ปีนี้ ESG มาแน่นอน! บริษัทใหญ่ทำอะไรกัน? ไม่อยากตกเทรนด์ต้องอ่าน!

Pat Lee
CODIUM
Published in
3 min readJan 4, 2024

--

ESG

ประเทศไทยจริงจังแค่ไหนกับเทรนด์ ESG? บริษัทได้ประโยชน์อะไรบ้าง?

ESG (Environment, Social และ Governance) หลักการดำเนินธุรกิจรูปเเบบใหม่ หนึ่งใน Megatrends มาแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเป็นหนึงในเทรนด์ที่สำคัญที่สุดสำหรับบริษัทใหญ่ในปี 2567 ที่ไม่ได้เป็นเพียงเเนวทางการพัฒนาองค์กร หรือกลยุทธ์ในเชิงการตลาดเพื่อดึงดูดผู้บริโภคและผู้ใช้บริการ เเต่ยังส่งผลต่อเเนวคิด วิธีการและปัจจัยประกอบ เมื่อเหล่านักลงทุนพิจารณาเลือกบริษัทที่ต้องการลงทุน หรือที่รู้จักในชื่อ การลงทุนแบบยั่งยืน (Sustainable Investing) โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อมั่นว่าการจัดสรรเงินลงทุนไปกับองค์กรที่มีการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG ย่อมเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนในระยะยาว

ปัจจุบัน ESG ได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลก โดยผลสำรวจจาก State Street Global Advisors พบว่า ผู้ลงทุนสถาบันในทวีปสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชียแปซิฟิก จัดสรรเงินลงทุนในพอร์ตของตนร้อยละ 80 ไปกับองค์กรที่มีการดำเนินการตามหลัก ESG ยิ่งกว่านั้นผลการวิจัยของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยชี้ว่า พอร์ตการลงทุนในบริษัทจดทะเบียนที่เน้นความยั่งยืนอาจนำมาซึ่งผลตอบแทนที่มากขึ้น ผลการสำรวจต่าง ๆ ชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลของ ESG ที่มีต่อตลาดการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังนำไปสู่การจัดตั้งดัชนีความยั่งยืน (Sustainability Index) เพื่อชี้วัดระดับความสอดคล้องของการดำเนินธุรกิจกับแนวคิด ESG

ประเทศไทยจริงจังแค่ไหนกับ ESG? บริษัทได้ประโยชน์อะไรบ้าง?

ประเทศไทยได้มีการจัดตั้งเกณฑ์หุ้นยั่งยืน (THSI: Thailand Sustainability Investment) หรือที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ SET ESG Ratings เพื่อประเมินและจัดบริษัทจำกัดเข้ากลุ่มหุ้นยั่งยืน ซึ่งในปี 2023 มีบริษัทผ่านการคัดเลือก 193 บริษัท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 27 บริษัท แสดงให้เห็นความตื่นตัวของภาคธุรกิจและนักลงทุนในปัจจัยด้าน ESG รวมถึงเเสดงถึงพัฒนาการที่สำคัญในการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ของบริษัท

ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 เทรนด์ ESG ได้รับการผลักดันจากภาครัฐด้วยนโยบายส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน หรือกองทุน Thai ESG ซึ่งจะเน้นการลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทที่มีความโดดเด่นในปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ เเน่นอนว่านโยบายดังกล่าวมาพร้อมกับสิทธิประโยชน์น่าสนใจที่ผู้ลงทุนไม่ควรพลาด โดยสามารถนำยอดซื้อลงทุนไปหักลดหย่อนรายได้พึงประเมินที่นำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี

Thai ESG (ESG Fund)
กลต กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน

กลุ่มที่ให้ความสำคัญต่อแนวคิด ESG ไม่ได้หมดเพียงเเค่ภาครัฐเเละผู้ประกอบการบริษัทจดทะเบียนเท่านั้น ธนาคาร หนึ่งในสถานบันที่มีบทบาทสำคัญในด้านการเงินและการธุรกิจ ร่วมเเสดงจุดยืนต่อกรอบแนวคิดความยั่งยืนผ่านแผนการดำเนินการ นโยบายการบริหาร และการพัฒนาผลิตภัณฑ์เช่นกัน

  • ธนาคารออมสินใช้ ESG Score ประเมินสินเชื่อ

ธนาคารออมสินประกาศปักหมุดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ “Net Zero Emissions Roadmap” โดยริเริ่มใช้ ESG Score เป็นธนาคารเเรกของประเทศ เพื่อประเมินสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งมีโอกาสในการสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมสูง สำหรับธุรกิจได้คะแนนประเมินสูงตามเกณฑ์ที่กำหนดจะจัดอยู่ใน Positive List และได้รับสินเชื่อ รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เช่น การเพิ่มวงเงิน หรือลดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ อีกทั้งกำหนดแผนการงดปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งเเวดล้อมสูง Exclusive List

  • EXIM BANK หนุนสินเชื่อธุรกิจ ESG

ในฐานะธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ EXIM BANK ได้กำหนดและดำเนินนโยบายด้านการบริหารและสนับสนุนทางการเงินเเก่ธุรกิจที่มิได้หวังเพียงผลตอบเเทนทางการเงิน เเต่ยังคำนึงถึงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์ “สินเชื่อ EXIM Biz Transformation Loan” เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้ดำเนินการตามหลัก ESG ให้วงเงินกู้สูง อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 2% ต่อปีและระยะเวลาผ่อนนานถึง 7 ปี

  • ธนาคารกรุงไทยออกสินเชื่อหนุน SME ที่เข้าเกณฑ์ ESG

ผลิตภัณฑ์สินเชื่อกรุงไทยเพื่อความยั่งยืน ออกแบบมาเพื่อผู้ประกอบการ SME ที่เข้าเงื่อนไขการดำเนินการด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมตามเทรนด์ ESG ด้วยวงเงินกู้สูงสุด 2 เท่าของมูลค่าหลักประกัน ระยะเวลาผ่อนนานสูงสุด 10 ปี พร้อมอัตราดอกเบี้ยพิเศษ

บริษัทใหญ่ทำอะไร ให้เข้าเกณฑ์ ESG บ้าง?

จากกระแส ESG ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลงง่าย ๆ วันนี้ CODIUM มาพร้อมกับ 2 ตัวอย่างการพัฒนาเพื่อตอบสนองเทรนด์ของ 2 บริษัทใหญ่ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหุ้น SET ESG Rating ระดับ AAA ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตามเกณฑ์การประเมินหุ้นยั่งยืน

ADVANC

บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส บริษัทใหญ่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีได้มีการกำหนดทิศทางการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนอย่างชัดเจนด้วย “แนวทาง 3 ด้าน สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”

ADVANC แนวทาง 3 ด้าน สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) รายงานประจําาปี 2565 (แบบ 56–1 One Report)

1. การขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ

มุ่งพัฒนานวัตกรรมด้านดิจิทัลโดยเพิ่มความปลอดภัยทางไซเบอร์เพื่อปกป้องข้อมูลภายในที่สำคัญ เเละเร่งพัฒนาคุณภาพบุคลากรแบบองค์รวมให้มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ

2. สร้างการเข้าถึงดิจิทัลให้ทุกคนในสังคม

เอไอเอสปรับกลยุทธ์ โครงสร้างในการบริหาร วัฒนธรรมองค์กร และกระบวนการทำงานให้มีความคล่องตัวเพื่อสร้างนวัตกรรมให้ผลิตภัณฑ์ด้านดิจิทัลไลฟ์ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลได้หลากหลายและมีประสิทธิภาพ

3. ยืนหยัดเพื่อสิ่งแวดล้อม

ด้วยความตระหนักถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมผ่านการบริหารจัดการกระบวนการดำเนินธุรกิจ เอไอเอสได้ปรับเป้าหมายการดำเนินการตามเเนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ พร้อมเพิ่มเป้าหมายเรื่องการรักษาระบบนิเวศเเละปกป้องป่าไม้ รวมถึงเพิ่มเเนวทางการบริหารจัดการขยะเพื่อความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

CPALL

บมจ. ซีพี ออลล์ ประกอบธุรกิจหลักประเภทร้านค้าสะดวกซื้อภายใต้เครื่องหมายการค้า 7-Eleven ประกาศใช้นโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่คลอบคุลมปัจจัยทั้ง 3 มิติตามหลัก ESG พร้อมทั้งมีการตรวจวัดเพื่อประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการดำเนินนานอย่างต่อเนื่อง

CPALL ESG
บริษัท ซีพี ออลล จํากัด (มหาชน) แบบ 56–1 ONE REPORT รายงานประจําปี 2565

1. 7 Go Green

CPALL ตั้งเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและทรัพยากรภายในองค์กรและศูนย์จำหน่ายสินค้า เเละลดปริมาณขยะที่เกิดจากการดำเนินงาน เช่น เอกสารกระดาษ ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูปกป้องระบบนิเวศให้อุดมสมบูรณ์ เช่น โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Next Gen New World)

2. 7 Go Together

มุ่งเน้นการดำเนินงานด้านการศึกษาและให้คุณค่าทางสังคม พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ เพื่อสร้างรายได้สำหรับผู้ประกอบการ SME ผ่านโครงการเพื่อสังคมที่หลากหลาย

3. 7 Go Right

บริษัทดำเนินงานด้านการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างรับผิดชอบทั้งภายในเเละภายนอกองค์กร (Change Agent) เพื่อมุ่งสู่การดำเนินงานของคู่ค้าที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนเเละลดผลกระทบเชิงลบ เพิ่มผลกระทบเชิงบวกในด้านสิ่งแวดล้อมรวมถึงเป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

สรุป

เทรนด์ ESG หนึ่งใน Megatrends มาเเรงที่ธุรกิจต่าง ๆ ไม่ควรมองข้าม เพราะนอกจากจะส่งผลในเเง่ของการปรับปรุงพัฒนาประสิทธิภาพภายในซึ่งส่งผลดีในหลายมิติต่อตัวองค์กร ในขณะเดียวกันก็มีอิทธิพลในเเง่ของการดึงดูดผู้บริโภค รวมถึงเหล่านักลงทุนที่ยกให้ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และ บรรษัทภิบาล (Governance) เป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินใจใช้สินค้าเเละบริการ หรือลงทุนในบริษัทนั้น ๆ เเละสำหรับท่านใดที่กำลังมองหาโซลูชั่นดี ๆ เพื่อนำมาปรับใช้กับองค์กรเพื่อให้สอดคล้องกับดัชนีชี้วัดในเชิงสิ่งเเวดล้อม CODIUM ขอนำเสนอ e-Memo ระบบจัดการและอนุมัติเอกสารออนไลน์ และ e-Signature ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตัวช่วยสุดว้าวที่สามารถช่วยในการลดการใช้กระดาษภายในองค์กร รวมถึงช่วยในการวิเคราะห์และเเสดงผลความเปลี่ยนเเปลงหลังจากองค์กรหันมาปรับใช้กลยุทธ์ ESG ได้อีกด้วย

ขอบคุณแหล่งอ้างอิง

--

--