ชีวิตหลังกระดาษ [Kindle’s Way]

Chainarong Tangsurakit
Breadcrumbs of My Life
4 min readApr 2, 2013

[PDF Version Click Here]

KINDLE’S WAY: บทความที่เล่าเบื้องลึกของ kindle และ Amazon อย่างเข้มข้น สำหรับ kindle Power User ไม่ควรพลาด!! พบกันได้ได้ที่นิตยสาร GM ครับ [อ่านตอนอื่นๆ ได้ที่นี่เลย]

The Bookless Society

ทุกวันนี้ หนังสือเล่มค่อยๆ ลดบทบาทความสำคัญลงไปเรื่อยๆ แม้แต่กระแสในเมืองไทยที่สำนักพิมพ์ใหญ่ๆ และบริษัทเอกชนต่างๆ เริ่มอัดฉีดเงินลงทุนเพื่อชิงชัยในสนาม E-Book กันอย่างดุเดือด อุปกรณ์แท็ปเล็ตที่เคยราคาแพง ก็ปรับลดต่ำลงจนมีราคาถูกกว่าจักรยาน รวมไปถึงสัญญาณ 3G ที่จวนเจียนใกล้คลอดอยู่เต็มที เทคโนโลยีต่างๆ ช่วยเปิดโอกาสให้คนทุกระดับ เข้าถึงข้อมูลข่าวสารและความรู้ได้อย่างรวดเร็ว ง่ายดาย หนังสือเล่มจะค่อยๆ หายากขึ้นจนแทบสาบสูญ ร้านหนังสือค่อยๆ ล้มหายตายจาก เพราะภัยคุกคามจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง ห้องสมุด จะวิวัฒนาการกลายเป็น “ห้องไร้สมุด” และมันเริ่มต้นขึ้นแล้ว, ตอนนี้!

San Antonio เมืองสุดท้ายในรัฐเท็กซัสก่อนถึงแม็กซิโก เตรียมเปิดตัวห้องสมุดสาธารณะรูปแบบใหม่ในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ คุณจะไม่มีวันได้เห็น “หนังสือเล่ม” ในสถานที่แห่งนี้อีกเลย BiblioTech เป็นห้องสมุดแรกในโลกที่จะแทนที่ชั้นวางหนังสือทั้งหมดด้วย คอมพิวเตอร์, Tablet และ eReader ต่างๆ วางเรียงรายให้ผู้ใช้บริการ สามารถค้นหาและอ่านหนังสือได้เองอย่างง่ายดาย คิดดูแล้ว มันทำให้การหาหนังสือใช้เวลาน้อยลงจนน่าเหลือเชื่อ จำนวนหนังสือในห้องสมุด จะมีจำนวนมากกว่าห้องสมุดทั่วไป เพราะไม่ต้องมีการขนส่งและจัดเก็บ

“พวกเราต่างก็รู้ดีว่า โลกกำลังเปลี่ยนแปลง ผมเองก็เป็นหนอนหนังสือตัวยง ผมอ่านหนังสือปกแข็ง และมีหนังสือเป็นพันเล่มที่ตีพิมพ์ครั้งแรก หนังสือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผมมาก” นายกเทศมนตรีกล่าว “แต่โลกกำลังเปลี่ยนแปลง และนี่คือหนทางที่ดีที่สุด และมีประสิทธิภาพสูงสุด ที่จะสามารถช่วยเหลือชุมชนของเราได้”

Cushing Academy เป็นอีกโรงเรียนหนึ่งที่พยายามนำแนวคิดนี้มาสร้างจริง โดยการปรับปรุงห้องสมุดเดิมของโรงเรียน ที่มีอายุยาวนานกว่า 100 ปี ให้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้แบบ “ไร้หนังสือ” ในปี 2009 แต่ถูกเสียงคัดค้านอย่างรุนแรง จนจบด้วยวิธีการประณีประนอม โดยผสมผสานระหว่างห้องสมุดเดิมและเทคโนโลยีในปัจจุบัน ถือได้ว่าเป็นห้องสมุดตัวอย่างที่โรงเรียนหลายๆ แห่งพยายามพัฒนาตาม

ในปี 2011 Borders ร้านหนังสือเชนยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ในสหรัฐอเมริกากว่า 500 สาขา ยุติธุรกิจตัวเอง และประกาศล้มละลายต่อศาล เป็นผลจากการขาดทุนย่อยยับในการดำเนินงานเรื่อยมา แม้กระทั่ง Barnes & Nobles เบอร์ 1 ในอุตสาหกรรมหนังสือเองก็ตาม ก็อยู่ในช่วงระส่ำระส่าย เพราะยืนอยู่ตรงกลางระหว่างคู่แข่งยักษ์ใหญ่ 2 ราย นั่นคือ Walmart และ Amazon ผู้บริโภคกลุ่มหนึ่ง เลิกเดินเข้าร้านหนังสือ เพราะคิดว่า ไว้ค่อยไปซื้อตอนที่ไปซุปเปอร์สโตร์ พร้อมกับสินค้าตัวอื่นๆ ก็ได้้ อีกกลุ่มหนึ่ง ตัดสินใจซื้อหนังสือผ่านอินเตอร์เน็ต และรอไปรษณีย์อยู่บ้าน ประหยัดทั้งเวลา และค่าเดินทาง นี่เป็นจุดเริ่มต้นของอนาคต ที่ร้านหนังสือ อาจจะไม่ใช่ “ความจำเป็น” ของคนในชุมชนอีกต่อไป

ในอีกไม่นาน เราจะเห็น eReader ที่บางเท่ากระดาษจริง โค้ง งอ ได้ดั่งใจ ทนทานต่อการตกน้ำ และตกกระแทก PaperTab หรือ แทปเล็ตกระดาษ ได้ออกมาอวดโฉมสายตาคนทั่วโลกเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาในงาน CES 2013 เทคโนโลยีดังกล่าวเรียกเสียงฮือฮาได้อย่างกว้างขวาง เพราะมันคือการก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ ของแท็ปเล็ตเดิมๆ ที่เคยมีไปหมดสิ้น จุดอ่อนที่เคยถูกโจมตี เริ่มถูกทำลายไป มีแต่คุณประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นมาแทน

บริษัท 3M เองก็เพิ่งเปิดตัวระบบ Cloud Library หรือ “ห้องสมุดบนก้อนเมฆ” เมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้ห้องสมุดพื้นที่หลายตารางเมตร ลดขนาดลง กลายเป็น Kiosk เล็กๆ แบบเดียวกับตู้เกม หรือแม้กระทั่งอยู่บนฝ่ามือของท่าน ผ่าน 3M Cloud Library Application คำถามคือ “ห้องสมุดบนพื้นดิน” ยังจำเป็นอยู่หรือไม่?

The Revolution of E-Book

Digital Format ในไฟล์เพลงได้เคยสร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการเพลงไปทั่วทุกสารทิศ ร้านค้าน้อยใหญ่ ต้องลมหายตายจาก เหลือเพียงตัวจริงในสนามไม่กี่รายที่ยังคงยืดหยัดอยู่ได้แบบหืดขึ้นคอ เพราะไม่เพียงแต่ Online Music Store ที่เข้ามาบุกทลายร้านขายเพลงแบบ Brick-and-Motar อย่างไม่ปราณีเท่านั้น แต่รวมไปถึงเหล่าธุรกิจดิจิตัลที่กลายพันธุ์และเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงวัฏจักรเดิมของผู้บริโภค อย่างเช่น สถานีวิทยุออนไลน์ Pandora ที่มาคาดเดารสนิยมของผู้ฟังได้อย่างรู้ใจ หรือแอพพลิเคชั่นประเภท Shazam ที่ให้คุณฉกชวยคว้าเพลงในอากาศมาไว้ในมือถือได้อย่างง่ายดาย พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ยิ่งทำให้ผู้คนยอมแลกสุนทรียะของการฟังเพลงแบบเดิมๆ กับความสะดวกสบายที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก หากการมาของ E-Book ในครั้งนี้จะซ้ำรอยประวัติศาสตร์เดิมของวงการเพลงก็คงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเท่าไรนัก นี่คือบางตัวอย่างของนวัตกรรมใหม่ ที่ส่งสัญญาณกับเราว่า E-Book เริ่มกลายพันธุ์ไปเป็นธุรกิจอื่นๆ และรุกรานธุรกิจสิ่งพิมพ์แบบเดิมๆ มากขึ้นเรื่อยๆ

Total BooX: ซื้อหนังสิือทั้งเล่มทำไม? ในเมื่อจ่ายตามจริงได้

มันแฟร์กับผู้บริโภคแล้วหรือ ที่เราต้องจ่ายเงินเต็มจำนวนเพื่อซื้อหนังสือทั้งเล่มที่สุดท้ายไม่ได้อ่าน หรือผิดหวังเมื่อพบว่ามันไม่ใช่หนังสืออย่างที่คิดไว้ นี่เป็นปัญหาที่หลายๆ คนเคยพบเจอ แต่คุณจะไม่ต้องเจอมันอีกต่อไป เมื่อคุณได้รู้จัก Total BooX

Yoav Lorch หนึ่งในทีมผู้ก่อตั้ง Application Total Boox บน Android Tablet สัญชาติอิสราเอลเชื่อว่า การที่เราต้องซื้อหนังสือในราคาเต็มก่อนที่จะได้อ่านมันนั้น เป็นเรื่องโบราณและล้าหลังอย่างมาก เขาเชื่อว่าสิ่งที่เขาทำ จะสร้างความยุติธรรม และความอิสระให้กับผู้อ่านได้มากกว่าเดิม เพราะผู้อ่านมีโอกาสเสียสตางค์สำหรับ “คุณค่าที่แท้จริง” ที่เขาจะได้รับจากมันเท่านั้น

eBookPlus: เมื่อคุณไม่ต้องใช้เงินซื้อ E-Books อีกต่อไป

eBookPlus เป็นอีกหนึ่งผลงานที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้วงการ E-Book อย่างยิ่งใหญ่ โดยอาศัยเทคโนโลยีกลุ่มเมฆ ประยุกต์เข้ากับการโฆษณา เพื่อกลับข้างที่มาของรายได้จากผู้บริโภค ไปสู่บริษัทเอกชนต่างๆ ที่ต้องการโฆษณาขายสินค้า ผลประโยชน์ตกอยู่กับนักอ่านที่ทำให้หนังสือมีราคาลดต่ำลงอย่างมาก หรือไม่ก็ฟรีไปเลย

นอกจากราคาหนังสือที่ต่ำลงนี้จะช่วยให้ผู้อ่านจ่ายเงินและอ่านหนังสือได้มากขึ้นแล้ว หนังสือแบบติดโฆษณายังช่วยลดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ของ E-Book อีกด้วย แถมรายได้จากค่าโฆษณานั้น ก็จะถูกส่งไปยังฝั่งนักเขียนและสำนักพิมพ์โดยตรง

Lendle.me: แหล่งพบปะแบ่งปันหนังสือออนไลน์

ชมรมนักอ่าน เป็นหนึ่งในสถานที่ที่สมาชิกคอยนำหนังสือมาแบ่งปันแนะนำกัน แต่ในยุคของ E-Book เว็บไซต์อย่าง Lendle.me ทลายข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ลง และสร้างแหล่งพบปะ “ผู้ยืม” และ “ผู้ให้ยืม” ขึ้นในโลกอินเตอร์เน็ต ผู้ใช้บริการเพียงระบุ E-Book ที่เรามีในครอบครองไว้ เพื่อให้ผู้ที่สนใจอ่านหนังสือเล่มเดียวกันนี้สามารถยืมไปอ่านได้ ในทางกลับกัน ก็เปิดโอกาสให้เราสามารถยืมหนังสือกับนักอ่านคนอื่นๆ ได้เช่นเดียวกัน เว็บไซต์นี้เปรียบเสมือนสะพานที่เชื่อมนักอ่านทั่วโลกและทำให้เราได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ ที่มีแนวความคิดคล้ายกัน บนโลกเสมือนได้ง่ายขึ้นด้วย

Amazon: ตลาด E-Book มือสอง

เป็นเรื่องที่ยากเกินจินตนาการ หลังจากที่ผมได้ยินข่าวว่า Amazon ได้สิทธิบัตรสำหรับการสร้างตลาดสินค้าดิจิตัลมือสอง ที่รวมถึง E-Book, เพลง และ Application ต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถโอนถ่ายสิทธิการครอบครองไฟล์ดิจิตัลนั้นๆ ไปให้ผู้อื่นได้ เฉกเช่นที่เรานำหนังสือเก่ามาขายเลหลัง โดยที่สิทธินั้น จะถูกจำกัดไว้เป็นจำนวนครั้งที่สามารถเปลี่ยนมือได้ หากตลาดดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ย่อมเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เข้ามาทำลายจุดอ่อนของ E-Book เดิมได้อย่างน่าสนใจ

ทำไมต้อง E-Book

ง่ายต่อการค้นหา: หนังสือเก่าๆ หมดอนาคตเมื่อถูกปลดจากชั้นวาง เพราะความจำเป็นที่ต้องรักษาพื้นที่ชั้นวางสำหรับหนังสือขายดีเอาไว้ ตลาดหนังสือดิจิตัลไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น

ปรับแต่งได้ตามใจ: E-Book ช่วยให้คุณสามารถปรับแต่งขนาด และหน้าตาของตัวอักษรได้ดั่งใจ แถมด้วย Text-to-Speech ที่คอยอ่านหนังสือให้คุณฟัง (ในไทยต้องคอยติดตามโครงการ VAJA ของ NECTEC)

สะดวกสบาย: ประหยัดเวลาและค่าเดินทาง เพราะร้านหนังสืออยู่ในมือคุณแล้ว แถมน้ำหนักของเครื่องอ่านหนังสือในปัจจุบันลดต่ำลงจนเบากว่าหนังสือจริงๆ ไปเสียแล้ว

ประสบการณ์การใช้งาน: แม้หนังสือจริงจะไม่ต้องใช้พลังงานใดๆ แถมยังทนต่อทุกสภาพแวดล้อม แต่เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น เริ่มใกล้เคียงทัดเทียมหนังสือจริงเข้าไปทุกที ดั่งที่เห็นในเครื่อง Paper Tablet

ใครได้ประโยชน์บ้าง?

สำนักพิมพ์: ผลตอบแทนในการขาย E-Book ส่วนใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่ 70% ทำให้สำนักพิมพ์ได้รับส่วนแบ่งมากขึ้นกว่าเดิม ที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับห่วงโซ่ต่างๆ เช่น ร้านหนังสือ, สายส่ง, โรงพิมพ์, คลังสินค้า นอกจากนี้ การขาย E-Book จะมีการเก็บฐานข้อมูลไว้รายงานกลุ่มลูกค้าที่ซื้อหนังสือได้อย่างละเอียด ตั้งแต่ ช่วงอายุ, เพศ, ภูมิภาค หรือ อุปกรณ์ที่ใช้ ซึ่งช่วยให้สำนักพิมพ์นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค และทำการตลาดได้ตรงเป้าหมายมากยิ่งขึ้น

นักเขียน: นอกจากเรื่องส่วนแบ่งแล้ว E-Book ยังช่วยลดกำแพงอุปสรรค์สำหรับนักเขียนหน้าใหม่ๆ ลงไป เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายคงที่ในการพิมพ์เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงช่วยสร้างโอกาสให้นักเขียนอิสระได้มีพื้นที่ในการแสดงผลงาน และรับผลตอบแทนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ นักเขียนยังมีโอกาสในการผลิตหนังสือนอกกระแสที่มีคุณค่าได้อย่างที่ต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องอิงกับหนังสือที่เป็นกระแสในขณะนั้น

ผู้บริโภค: นักอ่านที่ได้ใช้ E-Book ส่วนใหญ่มักชื่นชอบในความสะดวกสบายจากความประหยัดทั้งเวลา และค่าใช้จ่ายต่างๆ แถมยังไม่สร้างความลำบากเวลาพกหนังสือไปอ่านนอกสถานที่หลายๆ เล่ม นอกจากนี้ ผู้อ่านในต่างประเทศก็มีโอกาสหาซื้อ และอ่านหนังสือไทยได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

E-Book กับประเทศไทย

ผู้เล่นหลากหลายต่างเข้ามาในสนาม E-Book กันอย่างชุลมุน ตั้งแต่สำนักพิมพ์ต่างๆ, ร้านหนังสือ, ซอฟต์แวร์เฮ้าส์ แม้กระทั่งผู้ให้บริการโทรศัพท์ เพื่อรีบเข้ามาช่วงชิงพื้นที่ และสร้างจุดยืนในตลาดที่เติบโตแบบก้าวกระโดดแห่งนี้กันอย่างดุเดือด

มูลค่าตลาด E-Book ของประเทศไทยในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ราวๆ 200 ล้านบาท ซึ่งมีอัตราเติบโตสูงขึ้นมาก เมื่อเทียบกับปี 2554 ที่มีมูลค่าหลักสิบล้านบาทเท่านั้น และหากเทียบกับตลาดหนังสือเล่มที่มีมูลค่าราวๆ สองหมื่นสี่พันล้านบาท E-Book ยังคงมีโอกาสเติบโตอีกมาก เพราะยังถือสัดส่วนอยู่เพียงแค่ไม่ถึง 1% เท่านั้น นอกจากนี้ การให้บริการของ 3G ที่จะเกิดขึ้น ย่อมเป็นส่วนสนับสนุนสำคัญที่ทำให้คาดการณ์กันว่า มูลค่าของตลาด E-Book จะเติบโตขึ้นไปอีกเท่าตัวในปีนี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลก ที่จะมีคู่แข่งในศึกครั้งนี้เป็นจำนวนมาก ดังนี้

Ookbee: ผู้นำตลาดอีบุ๊คในไทยที่ครอบครองส่วนแบ่งสูงสุด โดยมีคอนเทนต์มากมายจากหลายสำนักพิมพ์ ที่อาศัย Application ในหลาย Platform ทั้ง iOS, Android และ Blackberry

SE-ED: Application จากสำนักพิมพ์และร้านหนังสือชื่อดังของไทย ด้วยความแตกต่างจากโปรแกรมตัวอื่นๆ และจำนวนหนังสือที่มากมาย ทำให้เป็นโปรแกรมที่มีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

Naiin Pann: อีกหนึ่ง Application จากสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ที่ร่วมลงสนามและเปิดตัวไปในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นแอพที่มีความเป็นเอกลักษณ์ อัดแน่นไปด้วยหนังสือคุณภาพในเครืออัมรินทร์

Asiabook: จากร้านหนังสือภาษาต่างประเทศ สู่คลังหนังสือ E-Book ต่างประเทศที่มียอดเติบโตสูงถึง 200% ในปีที่ผ่านมา รองรับอุปกรณ์ทุกค่ายตั้งแต่ Apple, Android และ Windows

E-books.in.th: คลังหนังสือภาษาไทยที่รวบรวมทั้งหนังสือฟรี หนังสือทั่วไป และนิตยสารต่างๆ ที่เติบโตมาจากบริษัทด้านคอมพิวเตอร์ จึงทำให้เว็บไซต์ใช้งานได้ง่าย และรวดเร็ว

Bookmoby: ร้านหนังสือออนไลน์ ที่เป็นมากกว่าร้านหนังสือ แต่เป็นสถานที่ออนไลน์สำหรับนักอ่านและนักเขียน เพื่อสร้างสรรค์และแลกเปลี่ยนข้อมูลภายใต้แนวความคิด “ที่ที่หนังสือคือคุณ”

Bookdose: Application จากทีมงานที่ตั้งใจลงแรงเปิดพื้นที่โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อต้องการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านให้กับคนไทย คุณจะได้พบหนังสือฟรีคุณภาพมากมายในเว็บไซต์นี้

meb: อีกหนึ่งคู่แข่งคนสำคัญ ที่มี Application ให้ใช้งานหลากหลาย พร้อมด้วยระบบ Affiliate ที่แบ่งผลตอบแทนให้กับเจ้าของเว็บไซต์ หรือบล็อกเกอร์ที่ช่วยขาย E-Book ด้วย

hytexts: ผู้เล่นรายเดียวที่เน้นการเพิ่มคุณค่าบนความแตกต่างด้วยคอนเทนต์ Format EPUB เพื่อสร้างประสบการณ์ในการอ่านของผู้ใช้ที่ดีกว่า รองรับอุปกรณ์ทุกชนิด รวมถึง eReader

GURUSeed: เปิดตัวครั้งแรกในงานหนังสือปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างแหล่งชอปปิ้งออนไลน์แห่งใหม่ในโลกอินเตอร์เน็ต สำหรับหนังสือ, E-Book และของเล่นเพื่อการศึกษา

4DBOOK: Application สำหรับอ่าน E-Book ภายใต้บังเหียนของ 3 พันธมิตรยักษ์ใหญ่ บีอีซี-เทโร, อนิศ กรุ๊ป และ แอ๊พเทว้นตี้ โฟร์ จำกัด ที่รวบรวมสำนักพิมพ์ชั้นนำหลากหลายราย

E-Book Challenge

แม้ประโยชน์ของ E-Book ต่างๆ ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ จะฟังดูช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกให้กับหนอนหนังสือในด้านต่างๆ มากมายเพียงใด แต่ในขณะเดียวกัน มันก็สร้างผลกระทบ และปัญหาให้กับคนอีกกลุ่มนึงไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นความท้าทายที่ E-Book กำลังเผชิญอยู่ ดังนี้

ความปลอดภัย (Secruity)

ไฟล์ดิจิตัลทุกประเภท สามารถนำไปทำซ้ำ (Replicate) ได้อย่างง่ายดาย จึงก่อให้เกิดการแจกจ่ายอย่างละเมิดลิขสิทธิ์ในโลกอินเตอร์เน็ตต่างๆ ผ่านช่องทางอย่าง BitTorrent หรือ File Sharing ตั้งแต่เพลง MP3, มิวสิควิดีโอ, โปรแกรมลิขสิทธิ์ รวมไปถึงหนังสือ E-Book ด้วยเช่นกัน ผู้เป็นเจ้าของผลงานจึงพยายามสร้างกระบวนการในการป้องกันลิขสิทธิ์ในสินค้าดิจิตัลอยู่เสมอที่เราเรียกกันว่า DRM: Digital Right Management คือการกำหนดขอบเขตสิทธิในการครอบครองใช้งานและแจกจ่าย ในวงการเพลง ผู้นำตลาดอย่าง iTunes และ Amazon MP3 Store ได้ตัดสินใจยกเลิกระบบ DRM ไปแล้ว เนื่องจากสร้างความยุ่งยากให้ผู้บริโภค และยังไม่สามารถป้องกันการละเมิดได้ ส่วนในวงการหนังสือนั้น มีแนวทางการปฏิบัติแตกต่างกันออกไป เช่น ผู้นำตลาดอย่าง Amazon ใช้ระบบ DRM ของตัวเอง ทำให้ผู้บริโภคใช้งานได้ภายใต้ ecosystem ของ Amazon เท่านั้น ในขณะที่คู่แข่งอื่นๆ อย่าง Kobo, Nook หรือ Sony พึ่งพา 3rd Party อย่าง Adobe DRM เข้ามาแก้ไขปัญหาตรงนี้ ในขณะที่บ้านเราส่วนใหญ่ จะใช้ระบบ In-App Purchase ที่อยู่ใน Device ต่างๆ และเข้ารหัสอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ใช้สามารถนับไฟล์ไปใช้งานนอกเหนืออุปกรณ์ที่รองรับได้

มาตรฐานกลาง (Standard Format)

เพื่อลดปัญหาความกระจัดกระจายในการผลิต E-Book หน่วยงาน idpf: International Digital Publishing Forum จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรฐานกลางขึ้นมา เป็นแนวทางให้ผู้ผลิต E-Book และเครื่องอ่าน E-Book สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่เข้ากันได้ออกมา และก่อปัญหาที่ตามมาให้น้อยที่สุด มาตรฐานดังกล่าวคือ Format EPUB ซึ่งจะมีการปรับปรุงเพิ่มเติมความสามารถอยู่ตลอดเวลา เช่น สามารถใส่คลิปวิดีโอได้ หรือมีระบบโต้ตอบกับผู้ใช้งาน (Interactive) และเป็นหน้าที่ของผู้ผลิตที่จะต้องทำตามมาตรฐานให้มากที่สุด

มาตรฐานดังกล่าว เป็นที่ยอมรับสำหรับผู้ผลิตหนังสือและเครื่องอ่านยี่ห้อต่างๆ มากมาย เช่น Barnes & Noble, Kobo และ Sony เพราะเป็นระบบเปิดที่มีองค์กรกลางจัดตั้งขึ้นมา อย่างไรก็ตาม Amazon ผู้นำตลาด E-Book ทั่วโลก ผู้ครอบครองส่วนแบ่ง 45% กลับใช้ไฟล์ฟอร์แมท MOBI ที่ตัวเองซื้อมาจากบริษัท Mobipocket ในปี 2005 จึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่ว่า มาตรฐานกลางใด จะสามารถขึ้นครองชัยเป็นอันดับ 1 ของอุตสาหกรรมหนังสือได้ในอนาคต

โครงสร้างราคา (Pricing Model)

การตั้งราคาขาย E-Book เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ซับซ้อนและยังคงต้องรอการแก้ไข ประเด็นที่ร้องแรงล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นระบบตั้งราคาแบบ Agency Model (คล้ายระบบขายแบบคิดค่า GP) ที่ iBook จากค่าย Apple นำไปใช้จนก่อให้เกิดการฟ้องร้องข้อหาการฮั้วราคา (Price Fixing) เพราะไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันกันในตลาด คดีความเพิ่งยุติไปเมื่อสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ 5 รายชำระค่าปรับและกลับไปใช้ระบบขายส่งเหมือนเดิม แม้อันที่จริงแล้ว ก็มีข่าวคราวว่า Amazon ยอมขายขาดทุนสินค้าบางตัวเพื่อทุบตลาด และปิดโอกาสให้ร้านหนังสือออนไลน์รายเล็กรายน้อย ไม่สามารถมีที่ยืนได้ ซึ่งเป็นเรื่องของการแข่งขันทางธุรกิจ

และเนื่องจากความคล่องตัวของการแจกจ่าย E-Book นั่นสูงกว่าหนังสือจริงมาก ห้องสมุดเป็นอีกลูกหลงนึงที่บังเอิญได้รับผลกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เดิมที่ ที่ห้องสมุดมักได้สิทธิซื้อหนังสือในราคาต่ำกว่าปกติ แต่ไม่ใช่ในโลกของ E-Book ที่สำนักพิมพ์มักตั้งราคาแพงกว่าหลายเท่าตัว เพื่อชดเชยรายได้ที่นักอ่านบางส่วนอาศัยความสะดวกในการเช่ายืมหนังสือ แทนที่การซื้อหนังสือแบบเดิม จากรายงานพบว่า หนังสือบางเล่ม มีราคาสูงกว่าราคาขายปลีกถึง 7 เท่า

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นไปตามกฎการคัดเลือกทางธรรมชาติของ Charles Darwin ที่ยังคงใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย สิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวไม่ทันต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ย่อมหมดโอกาสที่จะเอาตัวรอด สัตว์ต่างๆ จึงต้องปรับตัวสู่การดำเนินชีวิตที่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด แผ่นเสียงไวนิลเทอะทะ ไม่อาจต้านทานกระแสการมาของ MP3 เอาไว้ได้ เช่นเดียวกัน หนังสือไม่ใช่ทางเลือกที่ดีในการนำส่งข้อมูลที่ดีอีกต่อไป มันค่อยๆ ล้มหายตายจากไปอย่างช้าๆ จนใกล้สูญพันธ์ เหลือคุณค่าไว้แต่เพียง “ของสะสม และเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่ง”

KINDLE’S WAY: บทความที่เล่าเบื้องลึกของ kindle และ Amazon อย่างเข้มข้น สำหรับ kindle Power User ไม่ควรพลาด!! พบกันได้ได้ที่นิตยสาร GM ครับ [อ่านตอนอื่นๆ ได้ที่นี่เลย]

reference:

--

--