สรุปหนังสือ Outliers — Malcolm Gladwell

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเกี่ยวกับความสำเร็จที่ ‘บั่นทอนกำลังใจ’ มากที่สุดเท่าที่เคยอ่านมา แต่เป็นหนังสือที่อิงจากหลักฐานและเขียนอย่างจริงใจที่สุด

เราถูกปลูกฝังมาโดยตลอดว่าเรากำหนดชะตาชีวิตตัวเองได้ และคนสำเร็จคือคนที่ฉลาดที่สุด เก่งที่สุด ดีที่สุด แต่เราดูถูกความสามารถของ ‘สังคม’ ‘วัฒนธรรม’ ‘รากเหง้า’ และ ‘โชค’ เกินไป

หนังสือชื่อว่า “Outliers” ครั้งแรกที่เห็น เข้าใจว่าเขาหมายถึงคนที่ประสบความสำเร็จที่เก่งหรือฉลาดจนผิดมนุษย์ คือโดดเด่นออกจากพวก แต่จริงๆเขาหมายถึงคนที่ได้รับโอกาสที่ใช่ ในเวลาที่ใช่ และมีศักยภาพมากพอที่จะไขว่คว้ามันเอาไว้ได้ และโอกาสมักจะมากับคนที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว เลยทำให้เขาประสบความสำเร็จขึ้นไปอีก

แต่คนเหล่านี้ไม่ใช่ว่าเกิดมาก็ประสบความสำเร็จเลย เขาแค่เริ่มต้นดีกว่าคนอื่น “นิดหน่อย” คิดซะว่ามันเหมือนกับ “ดอกเบี้ยทบต้น”…

A มีเงิน 10,000 บาท B มีเงิน 5,000 บาท ทั้งคู่ลงทุนในหุ้นเหมือนกัน

เวลาผ่านไป 40 ปี A มีเงิน 930,000 บาท B มีเงิน 465,000 บาท

จะเห็นว่า A เริ่มต้นด้วยเงินที่มากกว่าแค่ 5,000 บาท แต่สุดท้ายมีเงินมากกว่าเกือบ 500,000 บาท

ก็เหมือนกับคนที่ประสบความสำเร็จ ที่เริ่มต้นด้วยความได้เปรียบเล็กน้อย แต่สุดท้ายกลับส่งผลมหาศาล กลายเป็น “Outliers”

เป็นที่พูดถึงกันชินปากว่า Steve Jobs กับ Bill Gates เรียนไม่จบก็ประสบความสำเร็จได้ แต่ทำไมเราไม่เห็นคนแบบนั้นมากกว่านี้? มันไม่ได้แปลว่าถ้าเราเรียนไม่จบ (หรือไม่เรียน) เราจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าคนอื่น เพราะอีกสิ่งที่สำคัญที่ทำให้สองคนนี้ประสบความสำเร็จคือ ‘โอกาส’

เพื่อให้เห็นภาพมากกว่านั้น ทั้ง Jobs และ Gates เกิดในปี 1955 เช่นเดียวกับเจ้าพ่อวงการเทคโนโลยีทั้งหลายในยุคนั้น ซึ่งมันจะบังเอิญเกินไปสำหรับความบังเอิญรึเปล่า?

เขาให้เหตุผลว่าปี 1975 เป็นปีเริ่มต้นสำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (คือคอมที่ใช้ในบ้านนี่แหละ) คำถามคือใครเหมาะสมที่สุดที่จะคว้าโอกาสนี้?

ถ้าเกิดปี 1958 ตอนนั้นจะยังเรียนอยู่มัธยม แน่นอนว่ายังเด็กไปที่จะจริงจังกับมัน ถ้าเกิดปี 1952 ตอนนั้นก็จะเรียนจบไปได้ซักพัก มีงานประจำทำ ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ คงจะไม่ออกมาเสี่ยงกับธุรกิจที่กำลังเกิดใหม่ เพราะฉะนั้นปีเกิดที่ได้เปรียบที่สุดก็คือ 1954–1955

บิงโก…

นั่นเป็นแค่จุดเริ่มต้นของความได้เปรียบ แล้วมันก็สะสมมาเรื่อยๆ จนผลลัพธ์มันเริ่มใหญ่โต

มันยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกเยอะในหนังสือเล่มนี้:

ทำไมทีมฮอกกี้รุ่นเยาวชนของแคนนา ถึงมีแต่เด็กที่เกิดต้นปี

ทำไมเด็กจีน (หรือเด็กเอเชีย) ถึงเก่งคณิตมากกว่าพวกฝั่งยุโรป มันไม่ใช่แค่เพราะระบบการศึกษา แต่ภาษาก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ

ทำไมวัฒนธรรมของคนเกาหลีส่งผลให้ Korean Air เกิดเหตุการณ์เครื่องบินตกบ่อยครั้งจนบริษัทเกือบเจ๊ง และมันถูกแก้ไขยังไง

อย่างที่บอกว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่บั่นทอนกำลังใจ เพราะบ่อยครั้งเราไม่ได้เป็นคนกำหนดความสำเร็จของตัวเอง แต่สุดท้ายอยากให้มองว่าหนังสือเล่มนี้ ‘ให้สติ’ มากกว่าและต่อให้โชคดีที่สุด แต่ถ้าไม่สู้ ไม่เอาไหน ก็ไม่ได้อะไรอยู่ดี คนที่จะคว้าโอกาสไว้ได้ ก็คือคนที่เก่งและพร้อม

สิ่งที่เราบังคับไม่ได้ — โชค โอกาส รากเหง้า — ก็ปล่อยให้มันเป็นไปตามนั้น แล้วหันกลับมาทำสิ่งที่เราทำได้ให้ดีที่สุดดีกว่า

ถ้าเราพยายาม แต่สุดท้ายไม่ได้ประสบความสำเร็จใหญ่โต เชื่อว่ายังไงเราก็จะอยู่ในจุดที่ดีกว่าการที่เรายอมแพ้ตั้งแต่แรก

ขอฝากหนังสือรสชาติขมๆนี้เป็นกำลังใจให้กับทุกคนครับ

ชอบก็ Clap ถูกใจก็แชร์ และอย่าลืมกดติดตาม แล้วเจอกันโพสต์หน้านะครับ

--

--