จังหวะเวลา การเต้นรำ และความสัมพันธ์

Chris
Chris’ Dialogue
Published in
1 min readJan 30, 2022

เมื่อวันนี้ผมเล่น DotA ไปเกมนึง มีผู้เล่นเลนกลางที่ได้ไอเทมที่ต้องการ ทำให้มี Power spike หรือพูดง่ายๆ คือกำลังสามารถไล่ฆ่าคนอื่นได้ เพราะเป็นจังหวะที่ได้ไอเทมชิ้นสำคัญมาทำให้ตัวเองเก่งขึ้น

เขาพยายามจะไล่ฆ่าคนอื่น โดนดัก โดนรุม แล้วก็ด่าเพื่อนที่ไม่ช่วยว่ามัวแต่ฟาร์ม

แต่ทว่าในขณะที่เพื่อนนั้นไม่มีไอเทม มานา และไม่ได้อยู่ในสภาพที่พร้อมจะไปช่วยเลย

เขาก็หงุดหงิดรำคาญมากกับความไม่พร้อมของเพื่อนร่วมทีมจนด่ากราดไปหมด

เมื่อวานนี้ผมออกไปข้างนอกกับภรรยา ภรรยาบอกผมว่าอีก 20 นาทีจะพร้อม

ทำให้ผมนึกถึงหลายๆ ครั้งที่ผมออกเดินทางกับใครๆ เขามักจะบอกว่า รอแปปนึงนะเดี๋ยวออกได้แล้ว ผมก็จะรอ

จนซักพักนึงถ้ามันนานในสายตาผม ผมมักจะเริ่มหยิบหนังสือมาอ่าน หรือเล่นเกม เขียนบล็อก ดูยูทูป เล่นเกม หรืออะไรก็ว่ากันไป แล้วพอเขาพร้อมจะออกผม ผมก็อาจจะเป็นฝ่ายไม่พร้อมแทน แล้วก็มักจะโดนด่าว่า “ก็บอกแล้วไงว่าอีกแป๊ปนึง ทำไมไปทำอย่างอื่น” ด้วยความหงุดหงิด

โชคดีที่ไม่ต้องมีปัญหานี้กับภรรยา

วันนี้ผมเห็นมิตรท่านนึงแชร์โควตว่า เราทำได้แค่จูงลาไปหาน้ำเท่านั้น ลาจะกินหรือไม่ก็เป็นเรื่องของมัน มิตรท่านนั้นบอกว่า ลาอาจจะยังไม่หิวน้ำ

โควตนี้เป็นบทเปรียบเทียบการสอนหรือให้คำแนะนำ ว่าเราไปคาดหวังให้เขาฟังคำแนะนำของเราไม่ได้ ถ้าลามันไม่กินน้ำพูดอะไรไปก็เท่านั้น

แต่พอมิตรของผมบอกว่าลาอาจจะยังไม่หิวน้ำ มันก็มีส่วนจริง พอกลับไปเปรียบเทียบ บางครั้งมนุษย์เราก็สอนสั่งคนอื่นในจังหวะที่เขาไม่พร้อมจะรับจริงๆ แล้วก็หงุดหงิดรำคาญว่าจูงลาไปแล้วมันยังไม่กินอีก

ความหงุดหงิดไม่เข้าใจและโมโห หลายๆ ครั้งไม่ได้เกิดจากการที่มีสิ่งใดผิด แต่เกิดจากการที่จังหวะเวลาไม่ตรงกัน

ผมมักเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของมนุษย์ ว่าเป็นการเต้นรำแบบนึง

เวลาที่คุณเต้นรำเข้าจังหวะกับใคร แล้วจังหวะไม่ตรงกัน เหยียบเท้ากันบ้าง ประสานกันกระตุกระตักบ้าง

ผมพบว่าความรู้สึกหงุดหงิดแบบนั้น ตัวเนื้อความรู้สึก มันมีความละม้ายคล้ายคลึงกับความหงุดหงิดตอนคนไม่พร้อมฟังเราในเวลาที่เราอยากจะพูดเลยทีเดียว

เวลาคู่เต้น เต้นรำจังหวะไม่ตรงกัน มันจะต้องมีการปรับจูนค่อนข้างเยอะ

ถ้าคนในคู่เต้นคนนึงมีประสบการณ์สูงมาก เขาอาจจะลดท่าเต้นลงมาให้อยู่ในระดับที่คู่เขาสามารถเข้าจังหวะได้

ถ้าทั้งสองคนต่างไม่มีประสบการณ์ เราก็ต้องปรับจูนกันเยอะ อาจจะมีการค่อยๆ คุยกัน หรือถ้าจะใช้ภาษากาย บางครั้งเราจะเลียนแบบ Mirror ท่าเต้นอีกฝั่งก่อน แล้วค่อยขยายไปให้เข้าจังหวะกันจากตรงนั้น

แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายยืนยันว่าจะเต้นในจังหวะตัวเอง ในท่าที่ตัวเองชอบ มันก็จะเต้นเป็นคู่มิได้ หากพยายามจะเต้นเป็นคู่ แต่ต่างคนต่างยึดติดกับจังหวะตัวเอง ก็จะเหยียบเท้ากัน โมโหฟัดเหวี่ยงหงุดหงิดกันไป

พูดถึงเรื่องชั่วโมงบินสูง หลายๆ ครั้งเวลาที่ผมทำงานโปรแกรมมิ่งโดยเฉพาะการ Pair programming มันทำให้ผมเห็นช่องว่างหลายๆ อย่างที่ผมกับคู่ Pair มีไม่เท่ากัน

บางครั้งผมเลือกจะสนใจปัญหาและประเด็นบางอย่างในการเขียนที่ไม่เหมือนคู่ผม

ถ้าหากผมยืนยันว่าคุณต้องรู้สิว่าประเด็นนี้สำคัญ รู้เหมือนผมแล้วพยายามลากไปต่อ ก็จะเหมือนเขียนโปรแกรมคนเดียว

ถ้าคู่แพร์ยืนยันว่าสิ่งที่ผมสนใจไม่สำคัญ และตัดทิ้งไปต่อกับสิ่งที่เขาคิดไว้ เราก็คงแพร์ไม่ได้

ผมก็ต้องจูนกับคู่แพร์ของผมไป

แน่นอนผมไม่ได้เต้นในจังหวะที่ผมชอบที่สุด เร็วที่สุด และ Effective ที่สุดในแง่ของการเขียนโปรแกรม

แต่นั่นคือการ Pair ที่กลมกล่อม และได้ผลลัพธ์ที่ต้องการจากการ Pair คือการเข้าใจระบบและโค้ดร่วมกัน

สิ่งนึงที่ผมเรียนรู้มาในปีนี้ คือ ถ้าผมเลือกจะทำงานในจังหวะที่ Utilize ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ อาจจะเป็นจังหวะที่ทำร้ายทีมและภาพรวมได้

ซึ่งเป็นอะไรที่ต้องปรับตัวหนักเหมือนกัน เพราะผมเคยเชื่อว่า ทำอะไรต้องทำเต็มที่ไม่ให้เสียใจทีหลัง

พูดถึง Mirror ในศาสตร์ Negotiation หนังสือ Never split the difference ของ Chris Voss นักเจรจาต่อรองตัวประกัน (Hostage negotiation) ของ FBI เขาได้มีการกล่าวถึงเทคนิค Mirroring ในการเจรจาต่อรองไว้

เขาบอกว่า ถ้าเราสามารถ Mirror ท่าทางและความเข้าใจของคู่สนทนาได้ โอกาสเจรจาต่อรองสำเร็จจะมากขึ้นหลายเท่าตัว แต่นั่นก็ต้องอาศัย Empathy เป็นอย่างมากที่จะเข้าอกเข้าใจ Mirror ได้อย่างดูไม่เฟค

ซึ่งเรื่องที่น่าสนใจมากคือ Chris Voss เป็นนักเจรจาต่อรองกับผู้ร้ายที่จับประชาชนเป็นตัวประกันของ FBI ดังนั้น ถึงแม้ว่าเขาจะต้อง Empathy กับพวกผู้ร้ายเหล่านี้เพื่อให้การเจรจาต่อรองตัวประกันสำเร็จลุล่วง แต่เขาก็ยังต้องยืนในมุมที่ว่าเขาทำงานให้ตำรวจ จึงไม่มีทางเลยที่เป้าหมายปลายทางในการเจรจานี้ของ Chris Voss จะเป็นเป้าหมายปลายทางภาพเดียวกับที่โจรผู้ร้ายต้องการให้เป็น

เขาต้องมี Empathy มีความเข้าอกเข้าใจ เพื่อให้การเจรจาสำเร็จ แต่ก็ต้องไม่ลืมเป้าหมายของตัวเองเสมอ มิใช่เข้าอกเข้าใจแล้วกลายเป็นว่ายอมให้ผู้ร้ายหลบหนีหรือทำการก่อการร้ายในสหรัฐได้สำเร็จ

ซึ่งมันขัดกับความเชื่อหลายๆ คนที่ผมได้ยินว่า พอเข้าอกเข้าใจกันก็จะต้องไปเป็นฝั่งเดียวกัน

Chris Voss ให้ความสำคัญกับ Empathy และความเข้าอกเข้าใจเป็นอย่างมาก เพื่อให้สำเร็จการเจรจาต่อรอง แต่เขาไม่เคยย้ายไปเป็นฝั่งผู้ร้าย

การที่เราจะเข้าจังหวะกับคนอื่นได้ เราต้องใช้ Empathy เป็นอย่างมาก

ในฟลอร์เต้นรำ คู่ที่มีความพยายามบอกว่าจังหวะใครถูกจังหวะใครผิด จะทะเลาะกันไม่จบไม่สิ้น และยิ่งไปกว่านั้น ไม่อาจจะเต้นรำด้วยกันได้

แต่คู่ที่พยายามจะหาวิธีการเข้าจังหวะกัน จะสามารถเต้นรำต่อได้

ในความสัมพันธ์ใดๆ ก็เช่นกัน

แต่การเข้าจังหวะกับคนที่เรารังเกียจ คนแบบที่เราไม่ชอบ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

ในศาสตร์ของ Voice Dialogue มีความเชื่อแบบนึง ว่าจริงๆ มนุษย์เรามีศักยภาพที่จะเป็นอะไรก็ได้ตั้งแต่เด็ก แต่พอโตมาเราจะทิ้งตัวตนบางอย่าง

เราอาจจะทิ้งความเห็นแก่ตัว/ความเลือกจะพึ่งพาตัวเองให้ได้ก่อนช่วยคนอื่น เพราะประสบการณ์สอนเราว่า คนเห็นแก่ตัวจะไม่มีใครรัก

เราอาจจะทิ้งความบกพร่อง/ความกล้าที่จะลองเสี่ยง เพราะประสบการณ์สอนเราว่าคนบกพร่องจะถูกรังเกียจ

เราอาจจะทิ้งความอ่อนแอ/ความซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเอง เพราะประสบการณ์สอนว่าเราแสดงความอ่อนแอไม่ได้

(โปรดสังเกตว่าผมเลือกใช้ / เพราะจะบอกว่าสองสิ่งนี้คือสิ่งเดียวกันแค่คนละด้านที่มองเข้าไปและความเข้มข้นไม่เท่ากัน)

ซึ่งพอเราโตขึ้น เวลาที่เราไปเจอสิ่งที่เราทิ้งไปในตัวคนอื่น เรามักจะเกิดอาการหงุดหงิด ต่อต้าน เพราะเราทิ้งมันไปแล้ว

แต่มันอาจจะเป็นสัญญารว่า โลกต้องการให้เราดึงศักยภาพเหล่านั้นกลับมาก็ได้

และเรามีศักยภาพเหล่านั้นในตัว เราถึงได้เกลียดเขาได้

บางครั้งเราเกลียดเขาได้มากจนถึงขั้นบอกได้ว่า “เขาคิดว่าเขาสูงกว่าคนอื่นไง” “เขาคิดว่าเขาฉลาดกว่าใครๆ ไงถึงได้ทำแบบนี้” “แกมองว่าฉันโง่ใช่มั้ย”

ซึ่งการที่เรารู้และสามารถเดาความคิดคนที่เราเกลียดขี้หน้าได้ทะลุปรุโปร่งขนาดนี้

ยิ่งตอกย้ำว่า เรามีศักยภาพที่จะเป็นคนๆ นั้น อยู่ภายในตัวจริงๆ

หากเรารู้ว่าจังหวะเวลาเป็นสิ่งที่ทำให้เราหงุดหงิดกับความสัมพันธ์ได้ง่าย

หากเรารู้ว่าการเข้าจังหวะให้ตรงกันต้องอาศัย Empathy เป็นอย่างมาก

หากเรารู้ว่าการมี Empathy กับใครซักคนไม่ได้แปลว่าเราต้องไปเป็นคนๆ นั้น หรือแม้แต่เข้าข้างคนๆ นั้น

และเรารู้ว่าเรามีศักยภาพที่จะเป็นคนที่เราเกลียดขี้หน้าหรือหงุดหงิดได้

แปลว่าเราสามารถเชื่อมความสัมพันธ์โดยไม่ต้องเสียตัวตนของตัวเองได้เสมอ

ผมเชื่อว่าสี่สิ่งที่ผมพูดไปนี้ มันเชื่อมด้วยกันลงตัวอย่างกลมกล่อมยิ่งนัก

แต่มันอาจจะต้องใช้การฝึก Awareness สูงมากจริงๆ

--

--

Chris
Chris’ Dialogue

I am a product builder who specializes in programming. Strongly believe in humanist.