รีวิวหนังสือ “โลกของเด็กที่ฉลาดที่สุดในโลก”

R.Phot
Bookspective
Published in
2 min readOct 12, 2022

ตอนนี้ผมขอรีวิวหนังสือที่ชื่อปก เร้าใจจนต้องหยิบขึ้นมาอ่าน โดยคำโปรยว่า “ออกเดินทางสำรวจประเทศมหาอำนาจด้านการศึกษา พวกเขาสร้างเด็กระดับหัวกะทิขึ้นมาได้อย่างไร” พร้อมแล้วมาเริ่มกันเลยครับ

PISA การทดสอบความรู้คิด

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ชื่อคุณ Amanda Ripley พาเราไปเปิดโลกด้านการศึกษาด้วยการพาทำความรู้จักกับการสอบ Programme for International Student Assessment(PISA)หรือ โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล ริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาของประเทศต่าง ๆ ปัจจุบันมีประเทศเข้าร่วมกว่า 80 ประเทศทั่วโลก

PISA สอบ 3 ด้านหลักๆ ได้แก่ด้านการอ่าน(ทักษะทางภาษา), คณิตศาตร์ และวิทยาศาสตร์ ฟังดูแล้วอาจคิดว่าเป็นเรื่องยาก หรือมีความเป็นวิทชาการมากเกินไป แต่อยากให้ลองพิจารณาโจทย์ดังภาพ

จะเห็นว่าข้อสอบ PISA เป็นข้อสอบแนวคิดวิเคราะห์ และแสดงทักษะการวิพากษ์ โดยเฉลยคำตอบจะมีการเตรียมไว้มากกว่า 20 แบบในแต่ละข้อ เพื่อประเมินว่ามีคำตอบที่สอดคล้องหรือเข้ากับแนวคำตอบหรือไม่ ฉะนั้นจึงไม่ใช่แค่เรื่องการคำนวณแล้วเลือกคำตอบที่ถูกที่สุดแต่เป็นการประเมินความสามารถจริงๆ ลองคิดกันเล่นๆดูครับว่าข้อนี้หากเราเป็นนักเรียน จะลองให้แสดงความคิดเห็นอย่างไร

การเก็บรวบรวมของ PISA มีรายละเอียดมากกว่าการตอบคำถามของเด็กๆ แต่รวมถึงข้อมูลบริบทของเด็กคนนั้นๆ เช่น เพศ เชื้อชาติ โรงเรียน ฐานะทางบ้าน การมีส่วนร่วมของผู้ปกครองฯลฯ และข้อมูลบริบทที่มีการรวบรวมเพิ่มเติมนี้เองคือแกนหลักของเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้

เดินเรื่องผ่านสายสืบ 3 ประเทศ

บอกตามตรงว่าผมชื่นชมรูปแบบในการนำเสนอของคุณ Amanda เพราะแทนที่จะนำเสนอข้อมูลน่าเบื่อจากรายงานสถิติ การสัมภาษณ์นักการศึกษาหรือรัฐมนตรีฯ แต่เล่าเรื่องผ่านมุมมองของเหล่านักเรียนแลกเปลี่ยนจากอเมริกาที่ได้ไปใช้ชีวิต สัมผัส ซึมซับกับกระบวนการในระบบการศึกษาของประเทศมหาอำนาจด้านการศึกษาทั่วโลก

คิม ทอม และเอริก นักเรียนมัธยมปลายต่างภูมิภาค ต่างพื้นเพในชีวิต ต่างเรื่องราวและบทบาท ทั้งได้รับโอกาส ทั้งทุ่มเทคว้าโอกาสสู่การเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนใน 3 ประเทศได้แก่ ฟินแลนด์ เกาหลีใต้ และโปร์แลนด์ 3 ประเทศดังกล่าวเป็นประเทศที่ค่าเฉลี่ยของคะแนนการสอบ PISA สูงที่สุดในโลก

นักเรียนทั้ง 3 เป็นตัวละครหลักในการเดินเรื่องและเป็นตัวแทนของมุมมองนักเรียนแลกเปลี่ยนชาวอเมริกันจำนวนมาก เปรียบได้กับสายสืบชั้นดีที่ให้ข้อมูลสำหรับหนังสือเล่มนี้ การเล่าเรื่องตัดสลับกับการวิเคราะห์ของคุณ Amanda ร่วมกับการสรุปข้อสัมภาษณ์ผู้มีบทบาทในกระบวนการศึกษาไล่ตั้งแต่ผู้ปกครอง ครู ผู้อำนวยการไปจนถึงรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาของประเทศนั้นๆ

เป็นการเล่าเรื่องที่มีการ Zoom in โฟกัสที่มุมมองและประสบการณ์ของนักเรียนแลกเปลี่ยน ขณะเดียวกันก็ขยาย Zoom out ให้เห็นภาพกว้างถึงนโยบายการจัดการของประเทศ โดยเฉพาะพัฒนาการด้านระบบการศึกษาของประเทศทั้ง 3 ที่นาสนใจเป็นอย่างมากว่า ภายในไม่กี่สิบปีประเทศที่เคยประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนัก หรือเพิ่งฟื้นตัวจากสงครามการเมือง เหตุใดจึงก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจด้านการศึกษา ทั้งพัฒนาเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตได้อย่างรวดเร็วราวพลิกฝ่ามือ

ผมของสรุปประเด็นใหญ่ๆ ดังนี้ครับ

1. ฐานะทางบ้านดี = พื้นฐานการศึกษาดี จริงหรือ?

หนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุดเรื่องการศึกษาคือ ความแตกต่างด้านรายได้ส่งผลต่อระดับความรู้อย่างไร กล่าวคือนักเรียนที่ฐานะทางการเงินของครอบครัวดีกว่ามักจะมีแนวโน้มที่จะมีการเรียนรู้ที่ดีกว่า ทว่าเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลในระดับมหภาค ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ(ข้อมูลภาพรวมทุกประเทศที่เข้าร่วมสอบPISA) กลับพบว่ารายได้มีผลต่อระดับความรู้พื้นฐานจริง แต่จะชัดเจนเฉพาะภายในประเทศเท่านั้น

เพราะหากเปรียบเทียบภายในประเทศเดียวกันนักเรียนที่ฐานะทางการเงินของครอบครัวดีกว่าก็จะมีแนวโน้มที่จะมีการเรียนรู้ที่ดีกว่า แต่เมื่อเทียบผลการสอบระหว่างประเทศกลับให้ผลตรงกันข้าม

จากการเทียบงบประมาณต่อหัว,รายได้เฉลี่ย หรืองบประมาณการสนับสนุนโรงเรียนจากรัฐบาลของ 3 ประเทศกับสหรัฐฯ พบว่าประเทศทั้ง 3 มีค่าเฉลี่ยรายได้ครอบครัว และงบประมาณต่อตัวต่ำกว่าอเมริกาถึงสองเท่าแต่นักเรียนทำคะแนนเฉลี่ยได้สูงกว่ามาก นั่นจึงนำไปสู่ประเด็นที่มีการค้นพบอื่นๆ ได้แก่

  • อเมริกาทุ่มงบประมาณไปกับสภาพแวดล้อมที่ฟุ่มเฟือยมากกว่าการเรียนรู้ — มีไอแพดเป็นตั้งสำหรับทุกคน แต่คะแนน PISA เฉลี่ยด้านการคิด วิเคราะห์ต่ำว่าโรงเรียนที่มีเพียงกระดานดำและชอล์ค
  • ความเข้มงวดด้านการสอบที่มีมาตรฐานกลางนั้น ส่งผลโดยตรงต่อระดับความรู้คิดของนักเรียน — อเมริกาให้อำนาจอิสระในรัฐและเขตการศึกษาต่างๆ สร้างเกณฑ์การทดสอบด้วยตนเอง ส่วนเกณฑ์กลางของประเทศนั้นข้อสอบก็อยู่ในระดับง่าย

2. นักเรียนหลากหลาย(ที่มา) = คุณภาพการเรียนรู้ลดลง จริงหรือ?

ขอขยายความคำว่า ความหลากหลาย ในหนังสือกล่าวถึงทุกบริบทในชีวิตของนักเรียนเช่น เชื้อชาติ(ผู้อพยพ), สีผิว, ฐานะทางการเงิน, สภาพชุมชน, สถิติอาชญากรรมในชุมชน/โรงเรียน, เศรษฐกิจของเมืองที่โรงเรียนตั้งอยู่ฯลฯ

ความหลากหลายของนักเรียนในโรงเรียนมักนำไปสู่สภาพการสอนที่เลือกปฏิบัติ หรือเลื่อมล้ำในเชิงระบบ เช่น เมื่อนักเรียนส่วนใหญ่เรียนได้ แต่มีบางส่วนที่แปลกแยกครูมักเลือกที่จะไม่เสียเวลากับการเน้นให้นักเรียนกลุ่มนี้ตามทัน ทำให้เด็กบางกลุ่มถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ยิ่งมีความหลากหลายของนักเรียนมาก ยิ่งส่งผลต่อการสอนแบบหว่านแหโดยไม่เน้นคุณภาพมากขึ้น

จากการพิจารณาข้อมูลในภาพรวมแล้วพบว่า แม้จะมีความหลากหลายมาก แต่มาตรฐาน ความคาดหวัง และความเข้มงวดของโรงเรียนและครูของทั้ง 3 ประเทศ ได้ทำให้ความเลื่อมล้ำในส่วนนี้ลดลง หรือกล่าวได้ว่าปรับพื้นฐานจนนักเรียนทุกคนเท่ากันจริงๆ โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ใน 3 ประเทศนั้น

  • นักเรียนบ้านรวย บ้านจนต้องขยันและพยายามด้วยตนเองจริงๆ จึงจะได้คะแนน ไม่มีเส้นสายหรือ คะแนนความพยายาม คะแนนสงสารจากคุณครู
  • ด้วยจรรยาบรรณครู ค่านิยมด้านการเรียนรู้และความรู้ของสังคม และระบบที่เข้มงวด เกิดเป็นระบบการศึกษาที่ผลักดันนักเรียนให้เรียนรู้ด้วยตนเองจริงๆ

ในหนังสือ คุณ Amanda มักพูดถึงระบบการศึกษาของอเมริกาเสมอว่าหย่อนยานเกินไป ไม่เข้มงวด กระทั่งว่าในห้องสอบนักเรียนที่ทำข้อสอบไม่ได้ร้องขอความช่วยเหลือจากครู และครูก็เข้ามาอธิบายการทำข้อสอบตรงนั้น!!! ท่ามกลางความงุนงงของนักเรียนคนอื่นๆ

3. คุณภาพครู/โรงเรียน = คุณภาพการเรียนรู้ของเด็ก จริงหรือ?

ขอขยายความคำว่า “คุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียน” ในที่นี้หมายถึง ศักยภาพในการจัดการเรียนรู้ของตนเอง รวมถึงความรู้ความสามารถในการคิด วิเคราะห์ และแน่นอนว่าสามารถทำคะแนน PISA ได้สูง

เด็กทุกคนมีครูที่ชอบ และไม่ชอบ และมักเรียนรู้ได้ดีกว่ากับครูที่ชอบ

การเดินทางของคุณ Amanda ได้ข้อสรุปที่เป็นสัจธรรมคือคุณภาพของครูและโรงเรียนส่งผลโดยตรงและมากที่สุดต่อคุณภาพการเรียนรู้ ฉะนั้นประเด็นสำคัญในหัวข้อนี้จึงไม่ใช่เรื่องว่าครูเก่งๆ สอนอย่างไร แต่จะทำอย่างไรให้มีครูเก่งๆ?

จากการสัมภาษณ์ สรุปข้อมูล พบว่า ประเทศทั้ง 3 มีระบบการคัดเลือกครูที่เข้มข้นมาก หากเทียบอเมริกาของคุณ Amanda (หรือกับประเทศไทย)คือมากที่สุด เพราะเพียงแค่การสอบเข้าเรียนครูในระดับอุดมศึกษาก็ต้องตั้งมั่น และมุ่งมั่นทุ่มเทมากจึงจะสามารถเข้าเรียนได้ แม้ว่าจะเรียนจบแล้วยังต้องสั่งสมประสบการณ์เป็นเวลานาน กว่าจะสามารถเข้าไปเป็นครูได้ (ถ้าเป็นบ้านเรา ก็ให้บรรยากาศเหมือนการสอบหมอเลยทีเดียว)

ประเด็นนี้สำคัญและตรงเป้ามากเพราะผู้มีส่วนร่วมในระบบการศึกษาของทั้ง 3 ประเทศ บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “ถ้าครูไม่มีคุณภาพ ก็ไม่สามารถคาดหวังให้นักเรียนมีคุณภาพได้” นั่นทำให้แม้บรรยากาศในห้องเรียนจะมีนักเรียนไม่ตั้งใจเรียน หรือนิสัยเกเรอย่างไร ครูมักได้รับการให้เกียรติและความเคารพนับถือเสมอ ทั้งในห้องเรียนและในสังคม

เรื่องนี้จึงมองได้ว่าการตั้งเป้าให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางนั้นถูกต้อง เพียงแต่ 3 ประเทศผู้นำด้านการศึกษาเริ่มต้นกระบวนการอันเข้มข้นด้วยการยกระดับวิชาชีพครูให้มีรายได้สูง มีฐานะทางสังคมเพื่อจูงใจและสร้างทัศนคติค่านิยมร่วมกันถึงอาชีพที่สร้างคน ผ่านการออกแบบและสร้างระบบที่เข้มงวด

4. ปฏิรูประดับนโยบาย = ยกระดับการศึกษาได้ทั้งหมด จริงหรือ?

คำตอบคือทั้ง จริง และไม่จริง ส่วนที่ไม่จริงนั้นมาจากเหตุปัจจัยของสภาพเศรษฐกิจ และสถานการณ์ทางการเมืองในระหว่างนั้นอีกด้วย เนื่องเพราะสภาพเศรษฐกิจและสังคมส่งผลให้มุมมองของผู้ปกครอง ครู และผู้เกี่ยวข้องในการกำหนดทิศทางการศึกษาเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แม้โยบายที่ดีมากแต่ก็อาจผิดจังหวะของสถานการณ์ของประเทศได้เช่นกัน

หรือแม้กระทั่งความมีเอกภาพของระบบการศึกษาที่พร้อมใจกันปฏิรูปก็ไม่ได้ให้ผลที่ต้องการเสมอไป ตัวอย่างในหนังสือคุณ Amanda มักจะยกตัวอย่างในอเมริกาว่าแต่ละรัฐมีอิสระในการกำหนดแนวทางของตนเอง จึงมีตัวอย่างนโนบายทุกรูปแบบแต่ผลการสอบ PISA ของอเมริกาโดยรวมก็ยังไม่อยู่ในอันดับต้นๆ อย่างที่หวังเอาไว้ แถมยังเกือบรั้งท้ายของอันดับในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอีกด้วย

ปัจจัยสัมพันธ์โดยตรง-โดยสัมพัทธ์

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เขียนในลักษณะรายงานสรุปเป็นหัวข้อๆ แต่เป็นการเล่าเรื่องที่สนุกผ่านประสบการณ์ของเด็กๆ และตัวผู้เขียน เหตุปัจจัยนี้ผมพยายามถอดความจากหนังสือที่มีผลต่อระดับความรู้ของนักเรียน (ผ่านผลคะแนน PISA)

  • อาชีพครูที่น่าจูงใจ — ปฏิรูประบบผลิตครูที่เข้มงวด ตั้งแต่สอบเข้า การคัดเลือกรับตำแหน่ง การปลดออกจากตำแหน่งเมื่อไม่สามารถทำได้ตามเกณฑ์ การยกระดับสวัสดิการและค่าตอบแทน
  • มาตรฐานการวัดผลที่จริงจัง — เน้นทักษะกระบวนการคิด วางการป้องกันการใช้เส้นสายให้รัดกุม
  • ประเทศทั้ง 3 มีการสอบวัดผลกลาง น้อยครั้งต่อปี — เหมือนเอนทรานส์ 1 ครั้งต่อปี และผลการสอบนั้นมีผลโดยตรงต่อการศึกษาต่อ หรือการสมัครทำงาน แต่อเมริกามีการสอบต่างกันในแต่ละรัฐ และสอบได้ไม่จำกัดครั้งจนกว่าจะผ่าน
  • นักเรียนประเทศทั้ง 3 ถูกคาดหวังสูงมากในเรื่องมีความรู้ — บรรยากาศ ค่านิยมแนวคิดของของการศึกษาอยู่ที่ความรู้ความสามารถ ไม่ใช่การเรียนเพื่อจบเพื่อจะได้ออกไปทำงาน แต่การมีความรู้เมื่อเรียนจบหมายถึงโอกาสในอนาคต

สรุปที่ไม่มีข้อสรุป

แม้จะเดินทางมาจนจบเล่ม คุณAmanda ไม่ได้บ่งชี้ลงไปว่า สิ่งไหนคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้ระดับการศึกษาของนักเรียนทั้งประเทศสูงขึ้น แต่ตลอดการอ่านทุกบทเราจะค่อยๆรับรู้ว่า

“ทุกประเทศมีปัญหาการศึกษาเป็นของตนเอง” และ “ทุกคนก็บ่นระบบการศึกษาของประเทศตัวเองทั้งนั้น”

เพราะแม้แต่ครูที่ยอดเยี่ยมใน 3 ประเทศที่การศึกษาดีเยี่ยมก็ยังบ่นว่าต้องปรับปรุงอีกมาก แต่ภาพรวมในหนังสือก็กระตุ้นให้เราหันกลับมามองสถานการณ์ในระบบการศึกษาไทยว่า เราอยู่ตรงไหน และ เรากำลังจะไปไหน?

เรามีระบบการศึกษาที่เข้มงวดคล้ายเกาหลีใต้ แต่การวัดผลและระบบคัดเลือกครูหย่อนยานคล้ายอเมริกา เราเริ่มมีระบบสร้างห้องเรียนพิเศษ(ทั้งนักเรียนที่เก่งเกิน และไม่ทันเพื่อน)คล้ายอเมริกา แต่ก็ยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำให้กับนักเรียนมากขึ้นไปอีก ทุกประเทศต่างมีบริทของระบบการศึกษาที่แตกต่างกันออกไป ถึงนี้นี้ก็ได้แต่สงสัยว่าสำหรับประเทศไทย ควรเริ่มตั้งคำถามที่ส่วนไหนก่อนดี

คงไม่มีคำตอบที่ถูกที่สุด หรือดีที่สุด หรือกระทั่งเรายังตั้งคำถามไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเราจะทำอย่างไร หากทุกวันนี้ทัศนคติของผู้คนในประเทศไทยที่มีต่อการเรียนรู้ ยังเป็นรากฐานที่ไม่มั่นคงเพียงพอจะหยั่งรากสู่การปฏิรูปการศึกษา…

ขอบคุณที่ติดตามแล้วพบกันใหม่เล่มหน้า (ที่ไม่รู้จะมาเมื่อไหร่) นะครับ… :D

--

--

R.Phot
Bookspective

Explorers: Trying to learn new things to understand my own way