ทบทวนชีวิตผ่านสันหนังสือ

R.Phot
Bookspective
Published in
Feb 8, 2023
Photo by Prophsee Journals on Unsplash

เพราะเป็นคนอ่านหนังสือช้า ทำให้เหตุการณ์สำคัญในแต่ละช่วงชีวิต จะมีหนังสือหลายเล่มร่วมเป็นพยานผ่านประสบการณ์ไปกับเราด้วย และทุกครั้งที่ได้กลับมามองชั้นหนังสือ สันของหนังสือบางเล่มได้บันทึกเรื่องราวชีวิตของเราไว้มากกว่าเนื้อหาในเล่มเสียอีก

คนที่เก็บของย้ายบ้าน หรือสะสางข้าวของในบ้านคงหนีไม่พ้นที่จะเจอกับของที่ระลึกชิ้นเล็กชิ้นน้อยจากสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ แม้ฝุ่นจะจับหนา หรือบ้างก็ชำรุดเสียหายไปแล้วแต่เศษซากเหล่านั้นกลับเรียกความทรงจำวันวานให้ย้อนกลับคืนมาเล่าสู่กันฟังได้เสมอ หลายต่อหลายเรื่องก็เลือนรางหายไปจากกระแสชีวิต การเดินทางที่เต็มไปด้วยบทสนทนา เหตการณ์ที่มุมปากปริยิ้มออกมาโดยไม่รู้ตัว สิ่งของบางชิ้นก็ถึงขั้นเปิดก๊อกน้ำตาได้เลยทีเดียว

หนังสือก็เป็นข้าวของอีกชิ้นนอกจากเรื่องราวภายในหน้ากระดาษแล้ว การมีตัวตนอยู่ของหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งได้เห็นผ่านตาทุกเมื่อเชื่อวัน เห็นทุกครั้งที่ออกจากบ้านไปทำงาน เห็นทุกครั้งที่นั่งเล่นในบ้านแล้วปรายตาไปมองข้าวของบนชั้น ในทางหนึ่งสันของหนังสือเล่มนั้นคอยบันทึกเหตุการณ์ความรู้สึกไม่ต่างจากของที่ระลึกจากการเดินทาง บางเล่มวางอยู่ตั้งแต่เป็นวัยรุ่น บางเล่มก็วัยทำงาน หนังสือสะท้อนเรื่องราวในวัยที่กำลังอ่านหนังสือเล่มนั้นได้เป็นอย่างดี

ผมเริ่มเสพติดสุนทรีย์จากการอ่านหนังสือก็ตอนมัธยมปลาย หนังสือที่จำได้เพียงว่า “อ่านจบ” และเนื้อหาเพียงเลือนรางที่คงบอกเล่าได้แค่ประโยคเดียวจบเช่นกัน หนังสือไม่กี่เล่มที่เก็บเงินซื้อบ้าง ให้พ่อซื้อให้บ้างยังคงอยู่บนชั้นหนังสือจนถึงตอนนี้ยังคงฉายภาพตัวเองวัยรุ่น วัยที่ตื่นไปโรงเรียนเพียงเพื่อสนุกกับกิจกรรม พูดคุยกับเพื่อน และเริ่มตึงเครียดเรื่องการเรียนต่อมหา’ลัย

หนังสือบางเล่มชวนให้นึกถึงกิจกรรมยามว่างหรือหลังเลิกเรียน จำได้ว่าเล่มไหนเราซื้อมาจากร้านไหน จำได้ว่ามีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นให้เราจดจำในร้านหนังสือ และแน่นอนหากเล่มนั้นเป็นหนังสือปกเก่า ทุกครั้งที่ได้เห็นหรือหยิบขึ้นมา ก็นึกให้อยากชวนคนอื่นๆมาย้อนความหลังให้คิดถึงกัน

ช่วงเรียนมหา’ลัยนั้นต่างออกไปเล็กน้อย เพราะมีกองหนังสือโตขึ้นรวกเร็วกว่าเดิมมาก เงินจากทางบ้านส่วนหนึ่งกลายสภาพมาเป็น “กองดอง” ที่ค่อยๆสูงขึ้นตามชั้นปีที่เรียน ช่วงเปิดเทอมกับหลังสอบจะเป็นช่วงที่อ่านหนังสือเหล่านั้นได้เร็วเสียยิ่งกว่าตำราเรียนเสียอีก

วัยอุดมศึกษามีเรื่องของชีวิตการทำงานมาจ่อคอหอย โดยแงอยู่ในความตื่นเต้นมากกว่าความตื่นกลัว กอง(ดอง)หนังสือเหล่านั้นมากบ้างน้อยบ้างที่อ่านไม่จบ ได้อยู่ร่วมเป็นสักขีพยานของการส่งจดหมายสมัครงาน อยู่ร่วมยินดีเมื่อได้ทำงาน จนบางเล่มก็อยู่มานานจนทำงานได้เงินเดือนก้อนแรก ซีลห่อพลาสติกก็ยังอยู่ดี

Photo by Yehor Tulinov on Unsplash

วัยทำงานอาจทำให้ชั้นหนังสือเปลี่ยนหน้าค่าตาไปบ้าง ด้วยยุคสมัยที่ “ความสำเร็จ” เอาปืนล่องหนจ่อหลังเราอยู่ตลอดเวลา เมื่อไหร่ที่หยุด เมื่อไหร่ที่ว่าง ความคิดพาลจะบอกเราเสมอว่า เราช้าเกินไปแล้ว เราต้องลงมือลงไม้ เปิดโอกาสให้ตัวเอง พัฒนาตัวเองตลอดเวลาฯลฯ

สันหนังสือในวัยนี้จึงเต็มไปด้วยหนังสือพัฒนาตนเอง หนังสื่อเพิ่มความฉลาดทางการเงิน หนังสือการลงทุน ไปจนถึงการบริหารเวลา บริหารความสัมพันธ์ แต่ทว่าหนังสือกลุ่มนี้อยู่บนชั้นเราได้ไม่นานเพราะเราเร่งที่จะอ่าน เร่งที่จะกินเนื้อหาอย่างมูมมามด้วยหวังว่ายิ่งอ่านเยอะ จะยิ่งทำให้เราได้ในสิ่งที่ต้องการรวดเร็วขึ้น

จนกระทั่งบางเหตุการณ์บังคับให้เราต้องหยุดพัก ตรงนั้นแหละที่สันหนังสือเก่าๆ ดึงสติเรากลับมา บอกว่าเราเคยเป็นใคร เราเคยมีความสุขกับหนังสือที่ไม่ต้องการเนื้อหาสาระมาก แต่เรามีความสุข เราเติบโต เราได้สร้างสัมพันธ์กับเพื่อนๆผ่านหน้าหนังสือ ชวนให้เราหยิบหนังสือเล่มเก่าขึ้นมาอ่านอีกครั้ง

เชื่อว่าหลายคนคงเคยอ่านหนังสือบางเล่มซ้ำสอง แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจคือขณะที่อ่านไปนั้นจะมีบางหน้า บางประโยค ที่เราอ่านแล้วคุ้นๆว่าจำได้ แต่ภาพสะท้อนที่เกิดขึ้นในสมองและหัวใจของเรานั้น กลับเป็นภาพตัวเราเองในวัยเยาว์กับเหตุการณ์ในช่วงเวลาที่อ่านประโยคเดิมเหล่านี้

ห้วงเวลาของการย้อนความหลังระหว่างบรรทัดนี้ มีเพียงผู้อ่านหนังสือเท่านั้นที่ทำได้ จริงอยู่ที่การเขียนเป็นวิธีการถ่ายทอดความทรงจำ แต่การอ่านก็ทำได้เช่นกัน…

--

--

R.Phot
Bookspective

Explorers: Trying to learn new things to understand my own way