วิวัฒนาการ และทางรอดของสิ่งพิมพ์ (1) [Kindle’s Way]

Chainarong Tangsurakit
Breadcrumbs of My Life
2 min readJan 11, 2013

[PDF Version Click Here]

KINDLE’S WAY: บทความที่เล่าเบื้องลึกของ kindle และ Amazon อย่างเข้มข้น สำหรับ kindle Power User ไม่ควรพลาด!! พบกันได้ได้ที่นิตยสาร GM ครับ [อ่านตอนอื่นๆ ได้ที่นี่เลย]

วิวัฒนาการของหนังสือ ถูกให้ความสำคัญตั้งแต่ในอดีต มาจนถึงปัจจุบัน และยังต้องถูกพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ เพราะหนังสือคือเครื่องมือหลัก ที่ทุ่นแรงมนุษย์ให้สามารถสร้างวิทยาการใหม่ๆ ขึ้นมาได้ โดยอาศัยการต่อยอดจากภูมิปัญญาของคนรุ่นเดิม ดั่งเช่นประโยคทอง ที่เซอร์ไอแซก นิวตัน เคยกล่าวเอาไว้ว่า “ที่ฉันสามารถมองได้ไกล เพราะฉันยืนบนไหล่ของยักษ์”

ตั้งแต่ในสมัยคริสตกาล มนุษย์พยายามบันทึกเรื่องราว เหตุการณ์ต่างๆ ออกมาเป็นรูปภาพ ลวดลาย บนผนังถ้ำ หรือก้อนหิน จนกระทั่งอารยธรรมของกรีกเข้ามา เราจึงเริ่มมีการใช้สิ่งของที่ใกล้เคียงกระดาษแทนดินหิน ไม่ว่าจะเป็นเปลือกไม้ หนังสัตว์ หรือแผ่นปาปิรุส นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่เราเริ่มมีวิวัฒนาการของหนังสือขึ้นมา

จนเข้าสู่สหัสวรรษแรก ในปี ค.ศ. 105 ราชวงศ์ฮั่น เป็นผู้คิดค้นกระดาษสา (Mulberry Paper) เพื่อใช้บันทึกองค์ความรู้ต่างๆ ผ่านหยดหมึกที่วาดเป็นรูปภาพแทนตัวอักษร ทีละหน้าๆ จึงเป็นสาเหตุให้การผลิตหนังสือมีต้นทุนสูง ทั้งด้านเวลา และค่าใช้จ่าย ผู้ที่ครอบครองหนังสือ จึงมีแต่มหาเศรษฐี หรือชนชั้นสูงในยุคนั้น

มาสู่งช่วงศตวรรษที่ 9 เป็นช่วงบุกเบิกของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ครั้่งแรกในประวัติศาสตร์ โดยการก่อกำเนิดของเทคโนโลยีการพิมพ์ชิ้นแรกของโลก ซึ่งถูกคิดค้นและใช้งานในสมัยราชวงศ์ถัง ที่อาศัยการแกะสลักไม้ทีละตัวอักษร นำมาจัดเรียงเป็นข้อความ ทาหมึกลงบนผิวสัมผัส แล้วกดทับลงบนกระดาษ ถึงค่อยออกมาเป็นหนังสือแต่ละเล่มๆ

แม้การพิมพ์แบบนี้จะเร็วกว่าการเขียนแบบเดิมอยู่มาก แต่เวลาที่ใช้พิมพ์ก็ยังไม่ทันต่อความต้องการที่จะเผยแพร่องค์ความรู้ไปสู่ชุมชนต่างๆ อย่างกว้างไกลได้อยู่ดี ความสำคัญของการกระจายความรู้นี้เอง จึงทำให้เทคโนโลยีการพิมพ์ได้รับความสำคัญ และถูกพัฒนาต่อเนื่องเรื่อยมาไม่หยุดยั้ง จากแม่พิมพ์ตัวอักษรที่ทำจากไม้ ก็เปลี่ยนไปใช้ทองสัมฤทธิ์ในประเทศเกาหลี และถูกพัฒนากลายมาเป็น เครื่องพิมพ์กูเต็นเบิร์ก ในศตวรรษที่ 14 เครื่องพิมพ์นี้ ใช้แม่พิมพ์เป็นเหล็กกล้า คิดค้นโดยช่างเหล็กชาวเยอรมัน โจฮัน กูเต็นเบิร์ก และถูกนำไปใช้พิมพ์พระคัมภีร์ของศาสนาคาทอลิก ที่กระจายออกไปสู่ผู้คนต่างๆ ได้กว้างไกลแบบที่ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์มาก่อน

จากหนังสือที่เคยถูกครอบครองในกลุ่มคนรวย ก็ลดระดับลงมาเรื่อยๆ จนแม้กระทั่งสามัญชนธรรมดา ก็สามารถหาซื้อหนังสือมาเติมองค์ความรู้ได้เช่นกัน กูเต็นเบิร์กนี้เอง คือ กุญแจดอกสำคัญ ที่เป็นใบเบิกทาง สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลกไปอย่างสิ้นเชิง และนำพายุโรปเข้าสู่ ยุคเรอเนสซองค์ ในช่วงศตวรรษที่ 14 ถึง 17 ยุคที่ยุโรปรุ่งเรืองไปด้วยวิทยาศาสตร์ ศิลปะ และวรรณกรรมต่างๆ ก่อให้เกิดบุคคลสำคัญของโลก อย่างเช่น ลีโอนาโด ดาวินซี หรือ เซอร์ไอแซก นิวตัน เป็นต้น

หลังจากนั้นในศตวรรษที่ 18 ก็เป็นยุคที่เครื่องพิมพ์ถูกพัฒนากลายเป็นเทคโนโลยีแบบโรตารี (Rotary Printing Press) ซึ่งเปลี่ยนการพิมพ์ จากการกดทับทีละหน้า เป็นแบบลูกกลิ้งหมุนทาบลงไปบนกระดาษที่ถูกสายพานเลื่อนต่อเนื่องกันไป เทคโนโลยีนี้ ทำลายขีดจำกัดความเร็วในการพิมพ์แบบเดิมๆ อย่างมาก และกลายเป็นแนวความคิดหลัก ที่ถูกนำมาใช้พัฒนามาเป็นการพิมพ์แบบออฟเซ็ต (Offset Printing) ที่ใช้กันอยู่ในอุตสาหกรรมการพิมพ์ปัจจุบัน

แต่การพัฒนาก็ไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้น เพราะการมีอยู่ของการพิมพ์ ก็เพื่อเก็บรักษาความรู้ให้คนรุ่นหลัง และกระจายความรู้ออกไปให้ไกลที่สุด เทคโนโลยีการพิมพ์ที่เคยอยู่แต่ในโรงงานอุตสาหกรรม ก็เริ่มลดระดับมาสู่งานส่วนบุคคล ที่คนทั่วไปสามารถซื้อเครื่องมือสำหรับใช้พิมพ์ข้อมูลที่ตัวเองต้องการได้ นี่คือยุคดิจิตอล ที่มีเครื่องพิมพ์ทั้งแบบอิงค์เจ็ท และเลเซอร์ยี่ห้อต่างๆ เข้าสู่ตลาดมากมาย ไม่ว่าจะเป็น แคนอน, เอชพี, หรือซีรอกซ์ ก็ตาม

จนเข้าสู่ยุค Internet Boom ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ที่ก่อให้เกิดเว็บไซต์ต่างๆ บนโลกอินเตอร์เน็ต เนื้อหามากมายต่างกระจัดกระจายไร้ทิศทางภายใต้เครือข่ายใยแมงมุมนี้ เพราะต้นทุนในการสร้างเนื้อหาลงบนอินเตอร์เน็ตแทบใกล้เคียงศูนย์ ก่อให้เกิดข้อมูลมหาศาลที่เราไม่อาจจับต้นชนปลายได้ถูก ทำให้การเข้าถึงเนื้อหาที่เราต้องการมีความยากลำบากมาก จึงก่อให้เว็บไซต์ประเภทไดเรกทอรี่ไซต์ ที่ใช้เป็นช่องทางหลักในการค้นหาข้อมูล โดยการจัดสารสนเทศเหล่านั้นให้อยู่เป็นระบบ เช่น Yahoo! และ Google

ข้อมูลที่เคยอยู่บนแผ่นกระดาษ และต้องอาศัยการขนส่งเป็นตัวกลางในการกระจายองค์ความรู้ กลายมาอยู่บนหน่วยความจำและใช้การเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอนในการกระจายแทน นี่คือชนวนที่ใช้ทำลายกรอบข้อจำกัดเดิมๆ ที่มีอยู่ให้หมดไป ไม่ว่าจะเป็นความรวดเร็ว และระยะทางในการขนส่งที่มากขึ้นราวกับเวทมนต์ ทั้งยังมีต้นทุนที่ถูกกว่าอีกด้วย นั่นเป็นจุดพลิกประวัติศาสตร์โลกยุคใหม่อีกครั้งหนึ่ง ยุคที่ข้อมูล มีความสำคัญกว่า อาวุธสงคราม หรือโรงงานอุตสาหกรรม เราเรียกกยุคนี้กันว่า Information Age

ความรู้ที่เคยถูกควบคุม และกำหนดโดยผู้มีอิทธิพล ในสมัยที่หนังสือถูกสร้างโดยชนชั้นสูงในยุคก่อนเท่านั้น เริ่มถูกลดทอนอำนาจลงไปเรื่อยๆ จนมาสู่ยุคปัจจุบันนี้ ที่แม้กระทั่งเด็กมหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ก็สามารถเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิด และสร้างกลุ่มก้อนผู้คนที่เชื่อมั่นติดตามได้มากเป็นหลักหล้าน เหตุการณ์ที่น่าเหลือเชื่อนี้ กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วในสถานการณ์ปัจจุบัน

วันที่ 29 มิถุนายน 2007 วันวางขาย iPhone วันแรก ที่เป็นจุดเริ่มต้นของยุค “Post-PC Era” คำศัพท์ที่สร้างจากวาทะของสตีฟ จ๊อปส์ ซึ่งเป็นยุคที่ความสำคัญของ PC จะลดน้อยลง และจะเป็นยุคเฟื่องฟูของอุปกรณ์ต่างๆ ที่สามารถทำงานแบบเคลื่อนตามผู้ใช้ได้ทุกสถานการณ์ (Mobility) เฉกเช่น Tablet ต่างๆ เหตุการณ์นี้ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมไอทีทั่วโลก ที่เริ่มเบนเข็มมาสร้าง อุปกรณ์พกพากันแบบจริงจัง… ไม่พ้นแม้กระทั่งยักษ์ใหญ่ของวงการสิ่งพิมพ์ในโลกอีคอมเมิร์ซ อย่าง Amazon.com …

Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Amazon.com เองก็สัมผัสถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ล่วงหน้าได้เช่นกัน จึงได้เปิดตัว “Kindle” ในปลายปีเดียวกันกับ iPhone อุปกรณ์พกพาตัวแรก และตัวเดียวภายใต้แบรนด์ Amazon

Kindle ผงาดเข้าสู่ตลาดอย่างสง่างาม และเป็นที่ยอมรับในสหรัฐอเมริกาอย่างไม่เป็นที่น่าสงสัย แต่ละปีที่ผ่านไป เครื่องอ่านหนังสือ Eink จอขาวดำได้รับความนิยมล้นหลาม เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จน Amazon เริ่มเพิ่มเขตการขายเครื่อง Kindle ออกไป 180 ประเทศทั่วโลก รวมไปถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน

การมาของอุปกรณ์ Kindle ไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการบริโภคหนังสือของผู้คนเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยเหลือผู้คนที่มีความยากลำบากในการเข้าถึงหนังสือ ลดภาระต้นทุนการขนส่ง และระยะเวลาในการค้นหาและได้มาของหนังสือแต่ละเล่มได้อย่างมีนัยยะสำคัญ ความสะดวกเหล่านี้ ช่วยเปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้นกว่าที่เคยมีในประวัติศาสตร์ และทำให้ยอดขายของหนังสือ eBook แซงหน้าหนังสือจริงไปแล้ว ในปี 2011

โปแลนด์ ประเทศในสหภาพยุโรป ที่มีจำนวนประชากร และขนาดพื้นที่น้อยกว่าประเทศไทยเกือบครึ่งนึง ใช้ภาษาโปแลนด์เป็นภาษาราชการ เป็นประเทศที่ไม่มีหนังสือภาษาราชการขายใน Kindle Store เช่นเดียวกับเรา อย่างไรก็ตาม ตัวเลขของผู้ใช้ Kindle ในประเทศนี้ มีมากถึง 60,000 เครื่อง (ในบ้านเรา ตัวเลขอยู่ที่ 2,500 เครื่องครับ)

Virtualo.pl หนึ่งในบริษัทที่จำหน่ายหนังสือ eBook ที่ใหญ่ที่สุดในโปแลนด์ มีหนังสือภาษาโปแลนด์ขายทั้งหมด 25,000 ปก ประกอบด้วยไฟล์ประเภท PDF และ ePub ที่เข้ารหัสลิขสิทธิ์ด้วยเทคโนโลยี Adobe DRM ซึ่งโดยปกติแล้ว ไฟล์เหล่านี้ จะไม่สามารถนำมาเปิดบนเครื่อง Kindle ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคก็พยายามซื้อหนังสือจาก Virtualo.pl แห่งนี้ เพราะมีหนังสือภาษาของตนเอง (ในขณะที่ Kindle Store ไม่มี) แล้วจึงค่อยแปลงไฟล์ ถอดรหัส นำมาอ่านบน Kindle อีกทอดหนึ่ง เพราะในปัจจุบันนี้ Kindle เรียกได้ว่าเป็นคำพ้องของคำว่า eBook ไปเสียแล้ว เพราะการซื้อ Kindle เปรียบเสมือนการทำสัญญากับตนเองว่า จะต้องใช้อ่านหนังสือเท่านั้น ในขณะที่การซื้อ Tablet อื่นๆ ต่างออกไป เพราะหากความตั้งใจการอ่านหนังสือล้มเหลวไป ตัวเครื่อง Tablet ก็ยังสามารถนำมาใช้งานอย่างอื่นได้อีก

สำนักพิมพ์ และผู้จัดจำหน่ายต่างๆ แทนที่จะต่อต้านการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ด้วยการปิดกั้น กลับพยายามหาทางเอาตัวรอดด้วยวิธีการตรงกันข้าม โดยการสนับสนุนการขาย eBook ด้วยไฟล์ประเภท Mobi สำหรับใช้อ่านบน Kindle ได้ทันที หรือสร้างเครื่องมือสนับสนุน อย่างเช่น บริษัท Woblink ที่มีหน้า Web Store สำหรับใช้ Kindle เพื่อเข้าถึงและสั่งซื้อหนังสือได้โดยตรง จนได้รับประสบการณ์เช่นเดียวกับการสั่งผ่าน Amazon โดยตรง ซึ่งนับว่าเป็นการปรับตัว ที่จะรักษาฐานลูกค้าเอาไว้ได้ เพื่อป้องกันการรุกล้ำของคู่แข่ง ก่อนที่ Amazon จะเข้ามาทำตลาดในโปแลนด์โดยตรง

วิวัฒนาการในวงการสิ่งพิมพ์ยังคงพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจึงต้องพยายามปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปตลอด สถานการณ์ของวงการหนังสือในโปแลนด์ อาจไม่ต่างกันกับในบ้านเรามากนัก ซึ่งเป็นจังหวะที่แต่ละสำนักพิมพ์ และผู้จัดจำหน่าย ควรต้องปรับตัวตามวิวัฒนาการที่เปลี่ยนไป และหามาตรการป้องกันให้ทันท่วงที เพราะเมื่อในวันที่ Amazon บุกเข้ามาถึง จึงจะมีสิ่งที่ใช้ป้องกันหรือลดความเสียหายเอาไว้ได้

ติดตามตอนที่ 2

KINDLE’S WAY: บทความที่เล่าเบื้องลึกของ kindle และ Amazon อย่างเข้มข้น สำหรับ kindle Power User ไม่ควรพลาด!! พบกันได้ได้ที่นิตยสาร GM ครับ [อ่านตอนอื่นๆ ได้ที่นี่เลย]

reference:

--

--