Active Lifestyle หลังเกษียณของอาจารย์กัลยา

Niran Banleurat
Chivit-D by SCG
Published in
1 min readAug 27, 2019

ทางทีมงาน Chivit-D โชคดีมากที่ได้โอกาสสัมภาษณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หม่อมราชวงศ์ กัลยา ติงศภัทิย์ อดีตรองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและอดีตคณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือขอเรียกสั้นๆ ว่าอาจารย์กัลยา ถึงแม้ว่าอาจารย์กัลยาจะเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ในวัย 70 ปี อาจารย์ยังคงทำงาน มีความรับผิดชอบหลากหลาย เรียกได้ว่า active ไม่แพ้ในช่วงก่อนเกษียณกันเลยทีเดียว

ชีวิตหลังเกษียณเป็นอย่างไรบ้างครับ ตอนนี้กิจวัตรประจำวันตอนนี้มีอะไรบ้างครับ

พี่เกษียณจากจุฬาฯ ตอนอายุ 60 ปี แต่ก็ทำงานต่อเป็นรองอธิการบดีจนถึงอายุ 68 ถึงออกจากจุฬาฯ ตอนนี้เวลาแบ่งเป็นหลายส่วน ทำหน้าที่เป็นกรรมการผู้จัดการ 30% เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย 20% เลขามูลนิธิฯ 5% แล้วก็เป็นกรรมการ กพ. (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) ด้วย ชีวิต 60% ก็ทำงาน ที่เหลือ 40% ถึงใช้ไปกับการพักผ่อน

สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตตอนนี้ ก็คือ การดูแลทุกคนในครอบครับ และก็งานต่างๆ ที่ทำอยู่ โดยเฉพาะการดูแลกิจการของครอบครัวทั้งหมด เรียกว่ามีปัญหามาให้แก้ทุกวัน

ดูแลสุขภาพอย่างไรบ้างครับ

พี่มีเพื่อนเป็นหมอเยอะมาก ตอนนี้ก็พบหมอเฉพาะทาง 8 ท่านเป็นประจำ เคยเป็นมะเร็งลำไส้เมื่อ 10 ปีก่อน เคยผ่าตัดใหญ่ไปตอนนี้ก็ดีขึ้นแล้ว เรียกได้ว่าหาหมอหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็น หมอมะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม หมอตา ความดัน ส่วนใหญ่ไปที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เรียกได้ว่าร่างนี้ ให้โรงพยาบาลจุฬาฯ เป็นผู้ดูแล

มีออกกำลังกายบ้างมั๊ยครับ

ปรกติก็ว่ายน้ำ 400 เมตรต่อเนื่อง สองอาทิตย์จะไปครั้งนึง ส่วนใหญ่จะไปที่โรงแรม Renaissance หลังว่ายน้ำแล้วจะรู้สึกสดชื่นมาก Adrenaline หลั่งรู้สึกกระฉับกระเฉงค่ะ

รบกวนอาจารย์ช่วยแชร์ประสบการณ์ตอนที่ยังทำงานบริหารอยู่ที่จุฬาฯ หน่อยครับ

เวลาบริหารคนเก่งเยอะๆ ส่วนใหญ่ก็เกียรตินิยมอันดับหนึ่งทั้งนั้น เราต้องตัดอารมณ์ให้ได้ เขาจะไม่ไว้ใจเราเลย หากเราคิดอย่างพูดอย่าง แล้วทำอีกอย่าง ช่วงบริหารต้องฝึกอารมณ์เยอะๆ ได้ผลต่อมา คือ ฝึกจิตใจให้มั่นคง เวลาเราโกรธ เราไม่เจอใคร ให้อารมณ์ cool down ก่อน เวลาพูดอะไรจะไม่เสแสร้งเลย ความสำเร็จในช่วงนั้น คือ ทำให้อาจารย์ที่คณะฯ ไว้ใจได้ เพราะพี่พูดความจริงตลอด ไม่มีการโกหก และเราเองก็สามารถสะกด สกัดอารมณ์ไม่ดีออกไปได้

ตอนทำงานอยู่ที่คณะฯ เหมือนเรากำลังดูแลดอกไม้ เพียงแค่เรารดน้ำพรวนดินให้ดี ดอกไม้ก็เจริญงอกงาม เพราะดอกไม้ทุกต้นสวยอยู่แล้ว ช่วงนั้นเลยมีอะไรออกมาเยอะแยะ

สุดท้ายนี้ ขอให้อาจารย์ฝากข้อคิดให้กับเด็กๆ ยุคนี้ครับผม

เด็กรุ่นใหม่ต่างจากเราเยอะมาก เขามองตัวเองสำคัญที่สุด คนรุ่นอาจารย์จะถูกฝึกมาให้มองสังคม ให้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เด็กๆ สมัยนี้ เขาอยากตัดสินใจเอง อยากทำอะไรก็ทำ หลานๆ บ้านนี้ก็มีอาชีพอิสระกันหมด ทำในสิ่งที่ตนชอบ ผู้ใหญ่ก็ต้องรับการตัดสินใจของเด็ก

แนะนำเด็กๆ ว่าให้เป็นตัวของตัวเองน่ะดีแล้ว รู้จักตัวเองว่าอยากเป็นอะไร แต่สังคม บ้านเมือง ก็ต้องการการเอาใจใส่ ถ้าสามารถเพิ่มเรื่อง social awareness ได้ ก็จะเกิดความสงบโดยรวม หากมุ่งแต่เรื่องของตัวเอง อาจจะไม่พอ ต้องเติมว่าจะอยู่ด้วยกันในสังคมอย่างไร

ตอนนี้สังคมจะอยู่หลุดๆ ออกจากกัน ก็ยังพอมีเห็นบ้างที่มีจิตสาธารณะ แต่หากมีเพิ่มขึ้นได้ก็จะดี หากจะช่วยคน ไม่ใช่แค่เอาของไปให้เขา แต่ต้องสอนให้เขาทำเป็น ช่วยเขาคิดได้ในการแก้ปัญหา เอาความเชี่ยวชาญของเราไปสอนให้คนอื่นทำเป็น ให้เขาแก้ปัญญาได้ด้วยความรู้ของเรา

--

--

Niran Banleurat
Chivit-D by SCG

Business model enthusiast. Business model and customers insights workshop facilitator. Corporate entrepreneur. Business writer. Gamer. etc.