บินไปอัพเดท Trend AI ไปกับ Winter School in AI ณ แดนยอดเขาเอเวอเรสต์

Wasin Faengrit
botnoi-classroom
Published in
4 min readJan 24, 2020

สวัสดีปีหนู 2563 ครับ สืบเนื่องจากปลายปีที่แล้วผมและเพื่อนๆ พี่ๆ ได้รับโอกาสจากบอทน้อยเข้าร่วมโครงการ NAAMI Second Nepal Winter School in AI ที่ประเทศเนปาล จึงอยากจะขอใช้โอกาสเดือนแรกของปีใหม่นี้มาเล่าประสบการณ์ที่ได้รับจากโครงการนี้และเทรนด์ AI ที่น่าสนใจซึ่งถูกยกมาสอนหรือกล่าวถึงในโครงการ รวมถึงเทรนด์และมุมมองด้าน AI ที่ได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนนานาชาติในโครงการ Winter School และแน่นอนว่าจะมีบทความเจาะเนื้อหาที่น่าสนใจตามมาหลังจากนี้แน่นอนครับ เอาล่ะ ถ้าพร้อมแล้ว มาเริ่มกันเลยดีกว่า

NAAMI Second Nepal Winter School in AI

NAAMI Second Nepal Winter School in AI เป็นโครงการที่จัดขึ้นที่เมือง Pokhara ประเทศเนปาลระหว่างวันที่ 10–20 ธันวาคม 2562 ซึ่งมีจุดมุ่งหมาย 4 อย่างคือ 1.สอนพื้นฐานความรู้เช่นการอ่านวิจัย สถิติ คณิตศาสตร์ การเขียนโปรแกรม สำหรับงานด้าน AI research 2.รีวิวเกี่ยวกับ state of the art ของงานวิจัยในด้าน AI 3.รีวิวการใช้ AI ในวงการต่างๆ เช่น NLP, Medical science 4.จัดพื้นที่สำหรับพูดคุยสำหรับนักวิจัยทั่วโลก ในโครงการนี้มีนักเรียนและนักวิจัยจากหลากหลายประเทศมาเข้าร่วมกว่า 100 คนทั้งไทย เนปาล อินเดีย อูกานด้า หรือชาวยุโรปเช่น ฝรั่งเศส ก็มีมาเช่นกัน(มากันเยอะมากจนเกิดไฟกระชาก ไฟดับทั้งมหาลัยเลยครับ) นอกจากน ี้speaker ที่มาบรรยายก็มาจากมหาลัยและบริษัทที่มีชื่อเสียงอย่างเช่น Imperial Colleage London ประเทศอังกฤษ หรือ Twitter

รูปบรรยากาศโรงเรียน Gandaki College of Engineering and Science ที่จัดโครงกานี้

ทำไมต้องไป Nepal ทำไมต้องเป็นเมือง Pokhara

“ริกอยากลองไป Winter School ที่เนปาลดูไหม” ตอนผมได้ยินคำชวนนี้ครั้งแรกจากพี่วินน์ CEO ของบอทน้อยกรุ๊ป สิ่งที่เขามาในหัวผมอย่างแรกเลย “ทำไมถึงต้องเป็นประเทศเนปาลกันนะ” ผมเลยลองศึกษาเกี่ยวกับโครงการนี้แล้วก็พบว่าจุดมุ่งหมายของผู้จัดโครงการนี้คืออยากเผยแพร่ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ให้แก่ประเทศบ้านเกิดของเขา รวมถึงพยายามดึงดูดนักวิจัยจากทั่วทุกมุมโลกให้มาร่วมกันเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและ community ขึ้น นอกจากนี้ที่เมือง Pokhara ก็เป็นเมืองท่องเที่ยวชื่อดัง การจัดคลาสเรียนที่นี่เท่ากับเป็นการโปรโมตการท่องเที่ยวไปในตัว ด้วยแนวคิดที่ดูน่าดึงดูดนี้ผมเลยตอบตกลงที่จะไปลองศึกษาเทรน AI ในโครงการนี้ดู

บรรยากาศเมือง Pokhara ครับ ติดกับแม่น้ำเลย บรรยากาศดีมากๆ

เนื้อหาบรรยายในโครงการ

ในโครงการจะแบ่งช่วงออกเป็นหลักๆ ได้ 2 ช่วง ช่วง 8.30 จนไปถึง 17.00 จะเป็นช่วงให้ Keynote และ speaker มาบรรยายในหัวข้อต่างๆ ตั้งแต่เรื่องความรู้พื้นฐานสำหรับงานวิจัยด้าน AI ,เทรนด์ AI ที่น่าสนใจ รวมถึงการให้แรงบันดาลใจ นอกจากนี้หลังจากการบรรยายจะมีการลงมือทำแล็ปจริงๆ อีก 1 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งสิ่งแรกที่ผมชอบของที่นี่เลยคือโครงการพยายามปูตั้งแต่ความรู้พื้นฐานของสายการวิจัย AI จนไปถึงเทคโนโลยีที่ใช้ในปัจจุบัน การนำไปใช้ และยังมีการจับกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดและความรู้ด้วย

ส่วนทางด้าน Keynote ในโครงการนี้ก็ได้ Professor ชื่อดังมาบรรยายถึง 2 ท่าน ท่านแรกก็คือ Prof. Karl Friston ซึ่งเป็น Professor ด้าน Neurology จาก University College London ที่มีผลงานวิจัยถูกอ้างอิงรวมไป 2 แสนกว่าครั้ง มาพูดเกริ่นถึงการทำงานของ AI ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและการเปรียบเทียบระหว่างการทำงานของ AI และสมองคน และ Professor อีกท่านก็คือ Prof. Michael Bronstein ซึ่งเป็น Professor จาก Imperial Colleage London และ Head of Graph Learning Research ของ Twitter มาพูดถึงเทรนด์และปัญหาของ AI ในปัจจุบัน และการประยุกต์ใช้ Geometric Deep Learning มาแก้ปัญหา แน่นอนว่าการบรรยายของพวกเขาน่าสนใจมากและมีการแลกเปลี่ยนไอเดียกันระหว่างผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ หลังจากบรรยายด้วย

สำหรับเนื้อหาบรรยายในโครงการนี้ ผมขอสรุปหัวข้อคร่าวๆ เป็น 3 อย่าง เผื่อจะมีคนสนใจเอา keyword เหล่านี้ไปศึกษาต่อ หรือจะหยิบยกมาคุยกันก็ได้นะครับ

  1. ความรู้พื้นฐาน: สำหรับสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับผู้จะเริ่มต้นในสายวิจัย AI หรือ Data Science เลยนั้นก็คือภาษาคอมพิวเตอร์ที่จะใช้ในการสร้าง AI ซึ่งทั้งในโครงการและจากประสบการณ์ของผม แนะนำให้ลองเริ่มจากภาษา Python จะดีมากครับ เพราะเจ้า Python นี้ มี Package หรือ Library ที่สนับสนุนในการทำงานในด้านนี้นี่เอง ซึ่งเจ้า Package ที่ว่านี้ก็เช่น Pandas, Numpy, Scikit-learn, Pytorch และอีกอย่างก็คือความรู้ด้านความน่าจะเป็นและสถิติเพื่อที่จะสามารถเข้าใจการทำงานของ AI ที่สร้างขึ้นได้
  2. เทรนด์เทคโนโลยี AI ในปัจจุบัน : ในปัจจุบันการวิจัยด้าน AI ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วมากในทุกๆ วัน ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้เกิดจากเทคนิคบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งในบทความนี้ผมจะขอแค่หยิบยกชื่อเทคนิคน่าสนใจมากล่าวถึงไว้นะครับ เกรงว่าถ้าจะคุยกันในรายละเอียดจะยาวกันเกินไปสำหรับบทความนี้ เอาล่ะ ซึ่ง keyword ที่น่าสนใจเหล่านั้นก็ได้แก่ Deep Learning, Image Representation, RNN ,CNN ,Geometric Deep Learning, Reinforcement Leaning, VAEs ,GANs ,Quantum Machine Learning สำหรับใครที่สนใจก็สามารถที่จะลองศึกษาเพิ่มเติมจาก keyword เหล่านี้ได้เลยนะครับ
  3. เทรนด์การใช้ AI ในปัจจุบัน: สืบเนื่องจากที่ AI ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วมาก AI จึงถูกนำไปใช้ในหลากหลายวงการมาก ซึ่งผมขอยกตัวอย่างเทรนด์ที่ถูกยกขึ้นมาพูดถึงในโครงการนี้นะครับ ซึ่งเทรนด์เหล่านั้นก็ได้แก่ Computer Vision , AI in Education ,Neuroscience, Graphical Models, Natural Language Processing, 3D vision, Robotic ,Medical and Bioinformatic
รูปบรรยากาศภายในห้องเรียนครับ พอดีในตอนที่ถ่ายมีโชว์เพลงพื้นเมืองกันหน้าห้อง ทุกคนเลยหยิบมือถือขึ้นมาถ่ายรูปกัน

นั่งจิบกาแฟที่สนามหญ้าพร้อมแลกเปลี่ยน Trend AI

สิ่งที่ผมชอบอีกอย่างหนึ่งในโครงการนี้คือ ในโครงการจะมีการจัดช่วงพักอย่างละครึ่งชั่วโมงในช่วงเช้าและบ่าย และพักตอนกลางวันอีก1ชั่วโมง(อันนี้ไม่รวมพักกินข้าวอีก1ชั่วโมงนะครับ) พร้อมกับมีเครื่องดื่มพวกกาแฟหรือชาให้ ที่เนปาลตอนช่วงผมไปอุณหภูมิประมาณ 5–15 องศา พูดได้เลยว่าการได้กาแฟร้อนๆ กับแสงแดดเป็นสิ่งที่ดีงามมากและไม่สามารถหาประสบการณ์แบบนี้ได้จากแดดประเทศไทยแน่นอนครับ

แต่มันไม่ใช่แค่นั้น หลังจากทุกคนได้จัดหาเครื่องดื่มสำหรับตนเองเป็นที่เรียบร้อย ก็จะเริ่มมองหาที่นั่งหรือยืนเป็นกลุ่มๆ ตรงช่วงนี้เองที่นักวิจัย100กว่าชีวิตรวมถึง speaker ชื่อดังจากที่ต่างๆทั่วโลกจะได้แลกเปลี่ยนความเห็นกัน ซึ่งก็ทำให้ผมได้แลกเปลี่ยนมุมมองหลายอย่างเลยครับ เช่น ประเทศเนปาลเป็นประเทศที่คล้ายประเทศไทยมากอย่างไม่น่าเชื่อ เช่นด้านเกษตรกกรรม ซึ่งชาวเนปาลก็มีแนวคิดที่จะใช้ AI ในวงการเกษตรกรรมด้วย นอกจากนี้พวกผมก็มีการถกเถียงกันเพิ่มเติมด้วยว่าจะใช้ AI แก้ปัญหาเกษตรกรรมหรือปัญหาอื่นๆ กันได้อย่างไร ด้วยการที่รวมความคิดจากคนหลากหลายเชื้อชาติและอาชีพไม่ว่าจะเป็น นักประกันภัย, วิศวกรด้านการเกษตรกรรม, วิศวกรคอมพิวเตอร์, Food scientist, วิศวกรการแพทย์ และอื่นๆอีกมากมาย ทำให้ได้แนวทางแก้ปัญหาที่หลากหลาย ซึ่งถ้าผมจะยกสิ่งที่น่าสนใจระหว่างการแลกเปลี่ยนกับนักวิจัยคนอื่นๆ มาสัก 4 อย่างจะได้ดังหัวข้อข้างล่างนี้ครับ

  1. การแพทย์: ในปัจจุบันคนเราห่วงเรื่องสุขภาพมากขึ้น การแพทย์นี้ไม่ร่วมแค่เกี่ยวกับการเจ็บไข้ได้ป่วย แต่ร่วมถึงพวกเรื่องป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพเช่น อาหารการกิน การออกกำลังกาย หรือคำแนะนำการใช้ชีวิตด้วย ซึ่งจากความคิดเห็นของคนหลายๆ ชาติก็มองตรงกันว่าบุคลากรด้านนี้ขาดแคลนและ AI สามารถที่จะเข้ามาช่วยเหลือได้ดี
  2. การเงิน: ที่จริงเรื่องการนำ AI เข้ามาใช้ในด้านนี้อาจจะมีมานานแล้ว แต่ก็มีคนจำนวนมากที่คิดว่าการนำ AI มาช่วยในการจัดสรรการเงินให้คุ้มค่าที่สุดเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในปัจจุบัน และการที่ AI เริ่มที่จะสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นก็จะทำให้ความเหลื่อมล้ำในการเงินลดลงได้
  3. Localize AI : ในแต่ละประเทศมีปัญหาหรือสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันไป ทำให้ไม่ใช่ว่า AI ที่ดีสำหรับสถานที่หนึ่ง จะสามารถใช้ได้ดีในอีกที่หนึ่ง อย่างเช่นรถยนต์อัจฉริยะที่ทางฝั่งประเทศยุโรปพัฒนาขึ้น ถ้านำมาให้วิ่งอัตโนมัติที่ประเทศเนปาลหรือไทย เราก็มองกันว่าไม่รอดแน่ๆ ซึ่งทำให้การนำแนวคิด AI ดีๆ ประสิทธิภาพสูงที่ใช้อยู่กันในปัจจุบันมาแก้ปัญหาเฉพาะในภูมิภาคจึงเป็นที่น่าสนใจกัน
  4. การนำ AI มาสอน AI อีกที: ในปัจจุบันที่มีข้อมูลและ AI จำนวนมาก เราเลยได้มีการหยิบยก AI แต่ละประเภทมาคุยกัน และก็มีไอเดียที่จะนำ AI แต่ละอันมาช่วยกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น AI ตัวแรกช่วยในการเลือก Feature ของข้อมูลเพื่อนำมาใช้เทรนให้อีกตัวหนึ่งเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น
นี่คือสนามบอลที่พูดถึงครับ เราจะรับเครื่องดึ่มกันในบริเวณอาคารแล้วออกไปจับกลุ่มกันในบริเวณสนามเพื่อตากแดดกัน

มาแดนเอเวอเรสต์ก็ต้องเที่ยวสักหน่อยสิ

เอาล่ะครับ ในเมื่อได้ไปต่างประเทศทั้งทีและยิ่งเป็นประเทศที่มีภูเขาที่สูงที่สุดในโลกด้วย มีเหรอที่ทีมบอทน้อยเราจะไม่ไปเที่ยวกัน แต่ครับแต่ ที่จริงเนปาลไม่ได้มีดีแค่ภูเขานะครับ ที่นี่ยังมีที่ให้เที่ยวอีกมากมาย เช่น วัด ถ้ำ ทะเลสาบ ที่ๆ แรกที่เราไปกันคือทะเลสาบ Phewa Lake ซึ่งอยู่ใกล้กับที่พักของพวกเราครับ เนื่องจากอยู่ใกล้ที่พักมาก พวกผมเลยมีโอกาสได้ไปนั่งเล่นกับริมแม่น้ำบ่อยๆ ที่ๆ สองที่พวกผมไปกันก็คือถ้ำ Gupteshwor Mahadev Cave ซึ่งมีน้ำตกอยู่ภายในถ้ำ และสุดท้ายสิ่งที่ทุกคนควรจะต้องลองเมื่อมาเยื่อนถึงถิ่นเอเวอเรสต์ นั้นก็คือปีนเขานั่นเอง ซึ่งเขาที่เราปีนไม่ใช่เอเวอรสต์แต่อย่างใดนะครับ ถ้าจะให้ทีม Data Scientist ไปปีนเขาเอเวอเรสต์กันก็มีสิทธิที่เราจะกลับกันไม่ถึงไทยได้ พวกผมจึงตัดสินใจที่จะไปปีนเขาที่ชื่อว่า Annapurna กันแทน ซึ่งพอขึ้นกันไปถึงจุดที่เรียกว่า Australian Base Camp(ABC) ก็จะสามารถมองเห็นเทือกเขาหิมาลัยได้ด้วย

รูปบรรยากาศทะเลสาบ Phewa Lake
บรรยากาศตอนพวกเราไปปีนเขากันครับ
และนี่ก็คือวิวตอนพวกเราขึ้นมาถึงจุด Australian Base Camp ครับ

สุดท้ายนี้มาสร้าง Community ของไทยกันเถอะ

หลังจากการได้เข้าร่วมโครงการนี้ ผมคิดว่าการมี Community ในการพูดคุยและแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ซึ่งพวกเราทีมบอทน้อยก็มีกลุ่ม Community เหมือนกัน ซึ่งผมก็อยากเชิญชวนให้ทุกๆ คนที่ได้อ่านบทความนี้ลองเข้ามาพูดคุยกัน อาจจะมาคุยเพิ่มเติมเกี่ยวกับ keyword ที่ปรากฏในบทความนี้ หรือจะมาแลกเปลี่ยนสิ่งที่สนใจกันก็ได้นะครับ เพื่อมาพัฒนา AI ในประเทศไทยไปด้วยกัน

ส่วนใครที่สนใจหัวข้อไหนในนี้เป็นพิเศษ สามารถบอกกล่าวกันในกลุ่มได้เลยนะครับ ผมและเพื่อนๆทีมบอทน้อยจะมีบทความเกี่ยวกับ AI และ Data Science ออกมาให้ทุกท่านได้อ่านเรื่อยๆ แน่นอน

— — — — — — — — — — — — — — — — — — — — — — — — —

สามารถติดตามข้อมูลคลาสเรียนData sceintist และเข้ากลุ่ม Communityได้ทาง > Botnoi Classroom

สนใจใช้บริการในสร้างแชทบอท หรือให้คำปรึกษาเกี่ยวกับ AI & Data science ติดต่อได้ผ่านเวป -> www.botnoigroup.com และ FB Page Botnoi Consulting

--

--

Wasin Faengrit
botnoi-classroom

Data Scientist & Project Manager @ iBotnoi ,Biomedical Engineering #9 @ Mahidol University