EDAF กับทริปลัดฟ้าล่า Tech Unicorn Startup ที่ Indonesia : Day 1

Sirirat Rungpetcharat
BUILK
Published in
2 min readMay 1, 2019
ใช้เวลาทำปกนานกว่าเขียนอีกค่ะ Tech Unicorn Trip

สำหรับคนที่ทั้งชีวิตเคยไปแต่งาน Technical Summit การข้ามสายมาทริป Business ที่จัดโดยหัวแถววงการสตาร์ทอัพทั้งในไทยอย่าง พี่ป้อม ภาวุธ จาก Tarad.com และผีน้อยผู้กว้างไกล Casper จาก Kulina สตาร์ทอัพมาแรงแห่งกรุงจาการ์ต้า อินโดนีเซีย รายล้อมด้วยตัวแทนจากองค์กรชื่อดังที่พูดไปใครๆก็รู้จัก บวกกับ mission จากเจ้านายที่ว่า “แกเลิก introvert สัก 4 วันนะ”

แต่สำหรับเราเองก็ตั้งเป้าเบาๆไว้เช่นกัน ว่ามาครั้งนี้จะค้นหาให้ได้ ว่าอะไรคือ “secret sauce” ที่ทำให้อินโดนีเซียเกิด Unicorn หางสีรุ้งขึ้นมาเป็นฝูงแบบฉับพลันทันที

และในอดีต(2014) ที่ Builk Asia ก็เคยมาเยือนประเทศหมู่เกาะแห่งนี้ อะไรที่ทำให้เราต้องถอยทัพกลับไปตั้งหลัก

บอกเลยว่าเป็นอะไรที่โคตรท้าทายทั้งกาย และใจ…

การศึกษาดูงานของอบต.แม่สาย…ไม่ใช่!! Tech Unicorn Trip w/ EDAF

เพียงแค่วันแรกของการเดินทางพวกเราทุกคนก็ได้สัมผัสถึง Pain ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวจาร์กาต้า “ปัญหารถติด” แทบจะเรียกได้ว่าหน่วยนับของเค้าไม่ใช่นาทีแต่เป็นชั่วโมง กว่าจะฝ่าฝันมาถึง Headquarter ของ Unicorn ตัวแรกได้ก็บ่ายสามแล้วจ้า (fyi, ลงเครื่องตอนเที่ยงจ้ะเธอ)

Traveloka

Hendrik Susanto, Chief Strategy & Investment Officer เป็นผู้รอต้อนรับพวกเราอยู่ที่นั่น ได้ฟังเรื่องราวตั้งแต่การเกิด-เติบโต-เป้าหมายในอนาคตของแอพพลิเคชั่นสาย travel ที่เริ่มจากการพยายามกำจัดความวุ่นวายในการจองตั๋วเครื่องบิน สำหรับใครที่เคยจองตั๋วโปรโมชั่นกับสายการบินหลายแห่งคงจะมีภาพจำที่โหดร้ายไม่เบา กว่าจะเลือกเดือน เลือกวัน คลิกไปจนกว่าจะเจอรอบที่ติดป้าย Promotion แล้วนั่นก็แค่ขาไป ยังต้องมาวนลูป process เดิมกับขากลับ พอจะจ่ายตังค์ยังทำได้แค่แบบเดียว บัตรเครดิต/เดบิต

บางทีแม็กซ์ก็คิดนะ…ว่าทำไมต้องทำให้จองยากขนาดนั้นเพียงเพื่อจะบอกว่าจ่ายตังค์ได้แค่แบบเดียว…

และนี่คือโอกาสที่ Traveloka มองเห็น — crucial issue ที่ทำให้คนอดไปเที่ยวไม่ใช่ความยุ่งยากในการจองซะทีเดียว แต่เป็นการจ่ายเงิน

Traveloka เปิดตัวในอินโดนีเซียด้วยการเป็น Flight Booking Application ที่รองรับการจ่ายตังค์ทุกรูปแบบ บัตรเครดิต, เดบิต, Counter Service, ATM ด้วยการร่วมจับมือกับทุกพันธมิตรด้านการเงิน ทำให้ชาวอินโดนีเซียมีโอกาสได้ลืมตาอ้าปากนอกสถานที่กันถ้วนหน้า ทะยานแซงคู่แข่งที่เคยโลดแล่นมาก่อนอย่าง Skyscanner, Expedia อย่างมีนัยสำคัญ

Secret Sauce#1 Solve crucial issue, Destroy show stopper ยากที่สุดไม่ใช่การแก้ แต่เป็นการหาให้เจอ

การจะ 2B№1 ไปตลอดกาลโดยไม่เปลี่ยนแปลงอะไรมันเป็นไปไม่ได้ Traveloka ขยับขยายเปิดไลน์ใหม่ให้จองโรงแรมด้วยคอนเซปท์เดิม “ง่ายและจ่ายได้ทุกวิธี” ล่าสุด Traveloka ไม่หยุดแค่เพียงตั๋วเครื่องบิน และโรงแรม แต่ยังเพิ่มการจองตั๋วสถานที่ท่องเที่ยว รถไฟ รถบัส ฯลฯ กะว่าเอาให้ครบจบในแอพเดียว ตอบสนองความอยากเที่ยวแบบไม่ยุ่งยาก แม้ราคาจะแพงกว่าบ้างก็ไม่เป็นไร (ประโยคนี้อาจใช้ได้แค่ในวงการที่คนมีเงินเหลือพอให้เที่ยว)

Secret Sauce#2 Intense focus on your customer success and product ส่งมอบคุณค่าที่ลูกค้าต้องการให้ได้ตลอดเวลาด้วย product ของเรา

ใน session ที่สอง คุณธีร์ ฉายากุล, Thailand Country Manager ได้แปะมือเปลี่ยนไม้ขึ้นมาแทน แล้วคราวนี้เราโฟกัสกันไปทางด้าน Culture และอะไรที่ทำให้ Traveloka ประสบความสำเร็จในหลายๆประเทศ โดยเฉพาะในไทย

แม้ทั้งสองประเทศมีพื้นฐาน Culture และความเชื่อที่ต่างกัน แต่ที่นี่ให้ความสำคัญกับคนและทีมเหมือนๆกัน Core values ที่บริษัทตั้งไว้ ชาว Traveloka เรียกมันว่า “DNA”

Delication — Intellectual Honesty — Curiousity — Empathy — Humility

Recruit คนแบบนี้ พัฒนาคนให้เป็นแบบนี้ และรักษาวัฒนธรรมองค์กรเอาไว้ให้ได้

Secret Sauce#3 Protect team culture รักษาคนที่สตรอง เมื่อมีอุปสรรคใหม่เข้ามา คนที่สตรองเท่านั้นที่จะพาบริษัทรอดต่อไปได้

ใน session สุดท้ายมีเรื่องที่เราเหล่าชาวไทยด้วยกันหยิบยกมาถกกันหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างระหว่างคนไทย และอินโดนีเซียส่งผลกับการทำงานมั้ย? อะไรเป็นปัจจัยทำให้ Unicorn ในไทยเกิดได้ยากกว่าละ? ทุกประเด็นที่กล่าวมามี secret sauce แห่งความสำเร็จแทรกอยู่ทั้งหมด แต่มีสิ่งหนึ่งที่คุณธีร์พูดไว้ แล้วเราติดใจมากๆ บอกตรงๆเลยว่าไม่เคยหยิบเรื่องนี้มาคิดเป็นประเด็นมาก่อน แต่พอได้คิดเท่านั้นแหละก็ทำให้หยุดคิดอีกไม่ได้เลย…

“Founder เป็นคนยังไง : Culture บริษัทก็จะเป็นอย่างนั้น ก่อนจบทริปนี้อยากให้ลองสังเกต Introverted Founder ของ Traveloka กับ Founder ของ Go-jek ดูนะครับ”

ตามคิวแล้วช่วงเย็นจะมีการแวะเข้าไปเช็คอินและเก็บของที่โรงแรม แต่ traffic jam ของจาการ์ต้านับว่าเลเวล 99 เท้าเรืองแสง ไม่เพียงแต่เราต้องข้ามโปรแกรมแวะโรงแรม เรายังต้องข้ามถนนเพื่อไปที่ร้านอาหารกันเอง เพราะการรอกลับรถอาจทำให้เราเลทมื้อเย็นไปอีก 1 ชม. แล้วมื้อเย็นครั้งนี้ยิ่งไม่ควรพลาด ไม่เพียงแค่อาหารชั้นเลิศ แต่ยังมีทีมที่ปรึกษาของท่านฑูตฯทางด้านธุรกิจและการค้ามาร่วมดินเนอร์กับพวกเราอีกด้วย

ผู้ร่วมโต๊ะของเราคือ Theresia Simon คำถามส่วนใหญ่ที่แลกเปลี่ยนกันระหว่างทานอาหารค่อนข้างเป็นเรื่องธุรกิจที่ทุกคนให้ความสนใจ แถมแตกต่างเฉพาะทางกันไปในแต่ละเรื่องของตัวเอง และแน่นอนเราผู้มาจากแวดวง B2B สายก่อสร้างก็ต้องอยากรู้เรื่องสภาพสังคมของที่นี่บ้าง เพราะโครงสร้าง องค์ประกอบ และลักษณะการขยายตัวของสังคมจะส่งผลต่อความต้องการทางสาธารณูปโภค และการวางผังเมือง ซึ่งหนีไม่พ้นต้องเกี่ยวกับการก่อสร้างบ้างแหละ อ้อมไปมาก เพราะลองถามตรงๆแล้วว่ารู้เรื่องสายก่อสร้างมั้ย Therasia ส่ายหัวบอกว่าไม่ใช่แนว…อ่ะ…ไม่เป็นไร ถามอย่างอื่นก็ได้

“คนที่นี่แต่งงานเร็วค่ะ 20 กว่าๆก็แต่งงานกันแล้ว”

แน่นอน Theresia ไม่ได้พูดภาษาไทย

“และนิยมมีลูกเยอะ 4–5 คน”

“แล้วรัฐบาลไม่รณรงค์ลดจำนวนประชากรเหรอคะ” เราเองก็ไม่ได้ถามภาษาไทยเช่นกัน

“ก็มีบ้าง ไม่จริงจัง แค่ 2–3 ปีหลังเองค่ะ ยังไม่ได้ผลเท่าไหร่ แต่ถ้าพูดถึงที่อยู่อาศัยคนที่นี่ไม่นิยมคอนโดกันค่ะ ส่วนใหญ่ชอบซื้อบ้าน”

“อาจจะเพราะครอบครัวใหญ่อยู่คอนโดไม่สะดวก”

เพิ่งได้รู้วันนี้ว่าความเจริญส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในจาการ์ต้า ราคาที่อยู่อาศัยสูงมากในระดับที่คนธรรมดาแทบจับต้องไม่ได้ กลับกันถ้าออกห่างจากตัวเมืองไปจะเรียกได้ว่ากันดาลเบาๆ แต่คนทำงานส่วนใหญ่มักจะอาศัยอยู่ชายขอบความเจริญ เหมือนกรุงเทพฯไม่มีผิด

“แล้วถ้าเป็นด้าน Infrastructure ละ ทางภาครัฐมีวางแผนอะไรไว้มั้ย รถไฟฟ้าเอย สาธารณูปโภคเอย การสนับสนุน startup เอย”

“ที่นี่การเลือกตั้งเพิ่งผ่านไป ผลการเลือกตั้งยังไม่ออก คงต้องรอผลการเลือกตั้ง และนโยบายที่จะเปลี่ยนแปลงไปอีกทีนะคะ…”

Theresia บอกเวลาที่น่าจะรู้ผลเลือกตั้งได้อย่างแม่นยำ

คนไทยทั้งโต๊ะได้แต่หันมายิ้มให้กันอย่างเข้าใจ…เราเริ่มรู้ละว่าทำไมประเทศนี้ถึงหอมหวล และน่าหลงใหล

อินโดนีเซียกำลังเติบโต โลกดิจิตอล และอินเตอร์เน็ตกำลังขยายไปสู่ทุกภาคส่วนทำให้ผู้ใช้งานขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในช่วง 2–3 ปีให้หลัง ที่สำคัญทั้งรัฐ และเอกชนมีความตั้งใจที่จะเติบโตไปพร้อมๆกัน รัฐเหมือนพี่ใหญ่ที่มีนิสัยระแวดระวัง เอกชนเหมือนลูกคนกลางที่ทะเยอทะยาน และ Startup เหมือนน้องเล็กที่เต็มไปด้วยความฝันและพลังใจ ครอบครัวนี้เขามองเห็นโอกาสและศักยภาพของตัวเอง

แม้ยังไม่พร้อมเต็มที่ แต่ก็ไม่ปิดโอกาส

ยืดหยุ่น แต่ตั้งใจแน่วแน่ขนาดนี้ จัดว่าเป็นประเทศที่เก๋สุดๆ

และแล้ววันแรกก็จบลง โดยที่ในสายตาของเราเริ่มจะพอเห็นภาพคร่าวๆว่าอะไรเป็นอะไร ความที่อยู่แต่ในโลกเทคโนโลยีมันทำให้ทุกสิ่งที่พบเจอวันนี้มันดูว้าวไปหมด ไม่ว่าจะเป็น Startup Unicorn หรือเพื่อนๆพี่ๆผู้ร่วมทริป

ระดับความว้าวนี่เทียบได้กับตอนที่ไปสัมผัสงาน AWS Summit (นี่คือคำชมระดับสูงสุดของคนสาย AWS เลยนะคะ ใหญ่กว่านี้ก็งาน AWS re:invent แต่พอดียังไม่เคยไป ปีนี้จัดเดือนธันวาที่ลาสเวกัส ค่าบัตร 1799 USD พิมพ์ไว้เฉยๆ เผื่อเจ้านายมาอ่าน)

ตอนแรกตั้งใจจะอัดให้จบในบทความเดียว แต่ไม่ไหว ความโดดเด่นของ Unicorn แต่ละตัวช่างเยอะเหลือเกิน เขียนแล้วเพลินสุดๆ ขอหั่นทริปนี้ออกเป็น 3 ตอนนะคะ

ไหวมั้ย ถ้ายังไหวก็ตามมานะ ♪

--

--

Sirirat Rungpetcharat
BUILK
Editor for

Former CTO @Builk One Group and currently DevOps Lead @PALO IT THAILAND