ถูก-ผิดหรือแตกต่าง

Patter Tang
Bring.Life
Published in
2 min readDec 28, 2020

--

คุณเคยมีประสบการณ์ถูกห้ามทำบางอย่างขณะมีประจำเดือนโดยหาเหตุผลชัดเจนไม่ได้ไหม หรือเวลาซื้อผ้าอนามัยจากร้านสะดวกซื้อแล้วพนักงานต้องซ้อนถุงให้สองชั้น ทำไมกลไกตามธรรมชาติของร่างกายผู้หญิงจึงเป็นเรื่องต้องหลบซ่อน หรือเผชิญข้อจำกัดบางอย่างโดยไม่มีเหตุผล

รุ้ง-วรางทิพย์ สัจจทิพวรรณ คือ ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สำหรับผู้หญิงอีกท่านหนึ่งที่คอลัมน์ #ห้องต้องประสงค์ จะพาคุณไปพูดคุยและสัมผัสมุมมองของเธอในฐานะผู้ก่อตั้งแบรนด์ Ira

เธอคือหนึ่งในคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านการทำธุรกิจที่สร้างทางเลือกให้กับผู้หญิง เธอต้องการเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับการมีประจำเดือน ผ่านการ re-design สินค้าที่มนุษย์ที่มีเพศสภาพเป็นหญิงแทบทุกคนต้องใช้ นั่นคือผ้าอนามัย ผ้าอนามัยของ Ira จึงผ่านกระบวนการคิดที่ไม่เหมือนกับแบรนด์อื่นๆ ในตลาด ตั้งแต่คอนเซปต์ แบรนด์ ตัวผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ จนเป็นมากกว่าแค่ผ้าอนามัยย่อยสลายได้แบรนด์แรกของไทย แต่แฝงด้วยนัยยะของการสร้าง Social Movement

จุดเริ่มต้นของสายรุ้ง

ผ้าอนามัย Ira

ผ้าอนามัยของ Ira ทำจากใยไม้ไผ่และพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ทั้งหมด เรียกได้ว่าเป็นออร์แกนิค ปราศจากสารเคมี 100% ทำให้ผลิตภัณฑ์นี้ดีทั้งต่อโลกและสุขภาพของผู้หญิง บรรจุภัณฑ์ของ Ira เองก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ตั้งใจออกแบบมาให้แตกต่างจากผ้าอนามัยแบรนด์อื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นความตั้งใจของรุ้งที่ต้องการให้ Ira เป็นแบรนด์ที่ inclusive เธอจึงเลือกใช้บริการนักออกแบบชายในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่แม้แต่ผู้ชายก็เห็นแล้วไม่ตกใจ

ความพิเศษของผลิตภัณฑ์ Ira

เห็นว่ารุ้งตั้งใจทำในทุกขั้นตอนขนาดนี้ เราอดสงสัยไม่ได้ว่า อะไรเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งลุกขึ้นมาทำผ้าอนามัยทางเลือกแบรนด์นี้

รุ้งเล่าให้เราฟังว่าเธอเคยร่วมทำกิจกรรมแจกผ้าอนามัยให้คนไร้บ้านตั้งแต่สมัยยังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย ซึ่งเราเดาว่านั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ประทับอยู่ในใจเธอ หลังเรียนจบปริญญาตรีด้านชีววิทยา (Biological Sciences) รุ้งมีแพสชั่นเหมือนกับคนรุ่นใหม่อีกหลายคนที่ต้องการเปลี่ยนโลก ต้องการใช้ความสามารถที่มีช่วยประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้ามากขึ้น รุ้งจึงสมัครเข้าทำงานราชการด้วยความหวังว่าจะเป็นกำลังส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ ที่ทำงานแรกของเธอ คือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) รุ้งได้ทำงานเพื่อผลักดันสตาร์ทอัพในประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จ

ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ รุ้งเติบโตในหน้าที่การงานเรื่อยมา จากองค์กรหนึ่งไปสู่อีกองค์กร จนกระทั่งเหตุการณ์สำคัญที่หลายคนน่าจะจดจำกันได้ คือ การตายของลูกพะยูนกำพร้า “มาเรียม” ที่ผลชันสูตรพบว่าสาเหตุหนึ่งในการเสียชีวิตของมาเรียมมีส่วนเกี่ยวข้องกับเศษพลาสติกที่ติดค้างอยู่ในช่องท้อง เหตุของมาเรียมกลายเป็นจุดเปลี่ยนให้หน่วยงานรัฐบาลหันมาตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น และในที่สุดหน้าที่การร่างนโยบายด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็ตกมาถึงมือของรุ้ง แน่นอนว่ารุ้งตั้งอกตั้งใจร่างนโยบายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน และอยากเริ่มเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระบบการศึกษา แต่น่าเสียดายที่ปัจจัยมากมายทำให้นโยบายที่เธอร่างไม่อาจไปถึงฝั่งฝัน หนึ่งในนั้นคือกำแพงทางด้านการเมือง

เมื่อตระหนักแล้วว่าไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงจากภายในรัฐบาลได้ เธอจึงลาออกและตัดสินใจจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในแบบของเธอเอง

เชื่อในตัวเอง

แม้หลังจากรุ้งลาออกจากการเป็นข้าราชการ เส้นทางของเธอก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ รุ้งเข้าทำงานใน Venture Capital แห่งหนึ่ง และได้รับโอกาสในการไปทำงานถึง Silicon Valley แต่เธอกลับต้องต่อสู้กับทั้ง Sexual harassment การเหยียดเพศ และวัฒนธรรมที่ทำให้เธอรู้สึกอึดอัด

แม้ต้องเผชิญกับปัญหามากมาย ความต้องการที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมของรุ้งไม่ได้จางลง แต่เธอกลับได้ค้นพบประเด็นที่เธอสนใจจะทำงานด้วยอย่างลึกซึ้งมากขึ้น นั่นคือ Period Stigma หรือทัศนคติบิดเบี้ยวต่อการมีประจำเดือนของผู้คนมากมาย ที่มักมองว่าประจำเดือนเป็นเรื่องสกปรก ทั้งที่มันเป็นเรื่องปกติของร่างกายมนุษย์

จากความสนใจเรื่อง Period Stigma รุ้งเริ่มศึกษาผลิตภัณฑ์สำหรับผู้หญิงที่มีอยู่ในตลาดแล้วพบว่า ผู้หญิงหลายคนมีอาการแพ้ผ้าอนามัย ผู้หญิงอีกหลายคนที่สนใจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของผ้าอนามัยที่ตนต้องใช้ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนไปใช้ผ้าอนามัยแบบสอด หรือไม่สะดวกที่จะใช้ผ้าอนามัยแบบซักได้ รุ้งจึงต้องการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์เหล่านี้ ให้ผู้หญิงได้มีทางเลือก รวมถึงต้องการสื่อสารเรื่องปัญหาทัศนคติเกี่ยวกับการมีประจำเดือนไปพร้อมกัน

“เราอยากเปลี่ยนทัศนคติของคนต่อการมีประจำเดือน สินค้านี้เป็นสินค้าแรกที่เราเลือกทำเพราะส่งผลกระทบกับผู้หญิงเกือบทุกคน”

รุ้งตัดสินใจลาออกจากหน้าที่การงานที่กำลังก้าวหน้า บอกลา Silicon Valley และชื่อเสียงที่เคยได้รับ เพื่อมาเริ่มต้นทำแบรนด์ผ้าอนามัยทางเลือก สำหรับเราแล้วช่างเป็นการตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยวและกล้าหาญ

รุ้งก็สารภาพกับเราว่ามีหลายครั้งที่เธอท้อแท้และหลงทาง แต่คนที่ฉุดเธอขึ้นมาจากเงามืดนั้นได้คือคำพูดของพี่สาวที่พูดกับเธอว่า “As long as I believe in you and you believe in yourself, nothing matters.”

พี่สาวคือคนที่อยู่เคียงข้างและช่วยให้รุ้งเรียนรู้ที่จะกำจัดความคิดลบทั้งหลายไม่ว่าจากตนเองหรือผู้อื่นออกไปก่อน และก้าวเดินไปข้างหน้า เพื่อพิสูจน์ความเชื่อของตัวเอง นอกจากเป็นการตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางอาชีพแล้ว การตัดสินใจออกมาเริ่มทำธุรกิจของตัวเองในครั้งนี้ดูเหมือนจะเป็นการเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อตัวเองของรุ้งไปด้วยเช่นกัน

“เราเคยเป็นคนที่คอยเอาใจคนอื่น แต่พอเรามีจุดยืนและเชื่อในสิ่งที่เรากำลังทำ มันทำให้เรารู้ว่าเราทำให้ทุกคนพอใจไม่ได้ Nothing is right or wrong, it’s just different เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น เชื่อในวิสัยทัศน์ของตัวเอง และลองทำมัน”

“เราต้องเชื่อในวิสัยทัศน์และสินค้าของเรา I want to gid rid of the period stigma. I want to make the world a better place for girls these days. เราไม่อยากให้น้องๆ ที่กำลังโตมา ต้องอายกับการเป็นประจำเดือน หรือต้องมีอาการแพ้จากสินค้าที่มีอยู่ในตลาด ทำไมสิ่งที่ส่งผลต่อประชากรของโลกกว่าครึ่ง ถึงเป็นสินค้าที่ใช้กันมาเป็นสิบๆ ปี แทบจะไม่มีนวัตกรรมเลย ”

อุดมการณ์ กับ การทำธุรกิจ

เราสงสัยว่า แม้จะมีความมุ่งมั่นและอุดมการณ์ที่ชัดเจนขนาดนี้ แต่รุ้งจัดการระหว่างการทำธุรกิจและการเปลี่ยนโลกอย่างไร เพราะเรารู้ว่ามันไม่ง่ายเลยที่จะสร้างสมดุลย์ระหว่างสองเรื่องนี้ รุ้งจึงเล่าถึงประสบการณ์ในวงการสตาร์ทอัพว่า เธอเคยได้เห็นนวัตกรรมหลายอย่างที่พยายามแก้ปัญหา Climate Change และระลึกอยู่เสมอว่าปัญหาจะไม่ถูกแก้ไข ถ้าสตาร์ทอัพเหล่านี้หายไปเพราะไม่สามารถทำเงินได้มากพอที่จะทำให้กิจการต่อได้ เธอจึงตระหนักว่าการสร้างแบรนด์ที่แข็งแรงมีความจำเป็น เพื่อให้มีกระแสเงินเข้ามามากพอจะดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจได้ และเพิ่มระดับผลกระทบทางสังคมเข้าไปควบคู่กัน

“มันไม่มีความหมายถ้าเราจะตั้ง Social Enterprise ที่อยู่ไม่ได้ด้วยตัวเอง”

สิ่งสำคัญอีกอย่างที่รุ้งบอกกับเราคือการมีทีมที่เก่งหลายด้าน มีคนที่คอยดูตัวเลขและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ และควรทำงานร่วมกันกับหลายองค์กร ไม่ทำคนเดียว

นอกจากการขายให้คนทั่วไปแล้ว รุ้งยังต้องการให้ผ้าอนามัยเป็นสวัสดิการในโรงเรียนในมหาวิทยาลัย หรือ องค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งนั่นเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะสร้างผลกระทบทางสังคม เป็นการเปลี่ยน mindset ของคนได้ในวงกว้าง และยังสร้างรายได้ให้กับธุรกิจได้ แม้จะมีหลายครั้งที่รุ้งเข้าไปพูดคุยกับมหาวิทยาลัยและองค์กรขนาดใหญ่แต่ยังไม่ได้รับผลตอบรับที่ดีนัก แต่เธอก็ยังไม่ท้อ

“คนที่ไม่เข้าใจ อธิบายยังไงก็ไม่เข้าใจ เราก็ต้องค่อยๆเพาะเมล็ดพันธุ์ในหัวเขา รดน้ำ พรวนดิน ค่อยๆเติบโต”

รุ้งบอกว่าเธออยากสร้างความเปลี่ยนแปลงมากมาย แต่ต้องโฟกัสที่แบรนด์ก่อน และผ้าอนามัยเป็นเหมือนเครื่องมือที่จะพารุ้งไปถึงเป้าหมายของเธอได้ เพาะเมล็ดพันธุ์ในความคิดของหลายๆ คนได้ ภาพที่รุ้งอยากเห็น Ira ไปถึงในท้ายที่สุดคือการเป็น Symbol of Feminism และ Symbol of Women’s hope

ถึงตอนนี้ Ira ได้เริ่มวางสินค้าออกสู่ตลาดได้เพียงไม่นานนัก แต่เราเชื่อว่าผู้หญิงทุกคนที่ได้เห็นผลิตภัณฑ์และการสื่อสารของแบรนด์จะรับรู้ได้ถึงความตั้งใจอันดีและอุดมการณ์ที่แน่วแน่ของผู้ก่อตั้ง

และภาพฝันสุดท้ายนั้นอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

Column: ห้องต้องประสงค์ ∙ Bring Purposes to Life ∙

Bringer: Patter Tang

Credit photo: https://www.facebook.com/iraconcept.bkk

#Bringdotlife #Sustainability #femaleentrepreneurs #socialenterprise #periodstigma

--

--

More from Patter Tang and Bring.Life