Web Summit 2018 : ลิสบอน สอนใจ…น่าไปจริงมั้ย?

Patai Padungtin
BUILK
Published in
4 min readNov 11, 2018

ผมเพิ่งกลับมาจากงาน Web Summit 2018 ที่เมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ต้องขอขอบคุณ dtac accelerate ที่พาผมมาเปิดประสบการณ์บุกงานอีเว้นท์ระดับโลก พร้อมกับทีม Somjai Home Loan, GoWabi และเหล่า mentor & padawan ของทั้งสองทีม ผมเลยอยากสรุปแง่คิดและมุมมองของผมที่ได้รับจากงานนี้ และตอบคำถามหลายๆ คน ที่ถามว่า… น่าไปจริงมั้ย?

ประเด็นที่น่าสนใจในงาน ผมขอแนะนำให้ทุกท่านไปฟังกันได้ใน Podcast Mission to the Moon ของคุณรวิศ หาญอุตสาหะ นะครับ ผมไม่ได้เข้าหลาย session ก็ตามเก็บเอาจาก podcast ของคุณรวิศ เหมือนกัน ดังนั้นใน blog นี้ผมอยากขอเก็บประเด็นอื่นๆ ในมุม Tech Startup แบบของผมบ้างนะครับ

รู้จัก Web Summit กันก่อน

Web Summit เริ่มจัดครั้งแรกตั้งแต่ปี 2009 ที่เมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ โดย Paddy Cosgrave — CEO ของ Web Summit งานในครั้งแรกเป็นเพียงงานรวมตัวบล็อกเกอร์ นักข่าว และชาว geek กลุ่มเล็กๆ ปีถัดมางานเริ่มใหญ่ขึ้น มีคนเข้าร่วมงาน 400 คน ผ่านไป 3 ปี ในปี 2013 มีคนเข้าร่วมงานทะลุ 10,000 คน มี speaker เบอร์ใหญ่อย่าง Elon Musk มาในงานปีนั้นด้วย

ปี 2015 สเกลงานใหญ่ขึ้นเป็น 42,000 คน และเริ่มเกิดปัญหากับชาวเมืองดับลิน ทั้งเรื่องจราจร การสื่อสาร โรงแรมไม่พอ/แพง และในปี 2016 ผู้จัดงานก็ประกาศย้ายจากดับลิน ข้ามประเทศ มาจัดที่ลิสบอน โปรตุเกส ซึ่งมีพื้นที่จัดงานและระบบสาธารณูปโภคพร้อมกว่า เป็นเวลา 3 ปี (2016–2018)

Web Summit 2016 จัดที่ Altice Arena พื้นที่ที่เคยจัดจัดงาน Expo ’98 (1998 Lisbon World Exposition) รองรับผู้เข้าร่วมงาน 53,000 คน จนมาถึงปีล่าสุด 2018 มีผู้เข้าร่วมงานมากถึง 70,000 คน จาก 159 ประเทศ Speakers 1,200 คน และ Startup 1,800 บริษัท ในปีหน้าที่จะครบรอบ 10 ปี Web Summit ผู้จัดงานบอกว่าจะเห็นงานสเกล 100,000 คน และขอให้ทางเมืองลิสบอน และ Altice Arena เตรียมขยายพื้นที่รองรับเพิ่มอีกด้วย แถมยังเพิ่งเซ็นต์สัญญายาวๆ กับรัฐบาลโปรตุเกส ที่จะทำให้ Web Summit อยู่ที่นี่อีกยาวไปอีก 10 ปี จนถึง 2028 ด้วยงบประมาณปีละ 11 ล้านยูโร x 10 = 110 ล้านยูโร (ราว 400 ล้านบาท/ปี) — พอๆ กับค่าตัวคริสเตียโน โรนัลโด CR7 ที่ย้ายจากมาดริดไปยูเวนตุส โดยที่รัฐบาลโปรตุเกสหวังว่าจะใช้งานนี้เป็นแพลตฟอร์มเปลี่ยนประเทศสู่การเป็นประเทศนวัตกรรมอย่างยั่งยืน

โปรตุเกส… ประเทศที่มีประชากร 10.5 ล้านคน GDP Per Capita $21,000 (อันดับ 35 ในยุโรป) มี Unicorn เกิดจากที่นี่อยู่แค่ 1 ตัว ชื่อ OutSystems จากจำนวน Unicorn สัญชาติยุโรป 30 ตัว ก็ไม่ถือว่าเป็นประเทศที่มีอะไรโดดเด่นเรื่องเทคโนโลยี หรือสตาร์ทอัพ เทียบกับ UK มี Unicorn ถึง14 ตัว หรือเยอรมันที่เป็นผู้นำเทคโนโลยีชั้นสูงที่ทั่วโลกยอมรับ

จะว่าไป ลิสบอน นี่มันบุรีรัมย์ชัดๆ เมืองเล็กๆ ที่กล้าคิดใหญ่ อยากปักหมุดตัวเองในแผนที่เมืองนวัตกรรมของโลก ขอให้ลองติดตามวิสัยทัศน์ และการผลักดันนโยบายอย่างต่อเนื่องของโปรตุเกส ทั้งเรื่อง Startup/Talent VISA, Capability Building, Made of Lisboa และการทำตลาดร่วมกับ Web Summit ที่ดึงคนทั้งโลกให้หันมามองประเทศเค้า สังคมนวัตกรรมและผู้ประกอบการของลิสบอนน่าจับตามองมากครับ

กลับมาเรื่องงานกันต่อ สื่อชั้นนำจากทั่วโลก บอกว่า Web Summit คือ

The largest technology conference in the world. — Forbes
The world’s largest tech conference. — Financial Times
Davos for Geeks — Bloomberg
Glastonbury for Geeks — The Guardian

นั่นเลย ถ้าเป็นวงการธุรกิจ นักธุรกิจ นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำต้องไป Davos WEF เทศกาลดนตรีระดับโลกก็ต้องนึกถึง Glastonbury …งาน Web Summit นี้จะก็คงจะเป็นงานรวมคนสายเทคโนโลยี และชาว Geeks ที่ใหญ่ที่สุดในโลกประมาณนั้น

แต่มันไม่ใช่งานแสดงสินค้า ออกบูธสตาร์ทอัพ เวที Pitching และฟังเสวนา how-to ทั่วๆ ไปแบบที่เราเคยเห็นกัน งานที่มี Speakers ผู้นำทางความคิดระดับโลกกว่า 1,200 คน ส่วนใหญ่มาจากฝั่งอเมริกาและยุโรป มีเวทีทั้งหมด 24 Tracks เช่น Centre Stage (เวทีหลัก), Planet:Tech, Auto/Tech, Creatiff, ContentMakers, binate.io, FullSTK, DeepTech, MoneyConf, CryptoConf, HealthConf, PandaConf, SportsTrade, SaaS Monster, FORUM ฯลฯ ฟังยังไงก็ไม่มีทางครบ แล้วก็ประเด็นดีๆ ทั้งนั้นเลย

ก่อนไปเราต้องทำการบ้าน วางแผนก่อนว่าจะเข้าฟัง Session ไหน เวทีไหน เพราะแต่ละ Session สั้นมาก แค่ประมาณ 20–25 นาที และแต่เวทีอยู่ห่างกัน ไกลสุดถึง 1 กิโลเมตร ผมเล็งหลายๆ ช่วงบนเวที SaaS Monster, Growth Summits, Creatiff, ContentMakers, DeepTech และ Centre Stage ไว้ หวังว่าจะหาวรรคทอง เอามาปรับใช้ในงานของ BUILK ONE GROUP ให้ดีขึ้น

Theme งานในปีนี้ อยู่รอบๆ 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
1) Make web a “public good” อินเตอร์เน็ตที่เป็นอิสระ เปิดกว้างสำหรับทุกคน แต่ต้องเคารพความเป็นส่วนตัว ปลอดจากภัยคุกคาม และการใช้งานอินเตอร์เน็ตในทางที่ผิด Hate Speech, Bullying

2) Equality ความเท่าเทียมกัน ทางเพศ เชื้อชาติ ชนชั้นทางสังคม เห็นได้ชัดคือความพยายามส่งเสริม Women In Tech มีจำนวนโควต้าบัตรสำหรับผู้หญิง จำนวน Speakers และผู้ร่วมงานที่เป็นผู้หญิงเยอะขึ้นมาก

3) Sustainability ถูกแทรกเข้ามาในงานแทบทุกส่วน เพื่อทำให้งานอีเว้นท์ใหญ่ขนาดนี้ ไม่เป็นการสร้างขยะและมลพิษให้แก่โลกเพิ่มขึ้น เช่น Repurpose/Reusable Furniture ร่วมกับ IKEA, การแยกขยะ ลดการใช้พลาสติก ทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพ สาย PlanetTech และ SE หลายตัวตั้งแต่เรื่อง Food Waste และการปลูกป่า

มาถึงประเด็นที่ถูกใจผม จาก Session ที่เข้าฟังเอง ขอเอามาเล่าเป็น Top 5 ละกันนะครับ เพราะถ้าจะพิมพ์เล่าให้ครบทุกเรื่องที่จดมาคงจะยืดยาว เดี๋ยวจะเลิกอ่านกันซะก่อน

1) Growth: Fast Growth & Sustainable Growth ธุรกิจสตาร์ทอัพทุกราย ก็มุ่งแต่เรื่อง Growth ในระหว่างทาง Metrics ตัวชี้วัดต่างๆ จะเปลี่ยนไป แม้แต่บทบาทของ founders และ c-level เอง ถ้าธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว แล้วคุณแทบจะทำงานในบทบาทที่ต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิงในทุกๆ 6 เดือน… จะ Sustain หรือไม่ขึ้นกับข้อ 2) นี่หล่ะ

2) คน…คน…คน ในเวที Growth Summits ธุรกิจสตาร์ทอัพที่กำลังโต ที่ระดมทุน Series B ขึ้นไป มีทำงานไซส์ 100–500 คน ทั้งจากยุโรปและอเมริกา ล้วนแชร์บทเรียนสำคัญเรื่องคน ตั้งแต่เรื่อง Bad Hires การสื่อสาร ไปจนถึงเรื่องการปรับเปลี่ยน Cultures ในแต่ละช่วงเวลาที่ธุรกิจเติบโตขึ้น

3) Startup รายใหญ่ๆ และ Unicorn แถวยุโรป (ที่เราไม่ค่อยรู้จัก) ทำเรื่องเล็กๆ ในตลาดใหญ่ๆ ที่ผู้ใช้ Adopt เทคโนโลยีได้เร็ว เช่น OutSystems และ Algolia ทำ tools และ services ที่ให้ software developer, consultant หรือ corporate ใช้งานอีกที เป็นธุรกิจแบบ B2B SaaS เหมือนกับเรา แต่ไม่ได้ทำกับลูกค้าที่ adoption และ onboarding ยาก อย่างผู้รับเหมา SMEs และถ้าเทคโนโลยีดีจริง เค้าก็มีตลาดเป็น innovator และ early adopter สายเทคจากทั่วโลก

4) Corporate ยักษ์ใหญ่ขยับตัว เปลี่ยนกลยุทธ์จาก ทีม IT สมัยก่อนเป็นแค่ฝ่ายซัพพอร์ต หรือกองหลัง เปลี่ยนมาสร้างทีม Data และทีมเทคโนโลยีของตัวเอง เผาตำรา Best Practices ยุค 90’s และช่วงปี 2000 ต้นๆ จากการวางระบบ IT ด้วย Best Practices ที่ใครๆ ก็ทำเหมือนกัน เป็น Standardize = Commoditize จนถึงยุคที่ IT กลายเป็น non-core unit และ outsource ออกไปได้ ในปัจจุบันนี้กลับตาลปัตร เกิดการไล่ล่าตัวบุคลากรสายเทคโนโลยี โดยเฉพาะสาย data กลับเข้าสู่บริษัทขนาดใหญ่ ตั้งทีม Tech/Innovation ทำงานแบบ Agile กลายเป็น Secret Weapon ในการต่อสู้ทางธุรกิจสมัยใหม่… Talk นี้ทำให้เห็นภาพ สิ่งที่เกิดขึ้นใน Corporate เมืองไทยชัดเจนขึ้น

5) หลังจากฟังเด็ก 3 คน ใน Session This is the Future ของเวที DeepTech ผมขนลุกว่าทำไมเด็กๆ เดี๋ยวนี้มันเก่งกันจัง แล้วก็ทำให้นึกถึงประโยคของ Sir Isaac Newton ที่ว่า “If I have seen further it is by standing on the shoulders of Giants.” คุณรุ่นใหม่ ที่มีโอกาสสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้โลก โดยมีองค์ความรู้จากคนรุ่นก่อนให้ศึกษาต่อยอด ก็สามารถไปได้เร็วกว่า… ผมและทีมงาน เราก็ยังเป็นแค่สตาร์ทอัพเล็กๆ จากประเทศกำลังพัฒนา ยังมีอะไรต้องทำอีกเยอะ ต้องพยายาม ดิ้นรน ออกแรงปีนขึ้นไหล่ยักษ์เหมือนกัน เพื่อจะได้มองเห็นโอกาสได้ไกลขึ้น และทำมันให้สำเร็จให้ได้

จบแล้ว… แต่ยังไม่ได้บอกเลยว่า งานนี้น่าไปจริงมั้ย
สำหรับผม เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ที่ได้มีส่วนร่วมในงานที่พูดถึงเรื่องที่ใหญ่โต พูดกันในสเกล Global Agenda ขนาดนี้…

จริงๆ ทางผู้จัดงานก็ใจกว้าง ทำ Live และมีคลิปให้ดูจากหลายๆ เวที ถึงใครไม่มีโอกาสได้ไป ก็ยังตามดูคลิปย้อนหลังกันได้ แต่บรรยากาศในงานทั้งหมด มันก็แตกต่างจากในคลิปหล่ะ มันคึกคักมาก …มันมีโอกาสทำให้เราได้เดินคุย ซักถาม กับคนที่ Geek คล้ายๆ กัน คนที่กำลังทำอะไรบ้าๆ เปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นเหมือนๆ กัน… ที่สำคัญ ถ้าโชคดีอาจจะเจอ “วรรคทอง” ที่จะเปลี่ยนมุมมองชีวิตและธุรกิจของคุณได้

--

--

Patai Padungtin
BUILK
Editor for

Entrepreneur+Civil Engineer+Marketer+Designer+Son+Husband+Father+Friend+Lecturer+Student+Singer+Traveller+Troublemaker+Solution Provider