สรุปหนังสือ Invisible Influence — Jonah Berger

ฟัง Podcast ได้ที่นี่

เกิดอะไรขึ้นเมื่อ J. K. Rowling เขียนหนังสือในนามแฝง

เธอได้เขียนนิยายสืบสวนสอบสวนเล่มนึงที่ชื่อว่า “The Cuckoo’s Calling” แต่ตีพิมพ์ด้วยนามแฝง “Robert Galbraith” เพราะอยากให้นิยายขายตัวมันเอง

ใน 3 เดือนแรก หนังสือขายออกไปได้แค่ 1,500 เล่ม แต่แล้วจู่ๆวันนึง หนังสือก็พุ่งจากอันดับ 4,709 มาเป็น Best seller ในเว็บอเมซอน เป็นเพราะว่ามีคนออกมาเผยความจริงว่าคนเขียนคือ เจ เค โรว์ลิง

นี่ก็เป็นหนึ่งตัวอย่างจากหลายๆอันที่คนเขียนยกมาว่าเรามักจะทำอะไรเหมือนกัน และชอบในสิ่งที่เราคุ้นเคย เพราะการเห็นอะไรหลายๆครั้งมันทำให้สมองเราประมวลผลง่ายขึ้น และการที่สมองเราไม่ต้องทำงานหนักก็ส่งผลให้เกิดความรู้สึกที่ดีที่เราเรียกมันว่า ‘ความคุ้นเคย’ ครั้งแรกที่ฟังเพลงนึงก็ไม่ค่อยเข้าหูเท่าไหร่ แต่พอฟังๆไปก็เริ่มติด เจอคนคนนึงครั้งแรกก็หน้าตาเฉยๆ เจอบ่อยๆก็เริ่มหวั่น คุณไม่ใช่คนเดียวที่เป็นแบบนั้น

แต่คนเราก็อยากที่จะแตกต่าง

สมมติเรากำลังจะซื้อ BMW สีแดง เราก็ไปโม้ให้เพื่อนๆฟังว่า นี่ๆ ฉันกำลังจะซื้อบีเอ็มสีแดงแหละ แจ่มมั้ยหละ เพื่อนก็ เออๆ ดีแหละ แต่ไม่กี่วันถัดมาเพื่อนคนนึงก็ถอยบีเอ็มสีแดงตัดหน้าเฉยเลย

เราจะรู้สึกยังไง? แล้วเราจะซื้ออยู่รึเปล่า?

ซึ่งคนเขียนบอกว่า จะรู้สึกยังไง มันขึ้นอยู่กับฐานะและสังคมของเรา ชนชั้นแรงงานมักจะรู้สึกดีเมื่อเจอเหตุการณ์แบบนี้ เพราะเพื่อนๆจะได้ใช้ของดีๆด้วยกัน แต่ชนชั้นกลางหรือคนมีฐานะหน่อยมักจะรู้สึกเซ็งกับเหตุการณ์นี้มาก เพราะให้ความสำคัญกับความแตกต่างมากกว่า ด้วยความคิดว่าถ้าเราทำทุกอย่างเหมือนคนอื่น สุดท้ายเราพิเศษหรือต่างจากคนอื่นยังไง ซึ่งความแตกต่างก็มีราคาของมัน

ถ้าถามหลายๆคนว่าความพิเศษของสตาร์บัคคืออะไร เราอาจจะได้คำตอบว่า “คุณภาพ” หรือ “ประสบการณ์” แต่สตาร์บัคไม่ได้ขายแค่ประสบการณ์ มันคือ “ประสบการณ์เฉพาะคน” เราสามารถสั่งกาแฟในแบบของเรา มีชื่อของเราถูกเขียนอยู่บนแก้ว คนเขียนบอกว่ามันเป็นร้อยบาทที่ถูกมากที่ย้ำเตือนว่าเราเป็นเรา ไม่ใช่ใครอื่น

คนเราจะทั้งเลียนแบบและแตกต่างในเวลาเดียวกันได้ไง?

มันคือความไม่เหมือนซะทีเดียว และไม่ต่างซะทีเดียว

ลองนึงถึงตอนยุค iPod บูมๆ พ่อเราอาจจะซื้อสีเทา น้องใช้สีชมพู เราก็ซื้อสีน้ำเงิน แค่นี้เราก็แตกต่างแล้ว ถึงแม้เอาจริงมันก็คือ iPod เหมือนกัน มันก็แค่สีเท่านั้นเอง

เพราะบางครั้งการทำอะไรที่แตกต่างจากคนอื่นไปเลยมันทำให้เรารู้สึกกังวล ว่ามันดีจริงรึเปล่า การที่ทำสิ่งที่เหมือนหรือคล้าย ก็ช่วยคลายความกังวลนั้น ในขณะเดียวกันเราก็ต้องการความแตกต่างเพื่อแยกตัวเราออกจากคนอื่น นั่นเป็นเหตุผลว่าอะไรก็ตามที่ฮิตกันมากๆ ลึกๆแล้วมันคือการผสมผสานกันระหว่างความคุ้นเคยกับความใหม่ไม่เหมือนใคร และเปิดช่องให้คนซื้อใส่ความแตกต่างด้วยตัวเอง

คนรอบข้างมีผลอย่างมากกับชีวิต

มันชัดว่าคนรอบข้างมีอิทธิพลต่อเรา ซึ่งเราอาจจะอยากท้าทายมัน เชื่อว่าเราไม่เหมือนคนอื่น แต่ผลสุดท้ายก็มักจะเป็นความล้มเหลว

มนุษย์เราเป็น “สัตว์สังคม” เพราะฉะนั้นการที่บอกว่าอิทธิพลจากคนรอบข้างมีผลต่อเรา มันเป็น ‘ความจริง’ (fact) มันไม่ควรถูกตีความว่ามัน ‘ดี’ หรือมัน ‘แย่’ มันอยู่ที่เราว่าพอเรารู้แบบนี้แล้ว เราจะใช้มันไปในทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลงยังไง เพราะเอาเข้าจริงมันไม่ได้มีผลกับแค่สิ่งที่เราซื้อ แต่มันส่งผลถึงชีวิตของเรา

ถึงแม้การฉลาดเลือกคนดีๆเข้ามาในชีวิตมันไม่ได้การันตีอะไร แต่อย่างน้อยมันก็เป็นส่วนนึงที่คอยพาเราไปในทางที่ดีขึ้นได้ แทนที่เราจะว่ายสวนกระแสน้ำของอิทธิพลที่บั่นทอนเรา เราสามารถตั้งกระแสน้ำให้ไปในทางที่ดี แล้วชีวิตก็จะง่ายขึ้น

อ่านแล้วถูกใจ อย่าลืมกด Clap และกดติดตามไว้ แล้วเจอกันโพสต์หน้าครับ

--

--