สรุปหนังสือ Thinking Fast and Slow

ในการวิจารณ์หนังเขาก็จะมีศัพท์เฉพาะ กรอบความคิด หรือหลักการต่างๆนาๆไม่ต่างจากศาสตร์อื่น แต่ในการวิจารณ์คนอื่น (นินทานั่นแหละ) มันไม่มีสิ่งเหล่านี้ เพราะฉะนั้นเป้าหมายของหนังสือเล่มนี้คือการที่ทำให้เรา…นินทาได้ดีขึ้น

โอเคเล่มนี้มันดูซีเรียสพอควร และถ้ายอมรับตามตรงผมว่านี่คือหนังสือที่ค่อนข้างจะอ่านยากเล่มนึง แต่นี่คือเป้าหมายหลักของคนเขียน ถึงแม้ว่าหนังสือหลายๆเล่มจะบอกว่า “คนที่ประสบความสำเร็จเขาไม่เอาเวลามานินทาใครหรอก!” แต่ใน สรุปหนังสือ Sapiens บอกว่าภาษาของเรามันเหมือนถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เรานินทา เหตุผลนึงคือมันทำให้เราเรียนรู้ความผิดพลาดและความสำเร็จของคนอื่น การที่ผมมาเขียนสรุปหนังสือเล่มนี้ก็ไม่ต่างจากการที่ผมกำลังนินทาคนเขียนอยู่นั่นแหละ เพราะฉะนั้นคำว่า “นินทา” ความหมายมันกว้างกว่าการซุบซิบนินทาเรื่องชาวบ้านแบบที่เราเข้าใจกัน (ซึ่งพวกเราไม่ทำกันหรอก…เนอะๆ)

การเรียนรู้ข้อบกพร่องทางความคิดของมนุษย์จะทำให้เราเห็นมันในชีวิตประจำวันมากขึ้น เพื่อต่อไปมันจะไม่ใช่การนินทาแค่เอามันส์ แต่จะเป็นการนินทาเพื่อเรียนรู้และระวังไม่ให้ข้อผิดพลาดเหล่านั้นเกิดขึ้นกับเรา

ยินดีต้อนรับสู่การเดินทางเพื่อการตัดสินใจที่ดีขึ้น

คิดช้าๆและคิดเร็วๆ

ถ้าผมถามคุณว่าเขากำลังอยู่ในอารมณ์ไหน คุณคงจะตอบนิ่มๆว่า “เศร้ามั้งไอ่บ้า”

ถ้าเราไม่ใช่พวกโรคจิตเราก็น่าจะรู้คำตอบภายในเสี้ยววิอยู่แล้ว

ทีนี้ลองตอบอีกคำถามนึง…

24 คูณ 37 ได้เท่าไหร่? ถ้าคุณไม่ใช่นักคณิตศาสตร์ระดับพระกาฬผมว่าคุณคงใช้เวลานานพอสมควร และถ้าคุณเป็นเหมือนผมคุณจะเปิดเครื่องคิดเลขทันที

รูปแรกคือการใช้ระบบคิดที่หนึ่ง หรือการ “คิดเร็ว” ส่วนคำถามที่สองคือการใช้ระบบคิดที่สอง หรือการ “คิดช้า”

ซึ่งคนเขียนเรียกมันว่าระบบหนึ่ง (System 1) และ ระบบสอง (System 2)

ระบบหนึ่งคือระบบที่ตัดสินด้วยความรวดเร็วอัตโนมัติ

หรือจะเรียกมันว่าสัญชาตญาณก็คงไม่ผิดอะไร มันทำให้เราไม่ต้องคิดอะไรนานๆ ลองนึกสภาพที่เราตื่นนอนมาทุกครั้งแล้วต้องคิดว่า… “เราต้องถูสบู่หรือสระผมก่อนนะ?” “มื้อเช้าเราต้องกินกี่กรัมถึงจะอิ่ม?” “เราต้องไปทำงานทางไหนเนี่ย?” ระบบหนึ่งมันตัดสินเรื่องพวกนี้ให้เราอย่างรวดเร็ว หรือแม้กระทั่งเวลาเราตัดสินคนที่ภายนอกก็เป็นฝีมือของระบบนี้เหมือนกัน

ระบบที่สองคือระบบที่รอบคอบ คิดเยอะ

ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาที่เราไม่ค่อยได้เจอหรือมันมีความสำคัญมากๆจนเราต้องใช้เวลาคิดกับมันดีๆ ในขณะเดียวกันมันก็เป็นระบบที่โคตรขี้เกียจ และมันชอบโยนงานให้ระบบหนึ่งทำ

ถ้าระบบหนึ่งเป็นเพื่อนคนนึง มันก็จะอารมณ์ประมาณว่า “แบบนี้โอแล้ว เชื่อดิ” “ไม่ชอบไอ้นี่เลย หน้าตาดูขี้โกง” “ถ้าใจบอกใช่ก็ลุยดิวะ”

แต่ระบบสองจะประมาณว่า “แบบนี้มันดีแล้วหรอ เราจะทำอะไรให้ดีได้อีกนะ” “จริงๆเขาอาจจะเป็นคนเฟรนลี่ก็ได้ วันนี้เขาคงเจอเรื่องไม่ดีมา” “คิดดีๆก่อนนะ เราอาจจะถูกหลอกอยู่ก็ได้”

ซึ่งระบบสองสามารถเปลี่ยนแปลงการทำงานของระบบหนึ่งได้ มันก็คือการดัดนิสัยหรือความคิดของตัวเอง แน่นอนว่ามันต้องใช้สมาธิและความพยายามพอสมควร และระบบที่สองจะเข้ามาทำงานทันทีที่ระบบที่หนึ่งไม่สามารถหาคำตอบได้ เหมือนกับคำถาม 24 คูณ 37

ถึงตอนนี้ก็อาจจะชัดเจนแล้วว่าระบบสองมันใช้ความพยายามเยอะกว่าระบบหนึ่ง แต่เมื่อเราใช้มันกับสิ่งๆนึงซ้ำๆมันจะเริ่มใช้ความพยายามน้อยลง เหมือนตอนเราฝึกขับรถที่เราต้องคิดทุกอย่างพร้อมๆกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไปเราสามารถขับไปด้วยด่ารถคันข้างหน้า 3 คันพร้อมกันไปด้วยอย่างสบายๆ

การต่อสู้ของระบบหนึ่งและสอง

สมมติว่าเรากำลังลดความอ้วนและพยายามห้ามใจตัวเองไม่ให้กินน้ำอัดลม ตัวที่ “ห้ามใจ” คือระบบสอง ถ้าเราต้องทำอะไรที่ใช้ระบบสองหนักๆ เรามักจะเปิดทางให้ระบบหนึ่งเข้ามาแทนที่และสุดท้ายก็จะห้ามตัวเองไม่อยู่

เพราะฉะนั้นการที่เราพยายามจะเปลี่ยนแปลงนิสัยตัวเองหลายๆอย่างพร้อมกันก็จะทำให้ระบบสองสู้กับระบบหนึ่งไม่ไหว สุดท้ายก็จะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่สำเร็จอยู่ดี เราควรจะค่อยๆวางแผนทำไปทีละอย่าง

ความอวดรู้ของระบบหนึ่ง

ถ้าคุณเห็นคำว่า “EAT” แล้วต่อมาให้เติมคำในช่องว่าง SO_P มันมีแนวโน้มสูงที่คุณจะเติมคำว่า SOUP กลับกันถ้าคุณเห็นคำว่า “WASH” คุณจะเติมคำว่า SOAP

นี่คือความอวดรู้ของระบบหนึ่ง และมันเรียกว่า “Priming Effect” มันคือการที่สิ่งรอบข้างหรือการกระทำของเราสามารถส่งผลต่อความคิดของเราได้ เช่นถ้าเรายิ้มและยกแขนขึ้นเหนือหัวสูงๆเราอาจจะรู้สึกเศร้าน้อยลง หรือแม้กระทั่งการที่ห้างเปิดเพลงจังหวะช้าๆจะทำให้เราเดินช้าลง จะได้เดินดูของนานๆ

เพราะฉะนั้นคำที่บอกว่าหายใจเข้าลึกๆและทำใจให้เย็นเข้าไว้แม้จะอารมณ์ร้อนแค่ไหนคือคำแนะนำที่ดีมากๆ

ระบบสอง ปีศาจที่หลับไหล

เวลาเราเห็นสไลด์สวยๆ อ่านง่าย มันมักจะทำให้เรารู้สึกดีและอินกับมัน แต่ถ้าเราเจอสไลด์ที่ยุ่งเหยิง ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ คิ้วเราจะขมวดนิดนึง และมันจะเป็นตัวกระตุ้นให้ระบบสองออกมาทำงาน แล้วเราจะเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามากขึ้น

เพราะฉะนั้นการนำเสนอมันเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กับเนื้อหา เพราะมันส่งผลต่ออารมณ์โดยตรง

พระจันทร์มีด้านเดียว

มาร์คเป็นนักศึกษาคนนึงที่รักในการออกแบบ เวลาว่างมาร์คมักจะวาดรูปเป็นประจำ

คุณคิดว่ามาร์คเรียนคณะอะไร? บริหารธุรกิจ หรือ สถาปัตย์?

ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่อาจจะตอบว่าสถาปัตย์ ก็เพราะคำอธิบายของมาร์คมันชวนให้คิดแบบนั้น แต่ถ้าเรามองในภาพใหญ่ นักศึกษาบริหารธุรกิจมีเยอะกว่าสถาปัตย์ถึง 10 เท่า และมีความเป็นไปได้ว่าจำนวนเด็กคณะบริหารที่ชอบวาดรูปจะมีเยอะกว่าเด็กสถาปัตย์ทั้งหมดรวมกันด้วยซ้ำ

นี่คือตัวอย่างของการที่เรามักจะโฟกัสกับข้อมูลที่อยู่ตรงหน้าเพียงด้านเดียว จนลืมมองภาพใหญ่จริงๆ เพราะเวลาเราจะตัดสินใจอะไรซักอย่างเราต้องคิดถึงหลายๆอย่างควบคู่กันไป ซึ่งมันเป็นไปได้ยากมากๆที่เราจะนึกถึงทุกๆอย่างพร้อมกัน

ลองนึกสภาพว่าเราต้องเลือกซื้อกระเป๋าใบนึงจากสองใบ เราต้องคิดทั้งเรื่องราคา ดีไซน์ สี ขนาด ความเหมาะ รีวิวจากเพื่อน และอย่างอื่นเป็นสิบๆอย่าง หัวแตกแน่นอน แต่สุดท้ายเราก็สามารถตัดสินใจได้โดยที่หัวไม่แตกเพราะว่าเราเลือกถามคำถามที่ง่ายกว่านั้น แทนที่จะถามว่า “เทียบจากปัจจัยทุกอย่าง อันไหนได้คะแนนดีกว่า” (ใช้ระบบสอง) เราเลือกที่จะถามตัวเองว่า “รู้สึกชอบอันไหนมากกว่า” (ใช้ระบบหนึ่ง) จะเห็นว่ามันเป็นการโยนคำถามให้ระบบหนึ่งตอบแทน

เราอาจจะเห็น startup เจ้านึงซึ่งดูเหมือนจะกลายเป็นดาวรุ่ง แต่เราต้องฉุกคิดว่าจริงๆแล้วความเป็นไปได้ขั้นพื้นฐาน (base rate) ที่ startup จะประสบความสำเร็จอาจจะมีแค่ 1% เท่านั้นเอง ซึ่งถ้าเราถามผู้ก่อตั้งของ startup แต่ละที่ เขาก็จะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าสถิตินี้ใช้ไม่ได้กับพวกเขา

แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้นผมก็มองว่ามันเป็นสิ่งที่ดี ถึงแม้การที่เรามองโลกในแง่ดีมันคือการเอาความเสี่ยงเข้าตัว เนื่องจากเราไม่ได้โฟกัสถึงความเป็นไปได้ที่เราจะล้มเหลวมากเท่าที่ควร แต่นวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงมันก็เกิดจากคนกลุ่มนี้ทั้งสิ้น ถ้าทุกคนเชื่อในสถิติพวกนี้ไปซะทุกครั้ง เราอาจจะไม่มีคนเก่งๆที่คอยพยายามสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆเหมือนทุกวันนี้อย่างแน่นอน

นี่ก็เป็นหัวข้อหลักๆที่ผมคิดว่ามันน่าสนใจและน่าจะเอาไปใช้ในชีวิตได้ดี คนเรามันไม่สามารถมีเหตุผลได้ตลอดเวลา และนั่นเป็นเรื่องธรรมชาติมากๆ เพราะฉะนั้นแทนที่จะมารู้สึกผิดหรือด่าทอความผิดพลาดเหล่านี้ เราควรจะถามตัวเองว่าเราจะทำยังไงให้การตัดสินใจของเราดีขึ้นในทุกๆวัน

อ่านแล้วชอบอย่าลืมกด CLAP รัวๆๆๆ และกดติดตามเพื่อเป็นกำลังใจให้ด้วยนะครับ

ดูสรุปหนังสือเล่มอื่นๆในหมวดพัฒนาตัวเอง

--

--