ภาพห้องสมุดเมืองมัลเม่ ถ่ายจากบันไดที่เชื่อมสู่ชั้น 3 จากลานชั้น 2

รีวิว ห้องสมุดเมืองมัลเม่ Malmö City Library —ห้องสมุดที่อยากให้บ้านเราเป็น

Thiti Luang
Boonmee Lab
Published in
6 min readMay 4, 2017

--

ระหว่างทริปท่องเที่ยวเมืองต่าง ๆ ในยุโรป มีโอกาสได้นั่งรถไฟ öresundståg ที่เชื่อมระหว่างสวีเดนกับเดนมาร์ค (30 นาทีจากโคเปนฮาเกน) ก็นึกขึ้นได้ว่าเคยอ่านเจอและประทับใจในห้องสมุดเมืองมัลเม่ จากหนังสือ “ห้องสมุดในศตวรรษที่ 21” ที่จัดทำโดย TK park และเคยแนะนำให้กับทาง กทม. เพื่อใช้เป็นแนวทางในการออกแบบหอสมุดเมือง

โชคดีที่เมืองมัลเม่ก็เป็นสถานีใหญ่ที่ต้องผ่านอยู่พอดี จึงตั้งใจว่าต้องขอลงมาสัมผัสหอสมุดแห่งนี้ด้วยตัวเองสักครั้ง

แม้จะมีเวลาอยู่เพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่งานนี้บอกได้เลยครับว่าคุ้มจริง ๆ

ลองเสิช Malmo City Library จาก Google map ดูนะครับ (ภาพจาก iPhoto)

การเดินทางมาที่ห้องสมุด

สำหรับการเดินทางนั้น ผมฝากกระเป๋าหยอดเหรียญ (4 ชั่วโมง 40 SEK) ที่สถานีรถไฟ พร้อมลากกระเป๋าใบเล็กมาด้วยจากสถานี ระยะทางก็กำลังสบายเท้าไม่น่าเกิน 30 นาที (ผมใช้เวลานานกว่าเพราะแวะกิน Bahn Mee รสชาติดีอยู่พักใหญ่) ระหว่างทาง ก็ชมผู้คนขี่จักรยาน รถเมล์สาธารณะที่วิ่งให้บริการ ตัดเลาะสวนสาธารณะที่ใช้เป็นสุสาน และสะพานข้ามคลองที่สวยงาม ถามว่าที่นี่คนไทยเยอะมั้ย เดินผ่านมาก็เจออยู่ 3–4 คนนะครับ

คลองลอดสะพานที่มีเป็ดว่ายน้ำกันอยู่สลอน (เอ๊ะ แต่ในภาพนี้หายไปไหนหมด)

นอกจากจะใช้บริการขนส่งสาธารณะ หรือขับรถแล้ว ก็สามารถขี่จักรยาน หรือจะใช้ City bike ที่มีให้บริการอยู่ตามจุดต่าง ๆ ของเมืองก็ได้

จุดบริการจักรยานสาธารณะ (เหมือนปันปั่นของไทย)

ข้ามจากที่จอดจักรยานก็จะพบกับลานโล่งที่นำเข้าสู่อาคารหอสมุด อาคารทรงกระบอกยืดตัวสูงประมาณ 4 ชั้น เชื่อมอาคารเก่าและใหม่ เหมือนค่อย ๆ ปรับจากความน่ายำเกรงแบบโบราณ สู่ความใหม่ที่เปิดโล่งอยู่ในที อาคารนี้ได้รับรางวัล Sweden’s most prestigious architect award, The Kasper Salin Prize และ
The Malmö City Architecture Award อีกด้วย ประตูบานหมุนเปิดต้อนรับ ตกแต่งด้วยคำทักทายจากชาติต่าง ๆ คำว่า “สวัสดี” แทรกตัวอยู่กลางกลุ่มคำหลายร้อย แต่ด้วยความคุ้นชิน ก็มองเห็นได้ง่ายแค่ปรายตา

ทางเข้าเป็นอาคารรูปทรงกระบอกที่เชื่อมระหว่างอาคารหอสมุดเดิม (ซ้าย) และหอสมุดที่สร้างขึ้นใหม่ (ขวา)

หอสมุดโดยย่อ

หอสมุดแห่งนี้ มีชื่อภาษาถิ่นว่า Malmö Stadsbibliotek มีขนาด 15300 ตรม. บรรจุทรัพยากรมากกว่า 600,000 ชิ้น โดยมีหนังสือที่ครอบคลุม 60 ภาษา (มีภาษาไทยด้วยนะ อ่านต่อ ๆ) นิตยสารและหนังสือพิมพ์จากทั่วโลก มีเพลง ภาพยนตร์ เกมส์และหนังสือเสียงให้บริการ มีหน่วยงานที่ดูแลเฉพาะหมวดท่องเที่ยว ออกแบบและสิ่งแวดล้อม มีกิจกรรมสำหรับผู้ใหญ่และเด็กที่จัดขึ้นเป็นประจำตลอดปี ห้องสมุดนี้ได้รับรางวัลทรงเกียรติ ทั้ง Library of the Year in Sweden, the Swedish National Encyclopedia’s Knowledge Award และ Malmö City’s Integration Prize

ทางด้านสถาปัตยกรรม หอสมุดแห่งนี้ออกแบบโดย Henning Larsen ที่ชนะการประกวดแบบในปี 1992 โดยออกแบบให้อาคารแบ่งออกเป็นสามส่วน ด้วยการเน้นจังหวะของมวลและแสง โดยเปิดรับแสงธรรมชาติเข้ามาเพื่อเอื้อต่อการใช้สอย

ปีกฝั่งตะวันตก (ขอเรียกว่าปีกขวา) เรียกว่า “Calendar of Light” ซึ่งเป็นอาคารสี่เหลี่ยมเปิดเพดานโล่ง เปิดรับแสงด้วยผนังกระจกบานใหญ่สองด้าน รับวิวสวน Slottsparken ที่แสนสบายตา ปีกตะวันออก (ปีกซ้าย) ที่เป็นอาคารอนุรักษ์ เรียกว่า “Castle” ที่ถูกสร้างขึ้นในปี 1901 (ออกแบบโดย John Smedberg) เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์ และปรับเปลี่ยนเป็นห้องสมุดในปี 1946 และ “Cylinder” คือ อาคารทรงกระบอกที่เชื่อมปีกทั้งสองฝั่ง ทำหน้าที่เป็นทางสัญจรหลัก

อาคาร “Calendar of Light” และ “Cylinder” ที่สร้างขึ้นใหม่ เปิดใช้งานในปี 1997 ส่วนปีกซ้าย “Castle” เปิดเมื่อปี 1999

เข้าสู่ห้องสมุด

เมื่อผ่านประตูบานหมุนขนาดใหญ่มา การเข้าใช้งานไม่ต้องแสดงบัตร ไม่มีประตูปีกผีเสื้อเหมือน BTS (พิมพ์แล้วเจ็บสะโพกขึ้นมาเลย) พื้นที่โถงต้อนรับปรับเป็นเพดานเปิดโล่ง เหมือนการมุดเข้าสู่บรรยากาศใหม่ที่เงียบสงบ ตั้งทักทายอยู่ก่อนใคร คือเสาประชาสัมพันธ์กิจกรรมในเมืองและชุมชน ด้านซ้ายมือมีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตให้บริการ และบันไดที่ต่อเข้าสู่อาคารเก่า ส่วนด้านขวาจะพบกับจุดคืนหนังสืออัตโนมัติและประชาสัมพันธ์

ซ้ายมือเมื่อเข้าสู่โถงต้อนรับ และที่กดบัตรคิวก่อนติดต่อประชาสัมพันธ์

หากไม่อยากพลาดกิจกรรมที่จัดขึ้นที่ห้องสมุดแบบเต็มโบรชัวร์ระหว่างเดือนมกราคม — พฤษภาคม แยกสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ ก็หยิบฉวยติดตัวกลับไปได้จ้า

โบรชัวร์ประชาสัมพันธ์และจอกราฟิกกิจกรรมของหอสมุด ระหว่างเดือนมกราคม — พฤษภาคม แยกสำหรับเด็กและผู้ใหญ่
เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ และภาพโถงทางเข้าที่มองไปทางอาคารปีกซ้าย

ถัดจากโถงมาด้านใน มีลิฟต์ที่พาขึ้นมาที่ชั้น 2 ออกจากลิฟต์มาก็พบกับจุดสืบค้นและท่องอินเทอร์เน็ต ตรงนี้มีหูฟังให้บริการ คาดว่าใช้สำหรับมัลติมีเดียต่าง ๆ

เดินถัดมาหน่อยก็จะเป็นโซนของวรรณกรรมเยาวชน ที่มีขนาดประมาณ 50 ตรม. พร้อมเก้าอี้นั่งอ่านสบาย ๆ ผมสะดุดตากับชั้นที่มีเทปสีรุ้งติดประดับอยู่ (ด้านขวาของรูปด้านล่าง)

ชั้นหนังสือแนะนำสำหรับเยาวชน

อย่างที่สงสัยเลยครับ ที่นี่เขาแนะนำหนังสือเกี่ยวกับ LGBTI ที่ทำให้ผมทั้งประหลาดใจเพราะไม่เคยเห็นในห้องสมุดอื่น ๆ และอิจฉาเด็กที่นี่ไปในเวลาเดียวกัน พลันความคิดก็ผุดในใจว่า เราจะพบเห็นสิ่งเหล่านี้ในบ้านเราบ้างได้ไหม

ตัวอย่างหนังสือในหมวด LGBTI
เอกสารแนะนำหนังสือในหมวด LGBTI สำหรับเยาวชน มีหนังสือภาษาอังกฤษ (Tomboy) อยู่เล่มเดียวครับ

อาคารปีกขวา “Calendar of light”

เดินถัดมาทางปีกขวาที่เป็นตึกใหม่ ซึ่งเป็นจุดที่ผมรู้สึกชื่นชอบเป็นพิเศษ บนผนังนี้มีภาพถ่ายสวย ๆ ของเจ้าหน้าที่ในหอสมุด ที่ทำให้ผมรู้สึกได้รับการต้อนรับ (แม้บางรูปจะขรึมไปนิด) และรู้สึกใกล้ชิดกับหอสมุดมากยิ่งขึ้นครับ ผมเคยเจอมาครั้งหนึ่งที่สิงคโปร์ แต่เป็นบอร์ดกระดาษง่าย ๆ อันนี้เป็นแบบจัดไฟถ่ายเต็มมาเลยทีเดียว

ภาพเจ้าหน้าที่ที่ติดอยู่บนผนังที่ทุกคนต้องเดินผ่าน

เยาวชนเป็นวัยต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก สิ่งนี้แสดงให้เห็นผ่านการจัดสรรพื้นที่ใช้สอย โดยออกแบบให้เป็นจุดแรกในการเข้าถึง สีสันและตัวการ์ตูนยิ้มแฉ่งราวกับจะบอกกับพ่อแม่และเด็ก ๆ ที่เข้ามาที่หอสมุดว่า “มาสนุกกันเถอะ”

ถัดมาเป็นโซนเยาวชน เห็นการ์ตูนบนผนังแล้วก็รู้สึกเป็นมิตรขึ้นมาทันที (balagan! พื้นที่สำหรับเยาวชนอายุ 9–13 ปี )
ชั้นหนังสือแนะนำสำหรับเยาวชนอายุ 9–13 ขวบ และเอกสารอื่น ๆ เจอดีวีดี LGBTI วางอยู่ในโซนนี้อีกครั้ง
โซนเด็กต้องถอดรองเท้า ก็เลยไม่ได้เดินเข้าไปชมครับ
ด้านในจะมีห้องที่กั้นกระจกเพื่อไม่ใ้เสียงเข้ามารบกวนส่วนกลาง

สำหรับโซนเด็ก ต้องถอดรองเท้าก็เลยไม่ได้เดินเข้าไปครับ เท่าที่สังเกตเห็นก็เต็มไปด้วยหนังสือและสื่อต่าง ๆ โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ 1 คน บรรยากาศน่าเข้าไปใช้งานมากครับ พ่อแม่ที่นี่ก็สามารถพาลูก ๆ เข้ามาใช้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ นึกอยากปั้นดินน้ำมันเล่นขึ้นมาทันที (สมัยเด็ก ๆ ชอบมาก)

เข้าสู่โถงในอาคารปีกขวา

แล้วก็เข้าสู่โถงหลักของอาคารปีกขวา ที่มีชั้นหนังสือเรียงรายรอต้อนรับ แผนที่และจุดค้นหามีให้บริการอยู่ใกล้ ๆ

ส่วนบริการถ่ายเอกสาร ปริ้นท์เอกสารด้วยตนเอง ด้านในคือโซนชั้นหนังสืออ่านง่าย
ชั้นหนังสืออ่านง่าย

โถงกลางมีชั้นหหนังสือหลากหลายประเภท มีจุดนั่งทำงาน มีปลั๊กเสียบพร้อมโคมไฟ มีเก้าอี้โซฟา มีเก้าอี้หมุนแบบไม่มีโต๊ะ โดยแนวคิดหลักของชั้นหนังสือในโซนนี้คือสามารถปรับเปลี่ยนได้ ถ้าสังเกตให้ดี ชั้นหนังสือที่นี่ออกแบบมาได้อย่างดี คือมีล้อเลื่อน ในขณะเดียวกันลองโยกดูก็ไม่ล้มเท มีรายละเอียดที่คนสนใจใน detail design น่าจะชอบ และด้วยความที่ทั้งสว่างและโล่ง ทำให้ความรู้สึกสงบเงียบและเนิบช้า เข้ามาแทนที่ความวุ่นวายที่อาจพกติดตัวมาจากชิวิตประจำวัน ผมเดินเข้ามาปุ๊บ อยากอ่านหนังสือทันทีเลยครับ

โถงด้านในของปีกขวา “Calendar of Light” นี้สวยจริง ๆ ครับ
เกาอี้บุนวมโค้งครึ่งวง ชั้นหนังสือ และส่วนนั่งที่มีทั้งโต๊ะกลมง่ายๆ และโต๊ะทำงานพร้อมโคมไฟ
ชั้นหนังสือที่นี่ออกแบบเป็นระบบ modular ที่สามารถปรับเปลี่ยนการใช้สอยได้อย่างยืดหยุ่น ใครสนใจเรื่อง detail ของชั้นหลังไมค์มาได้ครับ
ปลั๊กเสียบและอินเทอร์เน็ตพร้อมบริการ และล้อข้างล้างชั้น สำหรับเลื่อนปรับเปลี่ยนตำแหน่ง
ส่วนที่เป็นเก้าอี้หมุนนั่งเดี่ยว ๆ โคมไฟตั้งพื้น ถัดไปเป็นชั้นหนังสือ และโต๊ะพร้อมโคมไฟ อ่านเมื่อยเงยหน้ามาก็เป็นสวน แหมดีแท้
ดูมุมนี้ก็ทำให้เห็นภาพชัดดีครับ ถ้ามากันหลายคนก็ลากเก้าอี้มานั่งรวมกันที่โต๊ะกลมได้
ส่วนที่เป็นโต๊ะทำงานจริงจังหน่อย

ก่อนจะเดินขึ้นบันไดไปชั้นสอง ก็เจอกับชั้นหนังสือภาษาไทยด้วยครับ โดยจัดไปหนึ่งผนังให้อ่านกัน

ชั้นหนังสือภาษาไทยจัดอยู่เต็มผนังด้านขวามือของรูป
ตัวอย่างหนังสือภาษาไทยครับ มีหนังสือญี่ปุ่นแปลเป็นไทยด้วยครับ
มองจากชั้น 3 ไปทางทิศตะวันตก

จากภาพนี้น่าจะทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนที่สุดครับ สำหรับอาคารปีกขวานี้ จะมีกล่อง 18 ช่องที่ตั้งซ้อนกัน ในแต่ละช่องบรรจุหนังสือหลากหลายภาษา (ภาษาไทยอยู่ขวาล่าง) ส่วนช่องว่างก็วางโต๊ะและเก้าอี้สำหรับคนที่อาจต้องการทำงานกลุ่ม หรือใช้พื้นที่ส่วนตัวขึ้นมาหน่อย ลองเดินดูบางชั้นก็ยังว่างอยู่ครับ แต่โต๊ะเก้าอี้นี่จับจองกันเต็ม จะสังเกตเห็นผนังที่ดูทึบ ๆ ด้านหลัง จริงๆ เป็นกระจกมองทะลุไปได้ แต่วันนี้ปิดม่านครับ ถ้าเปิดน่าจะดูอลังการกว่านี้

พื้นที่สร้างสรรค์ สำหรับทำกิจกรรมต่าง ๆ

เดินตัดจากชั้นสองกลับเข้ามาก็จะเจอกับพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับทำกิจกรรมต่าง ๆ จากการออกแบบน่าจะเน้นความยืดหยุ่นและการมีส่วนร่วมของผู้เข้าใช้งานสูง ในภาพจะเห็นกลุ่มเด็กผู้หญิงกำลังประชุมอะไรกันบางอย่างครับ คนทั่วไปก็สามารถเดินเข้าไปใช้งานได้ อีกมุมสามารถกั้นเพื่อใช้เป็นห้องฉายภาพยนตร์ได้

โซนดนตรี

ทีนี่มีโซนดนตรีที่มีทั้งหนังสือ แผ่นเสียงและซีดีให้บริการ ผมไม่ได้ดูละเอียดแต่ก็พอมองเห็นวงใหม่ ๆ ที่ชอบแทรกอยู่บ้าง และก็มีครอบคลุมทุกแนวดนตรี ตอนเดินเข้าไปก็มีคนกำลังเล่นเปีนโนไฟฟ้าอยู่ (แต่เสียบหู) ไม่รู้ว่ากำลังซ้อมเพลงอะไร แต่ท่าทางอินน่าดูครับ

มีเปียโนไว้ให้เล่นด้วย แต่เสียงไม่รบกวนคนอื่นเพระาเสียบหูเอา

หลุดจากโซนดนตรี ก็จะเข้าสู่โซนเกมส์และหนังสือการ์ตูน หนังสือนิยายภาพ

โปสเตอร์กวน ๆ น่ารัก ๆ ใครอ่านออกช่วยแปลหน่อย

ทางเดินที่เชื่อมระหว่างสามตึกลอยตัวพาดข้ามเป็นแนวตรง ทางสัญจรที่เข้าใจง่ายทำให้แผนผังหอสมุดเรียบง่าย ก็ทำให้ผู้ใช้งานไม่หลงทาง และหาหนังสือได้ง่ายขึ้น

เท่าที่เห็นจะมีชั้นเกมส์ Playstation Wii Xbox ให้ยืมไปเล่นกัน

ในโซนนี้มีชั้นที่ชื่อว่ามังงะด้วย ซึ่งก็มีหนังสือน่าสนอยู่มากเลยครับ ผมเองก็หยิบมานั่งแก้เมื่อยอยู่ 1 เล่ม ชื่อว่า “Japan as viewed by 17 creators” ที่ให้ศิลปินฝรั่งเศสกลุ่มหนึ่งไปใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นผสมกับศิลปินญี่ปุ่นท้องถิ่นเล่าเรื่องสั้นเกี่ยวกับ “ญี่ปุ่น” จากมุมมองของตัวเอง ในเล่มนี้ผมชอบงานของ Fabrice Neard ครับ ทั้งลายเส้นและเนื้อหาที่ซื่อ ๆ ที่พาไปเห็นภาพเมืองเซนไดในสายตาคนนอก

ชั้นมังงะและหนังสือมังงะ
ระหว่างทางเดินเชื่อม ก็มีช่องว่างให้ได้พักสายตา ตรวจเช็คสภาพอากาศกันบ้าง วันไหนอากาศดีก็หิ้วหนังสือไปนั่งที่สวนน่าจะเข้าท่า

อาคารปีกซ้าย “Castle”

เข้าสู่ฝั่งปีกซ้ายหรือ “Castle” ที่เป็นอาคารเดิมกันบ้าง ตัวอาคารที่ก่อสร้างแบบก่ออิฐทึบตันจากสมัยก่อน มักจะมีการเว้นคอร์ทตรงกลางเอาไว้ เมื่อมีการบูรณะ ส่วนนี้จึงถูกปรับให้กลายเป็นโถง ที่มีการปล่อยแสงธรรมชาติให้ไหลผ่านเข้ามาจากด้านเพดานชั้น 4 ช่วยให้โถงห้องสมุดส่วนนี้มีความปลอดโปร่ง แต่พื้นที่มีความนึ่งไม่ไหลลื่นเท่าอาคารทางปีกขวา

ชั้นหนังสือ ทางเดิน และบรรยากาศแบบคลาสสิค

ผมไม่ได้มีโอกาสใช้งานเว็บไซต์ของหอสมุดอย่าลงลึกครับ (จริง ๆ ควรเพราะทำงานด้านนี้) แต่มีระบบภาษาอังกฤษรองรับ มีบางส่วนที่เข้าไม่ได้เพราะจำกัดเฉพาะสมาชิก เท่าที่ลองกดดูก็มีรายละเอียดพื้นฐานตามมาตรฐานห้องสมุด แต่หน้าตาอาจจะเก่าไปซะหน่อย ไม่ตื่นเต้นเท่าตัวอาคารครับ

ถ้าสังเกตในภาพด้านล่างดี ๆ จะเห็นว่าที่หอสมุดนี้เปิดบราวเซอร์ Chrome ในโหมด incognito เพื่อป้องกันความเป็นส่วนตัวในการใช้อินเทอร์เน็ตของสมาชิกด้วยครับ 👏👏👏

หน้าจอสืบค้นสำหรับหอสมุด

วันนี้เดินถ่ายภาพจนมือถือแบ็ตหมดเลยครับ (ภาพถ่ายคุณภาพ iPhone 6) ถ่ายมาเยอะจริง ๆ เดินจนเมื่อยขาครับ เพราะเจอมุมนั้นมุมนี้ก็น่าสนใจไปหมด

สรุปว่าการโดดลงจากรถไฟเพื่อมาเยี่ยมชมหอสมุด Malmo City Library ของบ่ายวันนี้ถือว่าคุ้มค่ามาก ๆ ครับ จนอยากเอามาแชร์ให้ได้เห็นกัน ถ้าใครมีโอกาสแวะมาก็ขอแนะนำให้ลงมาเดินชมครับ จริง ๆ ยังมีอีกหลายห้องสมุดที่ได้แวะไปเยี่ยมชมแต่ยังไม่ได้เอามาเล่าให้ฟัง ไว้มีโอกาสจะรีบเขียนมาให้อ่านเพิ่มครับ

นั่งหย่อนใจ
โลโก้น่ารักดีครับ

*กรุณาขออนุญาตหากต้องการนำภาพไปใช้งาน

--

--