ก็เป็นเรื่องลมปราณนี่แหละอย่างที่เราเห็นในหนังกำลังภายใน, หรือย่างในไทย แพทย์แผนไทยเราก็เรียนเรื่องเส้นลมกันมาก อันนี้เป็นศาสตร์ของหมอ เอาไว้รักษาคน เพราะต้องเข้าใจว่าคนป่วยแล้วจะต้องการหมอ ส่วนมากมาให้ฟื้นตัวเองมันยังไม่ไหว..

รูปแบบในการฝึกลมหายใจ ครูก็เคยเรียนมามาก อย่างตอนที่เรียนปราณยามะนี่ ครั้งแรกเรียนมาจากครูปุ๊ก ครูโจ ที่เรียนมาจากกูรูจี IBS Iyengar อีกที ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่าน Krishnamachaya ซึ่งเป็นครูของครู Ashtanga Yoga ที่ดังๆ ในยุคนี้อีกหลายคนที่นำศาสตร์นี้ไปให้รู้จักมากในตะวันตก.. กูรูจี ท่านเป็นคนที่อายุเก้าสิบกว่าปีแล้ว แต่สุขภาพยังดีมาก และในขณะที่เขียนอยู่นี้ท่านก็ยังสอนปราณายามะอยู่ที่อินเดีย จึงเป็นเครื่องยืนยันว่าเป็นหลักฐานที่ยังมีชีวิตอยู่ ถ้าใครอยากเรียนปราณายามะแบบดั้งเดิมนี่ ก็สอนให้ได้ หรือจะเรียนกับครูของครูอีกทีก็แนะนำให้ได้เช่นกัน

จากนั้นได้มีโอกาสเรียนกับครูดัชชี่ ที่เชียงใหม่ ครูสอนศาสตร์โยคะที่เรียกว่า Anusaranga ซึ่งเป็นการใช้ลมปราณในการฝึก Flow yoga และเข้าท่าต่างๆ เป็นหลัก และใน Anusaranga yoga นี่ครูได้มีการพัฒนา Pranayama Flow เอาการฝึกลมปราณแบบต่างๆ มาร้อยกันให้มีความสนุกมีความหลากหลาย.. ครูประทับใจในแนวทางนี้ เพราะฝึกแล้วมันสนุก เหมือนได้ออกกำลังกายด้วยลมหายใจ และมีความหลากหลาย ที่เอามาสอนนี่ส่วนมากก็จะเอาแนวทางมาจากทางนี้ แต่บางทีปรับเพิ่มสไตล์อาจจะต่างกันไปบ้าง ตามความรู้สึก และตามที่สติเราไปอ่านมา ว่าแบบนี้เราน่าจะนำพาลมหายใจแบบไหนมาสอนให้

ที่เอามาเล่าแบบนี้ เพราะอยู่ดีๆ มันเกิดความรู้สึกว่า เราอยากอ้างอิงว่าเราเรียนมาจากไหน ใครเป็นครูของเราที่เราเคารพ เพราะในยุคนี้คนที่มาเรียนโยคะ มองว่าโยคะเป็นสินค้าหรือบริการที่เอาเงินมาแลก ซื้อชั่วโมงของครูเพื่อให้พาทำอะไรสักอย่าง ซึ่งมันก็ได้ประโยชน์อยู่บ้าง.. หรือที่เราเห็นมามาก มีฝรั่งอีกมากที่เอาศาสตร์ปราณายามะมาโมๆ บิดๆ แล้วใส่ชื่อใส่ลายเซ็นลงไป มีงานวิจัยมายืนยันอีกสักหน่อย แล้วทำการตลาด.. แบบนี้มันเป็นการแยกส่วนการศึกษา คือมันแยกมาตั้งแต่ตัวผู้สอนแล้ว ทำให้การถ่ายทอด โยคะแท้ๆ จริงๆ ที่เป็นการพัฒนาเพื่อจิตที่อยู่ร่วมอย่างสันติ ใจที่น้อมเคารพในกฎของธรรมชาติ มันเกิดขึ้นได้ยาก

โยคะไม่ได้เป็นศาสนา โยคะจริงๆ ไม่ได้มีแม้กระทั่งคำว่า Divine คำว่า Soul และโยคะก็ไม่ได้มีแต่ท่ายากๆ.. แต่การฝึกโยคะเป็นการน้อมใจลง และรับรู้รับฟัง สิ่งที่เราเก็บเอามาจากโลก ก็คือร่างกาย และเรียนรู้จากของที่เรารู้คือร่างกายและลมหายใจ ไปค่อยๆ พบสิ่งที่เรายังไม่รู้ ซึ่งก็คือความจริงในธรรมชาติ.. ดังนั้นใครจะมาฝึกลมหายใจกับเราฝึกโยคะกับเรา ครูอยากให้ตั้ง Mindset นี้ไว้ในใจ ให้เป็นแก้วเปล่าที่น้อมใจลง ถ้าฝึกแบบนี้จะถูกทิศถูกทาง ความสบายๆ ที่พูดถึงจะหาได้ง่าย ประโยชน์ในการพัฒนาจะเกิดขึ้นได้ง่าย ส่วนใครที่อยากได้ Magic อยากได้ Quick fix อยากได้อะไรที่เหนือมนุษย์.. ก็จะมีคนมากมายที่รอสอน ‘เคล็ดลับ’ เหล่านั้นให้อยู่แล้ว ลองเลือกเอาตามที่ถูกใจ

การฝึกลมหายใจ ไม่ว่าศาสตร์ไหนก็ตาม ถ้าเพื่อสุขภาพ อยากให้ทุกท่านเริ่มต้น ด้วยความรู้สึกที่สบายๆ และระหว่างการหายใจ ให้เป็นการหายใจที่ยังรู้สึกสบาย.. อย่างการฝึกปราณ มันมีการกลั้นลม หรือ Breath hold การกลั้นลมไม่ใช่การอัดความดันกลั้นแบบหน้าดำหน้าแดง แต่เหมือนแค่การปิดฝาโอ่ง เก็บลมหายใจไว้แบบสบายๆ แล้วฟีลลลลความรู้สึกตอนนั้นเอา.. ถ้าฝึกแบบนี้จะได้ประโยชน์มาก

ลมหายใจนี่เป็นตัวพลังงาน และร่างกายเรามหัศจรรย์มากที่รับเอาลมหายใจไปใช้ได้หลากหลายมาก แต่ลมหายใจก็เหมือนน้ำมันเครื่องยนต์ ถ้าระบบหายใจตัน หรือหายใจขาดสติ ก็เหมือนกับน้ำมันเครื่องที่มีเหลือน้อย.. รถไม่ว่าจะแพงแค่ไหน ถ้าลองเอาไปวิ่งโดยที่ไม่มีน้ำมันเครื่อง ไม่นานชิ้นส่วนต่างๆ ก็จะพังไป.. เหมือนกับลมหายใจ ที่ถ้าไม่สบายซะแล้ว หายใจไม่สบาย ก็จะพาระบบต่างๆ ทำงานได้ไม่เต็มที่

สำหรับคนทั่วไปที่ไม่เคยเรียนฝึกลมหายใจ ให้เราสังเกตลมหายใจของตัวเองดู แล้วลองจับเวลา.. ในมนุษย์ผู้ใหญ่ เฉลี่ยแล้วเราหายใจกันประมาณ 12 ครั้งต่อนาที คือเข้าประมาณ 5 วินาที ออกอีก 5 วินาที..

ในเวลาที่เราตื่นเต้น สังเกตดูว่าลมหายใจเราจะถี่ขึ้นๆ แต่ไม่มีน้ำหนัก จนบางคนเป็น Hyperventilation แบบนี้คือตัวอารมณ์มันสัมพันธ์กับระบบการหายใจ.. ดังนั้นใครที่รู้สึกเริ่มมีความเครียด หรือไม่สบาย ลองสังเกตลมหายใจของตัวเองดูว่ายังทำงานได้ปกติมั้ย คนส่วนใหญ่ตอนเช้าจะหายใจได้โล่งไม่เท่ากันทั้งสองข้าง บางวันซ้ายตัน บางวันขวาตัน บางวันตันทั้งคู่ ยิ่งคนเป็นไซนัส หรือภูมิแพ้จะได้รับผลกระทบมาก.. เวลาระบบลมหายใจทำงานได้ไม่เต็มที่แบบนี้ แน่นอนเลยว่าจะส่งผลไปที่ระบบอื่นๆ ทั้งหมด ทั้งอารมณ์ ความสดชื่น ระบบฮอร์โมน ระบบประสาท และแม้แต่การรับมือต่อความเครียดเองก็ตาม..

สำหรับคนทั่วไป ถ้าอยากฝึกลมหายใจ ครูเคยทำคลิปพื้นฐานไว้ให้ เป็นการหายใจปรับสมดุล เวลาทำให้เริ่มที่อารมณ์สบายๆ แล้วหายใจตามจังหวะนั้น มันจะประมาณ 12 ครั้งต่อนาทีพอดี อัตรานี้ไม่ยากเกินไปสำหรับคนส่วนมาก แค่นี้ทำสักวันละ 5 นาที หรือทำตอนที่เรารู้สึกไม่ค่อยโอเค ก็ช่วยปรับทั้งเรื่องของอัตราการเต้นของหัวใจ ปรับความดัน ปรับความผ่อนคลาย ได้มากแล้ว แต่ถ้าใครมีโอกาส ก็เอาไว้เรามาฝึกด้วยกัน

หัวข้อในวันนี้ สรุปให้ฟังว่า ในเรื่องสุขภาพทุกวันนี้ คนมักให้ความสำคัญกับแค่อาหาร และคิดว่าต้องกินให้ดีกินให้มากถึงจะสุขภาพดี.. แต่ครูอธิบายใหม่ด้วยคำง่ายๆ คือคำว่า “สบายๆ” และให้หลักการจำไว้เป็น ‘สบายๆ ทั้ง4’ ที่เอาไว้ให้เป็นเครื่องมือในการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง อยากให้ทุกท่านจำไว้ว่า “ในภาวะที่เรารู้สึกสบายๆ จริงๆ โรคต่างๆ ที่เป็นโรคภายในจะเกิดขึ้นไม่ได้”

Disease ที่แปลว่าโรคภัยไข้เจ็บ เขียนแยกออกมาได้ว่า Dis — Ease คือ ‘ไม่ — สบาย’ นั่นเอง

ในโยคะมีคำกล่าวหนึ่งว่า “สถิระ สุขัม อาสนัม” แปลว่า ร่างกาย ลมหายใจ และจิตใจ จะต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน.. การที่ระบบต่างๆ จะทำงานร่วมกันได้โดยที่ไม่ทะเลาะกัน ทำงานไปทางเดียวกันได้ พื้นฐานก็คือ ความสบาย.. ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ยังไม่ค่อยมีคนให้ความสำคัญ และอยากให้ทุกคนนำไปใช้กัน

ครูโบ๊ต BoBoat YogiLife
7 July Sep 22

ใครสนใจเรื่องสุขภาพทั้งทางกาย อารมณ์ ความคิด จิต และ โยคะ สามารถติดตามพวกเราเพิ่มเติมได้ที่ Link ด้านล่างนี้
Youtube: https://www.youtube.com/c/BoBoatYogi
Facebook: https://www.facebook.com/boboatyogi
Workshop โยคะและลมหายใจบำบัด: https://bit.ly/3QEThtG

นาที 0.33: สุขภาพไม่ใช่แค่เรื่องร่างกายและอาหาร.. ยังมีมิติอื่นๆ ที่สำคัญกว่า (https://youtu.be/ZxWDnZgrx7I?t=33)
นาที 6.53: การตรวจสุขภาพร่างกายด้วยตนเอง (https://youtu.be/ZxWDnZgrx7I?t=413)
นาที 12.45: สบาย สบาย ไม่เหมือนกับ ความผ่อนคลาย (https://youtu.be/ZxWDnZgrx7I?t=765)
นาที 17.32: “สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือเราจะไปเปิดช่องว่างในระดับพลังงาน” (https://youtu.be/ZxWDnZgrx7I?t=1052)
นาที 20.24: เรื่องของการบำบัดความเจ็บป่วยด้วยระบบข้อมูลภายใน “Factory Reset” (https://youtu.be/ZxWDnZgrx7I?t=1224)
นาที 27.50 : ความสบายสบายทั้ง 4 ฉบับคนธรรมดาๆ กับการบำบัดฟื้นฟูสุขภาพ (https://youtu.be/ZxWDnZgrx7I?t=1670)
นาที 29.09: สบายตัวที่ 1 “สบายท้อง” ฉบับคนธรรมดา (https://youtu.be/ZxWDnZgrx7I?t=1749)
นาที 35.26: สบายตัวที่ 2 “สบายกาย” ฉบับคนธรรมดา (https://youtu.be/ZxWDnZgrx7I?t=2126)
นาที 44.38: สบายตัวที่ 3 “สบายอวัยวะ” ฉบับคนธรรมดา (https://youtu.be/ZxWDnZgrx7I?t=2678)
นาที 51.55: สบายตัวที่ 4 “สบายลมหายใจ” ฉบับคนธรรมดา (https://youtu.be/ZxWDnZgrx7I?t=3115)

--

--