สรุปหนังสือ Sapiens

Sapiens เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่ผมกล้าใช้คำว่า “สนุก” มันมีเรื่องราวหลายอย่างที่น่าสนใจที่จะทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น และเข้าใจว่าทำไมโลกตอนนี้ถึงเป็นแบบที่มันเป็น

บางคนอาจจะข้องใจว่าเราจะเรียนรู้เรื่องพวกนี้ไปทำไม เหตุผลแรกคงจะเป็นเพราะมันน่าค้นหาว่าการเดินทางของพวกเรามันผ่านอะไรมาบ้าง และเพื่อมองภาพที่ใหญ่ขึ้นว่าจริงๆแล้วที่เราเป็นอยู่ตอนนี้มันเป็นยังไง

มันคงจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะรู้ว่ามดตัวหนึ่งกำลังเดินไปทางไหน ถ้าเรามัวแต่จ้องมันในภาพแคบๆ หนังสือเล่มนี้คงเป็นตัวขยายให้เราเห็นเส้นทางที่เราเดินมา เผื่อเราจะเข้าใจเส้นทางที่เรากำลังเดินไปได้ดีขึ้น

ต้องออกตัวก่อนว่าผมจะไม่ได้สรุปครอบคลุมทุกเรื่อง แต่จะยกเอาประเด็นบางอันที่น่าสนใจมาให้ครับ

เรื่องแรกที่ผมอยากจะเล่า มันน่าจะเป็นคำถามที่ทุกคนอาจจะสงสัย แต่ไม่มีโอกาสได้ถาม…”ทำไมมนุษย์ถึงครองโลก?”

ทำไมมนุษย์ถึงครองโลก

เราพิเศษยังไง เพราะเราเป็นมนุษย์หรอ? แต่แค่การเป็นแค่มนุษย์ก็ไม่ได้แปลว่าจะครองโลกได้ เพราะเมื่อก่อนก็ไม่ได้มีมนุษย์แค่สายพันธ์เดียว แต่ทำไมถึงเป็นเราที่ทำสำเร็จ?

สายพันธ์ของเราชื่อว่า Homo Sapiens และเราเป็นมนุษย์สายพันธ์เดียวที่อยู่รอดจนถึงทุกวันนี้ เหตุผลหนึ่งเพราะว่า Sapiens สามารถทำงานร่วมกันได้ในจำนวนมาก ไม่เหมือนสัตว์หรือมนุษย์สายพันธ์อื่นๆ

ถ้าจำนวนคนในกลุ่มๆหนึ่งมีจำนวนที่ไม่มาก การเชื่อใจและทำงานร่วมกันก็คงจะไม่ยากเท่าไหร่ แต่ถ้ามันเริ่มเยอะขึ้นหละ? เราไม่สามารถพูดคุยตีซี้กับทุกๆคนในกลุ่มได้แน่นอน เราจะเชื่อใจคนพวกนั้นได้ยังไง? นั่นคือเหตุผลที่เรา “นินทา”

เพราะการนินทาทำให้ Sapiens ทำงานร่วมกันในจำนวนเยอะๆได้โดยที่ทุกคนในกลุ่มไม่ต้องสนิทสนมกัน

เช่นผมเป็นพนักงานคนหนึ่งในบริษัทใหญ่โต ผมอาจจะพูดได้ว่าผมไม่รู้จัก CEO เลย แต่ความจริงคือผมก็เคยเห็นรูปเขา เคยได้ยินมาว่าเขาเป็นคนยังไง เคยทำอะไรมาบ้าง ผมเลยมั่นใจได้ว่าเขาเก่งพอที่จะทำให้บริษัทเติบโตและจ่ายเงินเดือนผมไปเรื่อยๆโดยที่เขาไม่ต้องมานั่งเลี้ยงกาแฟพูดซื้อใจผมด้วยตัวเอง

ลองนึกสภาพที่ผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเขา ผู้บริหาร หรือพนักงานคนอื่นๆเลยสิ มันยากมากที่เราจะไว้ใจอะไรได้

คนเขียนบอกว่า “ทฤษฎีคำนินทา” มันอาจจะฟังดูตลก แต่เราใช้มันเหมือนกับว่าเรามีภาษาเพื่อมานินทาเลยก็ว่าได้ สิ่งที่เราคุยกันในไลน์ อีเมล โทรศัพท์ มันก็คือการนินทาแบบหนึ่ง

แต่มีงานวิจัยหนึ่งบอกว่าถ้าจำนวนสมาชิกมีมากกว่า 150 คน แม้กระทั่งคำนินทาก็ไม่สามารถทำให้มนุษย์ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพได้อีกต่อไป

สิ่งที่ทำให้ Sapiens พิเศษจริงๆคือ “จินตนาการ” คือการใช้ภาษาเพื่อพูดถึงสิ่งที่ไม่มีจริง

จิตนาการที่พวกเรามีร่วมกันทำให้เราสามารถทำงานร่วมกันได้เป็นกลุ่มที่ใหญ่มากๆ และนั่นก็คือเหตุผลที่ Sapiens ครองโลกได้สำเร็จ

ยกตัวอย่างแมคโดนัล ซึ่งมันก็คือสิ่งที่อยู่ในจินตนาการของเรา ถ้าจู่ๆร้านของแมคโดนัลทุกที่ล้มพังพร้อมกันหมด เจ้าของสามารถสร้างมันใหม่ได้โดยที่เราก็ไม่รู้สึกว่ามีอะไรขาดหาย เพราะความสำคัญของมันไม่ใช่ตัวอาคาร การที่แมคโดนัลจะมีพนักงานกว่าสี่แสนคนได้ พนักงานทุกคนต้องเชื่อเหมือนกันว่าแมคโดนัลมีตัวตนจริง

เพราะฉะนั้น Sapiens ใช้ชีวิตอยู่กับความเป็นจริงสองด้านคือ Objective Reality หรือสิ่งที่มีตัวตนจริงๆ เช่น ต้นไม้ ลำธาน เสือ และ Imagined Reality สิ่งที่เป็นจริงในจินตนาการของเรา เช่น พระเจ้า ประเทศ หรือบริษัท

ข้าวไม่ได้เป็นทาสของเรา เราต่างหากที่เป็นทาสของข้าว

ในช่วง “การปฏิวัติเกษตรกรรม” Sapiens เริ่มเปลี่ยนจากการออกไปล่าสัตว์หาของป่า มาเป็นการทำเกษตร เราอาจจะพูดได้ว่า… “ในที่สุดเราก็เอาชนะธรรมชาติ และใช้มันเพื่อประโยชน์ของเรา!” แต่ถ้ามองอีกมุม เราเหมือนจะเป็นทาสมันมากกว่า ถ้าข้าวต้องการน้ำ เราต้องหาน้ำ ข้าวต้องการแดด เราต้องตัดต้นไม้รอบๆทิ้ง ข้าวไม่ชอบแมลง เราต้องหาวิธีกำจัดแมลงให้

คนเขียนยังให้เหตุผลว่าร่างกายของเราไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทำเกษตร เพราะฉะนั้นมันก็เป็นงานที่ทรมานพอสมควร อีกทั้งเมื่อก่อนที่ Sapiens ออกล่า เราจะได้กินอาหารที่หลากหลายและได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน แต่ตอนนี้กลับได้กินเพียงสิ่งที่เราปลูกหรือเลี้ยงเท่านั้น

โอเค…ถ้ามันแย่ขนาดนั้นทำไมเราไม่ทิ้งทุกอย่างแล้วกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมหละ? คำตอบที่ง่ายและตรงไปตรงมาที่สุดคือ เรากลับไปไม่ได้แล้ว เราติด “กับดัก” เพราะเมื่ออาหารที่ปลูกเริ่มมากขึ้น มันทำให้มนุษย์มีจำนวนสูงขึ้นอย่างมาก ถ้าเราทิ้งทุกอย่าง มนุษย์ส่วนมากจะต้องอดอยากแน่นอน บางทีความสุขความสบายของตัวบุคคลอาจจะไม่ใช่เรื่องที่สำคัญที่สุด แต่มันคือเรื่องของความอยู่รอดและความรุ่งเรืองของเผ่าพันธ์โดยรวม

ทำไมอาหารที่อร่อย ถึงมีแต่อาหารที่อ้วน?

จะเห็นว่าช่วงเวลาที่ผ่านมา Sapiens สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มหาศาล แต่เราก็ยังเป็น “สัตว์” และความสามารถทางกาย อารมณ์ ความคิด ก็ยังถูกกำหนดด้วย DNA อยู่ดี

ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เราชอบบ่นกันว่าทำไมของอร่อย หวานๆ มันๆ ถึงได้กินแล้วอ้วน เพราะถึงแม้วันนี้เราอาจจะใช้ชีวิตอยู่ในคอนโดหรูที่มีตู้เย็นอัดแน่นไปด้วยของกิน แต่ DNA ของเราก็ยังคิดว่าเรายังอยู่ในทุ่งหญ้าสะวันนา ถ้าเราเจอของที่ให้พลังงานเยอะก็ควรจะต้องกินมันให้มากที่สุด นั่นคงเป็นเหตุผลที่ทำให้พวกเราบางคนห้ามตัวเองไม่ได้ กินไอติมทั้งถ้วย กล้วยทอดทั้งถุง เดี๋ยวติดคอต้องล้างด้วยโค้กอีกลิตร ทั้งที่มันก็ตั้งนิ่งๆอยู่ในตู้เย็นไม่ได้ไปไหน…

ฉันเชื่อใจ(เงินของ)เธอ

สมมติคนปลูกแอปเปิ้ลหอบแอปเปิ้ลข้ามแม่น้ำภูเขามาเพื่อที่จะแลกกับรองเท้า คนขายรองเท้าต้องขอเท่าไหร่? “หึ้ม…3 เดือนที่แล้วแลกกับแอปเปิ้ลไป 3 ถุง…เอ้ย หรือว่า 4 ถุงนะ…เอาเถอะๆ ประมาณนี้แหละ แต่เดี๋ยวก่อน…จำได้ว่าตอนนั้นมันเป็นแอปเปิ้ลชั้นดีจากเขาอีกลูกหนึ่ง แล้วรอบนี้จะขอเท่าไหร่ดีหละเนี่ย…เห้อ แต่ช่วงนี้ไม่ค่อยอยากกินแอปเปิ้ลเท่าไหร่เลย”

ลองนึกถึงสภาพที่ต้องเจอกับสถานการณ์นี้บ่อยๆ คงเป็นอะไรที่ยากและเสียเวลามากๆ มันเลยต้องมีสิ่งนึงที่เข้ามาแก้ปัญหา นั่นก็คือ “เงิน” แต่เงินไม่ได้แค่ทำให้เราแลกเปลี่ยนสินค้ากันได้ง่าย ทุกวันนี้มันยังเป็นช่องทางที่เราจะสะสมความมั่งคั่งได้อีกด้วย เพราะมันไม่เน่าเสียเหมือนแอปเปิ้ล

คุณค่าของเงินไม่ได้เกิดจากคุณสมบัติทางเคมีของธนบัตรหรือเหรียญ แต่คุณค่าของมันอยู่ในจินตนาการของทุกคน และมันเป็นเพียงสิ่งเดียวที่สามารถข้ามพรหมแดนระหว่างวัฒนธรรม ความเชื่อ หรือเชื้อชาติ ได้เกือบทั้งหมด

เงินจึงทำให้เราเชื่อใจกันได้แม้เราไม่ได้รู้จักหรือเชื่อใจกัน แค่เราเชื่อในเงินก็พอแล้วที่จะทำให้เราเกิดความร่วมมือและแลกเปลี่ยนกันได้

ผมต้องยอมรับเลยว่าหนังสือ Sapiens คือหนังสือที่เขียนสรุปได้ยากที่สุด เพราะมันมีเนื้อหาที่น่าสนใจเยอะมากๆ ที่ผมยกมาเล่าให้ฟังมันเป็นแค่ส่วนเล็กๆจริงๆ ถึงแม้ตอนเห็นหนังสือครั้งแรกบางคนอาจจะแทบสลบเพราะด้วยความหนาของมัน แต่ผมกล้ารับประกันว่าถ้าได้ลองอ่าน คุณจะอยากให้มันยาวกว่านี้

ชอบก็ Clap ชอบมากๆก็แชร์ ชอบมากๆๆก็กดติดตาม แล้วเจอกันโพสต์หน้าครับ

--

--