สรุปหนังสือ Hyperfocus — Chris Bailey

ผมเชื่อว่าทุกคนไม่ค่อยมีปัญหากับการโฟกัสอะไรนานๆหรอก

เราสามารถเล่นเกม ดูเกมโชว์ ดูหนัง เป็นชั่วโมงๆได้โดยไม่เบื่อ แต่ปัญหาจริงๆมันอยู่ที่เราโฟกัสสิ่งสำคัญจริงๆไม่ได้

ถ้าเราไม่สามารถบังคับสิ่งที่เราจะโฟกัสได้ มันคือการโฟกัสที่เสียเปล่า

Hyperfocus จึงไม่ได้แค่ทำให้เราโฟกัสได้นานขึ้น แต่มันคือการโฟกัสถูกที่ด้วย

แต่ก่อนจะไปรู้ว่า Hyperfocus คืออะไร และทำยังไง เราต้องรู้ก่อนครับว่าสมาธิคนเราทำงานยังไง

พื้นที่สมาธิ

คนเขียนเรียกมันว่า Attentional Space ซึ่งผมขอแปลมันว่า “พื้นที่สมาธิ” มันก็คือหน่วยความจำระยะสั้นนั่นแหละครับ ถ้าเทียบกับคอมพิวเตอร์ก็คือ RAM ซึ่งกำหนดว่าเราจะมีอะไรอยู่ในหัวเราได้ ณ เวลาหนึ่ง

ลองนึกถึงการคิดเลขในใจ ถ้าเรามีพื้นที่สมาธิเยอะ เราก็สามารถคิดเลขที่ซับซ้อนได้ ซึ่งมันไม่ได้มีประโยชน์แค่คิดเลข เพราะว่าการทำงานหรือแก้ปัญหาที่ซับซ้อนเราต้องเก็บข้อมูลไว้ในนี้เพื่อวิเคราะห์และหาทางแก้ เพราะฉะนั้นใครจัดการกับมันได้ ก็จะได้เปรียบแน่นอนครับ

สมมติว่าวงกลมนี้คือพื้นที่สมาธิของคุณ แน่นอนว่าแต่ละงานมันใช้พื้นที่ไม่เท่ากัน อะไรที่เราทำเป็นประจำอยู่แล้วโดยไม่ต้องคิด เช่น หายใจ เคี้ยว เดิน มันแทบจะไม่ใช้พื้นที่ตรงนี้เลย แต่กลับกันถ้าเป็นงานยากๆมันก็จะใช้เยอะ มันเลยเป็นอะไรที่แย่มากถ้าเราจะแชทและขับรถไปด้วย

แล้ว Hyperfocus คืออะไร?

ถ้าคุณเคยทำงานอะไรที่รู้สึกว่าถูกดูดกลืนลงไป ไม่กินไม่นอนก็ได้ แต่ขอจดจ่ออยู่ที่ตรงนี้ก่อน และมันไม่ใช่ความรู้สึกทรมานเลย ทุกอย่างมันไหลไปด้วยความรวดเร็ว คุณคิดว่ามันผ่านไป 15 นาที แต่จริงๆคุณนั่งทำงานไปแล้ว 1 ชั่วโมง บางคนอาจจะเรียกช่วงเวลานี้ว่า “Flow” ซึ่งนี่คือความรู้สึกของการอยู่ในโหมด Hyperfocus

ซึ่งมันเป็นการใช้พื้นที่สมาธิของเรากับแค่สิ่งๆเดียว

เข้าสู่โหมด Hyperfocus

เราจะเข้าสู่โหมด Hyperfocus ได้ เราต้องทำ 4 ขั้นตอนนี้ครับ:

1. เลือกสิ่งที่จะ Hyperfocus

ผมว่าหลายคนคงมีประสบการณ์เปิด Netflix แล้วใช้เวลาเป็นชั่วโมงกว่าจะเลือกได้ว่าจะดูอะไร

ชีวิตยิ่งกว่า Netflix เพราะเรามีตัวเลือกเยอะมากๆ แต่เราต้องเลือกแค่สิ่งๆเดียวที่จะโฟกัส

ซึ่งการที่เราทำอะไรหลายๆอย่าง (Multi-tasking) มันยิ่งจะทำให้เราทำงานได้ช้าลง ที่สำคัญคือทำได้ไม่เต็มที่เท่าทำไปทีละอย่างด้วย

สิ่งที่จะช่วยได้คือให้ทุกเช้าที่ตื่นนอนมาลองเขียน 3 อย่างที่คุณจะต้องทำในแต่ละวัน ประมาณว่าทำเสร็จ 3 อย่างนี้ถือว่าวันนี้นอนหลับสบายละ จากนั้นก็จัดสรรเวลา Hyperfocus ให้กับมัน ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่แค่งานก็ได้ เช่น:

1. ออกกำลังกายที่ยิม

2. เขียนรายงานให้หัวหน้า

3. พาครอบครัวออกไปกินข้าว

การที่เรา Hyperfocus กับสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขมันทรงพลังมาก เดี๋ยวเราจะกลับมาพูดอีกรอบครับ

2. กำจัดสิ่งรบกวน

สิ่งรบกวนก็จะมีทั้งภายในและภายนอกครับ เริ่มจากภายนอกเช่น ถ้าเราทำงานในออฟฟิศเปิด เราอาจจะเลือกลงไปร้านกาแฟเงียบๆ (ถ้าหัวหน้าให้) เปิด Flight mode หรือทำยังไงก็ได้ให้ปัจจัยภายนอกขโมยสมาธิเราได้ยากที่สุด

แต่หินที่สุดคือปัจจัยภายใน ซึ่งผมว่าหลายๆคนจะชอบมีปัญหาว่าพอทำงานนึง มันมักจะไปนึกถึงอีกงานนึง “ตายละ พึ่งนึกออกว่าลืมทำงาน[นั้น]” หรือ “เห้ย ได้ไอเดียแล้วว่างาน[นั้น]จะทำยังไง!” แล้วเราก็ต้องแบกความกังวลหรือไอเดียพวกนั้นระหว่างที่เรากำลังจดจ่องานตรงหน้า แต่อย่าลืมนะครับว่าพื้นที่สมาธิเรามีจำกัด และมันอาจจะทำให้เครียดด้วยเพราะเราจะกังวลมากๆว่าจะลืมรึเปล่า

วิธีแก้ไม่ได้ล้ำโลกอะไรมากเลยครับ แค่ใช้ to-do list หรือตารางสิ่งที่จะทำ โหลดใส่ไว้ในมือถือหรือพกสมุดจดติดตัวไว้ พอเรานึกอะไรออก จดไปเลย มันจะทำให้เราสบายใจได้ว่าเราจะไม่ลืมมัน แม้เราจะล้างมันออกจากพื้นที่สมาธิของเราไปตอนนั้น คนที่มีปัญหานอนไม่ค่อยหลับก็ช่วยได้เหมือนกัน นึกอะไรออกว่าต้องทำอะไร จดเอาไว้เลย จิตใจเราจะได้พักผ่อนได้

3. เริ่ม Focus

ตามนั้นเลยครับ…

4. ดึงตัวเองกลับมา Focus ที่เดิม

สมัยก่อนที่มนุษย์ออกล่าสัตว์ เราต้องคอยระแวดระวังทุกอย่างรอบตัว นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ใจเรามักจะวอกแวก คิดไปนู่นนี่ไม่โฟกัสซักที ซึ่งก็อย่าเครียดกับมันมากเกินไป มันเป็นเรื่องธรรมดา แต่แค่เราต้องรู้ตัวเองว่าตอนนี้เรากำลังหยุดโฟกัส ให้พยายามดึงมันกลับมาให้เร็วที่สุด ทำอย่างนี้เรื่อยๆเราจะเข้าสู่โหมด Hyperfocus เองครับ

เหนื่อยก็พัก ไม่รักก็เลิก

โหมด Hyperfocus ใช้พลังงานค่อนข้างสูง ยิ่งเราฝืนตัวเอง มันยิ่งทำให้ใจเราวอกแวก ฝืนความอยากที่จะหยิบมือถือมาดูไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราควรจะพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่ดี และอีกตัวช่วยนึงก็คือกาแฟครับ ดื่มในปริมาณและเวลาที่เหมาะสม มันจะกลายเป็นอาวุธที่จะทำให้เราโฟกัสได้ดียิ่งขึ้น

โหมด “ไม่โฟกัส” (Scatterfocus)

เราได้พูดถึงความเจ๋งของ Hyperfocus ไปแล้ว แต่ไม่แปลว่าการ “ไม่โฟกัส” จะไม่ดีเสมอไป

ในหนังเรื่อง A Beautiful Mind หรือ The Imitation Game ตัวละครแสนอัจฉริยะทั้งสองค้นพบคำตอบที่เปลี่ยนชีวิต (และโลก) ไม่ใช่ตอนเขากำลังหมกมุ่นกับงาน แต่เป็นตอนที่เขากำลังอยู่ในผับต่างหาก!

จิตใต้สำนึกของเราเร็วกว่าที่เราคิด แต่มันจะทำงานได้ดีตอนที่เราไม่ได้จดจ่อกับอะไร มันเหมือนเวลาเราเดินเล่น ปล่อยให้ใจมันคิดของมันไป มันจะมีความคิดโผล่มาในหัวเราไปเรื่อย ถ้าเทียบข้อมูลในสมองของเราแต่ละอันเป็น “จุด” มันคือการที่สมองเรากำลังต่อจุดพวกนั้นเข้าหากัน

เพราะฉะนั้นเหตุการณ์ที่พระเอกทั้งสองเจอ มันคือการที่สมองต่อจุดเข้าหากันระหว่างที่จิตใจไม่ได้จดจ่ออะไรเป็นพิเศษ

สรุปง่ายเลยก็คือ Hyperfocus คือการจดจ่อกับงานๆหนึ่งที่เราต้องทำให้เสร็จ แต่ Scatterfocus (การไม่โฟกัส) คือการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์

นั่นเป็นเหตุผลที่เราควรจะพักสมองทุกๆ 90 นาที ออกไปเดินเล่น ฟังเพลงบ้าง แต่อย่าใช้พื้นที่สมาธิจนหมด เหลือพื้นที่ให้สมองได้แล่นไปได้

และที่สำคัญ โหมด Scatterfocus ยังเป็นการ “ชาร์ตแบต” ให้กับโหมด Hyperfocus ด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเราใช้สองโหมดนี้สลับกันไป จะทำให้เรา Hyperfocus ได้ดียิ่งขึ้น

ลงทุนในความสุข

แต่ละคนมีพื้นที่สมาธิไม่เท่ากัน แต่ผลวิจัยบอกว่าคนที่มีความสุขจะมีสมาธิมากกว่า

ซึ่งผมมานั่งคิดดูดีๆ ถ้ามันเป็นแบบนั้นจริง โลกเรานี่จะไม่แฟร์มากๆ เพราะคนที่มีความสุข ก็จะทำงานที่ยาก และทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า ก็จะทำให้มีโอกาสถูกเลื่อนขั้น และก็จะมีความสุขยิ่งขึ้น วนไปแบบนี้เรื่อยๆ ซึ่งคนที่ไม่มีความสุขก็จะยิ่งแย่ลงไปเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้นมันสำคัญมากที่เราจะ “ลงทุนในความสุข” อย่างที่ผมบอกไปว่าให้เลือก 3 สิ่งที่จะทำในแต่ละวัน อย่าลืมใส่สิ่งที่เป็นความสุขของคุณลงไปในทุกๆวันด้วยนะครับ

ชอบก็ Clap ชอบมากๆก็แชร์ ชอบมากๆๆก็กดติดตาม แล้วเจอกันโพสต์หน้าครับ

--

--