สรุปหนังสือ Creative Confidence

เราถูกปลูกฝังเหมือนกับว่าคน ‘สมองด้านซ้าย’ และ ‘สมองด้านขวา’ เป็นคนละสปีชี่กัน

คนมีความคิดสร้างสรรค์ไม่มีเหตุผล คนมีเหตุผลไม่มีความคิดสร้างสรรค์

แต่ตามหลักจิตวิทยาคือสมองทั้งสองด้านทำงานร่วมกันตลอด มันไม่ได้ทำงานแยกกันหรือมีความต่างอะไรที่ชัดเจนระหว่างการใช้เหตุผลและความคิดสร้างสรรค์ พูดง่ายๆคือถ้าไม่ครีเอทีฟ หยุดโทษสมองแล้วลองหันมาเปลี่ยนแปลงตัวเองดีกว่า

หนังสือเล่มนี้จะไม่ทำให้เราครีเอทีฟขึ้น แต่จะทำให้เรา “กล้า” ครีเอทีฟขึ้น และค้นพบความครีเอทีฟในตัวเอง เหมือนชื่อหนังสือ “Creative Confidence”

ในช่วงแรกเขาได้ปูพื้นถึงคำว่า “Creativity” หรือความคิดสร้างสรรค์ก่อน

พอพูดถึงคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ เราจะนึกถึงศิลปิน นักวาด นักเขียน นักดนตรี แค่คิดดูดีๆก็รู้แล้วว่ามันไม่ได้มีแค่คนกลุ่มนี้

นวัตกรรม มักเกิดในโลกธุรกิจ โลกที่คนจะมองว่าขาดความคิดสร้างสรรค์ แต่กุญแจสำคัญของนวัตกรรมคือ “ความคิดสร้างสรรค์”

เมื่อโลกเปลี่ยนไป เด็กรุ่นใหม่เริ่มที่จะไม่อยากทำงานกับหัวหน้าที่ขาดความคิดสร้างสรรค์หรือปิดกั้นไอเดียใหม่ๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะเห็นผู้บริหาร เจ้าของธุรกิจ เดินถือปากกาสี นั่งวาดรูป ดีดกีตาร์ร้องเพลงแต่งเพลง การมีความคิดสร้างสรรค์คือการที่มีไอเดียริเริ่ม ทำสิ่งที่อยู่ในจินตนาการให้เป็นความจริง และเชื่อมโยงสิ่งที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกัน ให้มีความเกี่ยวข้องกัน

เชื่อมโยงสิ่งที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกัน ให้มีความเกี่ยวข้องกัน

Doug Dietz เป็นหนึ่งในคนที่ช่วยดีไซน์และพัฒนาเครื่อง MRI ที่ ‘โคตรล้ำ’ สแกนเห็นร่างกายคนที่ในตอนนั้นมันเหมือนใช้เวทมนตร์เลยก็ว่าได้ เขามั่นใจว่าผลงานตัวเองเวิร์คสุดๆ จนกระทั่งได้มีโอกาสดูผู้ป่วยที่เป็นเด็กสาวเข้ารับการตรวจโดยใช้เครื่องสแกนนี้ ปรากฎว่าไอ้เครื่องสุดเจ๋งของเขามันกลับกลายเป็นฝันร้ายของเด็กสาวคนนี้มาก ทั้งดิ้นงอแง ทั้งร้องไห้ พ่อต้องคอยช่วยปลอบตลอดเวลา

แต่ไม่ใช่แค่เด็กคนนี้ เขามารู้ทีหลังว่าเด็กกว่า 80% ไม่สามารถนอนนิ่งๆได้จนต้องใช้ยาสลบเพื่อให้สแกนอย่างสมบูรณ์

เขาเลยเริ่มเข้าไปสัมภาษณ์เด็กหลายคน และพยายามทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง จนสุดท้ายเขาแก้ปัญหาด้วยการทำให้เครื่อง MRI เป็น “เรื่องราวของนักเดินทาง”

เขาดีไซน์เครื่องให้เป็นในธีม เรือโจรสลัด หรือ ยานอวกาศ ถึงขั้นเขียนสคริปให้คนคุมเครื่องอ่านเรื่องราวให้เด็กฟัง บอกเด็กว่าเราจะไปล่าขุมสมบัติกัน แต่เพื่อให้สำเร็จ จะต้องนอนอยู่นิ่งๆระหว่างที่อยู่บนเรือจนกว่าจะถึงขุมสมบัติ ที่เจ๋งเลยคือพอสแกนเสร็จเด็กก็ได้รับสมบัติชิ้นเล็กๆไปด้วย และในธีมยานอวกาศ พวกเสียงดังๆน่ากลัวๆของเครื่อง MRI ก็คือเสียงของยาน ซึ่งก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวของการเดินทางนั่นเอง

คือพี่แกเล่นเปลี่ยนโรงพยาบาลเป็นดิสนี่แลนด์เลย ถึงขนาดที่ว่าวันนึงหลังจากที่สแกนเสร็จ เด็กคนนึงเดินมากระตุกกระโปรงแม่ตัวเองแล้วบอกว่า “ไว้พรุ่งนี้มาอีกได้มั้ย?”

‘บรรยากาศ’ สามารถส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ได้

ยกตัวอย่างว่าทำไม Google / Facebook / Youtube ต้องทำสำนักงานให้ดูล้ำ ไม่เหมือนใคร เพราะเขาต้องการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของคนทำงาน ถึงแม้มันจะดูตรงไปตรงมา แต่การดีไซน์ที่ดี มันจะสื่อสารอะไรบางอย่างถึงตัวคนใช้

เช่น โต๊ะที่ดีไซน์ด้วยกระจก มีปากกาเขียนกระจก และแปรงลบ เราถูกสอนมาว่าห้ามเขียนลงบนโต๊ะหรือกระจก แต่ด้วยดีไซน์ที่ว่า มันสื่อสารให้เราสามารถเขียนลงไปได้ โดยไม่ต้องมีคำเขียนติดไว้ว่า “โปรดเขียนลงบนกระจก” มันทำให้เราแหกกฎเดิมๆที่เราคุ้นเคยโดยไม่รู้สึกผิดอะไร ความรู้สึกที่ได้มันไม่ธรรมดาและทำให้ “Creative Confidence” หรือความมั่นใจที่จะสร้างสรรค์ของเราเพิ่มขึ้น

ถ้าบริษัทมัวแต่พูดว่าเราอยากให้ทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ขึ้น คิดอะไรใหม่ๆ แต่ยังทำทุกอย่างเหมือนเดิม ห้องประชุมยังแข็งทื่อ กฎระเบียบมาเป็นเล่ม มันก็คงไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร

ถ้าลองมองตัวอย่างจากเครื่องสแกน MRI มันคือการเรียนรู้ปัญหาของลูกค้า (Pain point) อย่างลึกซึ้ง และเชื่อมโยงมันเข้ากับสิ่งที่ดูเหมือนจะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร เพื่อให้ได้วิธีการแก้ปัญหาใหม่ๆ

การใช้ความคิดสร้างสรรค์ ไม่ได้ทำให้เราหลุดออกจากเหตุผล แต่มันเป็นการหลุดออกจาก ‘เหตุผลเดิมๆ’ แบบแผนความคิดเดิมๆ เพื่อเชื่อมโยงสิ่งที่เรามีในแบบใหม่ที่ไม่เคยถูกเชื่อมมาก่อน แต่มันก็มี “เหตุผล” อยู่ดี

ถ้าสังเกตุดีๆจะเห็นว่า คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ก็คือคนที่ใช้ตรรกะและเหตุผลได้เก่งมากๆเช่นกัน

เชื่อว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะเปลี่ยนมุมมองและให้แรงบันดาลใจกับหลายคนได้ ไม่ว่าจะเรียนหรือทำงานสายอะไร ถ้าใครสนใจลองไปหาอ่านดูได้ครับ

ชอบก็ Clap ชอบมากๆก็แชร์ ชอบมากๆๆก็กดติดตาม แล้วเจอกันโพสต์หน้าครับ

--

--