ตั้งเป้าหมาย OKRs ยังไงให้ท้าทาย !!

Jareerat Phanthaphon
BUILK
Published in
3 min readOct 22, 2018

ทำไมเดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็นิยมพูดคำว่า “OKRs” กันจังเลย ว่าแต่ OKRs คืออะไร ? แล้ว OKRs มันดีจริง ๆ หรอ ? ถ้าองค์กรของเราอยากใช้ OKRs ควรเริ่มยังไง ?

เราเชื่อว่า คำถามเหล่านี้คงเป็นคำถามที่หลาย ๆ ท่านอยากรู้คำตอบ ทุกคำตอบที่ท่านต้องการเราสรุปมาให้ในบทความนี้เรียบร้อยแล้วค่ะ ^^ เพื่อให้ไม่เป็นการเสียเวลา เรามาเริ่มกับคำถามแรกกันเลยจ้า

OKRs คืออะไร ?

OKRs คือ ตั้งเป้าหมายขององค์กร โดยมีการแตก Action ที่เราต้องการทำให้เกิดเป้าหมายนั้นออกมาอย่างชัดเจน เป็นวิธีการตั้งเป้าหมายที่นิยมและถูกใช้อย่างแพร่หลายในบริษัทด้าน Technologies ชั้นนำของโลกอย่าง Google, LinkedIn, Spotify, Intel, Twitter และ Dropbox (เป็นเหตุผลว่าทำไมบริษัทพวกนี้โตเร็วมาก)

ภาพจาก Felipe Castro

OKRs ย่อมาจากคำว่า Objectives and Key Results

Objectives : วัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่องค์กรอยากจะเป็นหรืออยากจะไปให้ถึง

Key Results : การวัดผลวิธีการที่จะทำให้เป้าหมายขององค์กรสำเร็จ

Objectives ที่ดี เป็นอย่างไร ?

  1. Objectives ที่ตั้งจะต้องมีความชัดเจน ไม่กำกวม เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าใจได้ตรงกัน
  2. เป็นสิ่งที่ทุกคนในองค์กรสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริงๆ
  3. เป็น Objectives ที่ท้าทาย แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ ไม่ล่องลอย ไม่เพ้อฝัน ยกตัวอย่างเช่น Objectives ของบริษัทในไตรมาสนี้ตั้งว่า “หนังสือของบริษัทเราติดอันดับ 1 ในหนังสือขายดีทั่วโลก” แต่ความเป็นจริงคือ บริษัทเรายังไม่ได้ส่งออกหนังสือไปขายทั่วโลก
  4. เป็นข้อมูลเชิงคุณภาพ เช่น เพิ่มกำไร, ลดต้นทุน **ห้ามใส่ตัวเลขใด ๆ ลงไปเด็ดขาด

สิ่งที่ต้องระวังในการตั้ง Objectives

  1. ถ้า Objectives ที่เราตั้งสามารถทำให้สำเร็จเต็ม 1 ได้ แปลว่า Objectives นั้นง่ายเกินไป Google บอกว่าหาก Objectives ที่เราตั้งและทำได้ที่ 0.7–0.8 จากคะแนนเต็ม 1 ถือว่าเป็น Sweet Spot คือเจ๋งมากแล้ว

Key Results ที่ดี เป็นอย่างไร ?

  1. ต้องมีความสอดคล้องกับ Objectives ที่เราตั้งไว้
  2. ต้องวัดผลได้จริงในเชิงปริมาณ เช่น ยอดผู้เข้าชมเว็บไซต์เพิ่มขึ้น 1,000 ราย
  3. มีกรอบระยะเวลาในการวัดผลที่ชัดเจน เช่น ถ้าเราต้องการให้ Key Results “ยอดผู้เข้าชมเว็บไซต์เพิ่มขึ้น 1,000 ราย” มีความชัดเจนและดียิ่งขึ้น เราควรเพิ่มกรอบของระยะเวลาการวัดผลลงไปด้วย คือ “ยอดผู้เข้าชมเว็บไซต์เพิ่มขึ้น 1,000 รายต่อวัน”
  4. ไม่เวอร์จนเกินไป มีโอกาสทำได้จริง

สิ่งที่ต้องระวังในการตั้ง Key Results

  1. สิ่งที่นำมาตั้ง Key Results จะต้องไม่ใช่งานที่เราทำเป็นประจำ (To Do List) เช่น โทรหาลูกค้า ปิดบัญชีประจำปี

“ Objectives คือสิ่งที่เราอยากจะทำให้สำเร็จ ส่วน Key Results ก็คือวิธีการวัดสิ่งนั้น Objectives จะเป็นอะไรที่ไม่ใช่ตัวเลข แต่ Key Results จะเป็นตัวเลข ”

ทำไมเราต้องใช้ OKRs มันมีข้อดียังไง ?

  1. ทุกคนในองค์กรมีเป้าหมายอันเดียวกัน
  2. ทุกคนเข้าใจว่าอะไรคืองานสำคัญที่สุด (Top Priority) ในช่วงเวลานั้นๆ ของทั้งองค์กร ของทีม และของตัวเอง
  3. การวัดผลเป็นการส่งเสริมกำลังใจ ไม่ใช่จับผิด
  4. ช่วยสร้างกระบวนการทำงานที่ชัดเจนและวัดผลได้
  5. สร้างวินัยและการโฟกัสในการทำงาน (ทำทีละงานและทบทวนอย่างสม่ำเสมอ)
  6. สร้างความโปร่งใส ทุกคนสามารถดู OKRs ของทุกคนได้ตั้งแต่ CEO ลงไปเลย ความสำคัญของการโปร่งใสคือเราจะเห็น OKRs ของเพื่อนร่วมงานด้วยว่าเราตั้ง OKRs ต่ำไปหรือสูงไปอย่างไร

OKRs ขององค์กร มาจากไหน ? แล้วใครเป็นคนตั้ง ?

การตั้ง OKR ส่วนใหญ่จะถูกกำหนดโดย Mission และ Vision ขององค์กร ดังนั้นในทุกๆ OKRs ที่ออกมาในแต่ละครั้งจึงมีความสอดคล้องกับ Mission และ Vision ขององค์กร

โดย OKRs ขององค์กรจะถูกตั้งโดย CEO หรือ C Level ขององค์กร เป็นขั้นตอนการตั้ง OKRs ในระดับองค์กร

แล้วเราควรวัดผล OKRs เมื่อไหร่ ?

ระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการวัดผล OKRs ก็คือ 1 ไตรมาส ( 90 วัน ) เพราะการตั้ง OKRs 1 ปีหรือยาวกว่านั้นมันนานเกินไป การทำธุรกิจในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเร็วจึงต้องมีการปรับและรีวิว OKRs กันถี่มากขึ้น เพื่อให้องค์กรสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ทันเวลา

การกำหนด OKRs ในองค์กร

แบ่งออกเป็น 3 ระดับ

  1. Company OKRs (ระดับองค์กร) เป็นเป้าหมายที่ให้ทุกคนในองค์กรมองเห็นภาพว่าเรากำลังไปในทิศทางไหน ?
  2. Department/Team OKRs (ระดับแผนก/ทีม) เพื่อจัดลำดับความสำคัญของงานที่ต้องทำ
  3. Individual OKRs (ระดับบุคคล) เพื่อให้ทุกคนองค์กรทราบว่าใครทำอะไรอยู่บ้าง
การกำหนด OKRs ในองค์กร

ตัวอย่าง OKRs

จากหนังสือ พัฒนาองค์กรและชีวิตด้วยแนวคิด OKRs โดย ดร.นพดล ร่มโพธิ์ ได้มีการยกตัวอย่าง OKRs ในหนังสือไว้ดังนี้

เริ่มจาก OKRs ของ CEO ก่อนเลยนะคะ CEO อาจตั้ง OKRs ของตัวเองดังต่อไปนี้

Objective: เพิ่มกำไร
Key Results: กำไรมากกว่า 10%

คราวนี้ เมื่อฝ่ายตลาดจะสร้าง OKRs ขึ้นมา เขาก็ต้องดูว่า CEO ต้องการเพิ่มกำไร ในฐานะของฝ่ายตลาด เราทำอะไรได้บ้าง ดังนั้น OKRs ของฝ่ายตลาดอาจจะเป็น

Objective: เพิ่มรายได้
Key Results: รายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 20%

พอผู้จัดการฝ่ายตลาดสร้าง OKRs ของฝ่ายตลาดมาแล้ว แผนกขายก็เห็นโจทย์แล้วว่า ฝ่ายเราจะต้องเพิ่มรายได้ เขาก็ต้องคิดว่า เอ แล้วตัวเขาสามารถทำอะไรได้บ้าง ดังนั้น OKRs ของแผนกขายอาจจะเป็นดังต่อไปนี้

ในขณะที่อีกแผนกที่อยู่ภายใต้ฝ่ายตลาด คือแผนกสนับสนุนการขาย ก็ต้องตั้ง OKRs เพื่อสนับสนุนฝ่ายตลาด ดังนี้

Objective: จัดทำ Website เพื่อสนับสนุนการขาย
Key Results: จำนวนผู้เข้าชม Website ไม่น้อยกว่า 1,000 รายต่อวัน

จากหนังสือ พัฒนาองค์กรและชีวิตด้วยแนวคิด OKRs โดย ดร.นพดล ร่มโพธิ์

อยากเริ่มใช้ OKRs แล้ว จะเริ่มยังไงดี ?

  1. Clear
    ทำความเข้าใจกับทุกคนในองค์กรใช้ชัดเจนว่าเราจะนำระบบ OKRs มาใช้ในเพิ่ม Productivity ในการทำงานไม่ได้เอามาใช้เพื่อจับผิดพนักงาน
  2. OKRs ≠ Performance Review
    OKRs ที่แต่ละคนตั้งไม่มีผลต่อการประเมินการขึ้นเงินเดือนและโบนัส แต่จะเป็นเหมือน Porfolio ผลงานของพนักงานแต่ละคนเท่านั้น
  3. Moon Shot No Roof Shot
    การตั้ง OKR ที่ดีจะต้องตั้งแบบที่ท้าทายมากๆ แต่ก็ยังมีโอกาสเป็นไปได้ การตั้งเป้าหมายไว้ยากมากๆ ชนิดที่อาจจะทําไม่ได้เลย แล้วเรามีความพยายามที่จะทําให้สําเร็จได้นั้น ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็เกินกว่าที่เราคาดหวังไว้แล้ว ซึ่งเป็นหลักการคิดของ OKR ที่ผลักดันให้องค์กร คิดแบบไปดวงจันทร์ (Moonshot) ไม่ใช่ เพียงแค่แตะหลังคาบ้าน (Rootshot) เท่านั้น
  4. FOCUS FOCUS และ FOCUS
    ในแต่ละไตรมาสเราควรมีแค่ 3 Objectives ที่เป็นงานหลักๆ งานที่ทํา แล้วมีคุณค่า สร้างผลกระทบต่อองค์กร มากที่สุดเท่านั้น โดยแต่ละ Objective ก็ควรมีแค่ 3–5 Key results

การทำ OKRs ของ BUILKONE GROUP

เราได้เริ่มใช้การวัดผลด้วย OKRs มาตั้งแต่ปี 2016 ครั้งแรกที่ได้ยินคำว่า OKRs จากพี่โบ๊ท (คุณไผท ผดุงถิ่น) บิ๊กบอสของเรา บอกเลยว่า งง มาก และไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร มันจะทำให้ทุกคนในองค์กรมีเป้าหมายในการทำงานเป็นเป้าหมายเดียวกันจริง ๆ หรอ ?

แต่พอระยะผ่านไป มันพิสูจน์ให้เราเห็นว่า OKRs คือสิ่งที่ทำให้ทุกคนในองค์มีเป้าหมายในการทำงานอันเดียวกัน รู้และเข้าใจว่า ณ ตอนนี้อะไรคือเรื่องที่สำคัญและเร่งด่วนที่สุดขององค์กร ของทีม และของตัวเอง ทำให้ทุกคนรู้ว่าทีม หรือตัวเองต้องตั้ง OKRs แบบไหน เพื่อให้องค์กรบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ

บรรยากาศการทำ OKRs ใน Q4 2018

OKRs ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่เราต้องเปิดใจยอมรับมัน และเริ่มทำมันก็เท่านั้น

ฝากกด Clap กด Follow เพื่อกำลังใจให้จรีหน่อยนะคะ ^_^ แล้วพบกันในบทความหน้า เรื่อง OKRs ดีกว่า KPI จริง ๆ หรอ ?

แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม สำหรับท่านที่สนใจ ^^
- หนังสือ พัฒนาองค์กรและชีวิตด้วยแนวคิด OKRs โดย ดร.นพดล ร่มโพธิ์
- Mission to the moon Podcast EP 88 : สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จาก OKRs โดย คุณรวิศ หาญอุตสาหะ

--

--