Endocannabinoid System คืออะไร

Cannabit Addict
Cannabit Addict
Published in
2 min readDec 21, 2019

จุดเริ่มต้นมาจากปี ค.ศ. 1964 โดยนักเคมีชื่อ Rapheal Machoulam และทีมวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์แมนประเทศอิสราเอล ได้สกัดสารประกอบต่างๆในกัญชาเรียกว่าสาร Cannabiniods แยกเป็นหลายชุดและฉีดแต่ละชุดเข้าไปในลิงเพื่อค้นหาสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท จนได้พบสารชุดหนึ่ง เมื่อฉีดเข้าไปในลิงที่ปรกติจะมีความก้าวร้าวกลับสงบลงอย่างมีนัยยะสำคัญ และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นพบสารสำคัญในกัญชาชื่อว่า Delta-9-tetrahydrocannabinol หรือ △9-THC ที่เรารู้จักกันทุกวันนี้นั่นเอง การค้นพบ THC ของ Machoulam นั้น ก่อให้เกิดการค้นพบสาร Cannabinoids ในกัญชาต่างๆเพิ่มมากขึ้น มีงานวิจัยออกมาอีกมากมาย แต่นักวิทยาศาสตร์ยังคงไม่สามารถเข้าใจระบบการทำงานที่ซับซ้อนของ Cannabinoid ได้เพราะยังขาดตัวแปลสำคัญ จนกินเวลาไปเกือบ 30 ปี จึงได้มีการค้นพบครั้งสำคัญขึ้นอีกครั้ง

ในปี ค.ศ.1991 Miles Herkenham และทีมวิจัย ได้ค้นพบตัวรับสารสื่อประสาท (Receptor) ของ THC ในร่างกายมนุษย์ชื่อว่า CB1 ทีมวิจัยได้พบต่อมรับสารสื่อประสาทนี้ในระบบสำคัญสำหรับการทำงานของสมองและร่างกายคือ Hippocampus (ความจำ), Cerebral Cortex (การรับรู้), Cerebellum (การทำงานรวมกันของระบบประสาทเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของร่างกาย), Hypothalamus (ความต้องการพื้นฐานเช่น ความหิว การสืบพันธุ์ และ การพักผ่อน), Amygdala (อารมณ์) และที่อื่นๆ ไม่นานหลังจากนั้นได้ค้นพบตัวรับสารสื่อประสาทตัวที่สอง ชื่อว่า CB2 ในระบบภูมิคุ้มกันและระบบประสาทส่วนปลายและยังพบใน กระเพาะ ม้าม ตับ หัวใจ ไต กระดูก เส้นเลือด เซลล์น้ำเหลือง ต่อมไร้ท่อต่างๆ และ อวัยวะสืบพันธุ์

การค้นพบ CB1 และ CB2 ทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ร่างกายมนุษย์เองก็น่าจะสามารถผลิตสารสื่อประสาทที่ทำงานกับตัวรับ CB1 และ CB2 แบบเดียวกันกับกัญชาได้ และ Raphael Machoulam บิดาแห่ง THC ก็ได้ค้นพบ Cannabinoids ที่ร่างกายสามารถผลิตขึ้นมาได้เอง ชื่อว่า Anandamide (อนันดามายด์) ในปี ค.ศ.1992 และได้ค้นพบสารตัวที่สองชื่อว่า 2-AG (2-arachidonoylglycerol) ในปี ค.ศ.1995 และเรียกระบบการทำงานของสาร Cannabinoids กับสาร CB1 และ CB2 ที่กระจายอยู่ทั่วร่างกายว่า “Endocannabinoid System”

มนุษย์มีระบบตัวรับสารแคนนาบินอยด์โดยเฉพาะ เช่นเดียวกับกรณีของระบบโอปิ ออยด์ที่ตอบสนองต่อสารโอปิออยด์ต่างๆ (มอร์ฟีน โคเดอีน) ส่วนระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ (ECS) ประกอบไปด้วยตัวรับสารแคนนาบินอยด์ (CB) และส่งผลต่อกิจกรรมของระบบร่างกายต่าง ๆ มากมาย สารไฟโตแคนนาบินอยด์ ในต้นกัญชาทำงานเช่นเดียวกับเอ็นโดแคนนาบินอยด์ที่ผลิตขึ้นเองในร่างกาย

สมองของมนุษย์และอวัยวะอื่น ๆ มีตัวรับสารแคนนาบินอยด์ (CB) ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และสารเคมีที่จับกับตัวรับเหล่านั้น เราเรียกระบบนี้ว่า ระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ของมนุษย์ (ECS) หน้าที่ของ ECS คือการรักษาความสมดุลของร่างกายให้ทำงานเป็นปกติ โดยการควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ระบบนี้มีหน้าที่สำคัญในระบบประสาทของเรา และควบคุมหลาย ๆ กระบวนการทางกายภาพซึ่งรวมถึงการปรับเปลี่ยนอาการตอบสนองต่อความปวด ความอยากอาหาร การย่อยอาหาร การนอน อารมณ์ การอักเสบ และการจดจำ ECS ยังช่วยลดระดับชัก (หรือโรคลมชัก) รวมถึงส่งผลต่อการทำงานร่วมกัน และกระบวนการอื่น ๆ เช่น ระบบภูมิคุ้มกัน การทำงานของหัวใจ ระบบประสาทสัมผัส (การสัมผัส ความสมดุล การรับรู้พื้นที่) การเจริญพันธุ์ สรีระของกระดูก และระบบตอบสนองต่อความเครียดส่วนกลาง (HPAA) การพัฒนาระบบประสาท และความดันลูกตา

ในร่างกายมนุษย์สามารถสร้างสารแคนนาบินอยด์เองได้ คือสารเอ็นโดแคนนาบินอยด์ สารชนิดนี้สามารถออกฤทธิ์หรือกระตุ้นตัวรับแคนนาบินอยด์ ซึ่งมีกลไกการทำงานเช่นเดียวกับสารไฟโตแคนนาบินอยด์ ซึ่งจับกับตัวรับเหล่านั้น

สารแคนนาบินอยด์ที่ได้จากพืชมีชื่อเรียกว่าสารไฟโตแคนนาบินอยด์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบเฉพาะที่พบในต้นกัญชา โดยมีสารเตตร้าไฮโดรแคนนาบินอล (THC) และแคนนาบิไดออล (CBD) เป็นองค์ประกอบหลัก เรายังพบสารแคนนาบินอยด์ชนิดอื่น ๆ แต่ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนในปัจจุบัน

การทำงานของสารแคนนาบินอยด์

สารแคนนาบินอยด์ออกฤทธิ์ โดยการจับกับตัวรับ CB ที่รับสารนี้โดยเฉพาะ ตัวรับสารแคนนาบินอยด์เป็นหนึ่งในกลุ่มตัวรับที่จับคู่กับ จีโปรตีน (G-protein-coupled receptors) ในปัจจุบันพบว่ามีตัวรับสารแคนนาบินอยด์ 2 ชนิด (CB1 และ CB2) ที่สามารถยืนยันได้

ตัวรับ CB2 ส่วนใหญ่พบได้ ในเซลล์บางชนิดของระบบภูมิคุ้มกัน ระบบทางเดินอาหาร และในอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น ม้าม และต่อมทอนซิล

สารไฟโตแคนนาบินอยด์ THC จะกระตุ้นตัวรับ CB1 และ CB2 ซึ่งส่งผลควบคุมต่อกิจกรรมในระบบกายภาพต่าง ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับ THC แล้ว CBD จะมีความสามารถในการจับกับตัวรับ CB น้อยกว่าและทำหน้าที่ยับยั้งกิจกรรมของตัวรับเป็นหลัก

การทำงานของสารแคนนาบินอยด์

ตัวอย่างเช่น ตัวรับ CB1 มีอยู่ ในพื้นที่สมองหลายส่วนซึ่งควบคุมการทำงานของสมองและพฤติกรรม สารแคนนาบินอยด์มีผลต่อการตอบสนองทางประสาทสัมผัสและและการสั่งการ (การเคลื่อนไหว) อัตราการเต้นของหัวใจ การตอบสนองทางอารมณ์ ความอยากอาหารและอาการคลื่นไส้หรืออาเจียน ความไวต่อความปวด การเรียนรู้ การจดจำและการตัดสินใจขั้นสูง

หากมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาของ ECS ในมนุษย์มากขึ้น เราก็จะสามารถทำความเข้าใจการทำงานของสารไฟโตแคนนาบินอยด์ THC, CBD และสารแคนนาบินอยด์ชนิดอื่น ๆ ได้ดียิ่งขึ้นเช่นกันซึ่งความรู้ความเข้าใจนี้จะนำไปสู่การคิดค้นยาที่ดีขึ้น

แผนภาพด้านล่างคือข้อมูลโดยสรุปเกี่ยวกับสารแคนนาบินอยด์ชนิดต่าง ๆ ซึ่งได้แก่สารแคนนาบินอยด์ที่ได้จากต้นกัญชา รวมถึงสารสังเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ และที่สร้างจากร่างกายของเรา

สรุปเกี่ยวกับสารแคนนาบินอยด์ชนิดต่าง ๆ

เรียบเรียงจาก “A primer to medicinal cannabis”

--

--