สรุปหนังสือ Deep Work

หลังๆมารู้ตัวว่าชอบหยิบมือถือขึ้นมาดูแก้เบื่อระหว่างทำงาน อ่านหนังสือ หรือเรียน แต่ก็ไม่คิดว่ามันจะส่งผลเสียอะไรมากมาย จนมีช่วงนึงที่ค่อนข้างคิดมากว่าตัวเองจะเป็นสมาธิสั้น จู่ๆก็รู้สึกว่าทำอะไรไม่ค่อยสุด เรียนอะไรก็เริ่มไม่เข้าใจ อ่านหนังสือก็ช้าลง เลยเป็นเหตุผลให้ลองซื้อเล่มนี้มาอ่าน

หนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนไม้ที่ตีหัวแรงๆว่าสิ่งที่ทำอยู่มันคือการทำร้ายตัวเองระดับนึงเลย ซึ่งก็เชื่อว่าหลายๆคนก็น่าเป็นเหมือนกัน เลยอยากจะเอาสิ่งที่ได้จากหนังสือเล่มนี้มาแชร์ให้ฟัง

Deep work คืออะไร?

มันคือการทำงานที่คงเปรียบเหมือน “น้ำลึก” ที่เราต้องใช้เวลาดำดิ่งลงไป เพ่งสมาธิกับมัน ผลักดันความสามารถของเราจนถึงขีดสุด มันจะใช้กับงานที่สร้างคุณค่าได้มาก

ในทางตรงกันข้ามคือ “Shallow work” แปลดิบๆเลยคือ “งานตื้นๆ” เป็นงานที่เราทำได้โดยไม่ต้องมีสมาธิ ไม่ต้องคิดและใช้ความสามารถเยอะ ไม่ค่อยสร้างคุณค่าใหม่ๆได้

แต่ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไป Deep work ยัง “เวิร์ค” อยู่หรอ?

คนเขียนบอกว่าเพราะยิ่งสังคมเราเปลี่ยนไปแบบนี้ Deep work ยิ่งสำคัญ เพราะการที่เราจะประสบความสำเร็จในยุคนี้เราต้อง…

1.เรียนรู้สิ่งใหม่ๆอย่างรวดเร็ว

2.สร้างผลผลิตระดับมืออาชีพ

ยกตัวอย่างถ้าเราจะฝึกทักษะที่ค่อนข้างมีความยากและท้าทายเช่น ภาษา การเขียนโปรแกรม หรือต้องแก้ปัญหาที่ใช้ความคิดและการวิเคราะห์ มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำพวกนี้ได้สำเร็จในเวลาอันสั้นโดยที่ไม่เพ่งสมาธิอยู่กับมัน และสิ่งที่เราจะต้องเจอก็คือ “ความเบื่อ” ซึ่งการหยิบมือถือขึ้นมาดูก็เป็นเหมือนตัวบรรเทาที่ง่ายที่สุด แต่การทำแบบนั้นมันจะยิ่งส่งผลเสียมากกว่าผลดี คนเขียนบอกว่าเราจะต้องโอบกอดความเบื่อ และพยายามห้ามตัวเองไม่ให้หลุดสมาธิอยู่กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ เราถึงจะสร้างความแตกต่างและคุณค่าใหม่ๆในโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว

ครึ่งหลังของหนังสือเลยเป็นการยก “กลยุทธ์” หรือเทคนิคต่างๆที่จะทำให้เราเอา Deep work มาใช้ได้จริง ซึ่งไม่ใช่ทุกอันจะเหมาะกับเรานะ แต่อยากจะยกตัวอย่างสองอันที่รู้สึกว่าเอามาใช้และเรียนรู้อะไรบางอย่างจากมันได้…

Deep work ให้เป็นนิสัย เอาชนะความขี้เกียจ

ตั้งเวลาที่จะฝึกทักษะหรือทำโปรเจคนั้นๆโดยที่ไม่มีอะไรมาก่อกวนสมาธิเลย นั่นรวมถึงการ “ออกจากโลกโซเชียล” การที่เรามีกำหนดเวลาไว้ชัดเจน เช่นทุกวันตอนสองทุ่มจะฝึกอังกฤษ มันง่ายกว่าการที่คิดไว้ในหัวเอาเองว่า “เดี๋ยวว่างๆก็ฝึกเองแหละ”

ให้คิดซะว่าเราเหมือนมีหัวหน้าคอยสั่งงานให้เราทำ เราก็ต้องรับผิดชอบโดยการทำสิ่งที่รับปากไว้แล้ว เพราะไม่งั้นเราจะแพ้ความขี้เกียจของตัวเองแล้วผลักมันออกไปเรื่อยๆ เราจะไม่รู้สึกว่าเราจะต้องทำตอนนั้นจริงๆ

สำหรับมือใหม่อาจจะเริ่มต้นที่ 1 ชั่วโมงต่อครั้ง แต่ระดับพระกาฬอยากจะท้าทายหน่อยก็อาจจะนานถึง 4 ชั่วโมงได้ (ใครมีแฟนก็อาจจะเสี่ยงไม่น้อย 5555)

ปล่อยให้ตัวเองขี้เกียจ

Deep work ไม่ใช่แค่การทำงานหนักขึ้น แต่คือการพักผ่อนมากขึ้นอีกด้วย ถ้าเรากำลังทำอะไรก็โฟกัสมันให้สุด และเมื่อเสร็จแล้วก็ปล่อยให้ตัวเองได้พักโดยที่ไม่ต้องนึกถึงมันอีกจนว่าจะถึงเวลาทำงานครั้งต่อไป เพราะฉะนั้นคนที่ใช้ Deep work จนเป็นนิสัย อาจจะมีเวลาว่างมากกว่าคนที่ทำงานเรื่อยๆก็ได้

ซึ่งถ้าให้จินตนาการภาพคนที่ยุ่ง เรามักจะเห็นคนที่นั่งอยู่บนโต๊ะ เอกสารกองเต็ม หันซ้ายทำนี่ที หันขวาทำนู่นทีแบบในโฆษณา และเรามักจะคิดไปต่อว่า “คนที่ยุ่งและงานเยอะ” = “คนที่เก่งและมีความสำคัญ” มันก็เลยไม่แปลกที่เราจะทำงานให้คนอื่นเห็นได้ง่ายว่าเรายุ่ง (“visible busyness” or “busyness as proxy for productivity”) จนเราไม่ได้โฟกัสที่ความสำคัญของงาน หรือการทำงานให้เสร็จจริงๆ

แต่ถ้าเราเชื่อว่า Deep work มีประสิทธิภาพมากกว่า Shallow work ก็แปลว่าคนที่ทำงานแบบโฟกัสสุดๆ 4 ชั่วโมง อาจจะทำงานได้เทียบเท่าหรือมากกว่าคนที่ทำงานไปเรื่อยๆ เข้าเว็บบ้าง ดูไลน์บ้าง เช็คเมลบ้าง 8 ชั่วโมงต่อวัน แต่ “ดูยุ่ง” กว่า แล้ว Deep work ใช้เวลาอีก 4 ชั่วโมงที่เหลือไปเดินช้อป ดูหนัง ร้องเกะเรียบร้อย

Deep work ไม่ได้เหมาะกับทุกคน

ถ้าคิดดูดีๆมันก็จะมีบางอาชีพที่ไม่สามารถปิดมือถือระหว่างวันหรือแม้กระทั่งตอนกลางคืนได้เลย แต่ยังไงทุกคนก็สามารถเอาหลักของ Deep work ไปใช้ได้อยู่ดี และถ้ามันแค่ “ยาก” ที่จะใช้ Deep work กับงานหรือไลฟ์สไตล์ที่เราเป็น ไม่ได้แปลว่าเราจะใช้มันเป็นข้ออ้างแล้วบอกว่า “ทำไม่ได้”

พักผ่อนโดยการเสริมคุณค่าให้กับตัวเอง

ขอทิ้งท้ายด้วยเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ได้รับจากหนังสือเล่มนี้ นั่นก็คือเรามักจะคิดว่าการพักผ่อนคือการไม่คิดอะไร ทำอะไรง่ายๆชิวๆ เดินเล่นในห้าง ท่องเว็บ เล่นเกม ฟังเพลง แต่จริงๆการพักผ่อนด้วยการอ่านหนังสือ ออกกำลังกาย ฝึกเล่นดนตรี หรืออะไรก็ได้ที่สร้างคุณค่าให้กับตัวเอง จะทำให้เรารู้สึกถูกเติมเต็มและผ่อนคลายมากกว่า เพราะฉะนั้นถึงแม้ชีวิตเราจะชิวๆ ไม่มีเรื่องให้คิดมาก แต่ยังรู้สึกขาดแรงบันดาลใจ อ้างว้าง และเครียด การทำอะไรดีๆให้ตัวเองอาจจะเป็นคำตอบก็ได้

ชอบก็ Clap ชอบมากๆก็แชร์ ชอบมากๆๆก็กดติดตาม แล้วเจอกันโพสต์หน้าครับ

--

--