คำสาปของการสเกลคน

Chris
Chris’ Dialogue
Published in
1 min readSep 27, 2019

บทความนี้เกิดจาก Observation การสังเกตของตัวเองหลังจากได้เข้าไปทำงานปรึกษาในหลายบริษัทมากขึ้น

ผมได้ยินีคำกล่าวว่า “งานยังไงก็เยอะมากกว่าคน” มาซักพักหนึ่งแล้ว

ผมพบว่าในบริษัทที่ทำงาน Creative มักจะเป็นความจริงเสมอ

สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกต เวลาผมได้ลองเข้าไปคุยกับบริษัทที่เล็ก มักจะมีปัญหางานล้นน้อยกว่าบริษัทที่ใหญ่ขึ้น

ทุกที่งานล้นหมด แต่ยิ่งบริษัทใหญ่เท่าไหร่ ก็ยิ่งล้นมากกว่าคนมากขึ้น

กลายเป็นว่ายิ่งจ้างคนมาก แทนที่จะยิ่งทำให้ทำงานทัน ผ่อนปริมาณผันงานล้นให้น้อยลง กลับกลายเป็นว่างานล้นมากกว่าเดิม

เป็นปรากฎการณ์ที่แปลก

จ้างคนยิ่งมาก หวังว่างานจะล้นน้อย งานกลับล้นมากกว่าเดิมเสมอ

“คำสาปของการสเกลคน”

ข้อสันนิษฐานที่ผมได้จากการสังเกตมานับครั้งไม่ถ้วน มันอธิบายได้ง่ายมากเลย

คนยิ่งเยอะ ไอเดียยิ่งผุดเยอะกว่างาน

ผมพบว่าในบริษัทที่ทำงาน Creative เนี่ย เวลาเราจ้างคนหนึ่งคนมาเนี่ย เขาช่วยงาน แต่เขาก็เพิ่มไอเดียที่น่าสนใจเข้ามาด้วยเช่นกัน

และ Idea is cheap เสมอ

ในบริบทนี่ ไม่ได้หมายถึงว่า Idea ไม่มีคุณค่านะ แต่เราทุกคนคงยอมรับว่า การสร้างไอเดียหนึ่งชิ้น (ไม่ว่าจะมีคุณค่าหรือไม่มีคุณค่า) มันสร้างง่ายกว่าการจบงาน

ดังนั้นสิ่งที่มันเกิดขึ้น อธิบายได้ง่ายนิดเดียว

ตอนแรก คุณมีไอเดียที่น่าทำอยู่ประมาณหนึ่ง คุณทำไม่ทัน คุณจ้างคนเพิ่ม

คุณได้งานเพิ่ม แต่ คุณได้ ไอเดียที่ “น่าสนใจ” เพิ่มเข้ามาในบริษัทเยอะกว่างาน

และถ้าคุณไม่รู้ตัว คุณบริหารโครงสร้างอำนาจได้ไม่ดี คุณบริหารความรู้สึกคนในทีมที่ตั้งใจดีเสนอไอเดียพัฒนาองค์กรได้ไม่ดี มันจะออกมาได้สองหน้า

  1. คุณตัดไอเดียทุกคนออก จะได้โฟกัส กลายเป็นบริษัทเผด็จการที่คนเก่งๆ มีไฟไม่อยากทำงานด้วย
  2. คุณเอาทุกไอเดียเข้า Backlog เข้าคิวหมด ไม่อยากทำร้ายความรู้สึกใคร กลายเป็นบริษัทที่งานล้นตลอดเวลา เป็นคำสาปยิ่งจ้างคนงานที่จ่อคิวยิ่งล้น

ผมพบว่าหลายบริษัท อยู่ในภาวะที่สอง

เป็น “คำสาปของการสเกลคน”

คำสาปที่ว่า พูดสั้นๆ คือ

“ยิ่งสเกลคนมาก งานยิ่งล้น”

ผมมีประเด็นที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง

ในบริษัทที่ทำงาน Creative หลายๆ ที่ผมจะพบเสียงบ่นของคนลาออกคล้ายๆ กัน

“บริษัททิศทางไม่ชัดเจน”

ตอนแรกผมก็ไม่เข้าใจว่ามันหมายถึงอะไร ตอนนี้ก็ยังอาจจะไม่เข้าใจอยู่

แต่ผมตีความ ว่าเขาไม่ได้บอกว่าบริษัททิศทางไม่ชัด

สิ่งที่เขาบอกคือ

“เขาไม่เข้าใจ ว่าทิศทางบริษัทคืออะไรกันแน่”

นั่นคือ Underlying message ที่แท้จริง

แล้วถ้าถามว่าเขาไม่เข้าใจเพราะอะไร

ส่วนมากผมกล้าบอกว่า เพราะการจัดลำดับงาน มันไม่สื่อว่าบริษัทกำลังไปในทิศทางไหน

ผมคิดว่าเวลาที่บริษัท Tech ระดับโลกเขาพูดเรื่อง Culture เรื่อง Direction เรื่อง Leadership สุดท้ายมันมาที่ปัญหาที่สั้นแต่แก้ยากที่สุด

“คนเก่งมีไอเดีย คนเก่งเสนอไอเดีย จะปฏิเสธยังไงให้เขายังอยากทำงานกับเราอยู่”

นี่คือปัญหาที่ยากที่สุดในโลกการบริหารสเกล

คุณจะอธิบายอย่างไร ว่าทำไม ไอเดียของคนเก่งคนอื่น เขาได้มาทำก่อน

ถ้าคุณโฆษณาว่าที่นี่เปิดให้ทุกคนออกไอเดีย คุณจะอธิบายอย่างไร ว่าทำไมไอเดียของ C-Level ได้ทำก่อนลูกน้อง

สุดท้ายแล้ว ประเด็นยากของการสเกลให้ยังมีคนเก่งๆ เหลืออยู่ ผมมองว่าแก่นกลางมันอยู่ตรงนี้

บางบริษัทบอกว่าใช้ Data ตัดสินใจ แต่ถ้า Data มันออกครึ่งๆ กลางๆ ล่ะ ใช้อะไรต่อ

หลายบริษัทบอกว่า Culture จะตัดสิน

หลายที่บริษัทและที่ปรึกษา บอกทำไอเดียแล้วเทสตลาดให้เร็วที่สุด กลายเป็นศาสตร์ Lean startup

มันมีมากมายหลายอย่างเหลือเกินที่ออกแบบและพูดถึงกัน เพื่อแก้ปัญหาโลกแตกข้อนี้

“คุณมีคนเก่ง คนเก่งทุกคนมีไอเดีย ไอเดียทุกอันดูดีไปหมด จะทำอันไหนก่อน”

ยิ่งคุณจ้างมาก และคุณได้คนเก่ง คุณก็จะได้ไอเดีย และไอเดียจะผุดมาใหม่ เร็วกว่างานที่จะเสร็จออกไปเสมอ

ผมเขียนบทความนี้ เพื่อให้หลายๆ ท่าน รวมถึงเตือนตัวเอง ให้ลองมองโจทย์การสเกลในมุมมองนี้ดู

เรามีศาสตร์มากมายที่บอกว่า สเกลยังไงดี

แต่วันนี้ผมอยากเชิญชวนให้หยุดหา Solution แต่กลับมา Define problem ต่อ

เพราะทุกอย่าง ถ้า Define problem ไม่ถูก แก้ยังไงก็ไม่จบ

และถ้าแก้ไม่จบมานาน แก้เท่าไหร่ก็แก้ไม่ได้

เราลองกลับมา Define problem กันใหม่มั้ย

และผมเสนอมุมมองของปัญหาอีกด้านหนึ่ง ที่ผมสังเกตเห็น

ว่าโจทย์ที่แท้จริงของการสเกล Creative work คืออะไรกันแน่ครับ

--

--

Chris
Chris’ Dialogue

I am a product builder who specializes in programming. Strongly believe in humanist.