สรุปหนังสือ Think Like a Freak

ก่อนจะมาเป็นเล่มนี้ นักเขียนคู่หูสะท้านโลกคู่นี้ก็ได้เขียนหนังสือขายดีอย่าง “Freakonomics” และ “SuperFreakonomics” ที่บอกได้เลยว่า “โคตรมันส์” คนเขียนได้พาเราไปสำรวจคำถามท้าทายสมองโดยใช้มุมมองทางเศรษฐศาสตร์ แต่สิ่งที่แตกต่างคือมันเป็นปัญหาที่คนทั่วไปไม่ค่อยมองเห็น เช่น ครูกับนักซูโม่มีอะไรคล้ายกัน? ทำไมคนค้ายาถึงยังต้องอยู่บ้านกับแม่?

คนเขียนบอกว่าสองเล่มนั้นเกิดขึ้นจากการมองปัญหาแบบ “คนประหลาด” (Freaks) และเล่มนี้จะเป็นการตอบคำถามว่าอะไรคือการ “คิดแบบคนประหลาด” เพื่อมองปัญหาทะลุทะลวงถึงรากถึงโคนเพื่อแก้ไขปัญหาที่ท้าทายในโลกปัจจุบัน

คิดแบบคนประหลาด?

สมมติเพื่อนเราบอกว่า…”นี่ รู้มั้ย? เขาว่ากันว่าคนแต่งงานมักจะมีความสุขมากกว่าคนโสดนะ”

ฟังๆดูก็อาจจะจริงของมัน เพราะเราก็เห็นคนพวกนี้ดูมีความสุขกว่าคนทั่วไปจริงๆ

แต่ถ้า “ต่อมเอ๊ะ” เรายังทำงานอยู่ ด้วยความสงสัยเราเลยวิ่งไปหาข้อมูลเพิ่ม ปรากฎว่าจริงๆแล้วการแต่งงานไม่ได้ทำให้คนมีความสุขขึ้น แต่เพราะคนที่มีความสุขอยู่แล้ว มีแนวโน้มที่จะแต่งงานมากกว่าต่างหาก!…นี่แหละ คือการคิดแบบคนประหลาด

มันคือการมองปัญหาในแบบที่คนทั่วไปไม่ได้มอง มองแบบรากลึกถึงโคนจริงๆ โดยไม่ถูกความเชื่อส่วนตัวหรือสิ่งที่เราคุ้นเคยมาบดบังต้นเหตุของปัญหา ซึ่งมันก็มักจะมาจากการวิเคราะห์ข้อมูล (data) จริงๆ และที่สำคัญคือการตั้งคำถามกับสิ่งที่เรารู้อยู่แล้ว ว่ามันยังถูกต้องอยู่รึเปล่า ซึ่งมันอาจจะฟังดูง่าย แต่มันก็ไม่ง่ายที่เราจะทำมันอย่างจริงจัง

3 คำที่พูดยากที่สุด

“ฉัน ไม่ รู้”

มันน่าตกใจที่ 3 คำนี้มันยากสำหรับหลายๆคนที่ถือว่าเป็น “มืออาขีพ” เวลาถูกถามคำถามต่างๆ โดยเฉพาะคำถามที่ต้องคาดเดา เช่นการคาดการณ์เหตุการณ์ต่างๆ หรือแนวโน้มเศรษฐกิจ

เพราะราคาของการพูดคำว่า “ไม่รู้” มันสูงกว่าการที่เรา “มั่ว” แล้วผิด

สมมติว่าเซียนหุ้นถูกถามให้ทำนายหุ้นตัวนึง แม้ตัวเองอาจจะไม่แน่ใจนัก แต่ก็ให้คำตอบไป เพราะถ้าดันถูกจริงๆ ชื่อเสียงจะดีดขึ้นอย่างมาก ถ้าทำนายผิด คนก็มักจะไม่จำ เพราะคน “ไม่แคร์” คำทำนายผิดๆ แต่ถ้าเราบอกว่าไม่รู้ คนอาจจะหาว่าเราไม่เก่งจริงก็ได้

แต่การที่เราบอกว่าเรารู้ เราได้ปิดกั้นการรับรู้อะไรใหม่ๆไปแล้ว เพราะเราไม่สามารถ”เรียนรู้” สิ่งที่เรารู้อยู่แล้วได้

เพราะฉะนั้นครั้งต่อไปลองพูดคำว่า “ฉันไม่รู้” และต่อด้วย “แต่ขอเวลาหาคำตอบแปปนึง…”

มีปัญหาอะไร?

เอาละครับ เราจะมาแก้ไขปัญหา “ระบบการศึกษา” กัน

ฟังแล้วขนลุกมากครับ ยิ่งใหญ่เหลือเกิน แต่…เราจะเริ่มจากตรงไหนดี???

ปัญหา “ระบบการศึกษา” มันใหญ่เกิน มันไม่ได้บอกอะไรเลยว่าเราควรจะเริ่มจากตรงไหน อีกอย่างมันกำหนดให้เรามองไปที่ “สถานศึกษา” อาจจะเพราะมันมีคำว่า “ศึกษา” อยู่ น้อยคนจะโฟกัสที่อื่น เช่นครอบครัว ทั้งที่ก็เป็นส่วนสำคัญเหมือนกัน

เราลองเปลี่ยนเป็น “ทำไมเด็กของเรา ถึงรู้น้อยกว่าเด็กจากประเทศ ABC”

มันทำให้เราหลุดจากการโฟกัสที่โรงเรียน แล้วโฟกัสที่ครอบครัวได้

เพราะฉะนั้นต้องรู้ไว้ว่าการกำหนดคำถาม มันคือการกำหนดสิ่งที่เราจะโฟกัสไปด้วย

คิดเล็กไม่คิดใหญ่

ถ้ามีใครชมว่าคุณเป็นคนคิดใหญ่ คุณคงตัวลอยไม่น้อย

แต่การคิดแบบคนประหลาด คือการ “คิดเล็ก”

ปัญหาโลกร้อนคือปัญหาใหญ่ ทุกคนได้รับผลกระทบ และหัวกระทิระดับโลกให้ความสนใจอยู่แล้ว แต่ก็ยังแก้ไขปัญหาไม่ได้ เราเป็นใครจะไปสู้คนเหล่านี้

แต่ปัญหา “คนเผาขยะ ณ พื้นที่หนึ่ง” ดูเป็นปัญหาที่เล็กกว่า และแก้ไขได้ง่ายกว่า แน่นอนว่ามันไม่ได้ทำให้โลกร้อนหายไป แต่อย่างน้อยมันก็แก้ปัญหาที่เราจะทำไม่ได้ถ้าเรามัวแต่โฟกัสที่ภาพใหญ่อย่างเดียว

วิธีการโน้มน้าว คนที่ไม่อยากจะถูกโน้มน้าว

มันยากมากๆที่จะเปลี่ยนใจคน หรือยิ่งไปกว่านั้น เปลี่ยนความเชื่อ

คนเขียนยังแนะนำว่า ถ้าเลือกได้ ไม่ต้องไปพยายามโน้มน้าวเลยจะดีกว่า แต่ถ้าเลือกไม่ได้จริงๆ คุณควร “เล่าเรื่อง” ให้เขาฟัง

“เรื่อง” ในที่นี้ ไม่ใช่นิทานหรือเหตุการณ์ที่เกิดมากับตัวคุณ เพื่อน หรือเพื่อนของเพื่อน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ใช่พันทิป เฟสบุ๊ค หรือทวิตเตอร์) เช่น…

“เล่นหุ้นแล้วรวยนะ เพื่อนผมเล่นจากเงินหมื่น ตอนนี้มีเป็นล้านเลย”

“มีเงิน?”

“หนี้ครับ! (ถุ้ย!)”

มีประโยคนึงที่บอกว่า “เรื่องราวหลายๆเรื่องราว ไม่ได้รวมกันเป็นข้อมูล” เพราะเรื่องราวเหล่านี้ที่เราได้ยิน มันมักจะเป็นสิ่งที่มีโอกาสน้อยมากๆที่จะเกิดขึ้น (Outliers) มันถึงได้เป็นเรื่องราวที่ฟังสนุก

แต่ “เรื่อง” ที่ให้เล่า คือเรื่องที่ได้มาจากข้อมูลที่เราหามาและเชื่อถือได้ เพราะถ้าไม่มีข้อมูลเหล่านี้ มันไม่มีเหตุผลให้เชื่อเลยว่าเรื่องที่เราเล่ามันเป็นจริงในภาพใหญ่

ข้อดีของการยอมแพ้

“ยอมแพ้??? ไม่มีทาง คนอย่างผมไม่เคยยอมแพ้!”

เราถูกปลูกฝังมาว่าคนยอมแพ้คือคนขี้ขลาด ไม่เอาไหน และ…ขี้แพ้นั่นแหละ หรือจะมีใครยอมเถียงหรอ?

มีสิครับ คนที่คิดแบบคนประหลาดไง

คุณอาจจะกำลังทำงานที่ไม่มีหนทางให้ไปแล้ว ทำสตาร์ทอัพที่ดูจะไม่เวิร์ค เรียนสาขาที่ดูจะไม่ทำประโยชน์กับคุณเลย คำถามคือ…ทำไมไม่เลิก?

เหตุผลแรกอาจจะเป็นเพราะไอดอลคุณบอกว่า “อย่ายอมแพ้”

เหตุผลที่สองคือ “Sunk cost” หรือความพยายามหรือต้นทุนที่คุณเสียไปแล้ว เช่น “หนังสือเล่มนี้อ่านแล้วโคตรน่าเบื่อเลย แต่อุตส่าห์อ่านมาตั้งครึ่งเล่มละ อ่านให้จบๆไปละกัน” ทั้งๆที่ฝืนอ่านต่อก็อาจจะยิ่งทำให้หงุดหงิด ข้ามไปอ่านเล่มอื่นเลยดีกว่ามั้ย?

เหตุผลที่สามคือเรามักจะโฟกัสอยู่ที่ “ต้นทุนที่เป็นเงิน” แต่ไม่ได้นึกถึง “ค่าเสียโอกาส” คุณอาจจะคิดว่า “ผมทำร้านขนม ถึงจะไม่รุ่งแต่ก็ไม่เห็นเป็นอะไรเลย ได้เงินสองหมื่นไปเรื่อยๆ ผมก็ยังแฮปปี้” แต่ถ้าคุณเป็นคนที่เก่งคนนึง และพึ่งลาออกจากงานที่ได้เงินเดือนแสนมา ค่าเสียโอกาสของคุณคือจำนวนเงินที่คุณไม่ได้จากงาน เพราะคุณลาออกมาทำร้านขนมอันนี้

ถ้าคิดแบบคนประหลาด คุณอาจจะเริ่มเห็นว่าบางครั้งการยอมแพ้ก็ดีกว่า

คาถาของชาว Silicon Valley คือ “ล้มให้เร็ว และล้มในราคาที่ถูก” เพื่อที่จะได้เรียนรู้และรีบไปทำสิ่งอื่นๆต่อได้ แต่คนเขียนเรียกมันว่า “ล้มให้ดี หรือล้มอย่างฉลาด”

คำว่ายอมแพ้อาจจะดูน่ากลัวไป คิดซะว่ามันคือการ “ปล่อยวาง”

ชอบก็ Clap ชอบมากๆก็แชร์ ชอบมากๆๆก็กดติดตาม แล้วเจอกันโพสต์หน้าครับ

--

--