ความจริงไม่ค่อยมีเหตุมีผลหรอก

Chris
Chris’ Dialogue
Published in
1 min readNov 12, 2017

หลายๆ ครั้งที่เราเริ่มถามคำถามอะไรลงไปก็ตาม มันจะมีคำตอบสองแบบ

  1. แบบที่เรายอมรับได้ แบบที่เรารู้สึกว่าคำตอบมีเหตุผล
  2. แบบที่เรายอมรับไม่ได้ แบบที่เรารู้สึกว่าไร้เหตุผลสิ้นดี

สิ่งที่น่าสนใจคือ ถ้าเราไม่ยอมรับคำตอบที่ได้จากคำถามของเรา เพราะมันไม่มีเหตุมีผล มันฟังไม่ขึ้น จะทำให้ความจริงเปลี่ยนไปมั้ย ก็ไม่ใช่

เราจะโกรธคำตอบ จะไม่ชอบคำตอบก็ได้ จะรู้สึกเสียใจหรือหงุดหงิดก็ได้ แต่มันก็ไม่ได้เปลี่ยนข้อเท็จจริงว่านั่นคือคำตอบ

โลกเรามันโหดร้ายและไม่เคยจะแฟร์กับใคร บางทีการที่คนๆ นึงต้องโชคร้ายแสนสาหัสอาจจะเป็นเพียงเพราะเขาเกิดช้ากว่าอีกคนเสี้ยววินาทีก็ได้ อาจจะเป็นเพราะสีผิวของเขาก็ได้ อาจจะเพราะเพศของเขาก็ได้

ฟังดูไม่เมคเซนส์ ไม่แฟร์ แต่เป็นความจริง

สถานการณ์ที่อาจจะชัดเจนที่สุดว่าไม่มีอะไรเมคเซนส์ อาจจะเป็นความรัก

คนๆ นึงที่แสนดีในสายตาเรา กลับไม่ได้ลงเอยอยู่โสดร่ำไป คนๆ นึงที่ดูชั่วร้ายในสายตาเรากลับได้ใจหนุ่มสาวที่หวังปอง คนนึงทุ่มเทมหาศาลแต่สูญเปล่า อีกคนอยู่เฉยๆ ก็ได้เชยชมได้เคียงคู่

มันเมคเซนส์มั้ย ไม่ มันน่ายอมรับมั้ย ก็ไม่น่ายอมรับ

และถึงแม้เราจะไม่ยอมรับ รู้สึกว่ามันไม่เมคเซนส์ขนาดไหน มันก็คือความจริง

เราจะทำยังไงกับความจริงนั้น จะไม่ชอบมัน เกลียดมัน โกรธมัน จะพยายามเปลี่ยนแปลงมัน จะรณรงค์อะไร ก็ทำได้

แต่มันก็ไม่เปลี่ยนความจริงที่ว่า สิ่งนั้นมันดำรงอยู่ ณ วินาทีนี้

และมันก็ไม่เปลี่ยนความจริงที่ว่า การที่คุณไม่ยอมรับฟังมัน ปฏิเสธมัน ไม่ได้ทำให้ความจริงเหล่านั้นเปลี่ยนแปลง

บางครั้งในการทำงานก็อาจจะมีอะไรคล้ายๆ กันยังงี้ก็ได้

“ผมทำบั๊กเพราะผมนอนดึกเมื่อคืน นอนน้อย เล่นเกมเยอะไปหน่อย”

สมมติคนในทีมตอบแบบนี้ขึ้นมา เราจะบอกเขาว่า “ไม่ได้ ให้ตอบใหม่ มันห่วยไป” งั้นเหรอ?

แล้วมันเปลี่ยนความจริงอะไรได้เหรอ?

มันจะทำให้อะไรดีขึ้นเหรอ นอกจากส่งเสริมให้คนรอบข้าง ต้องสร้างเหตุผลที่ดีที่ Make sense แต่หลอกลวงและไม่จริง มาเอาอกเอาใจเรา

จะดีกว่ามั้ยถ้าเรายอมรับว่านี่คือความจริง แล้วไปต่อจากมัน

“นอนเยอะขึ้นได้มั้ย เล่นเกมน้อยลงได้มั้ย มันเห็นชัดว่ากระทบงานนี่ น้องก็พูดเอง เราคาดหวังอยากให้เห็นงานสำคัญกว่านี้”

มันก็สามารถไปต่อได้นี่ โดยที่ไม่ต้องปฏิเสธความจริงอะไร

ผมพบว่าสำหรับตัวเอง ยอมใช้ชีวิตแบบยอมรับรู้ความจริงที่ไร้เหตุผล แล้วค่อยๆ ทำความเข้าใจจนสร้างเหตุผลหรือหลักการขึ้นมา มันใช้ชีวิตง่ายกว่ายอมรับรู้เฉพาะสิ่งที่มีเหตุมีผล แต่ไม่ใช่ความจริงตั้งเยอะ

ถ้าได้ความจริงที่ไร้เหตุผลมาเยอะพอ สุดท้ายเราจะได้ Understanding, Pattern, Abstraction ของชีวิต ที่ตรงความจริง ซึ่ง Abstraction ใหม่ มันจะดีกว่าพยายามฝืนให้ข้อเท็จจริงฟิตเข้ากับ Abstraction, Pattern ที่ฝังหัวเราอยู่ในเวลาปัจจุบัน

สำหรับผมเหตุผลเดียวที่ผมจะปฏิเสธคำตอบคือ มันโกหกหลอกลวง

นอกจากนั้นก็ยอมรับมันเป็นคำตอบได้ทั้งนั้นแหละ แต่จะตอบโต้อย่างไรนั้นก็อีกเรื่อง

--

--

Chris
Chris’ Dialogue

I am a product builder who specializes in programming. Strongly believe in humanist.