ชีวิตจริงยิ่งกว่าใน Hackathon : บทสรุปงาน Hackitect 2019

Patai Padungtin
BUILK
Published in
3 min readJun 5, 2019

เพิ่งผ่านงานสนุกๆ ที่เป็นโปรเจคคันๆ ของพวกเรา BUILK ONE GROUP ไปหมาดๆ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม-2 มิถุนายน 2019 ด้วยความที่เราเชื่อว่า Creativity และ Technology จะเปลี่ยนแปลงวงการก่อสร้างให้ดีขึ้นได้ และได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากพาร์ทเนอร์จัดงาน ซึ่งเป็นออฟฟิศสถาปนิกสุดฮอตของยุคนี้ อย่าง Openbox Architects และ ATOM Design ที่เชื่อเหมือนกับเรา

Hackathon เป็นกิจกรรมที่ชาว Tech Startup รู้จักกันดี ว่าเป็นการลงมือ สร้างของ แก้โจทย์ ทดสอบสมมติฐาน ภายในเวลาจำกัด ด้วยกลุ่มคนที่เป็น Hacker, Hipster และ Hustler และนำเสนอผลงานกับกรรมการ/นักลงทุน

แต่สำหรับพี่ๆ น้องๆ Architect และคนในวงการก่อสร้าง อาจจะยังไม่ค่อยคุ้นเท่าไหร่ งานนี้พวกเราเลยขอเป็นตัวเชื่อมสองวงการเข้าด้วยกัน กลายเป็นงาน Hackitect นี่แหละ เรามา Hack หานวัตกรรมที่มาช่วยให้ชีวิตสถาปนิกดีขึ้น ภายใน 3 วัน 2 คืน

ระหว่างจัดงาน ทำให้ผมเห็นภาพชีวิต สถาปนิก กับ สตาร์ทอัพ ว่ามีหลายอย่างใกล้เคียงกัน อย่างเช่น

  • สถาปนิกถูกสอนให้จินตนาการสิ่งก่อสร้าง และถ่ายทอดออกมาเป็นภาพ เหมือนกัน สตาร์ทอัพที่ฝันว่าจะแก้ปัญหาสร้างธุรกิจ และออกมา pitch กับนักลงทุน
  • สถาปนิกทดสอบ เรียนรู้ และปรับปรุงอย่างมีกระบวนการ กว่าจะได้แบบที่สมบูรณ์ เหมือนสตาร์ทอัพ ที่พัฒนา product และธุรกิจเป็น iteration
  • สถาปนิกตัดโมเดล (สมัยก่อน) หรือทำ 3D print เพื่อเป็น rapid prototype ให้ลูกค้าเห็นภาพก่อสร้างจริง
  • สถาปนิกโดน comment แบบ ขอแก้แบบโน่นนี่มากมาย ไม่ต่างจากเวลา โปรแกรมเมอร์โดนเปลี่ยน requirement อยู่บ่อยๆ
  • สถาปนิก เป็นวิชาชีพที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เหมือนกับ โปรแกรมเมอร์ ถึงแม้ lifestyle อาจจะต่างกันพอสมควร
  • สุดท้าย สถาปนิก โปรแกรมเมอร์ และ คนทำสตาร์ทอัพ อดนอนเก่งเหมือนกัน รีดพลังชีวิตทุกหยด จนกว่าจะส่งงานได้ (ทันก่อน deadline นิดนึงทุกที)

แต่เชื่อมั้ยครับ น้อยครั้งมากๆ ที่คนสองวงการนี้จะมีโอกาสโคจรมาเจอกัน นั่งคุยและเปลี่ยนมุมมองกันจริงๆ จังๆ ผมดีใจที่ในงานนี้มีน้องๆ หลายคนเดินมาบอกว่า เพิ่งเข้าใจว่าโปรแกรมเมอร์ทำงานแบบนี้ เพิ่งเข้าใจว่าสถาปนิกเค้ามีปัญหายังไง ได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ ข้ามวงการ sprint / space / revenue stream (อะไรของมันกันวะ?)

ในงาน Hackitect นี้เหมือนเป็นการจำลองชีวิตของคนสร้างนวัตกรรม แบบย่อมากๆ มีกระบวนการสำคัญๆ ที่คนเริ่มทำธุรกิจและสตาร์ทอัพทุกๆ คนต้องเจอ ในชีวิตจริงไม่รู้ต้องใช้เวลาเท่าไหร่ แต่ในนี้ทุกอย่างต้องจบภายใน 48.5 ชั่วโมง

เริ่มตั้งแต่วันศุกร์ บ่าย-ค่ำ

  • ทำความเข้าใจลูกค้า หา Pain Point และเริ่มต้นพัฒนาไอเดีย สำหรับการแก้ปัญหา
  • รวมทีม คนที่มี skill แตกต่างกัน มีประสบการณ์และมุมมองหลากหลาย มาร่วมกันแก้ปัญหา… ทำความรู้จักทีมงานที่เราจะลุยไปด้วยกันต่อ
  • ทดสอบสมมติฐานแบบ High Level วาง canvas ใช้ในการสื่อสารภายในทีม

คืนแรกผ่านไป ช่วงเช้าวันเสาร์ ทุกทีมยังมีความมั่นใจล้นปรี่ บางคนคิดว่ามันก็คงเหมือนมาทำโปรเจคส่งอาจารย์ หรือ มา workshop เหมือนที่บริษัทเคยจัดกันขำๆ และวันเสาร์ทั้งวัน เราก็เริ่มสู่เข้า mode ชีวิตจริงหน่อยๆ ละ

  • เริ่มออกไป validate ไอเดีย ที่เมื่อคืนมโนกันไปเองว่า เจ๋งอย่างงั้นอย่างงี้ กับกลุ่มลูกค้าจริงๆ ถามไปแล้วเงียบ ถามไปแล้ว… “ก็ดีนะ…แต่”
  • ยังไม่พอ เจอ Mentor ผู้มากประสบการณ์ มาชี้แนะ ทีมได้ฟังมุมมองที่กว้างขึ้น บาง mentor ตบไปซ้าย อีกคนมาตบไปขวา เป็นช่วงเวลาที่สับสนน่าดู แทบจะล้มกระดาน รื้อ canvas กันเกือบทุกทีม
  • พอหมด mentor session เช่า-บ่าย ก็ถึงเวลาที่ต้องเลือก filter feedback อันมีค่าเอามาปรับใช้ และไปต่อ เพราะเวลาไม่ค่อยท่า ยังทำ prototype ไม่เสร็จเลย
  • เริ่มแบ่งงานภายในทีมชัดเจนขึ้น เพราะกำลังล่ก designer ทำ mockup นะ dev เริ่ม code core feature ส่วน business เริ่มหาข้อมูลการตลาด และ validate เพิ่ม
  • บ่ายแก่ๆ เริ่มตันๆ ก็ออกไป นวดผ่อนคลายได้… แต่ก็ดูท่าจะอยากนั่งปั่นงานกันมากกว่า
  • ค่ำๆ เจอ distraction อีก มีน้องเอ๋ยเอ้ย มาร้องเพลง เสียงใสๆ ทีมงานกะช่วยให้หายเครียด หลายคนเคลิ้มไปจนรู้ตัวอีกทีก็ 3 ทุ่มแล้ว… งานยังไม่ถึงไหนเลย
  • บรรยากาศเริ่มเคร่งเครียดขึ้นไปอีกระดับ มาถึงขั้นนี้แล้ว ยังไงเราต้องไม่ทำให้ขายขี้หน้า ทีมอื่นมันยังไม่นอน เราจะนอนได้ยังไง… presentation ยังไม่ได้เริ่มเลย
  • ตีสอง แฟนหงส์ ก็ละสายตาจากหน้าจอ และละมือจาก keyboard มาจ้องจอ UFC Final จนจบสีสี่กว่า …เป็นอีก 120 นาที ที่ถูกท้าทายจากสิ่งเร้าภายนอก

เช้าวันอาทิตย์ บรรยากาศ Naplab ลุกเป็นไฟ มีซากศพ ทหารหาญนอนเกลื่อนอยู่ตามพื้น แต่เดี๋ยวก็ลุกขึ้นมาปั่นงานต่อ บางคนก็ยืนพูดคนเดียวอยู่ริมต้นไม้ คล้ายคนบ้า

  • ช่วงเช้า สตาฟแทบไม่กล้าจัดกิจกรรมอะไรด้วย เพราะผู้เข้าแข่งขัน ส่งสัญญาณว่า อย่ามายุ่งกับกู ยังไงเรามีกำหนดปิดรับ pitching deck และ demo ก่อนเที่ยง เป็น deadline ที่คอยกดดัน… ทำให้เป็นช่วงเช้าที่บรรยากาศมาคุมาก
  • Teamwork ขั้นสุดยอด เวลาไฟลนตูด โปรแกรมเมอร์เร่ง code ให้มากที่สุด designer ช่วยทำ presentation และ ผู้รับหน้าที่ขึ้น pitch ก็ซ้อม ซ้อม แล้วก็ซ้อม
  • ถึงเวลาบ่ายโมง เริ่ม pitch กับกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มาจากทั้งสาย Tect และ Tech ทั้งมุมมองของลูกค้า และ นักลงทุน เราใช้วิธี random ทีมขึ้นไปนำเสนอเพื่อความตื่นเต้น คาดเดาไม่ได้
  • 5 นาที ที่บนเวทีเป็นของคุณ เล่าไอเดีย และโชว์ progress ในด้านต่างๆ ของธุรกิจคุณออกมาให้กรรมการเชื่อ ไอเดียดี, prototype เจ๋ง, design สวย, ลูกค้าอยากซื้อ
  • คำถามจากกรรมการ กระแทกใจ ฟังดูกวนตีน ไม่ค่อยรื่นหูในบางที แต่ก็เป็นคำถามที่ต้องเอาไปคิดต่อ
  • จบด้วยการเลือกผู้ชนะ 3 ทีม ตามกติกาการให้คะแนนที่ตั้งไว้ กรรมการก็ประชุม หารือกันด้วยมุมมองหลากหลาย เลือกลำบาก เพราะทั้ง 11 ทีม ทำสิ่งที่เป็นวัตกรรมให้กับวงการสถาปนิกทั้งนั้น… แต่มันก็เป็นกติกาที่ต้องมีผู้ชนะในเกมส์
  • หลังประกาศผล เราร่ำลากัน เหมือนเพื่อนทหารที่ผ่านสงครามมาด้วยกัน ถึงแม้จะงงๆ เบลอๆ กันหน่อย (เพราะง่วงจัด หรือเมาเบียร์ก็ไม่รู้) แต่ก็รู้สึกได้ถึงมิตรภาพและประสบการณ์ใหม่ที่ทุกคนได้รับ

ผมอยากขอแชร์บทเรียนการทำสตาร์ทอัพจริงๆ กับเพื่อนๆ ผู้เข้าร่วมงาน Hackitect ว่า… ชีวิตจริงยิ่งกว่านี้เยอะ เวลาทำอะไรใหม่ๆ อยากแก้ปัญหาใหญ่ อยากทำธุรกิจให้เติบโต — เราสับสน เราหลงทาง ตื่นมาถามตัวเองว่าต้องทำอะไรต่อดีวะ ต้องเพิ่ม features หรือ ปรับ business model ตรงไหนก่อนดี

เจอคนหวังดี เข้ามาแนะนำมากมาย ทำไมไม่ทำงั้นหล่ะ ทำไมไม่ทำงี้หล่ะ สุดท้ายคนที่จะต้องเลือกคือ เราเอง คนแนะนำเค้าไม่ได้อยู่ทำด้วยกับเราไปตลอด… ฟังเยอะๆ แต่ไม่ต้องเชื่อทุกคน เลือก filter noise ให้ได้ และ เลือกในสิ่งที่คุณเชื่อ

และระหว่างทาง มันจะมีเรื่องมา distract เป็นธรรมดา จง Focus… มารไม่มี บารมีไม่เกิด

feedback มีทั้งดอกไม้และก้อนหิน ลูกค้า นักลงทุน มีมุมมองประสบการณ์ที่แตกต่างจากเรา ในชีวิตจริง ทำ product ที่ลูกค้าไม่ซื้อ ทำธุรกิจที่ไม่ได้ตังค์ เจ็บปวดกว่าโดนกรรมการถามแรงๆ เยอะ

ในชีวิตจริงๆ ไม่มีน้องๆ staff มาคอยจับเวลา จัด slot คุยกับคน หรือ เรียกให้ส่ง slide แบบในงานนี้ คุณต้อง frame เวลาตัวเองให้ได้ ทำอะไรถึงไหน เมื่อไหร่หยุด เมื่อไหร่ไปต่อ… เวลามีคือสิ่งที่มีค่าที่สุด เลือกทำในสิ่งที่พาเราไปถึงเป้าหมายให้ได้

สุดท้ายคนที่ประสบความสำเร็จคือ คนที่เรียนรู้จากประสบการณ์ ความผิดพลาดคือบทเรียนให้เราพัฒนาต่อ ถึงไม่ใช่ผู้ชนะในวันนี้ แต่ในชีวิตจริง คุณก็อาจจะเป็นผู้ชนะได้

ขอได้รับความขอบคุณจาก ทีมงาน Hackitect และ BUILK ONE GROUP

--

--

Patai Padungtin
BUILK
Editor for

Entrepreneur+Civil Engineer+Marketer+Designer+Son+Husband+Father+Friend+Lecturer+Student+Singer+Traveller+Troublemaker+Solution Provider