เติบโตหลังชั้นปากกา

R.Phot
Bookspective
Published in
Apr 20, 2021

ผมเป็นเด็กยุค 90 ที่เติบโตมาในร้านขายเครื่องเขียนในอำเภอเล็ก ๆ กับโรงเรียนเล็ก ๆ ตั้งแต่จำความได้ตู้กระจกกับข้าวของมากมายภายในร้านเครื่องเขียนชื่อ วัฒนา คือโลกทั้งใบของผม

ช่วงที่เป็นนักเรียนตั้งแต่ประถมหนึ่งจวบจนมัธยมปลายที่โรงเรียนใกล้บ้าน เป็นวัยที่โลกหมุนรอบตัวเอง ไม่เคยสนใจความเปลี่ยนแปลงหรือตั้งข้อสังเกตกับความเปลี่ยนแปลงรอบๆตัว มัวแต่ตื่นเต้นกับโลกกว้างที่กำลังใกล้เข้ามา โลกของอุดมศึกษาและการทำงาน จนเมื่อกลับบ้านมาในวันที่วัยเลยเกษียณของพ่อกับแม่กระตุ้นเตือนบางอย่างในตัวเอง

โต๊ะจ่ายเงินหลังชั้นวางปากกาเป็นที่ประจำของคนในบ้านหลังนี้ ไม่ว่าใครจะอยู่หน้าบ้านซึ่งปกติคือพ่อ พ่อจะนั่งหลังโต๊ะและหลังชั้นปากกานี้เสมอ ยามใดเบื่อจะดูโทรทัศน์ก็ลุกขึ้นยืนพิงโต๊ะมองดูนาฏกรรมชีวิตที่แสดงอยู่ตรงหน้า ด้วยถนนตัดผ่านหน้าบ้านเป็นถนนทางผ่านสายหลักของอำเภอ เรื่องราวการเปลี่ยนแปลงจึงมีให้เห็นได้เสมอขึ้นกับว่าต้องการจะมองสิ่งใด

เรื่องหนึ่งที่เด่นชัดที่สุดตั้งแต่จำความได้คือ ความยุ่งวุ่นวายขายดีของร้านในตอนเช้า เมื่อรถหกล้อประจำทางจากหมู่บ้านต่างๆแล่นรับส่งนักเรียนมาจอดหน้าบ้านในตอนเช้า คนขับจะถูกขอร้องให้จอดเสมอเพราะจะมีอย่างน้อยหนึ่งคนที่ต้องลงมาซื้อดินสอ ปากกา ยางลบหรือถุงเท้าสักคู่ และด้วยการจอดรถประจำทางลักษณะนี้เช่นกันที่ก่อร่างสร้างตัวให้ร้านเครื่องเขียนแห่งนี้เติบโตและอยู่ผ่านยุคสมัยมาได้

ด้วยถนนหน้าตลาดใหญ่ของอำเภอเป็นทางแคบคอขวด รถหกล้อจึงต้องหาที่จอด และร้านขายเครื่องเขียนคู่แข่งอีกร้านมักไม่ยอมให้รถประจำทางซึ่งไม่ต่ำว่า 3 คันจากหลายหมู่บ้านจอดบังหน้าร้าน แต่พ่อยอมให้จอด แล้วไหนเลยจะเหมาะไปกว่าร้านขายเครื่องเขียนเบ็ดเตล็ดที่จอดได้ แถมชาวบ้านที่เดินทางก็ยินดีกับการเข้าอำเภอทำธุระหนึ่งครั้งได้เข้าตลาดพร้อมของเบ็ดเตล็ดในคราวเดียว

พ่อกับแม่เป็นคนไทยเชื้อสายจีนเติบโตมาในบรรยกาศของการแบ่งปันเกื้อหนุน ทุกเทศกาลสำคัญของจีน หรือของไทยอย่างปีใหม่ สงกรานต์ ลอยกระทง หรือบุญบั้งไฟประจำถิ่น แม่จะนำน้ำ ขนมไปแบ่งให้กับคนขับรถบรรทุกทุกคนทุกคัน จนเป็นที่รู้จักมักคุ้นกัน ไม่นานน้ำใจก็เริ่มผลิดอกออกผลเป็นข้าวกระสอบหลังเก็บเกี่ยว กล้วยหลายหวี และผักนานาชนิดในราคาถูก แม้ทุกวันนี้การจัดการถนนหน้าบ้านและปริมาณรถราที่เยอะขึ้นทำให้ไม่มีสามารถจอดรถได้นานนัก แต่คนขับรถในสมัยนั้นก็ยังแวะเวียนถามไถ่กันอยู่เสมอ

สำหรับร้านเครื่องเขียนคงหนีไม่พ้นเรื่องการเลือกซื้อเครื่องเขียน อุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน และอุปกรณ์สำนักงาน ผมมักจะติดรถไปเป็นลูกมือพ่อเสมอยามต้องไปเลือกซื้อของที่ร้านขายส่งในจังหวัด หนึ่งคือความชอบที่ได้เปิดหูเปิดตา เดินห้างสรรพสินค้า เลือกปากกายี่ห้อใหม่ๆ สมุดลายเท่ๆ หรือกระเป๋าแฟชั่นนิยมให้พ่อลองนำมาขาย แต่ไม่วายถูกพ่อยกมือห้ามหรือบอกว่ายังไม่เอาด้วยคำว่าแบบนี้ขายช้า ผมแปลความได้ในตอนที่รู้เรื่องสักหน่อยว่า พ่อรู้และเข้าใจความนิยมของคนในอำเภอแล้วตัดสินว่าสิ่งไหน สีไหน รูปแบบไหนที่ขายได้ ซึ่งแน่นอนว่าพ่อตัดสินในถูกเกือบทั้งหมด ถือเป็นบทเรียนแรกของผมตอนย่างวัยรุ่นเรื่องการค้าขายที่เดี๋ยวนี้เรียกว่าการตลาด

เรื่องของคุณภาพสินค้าไม่หนีหายไปจากร้านวัฒนา จริงอยู่ที่พ่อนำของเบ็ดเตล็ดมาขายแต่พ่อเลือกสินค้าที่ราคากลางๆ และราคาสูงก็เพื่อให้ลูกค้าเชื่อว่าร้านนี้ขายของดี ช่วงหนึ่งร้านขายของทุกอย่าง 20 บาท มาเปิดในอำเภอพ่อกลัวว่าฐานลูกค้าจะหายไปซึ่งเป็นจริงอย่างที่คิด แต่ไม่นานลูกค้าก็กลับมาเหมือนเดิมโดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้าลอตเตอรี่ที่ต้องใช้ตัวเย็บกระดาษอยู่เสมอ บ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าซื้อของร้านโน้นใช้ไม่ทน มาบ่นให้พ่อฟังก่อนเลือกซื้อตัวเย็บที่ดีที่สุดแพงที่สุดในร้านเลยทีเดียว

ช่วงที่ผมกำลังศึกษาอยู่สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ ว่าด้วยการบริหารจัดการอุตสาหกรรม ความร้อนวิชาที่อยากลองอยากช่วยให้การจัดการที่บ้านดีขึ้นได้ทำให้ได้เรียนรู้สัจธรรมข้อหนึ่ง คือความสมดุลเกิดจากการเข้าใจภายในและทันต่อภายนอก เมื่อได้นำแนวคิดมาปรึกษากับพ่อก็ได้ความกระจ่างว่าการขายของในพื้นที่แบบนี้ต้องตามตลาด การจะลุกขึ้นมานำแบบสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ ทั้งภาระหนี้สินบ้านและรถที่ยังค้างอยู่ไม่จูงใจเพียงพอจะเลี่ยง

สิ่งที่พ่อทำมาตลอดหลายปีไม่ต่างจากการติดตามกระแสระยะสั้นเรื่อยมา การลงทุนลงแรงอาจถือว่ามากแต่ก็เก็บเล็กผสมน้อยจนส่งลูกชายสามคนเรียนจบมีการงานทำถึงทุกวันนี้ ด้วยการถามไถ่นักเรียนเมื่อสังเกตเห็นว่าระดับชั้นเดียวกัน ซื้อของเหมือนๆกันว่าจากโรงเรียนไหน วิชาไหน คุณครูคนไหนสั่ง แล้วพ่อกับแม่ก็จะเตรียมของไว้ หากขาดไปหรือมีไม่พอกับจำนวนนักเรียนที่คาดไว้ก็สั่งมาเพิ่มหรือขับไปรับเองทันที

ร้านวัฒนายืนอยู่บนความเสี่ยงเสมอมา แต่พ่อกับแม่ก็ฝ่าฟันมาจนถึงทุกวันนี้ โลกเปลี่ยนไปบริหารจัดการและขับเคลื่อนด้วยระบบมากขึ้น ร้านขายส่งขนาดใหญ่ส่งไม้ต่อให้รุ่นลูกดูแลซึ่งตามมาด้วยการเก็บเงินตรงเวลา ลดการติดยืมสินค้าเชื่ออย่างที่รุ่นพ่อเคยทำ ทุกวันนี้เหลือเพียงไม่กี่ร้านที่ยอมให้พ่อยืมสินค้ามา ก่อนจะตัดเงินตามกำหนด ด้วยเพราะพ่อไม่เคยขาดตกบกพร่องเครดิตในเรื่องนี้เลยตลอด 30 ปีที่เปิดร้านมา

ผมทำงานบริษัทวิจัย แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับแนวคิดการค้าขายที่ได้ถูกฟูมฟักมา แต่นั่นไม่ใช่เรื่องใหญ่ สถานการณ์โรคระบาดสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ใครหลายๆคนรวมทั้งตัวผมด้วย เมื่อมองย้อนกลับไปพ่อเก็บเล็กผสมน้อยจากห้องเช่าเล็กๆขายปากกากำไรด้ามละ 2 บาท จนสร้างบ้านเป็นของตัวเองได้ในวัยย่าง 50 ไม่มีเหตุผลอะไรให้ท้อถอย ผมมีหน้าที่ลงมือทำและลงมือทำ เพียงแต่หลังจากนี้ผมต้องกลับบ้านไปช่วยเลือกสมุดปากกามาขายให้เหมาะขึ้นเท่านั้นเอง…

--

--

R.Phot
Bookspective

Explorers: Trying to learn new things to understand my own way