สรุปหนังสือ Smarter Faster Better — ที่สุดของ Productivity

หนังสือเล่มแรกที่ผมอ่านของนักเขียนคนนี้คือ The Power of Habits ซึ่งเป็นการค้นหาว่า “ทำไมเราถึงทำในสิ่งที่เราทำ?”

ต่อมาในเล่มนี้ คนเขียนได้พาเราไปค้นหาว่า “แล้วเราจะทำมันให้ดีขึ้นได้อย่างไร?”

สิ่งที่ผมสรุปมาอาจจะเทน้ำหนักไปในส่วนของ “แรงบันดาลใจ” มากกว่าส่วนอื่น เพราะผมมองว่ามันค่อนข้างจะสำคัญต่อทุกคน ถ้าเรามีแรงบันดาลใจ เราจะโฟกัส และเกิดความพยายาม จนสามารถทำลายทุกข้ออ้างที่ขัดขวางระหว่างเรากับเป้าหมายได้

แรงจูงใจที่สร้างได้ — ความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง ทำให้เกิด พลังที่ยิ่งใหญ่

บางครั้งเราคิดว่าการที่จะมีแรงจูงใจในการทำอะไรซักอย่าง สิ่งที่เราจะทำมันต้องสนุกและเป็นสิ่งที่เราชอบ แต่จริงๆแล้วสิ่งที่ทำให้เรามีแรงจูงใจคือสิ่งที่ทำแล้วรู้สึกว่าเรา “ควบคุมผลลัพธ์ได้”

ให้เลือกระหว่างเกมที่เล่นยังไงก็ชนะ กับเกมที่ชัยชนะขึ้นอยู่กับความสามารถของเรา แน่นอนว่าเรามักจะให้ความพยายามกับเกมที่ 2 มากกว่า

และถ้าหากเราไม่เชื่อว่าเราควบคุมอะไรในชีวิตเราได้ เราจะเริ่มเกิดคำถามว่า “จะดิ้นรนไปทำไม?”

ถ้าเรารู้สึกไม่มีกำลังใจในชีวิต ลองเริ่มโปรเจคเล็กๆของตัวเองดู แม้มันจะไม่ใช่อะไรที่ยิ่งใหญ่ แต่อย่างน้อยมันสามารถเป็นหลักฐานสำคัญที่บอกว่าความพยายามของเราก่อให้เกิดผลลัพธ์ได้

ถ้าคุณเป็นหัวหน้า แล้วลูกน้องขาดแรงจูงใจ ลองถามตัวเองว่าเราให้อิสระเขาในการสร้างผลลัพธ์มากพอรึยัง? แค่นี้คุณก็สามารถสร้างการมีส่วนร่วมและทำให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้บริษัทก้าวหน้าได้ ไม่ใช่แค่ทำงานไปวันๆ

แค่รู้ว่า “ทำไม” ก็เพียงพอแล้ว

ระหว่างที่ผมกำลังเขียนบทความนี้ ก็อยู่ในช่วงใกล้ถึงปลายปีพอดี เชื่อว่าหลายๆคนก็เริ่มที่จะคิดแล้วว่าปีหน้าฉันจะเปลี่ยนแปลงอะไร ความรู้สึกช่วงนี้จะเต็มไปด้วยความหวังและกำลังใจ

แต่พนันได้เลยว่าพอทำไปได้ซักพักก็จะเริ่มท้อและล้มเลิกกันไปเป็นธรรมดา… ยอมรับกันตรงๆนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับผมเมื่อปีที่แล้ว

นั่นเป็นเพราะตอนที่เราเริ่มตั้งเป้าหมาย เราโฟกัสไปที่คำว่า “ทำไม?” แต่เมื่อนานเข้าก็เป็นธรรมดาที่เราจะหลงลืมว่าเราทำมันไปทำไมตั้งแต่แรก

ฉันจะวิ่งวันละ 1 ชั่วโมง เพราะฉันต้องสุขภาพแข็งแรงเพราะครอบครัวกำลังพึ่งพาฉันอยู่

ฉันจะนั่งพูดคุยกับพนักงานทุกคนเป็นประจำทุกเดือน เพราะนั่นจะทำให้วัฒนธรรมองค์กรแข็งแกร่ง

ลองเขียนเหตุผลเหล่านี้ไว้ในที่ๆเรามักจะเห็นประจำ เพื่อคอยย้ำเตือนและกระตุ้นให้เรามีแรงบันดาลใจไปตลอดเส้นทาง ไม่ใช่แค่ตอนวางแผน

ตั้งเป้าหมายให้ “SMART”

“ปีนี้ฉันจะลดน้ำหนัก!”…1 ปี ผ่านไป…“น้ำหนักลดแค่โลเดียว แต่ก็ถือว่าลดนะ”

“ปีนี้ฉันจะมีเงินเก็บเพิ่ม 10 ล้าน”…1 เดือนผ่านไป…“จะมีเพิ่ม 10 ล้านได้ยังไงเนี่ย ทำไม่ได้หรอก ไม่ก่งไม่เก็บมันละ ท้อ”

“ฉันจะทำโปรเจคในฝันให้เสร็จ”…1 ปีผ่านไป…”เดี๋ยวก็เสร็จ”…10 ปีผ่านไป…”ใกล้ละๆ”…20 ปีผ่านไป…”อีกนิดเดียว”

ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเราล้มเหลวที่จะทำตามเป้าหมาย แต่มันเกิดขึ้นเพราะเราล้มเหลวในการวางแผนตั้งแต่แรก

อย่าเชื่อใจตัวเองเด็ดขาดที่จะตั้งเป้าหมายให้หลวมๆแล้วหวังว่าสุดท้ายจะสำเร็จ เพราะถึงตอนนั้นเราสามารถหาข้ออ้างสารพัดให้เราไม่รู้สึกแย่

เพราะฉะนั้นเราต้องตั้งเป้าหมายให้…SMART

Specificต้องเจาะจง เช่น เราจะมีเงินเก็บ 1 ล้านบาท หรือ เราจะช่วยเหลือโรงเรียนยากจน 5 แห่ง

Measurableต้องวัดผลได้ เช่น เราจะมีเงินเก็บ “1 ล้านบาท” หรือ เว็บไซต์ของเราจะต้องมีคนเข้าชม “100,000 คน”

Attainableต้องเป็นไปได้ ไม่ใช่บอกว่า ฉันจะเป็นอมตะ ฉันจะรวยกว่า Bill Gates เพราะถ้าตั้งไว้เวอร์เกินไป ลึกๆเราจะรู้สึกว่ามันเป็นไปไม่ได้ และมันก็ไม่มีเหตุผลที่จะพยายามต่อไป

Relevant มีความเกี่ยวข้อง ณ เวลานั้น เช่น ธุรกิจกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และต้องเร่งหาลูกค้า แต่เรากลับตั้งเป้าหมายว่า “ปีนี้เราจะลดค่าไฟให้ไม่เกิน…บาท” ซึ่งมันไม่ได้เกี่ยวข้องกับเป้าหมายที่สำคัญต่อธุรกิจเลย

Time-boundมีกำหนดเวลาชัดเจน อันนี้สำคัญมาก เพราะไม่อย่างนั้นเราจะเลื่อนมันออกไปเรื่อยๆ

ถ้าเป้าหมายมีครบทั้ง 5 ข้อนี้ มันจะทำให้ทั้งตัวเราและคนอื่นๆในทีมเห็นภาพชัดเจนว่าจะต้องทำอะไร

หั่นข้อมูลให้พอดีคำ แล้วค่อยเรียนรู้จากมัน

Steve Jurvetson หนึ่งในผู้ลงทุนแรกๆของ Tesla และ SpaceX เคยบอกว่า Big Data มันก็แค่ Big Headache ถ้าเราไม่สามารถจัดการและเรียนรู้จากมันได้

ซึ่งเราอาจจะเข้าใจว่ายิ่งมีข้อมูลเยอะมากเท่าไหร่ ก็น่าจะยิ่งตัดสินใจได้ดีขึ้นสิ…

เว้นแต่ว่ามันอาจจะทำให้เราตัดสินใจไม่ได้เลย

การตัดสินใจเลือกหนังดูระหว่าง 2 เรื่องคงไม่ใช่เรื่องยากเท่าไหร่ แต่ถ้าเราต้องเลือกระหว่าง 10,000 เรื่องมันจะกลายเป็นเรื่องยากทันที

โดยปกติสมองเราไม่สามารถประมวลผลทีเดียว 10,000 เรื่องได้ว่าเรื่องไหนดีที่สุด แต่มันจะย่อยข้อมูลเป็นคำถามง่ายๆแทน เพื่อจัดกลุ่มชุดข้อมูลก่อน เช่น เราชอบหนังแนวไหนนะ?…หนังแอคชั่น! แอคชั่นเครียดๆหรือแอคชั่นตลกนะ?…แอคชั่นตลก!

มันเป็นการเลี่ยงไม่ให้เราเกิดอาการอัมพาตจากการที่มีข้อมูลเยอะเกินไป

เพราะฉะนั้นถ้าคุณต้องเรียนรู้จากข้อมูลเยอะๆ อย่าพึ่งตกใจและช็อกเอาซะก่อน ลองเปลี่ยนเป็นคำถามง่ายๆแล้วค่อยๆย่อยไปทีละขั้น

ยังมีเนื้อหาและ case study สนุกๆอีกมากมายกับหนังสือเล่มนี้ ซึ่งก็มีแปลไทยจากสำนักพิมพ์วีเลิร์นออกมาแล้ว ลองไปหาอ่านกันดูได้ครับ

หากถูกใจฝากกด Clap รัวๆและกดติดตามให้ด้วยนะครับ

หรือกดติดตามเพจ ย่อ. ได้ที่ www.facebook.com/yohbooks

--

--