“ทำไม” เป็นประโยคคำถาม

Chris
Chris’ Dialogue
Published in
1 min readOct 28, 2017

จริงๆ หัวข้อเรื่องนี้ เป็นเหมือนพื้นฐานที่เราเรียนรู้กันมาตั้งแต่ประถม

คำว่า “ทำไม” เป็นประโยคคำถามที่มีไว้ถามเพื่อหาสาเหตุ เป็นสิ่งที่เราเรียนกันในวิชาภาษาไทยเมื่อนานมากแล้ว

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง หลายๆ ครั้ง ผมเห็นเราไม่ได้ใช้มันเป็นประโยคคำถาม

เราใช้มันเป็นประโยคกดดัน

“ทำไมงานยังไม่เสร็จ”

“ทำไมไม่ฟังคำสั่ง”

“ทำไมทำตัวดีๆ ไม่ได้”

“ทำไมอยู่เฉยๆ ไม่เป็น”

สิ่งที่ต้องระวังให้มาก คือ เมื่อทันทีที่เราใช้คำว่า “ทำไม” เป็นประโยคกดดันกับคนรอบข้าง เราไม่ได้ใช้คำนี้ถามเพื่อหาสาเหตุ เราไม่ได้คาดหวังคำตอบ เราแค่อยากกดดันหรืออยากใส่พลังกับเขา เราจึงใส่พลังไปว่า “ทำไมไม่เป็นดั่งใจ”

เมื่อถึงวันที่เราต้องแก้ปัญหา เมื่อเราต้องหาสาเหตุของปัญหาจริงๆ เมื่อถึงวันที่เราต้องการถามสาเหตุจากคนรอบข้างจริงๆ

เราจะไม่มีคำที่สามารถใช้เพื่อหาคำตอบเหลืออยู่อีก

เพราะคำว่า “ทำไม” มันถูกตีความแล้วว่า “ไม่ได้รอคำตอบ” เมื่อมันถูกคนรอบข้างตีความแล้วว่า มันเป็นแค่ประโยคกดดัน

เราก็จะไม่เหลือคำที่สามารถใช้ค้นหาสาเหตุของเรื่องราวต่างๆ ได้อีกต่อไป

ผมเห็นหลายคน Struggle หรือมีปัญหากับสิ่งนี้มาก โดยเฉพาะผู้บริหาร ที่ไม่สามารถคุยปัญหาตรงไปตรงมากับลูกน้อง เพื่อหาสาเหตุและแก้ไขได้

เพราะเขาไม่รู้ตัวว่า เขาไม่มี “คำ” ที่สามารถใช้ถาม เพื่อหาสาเหตุ เหลืออยู่ในพจนานุกรมของเขาอีกแล้ว

มันจะดีกว่ามั้ย ถ้าเราจะใช้ภาษาให้ตรงไปตรงมากกว่านี้

“ผมไม่พอใจที่งานไม่เสร็จ”

“ผมไม่พอใจที่คุณไม่ฟังคำสั่ง”

“ผมไม่พอใจที่คุณทำตัวไม่ดีในสายตาผม”

“ผมไม่พอใจที่คุณไม่อยู่เฉยๆ ในสถานการณ์นี้”

เมื่อเราใช้คำที่มันตรงไปตรงมา และแยกแยะอย่างชัดเจนว่า ตอนนี้ฉันกำลังต้องการแสดงความไม่พอใจ หรือตอนนี้ฉันกำลังถามเพื่อหาสาเหตุหาวิธีแก้ไข

คนที่พูดแบบนี้บ่อยๆ เมื่อถึงเวลาที่เขาถามว่า “ทำไม” อีกฝั่งจะเข้าใจว่า นี่เป็นแค่การถาม ไม่ใช่การกดดัน เพราะพี่คนนี้ถ้าเขากดดันเขาจะบอกว่า “เขาไม่พอใจ” ไม่ได้บอกว่า “ทำไม”

เขาก็จะยังสามารถใช้คำว่า “ทำไม” ในการขุดปัญหาได้

ซึ่งผมเชื่อว่า ทุกคนต้องการเหลือคำนี้ในพจนานุกรมตัวเองเพื่อใช้งาน

เมื่อเราแยกแยะมันออกมาอย่างชัดเจน เราแสดงให้เห็นว่า เมื่อเราใช้คำว่า “ทำไม” คือเราต้องการถาม เมื่อเราใช้คำว่า “ไม่พอใจ” คือเราต้องการกดดัน

มันจะส่งผลให้ ทุกคนรอบข้าง ญาติมิตรพี่น้องเพื่อนฝูงเพื่อนร่วมงาน เมื่อเราใช้คำว่า “ทำไม”​ เขาเข้าใจว่าเราต้องการรู้สาเหตุ และตอบอย่างตรงไปตรงมา

ผมพบว่า เรื่องเล็กๆ แค่นี้ การแยกแยะระหว่างคำว่า “ทำไม” กับ “ไม่พอใจ”

ช่วยให้ตัวผมเองสื่อสารได้ดีขึ้นมาก

โดยเฉพาะในการทำงาน

เพราะหลายๆ ครั้ง เราต้องการขุดปัญหาเพื่อแก้ไข

ถ้าไม่มีคำพูดใดที่สื่อให้เพื่อนร่วมงานเข้าใจได้เลยว่า “นี่ฉันกำลังถามหาสาเหตุ ต้องการรู้สาเหตุ”

การแก้ไขปัญหาต่างๆ จะเป็นไปได้ยากจริงๆ

แต่หัวหน้าหลายๆ ท่าน ได้ทำลายความหมายของคำว่า “ทำไม” โดยการใช้คำนี้ในการกดดัน ไม่ได้ใช้ในการถาม ไปเสียจนเคยชิน

จนเขาไม่เหลือคำพูดใดที่จะสื่อให้ลูกน้องเข้าใจได้อีกแล้ว ว่าเวลานี้ เขาต้องการรู้สาเหตุเพื่อแก้ไขปัญหา

ในกรณีนี้ สิ่งเดียวที่ทำได้ คือ สร้างคำศัพท์ใหม่ครับ

เราอาจจะตกลงกับลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงานใหม่ได้ว่า ถ้าพี่จะต้องการหาสาเหตุ พี่จะใช้คำว่า “สาเหตุคืออะไร” นะ

แล้วก็สร้างความเคยชินกับทั้งผู้รับสาร ให้เขาเริ่มชินก่อนว่าคำนี้คือต้องการรู้ ไม่ได้ต้องการกดดัน สร้างความเคยชินกับตัวเอง ว่า อย่ากดดันพร้อมอยากรู้พร้อมๆ กัน

ซักพักคำใหม่มันจะฝังลงไปได้ ใช้เวลาพอสมควร แต่ก็ทำได้

แล้วก็อย่าทำลายความหมายของมัน โดยการเผลอใช้คำศัพท์ใหม่ที่ตั้งกันขึ้นมาอันนี้ในการ “กดดัน” อีกนะ

ถ้าเรารู้อย่างชัดเจนว่า ในเวลานี้ ตัวเราเองต้องการถามหาสาเหตุ หรือต้องการแสดงความไม่พอใจ ก่อนจะพูดออกไป เราก็จะไม่พลาดเรื่องที่ดูเหมือนง่ายตรงนี้

หลายๆ ครั้งเราไม่รู้ เราก็ใส่พลังลงไปเลย ในอารมณ์ที่ว่า คุณตอบได้ก็ตอบมา ตอบไม่ได้ก็หงอยไปดิ โดยที่เราไม่รู้หรอกเราต้องการอะไร แต่เราไม่พอใจก็ใส่ไว้ก่อน โดยใช้คำพูดเดียวกัน

มันก็เลยทำให้คนอื่นไม่เข้าใจ เพราะเราส่ง Mix message

ประโยค Mix message พวกนี้ จะบอกว่านี่เป็นแค่การถามก็ไม่ได้ เพราะด้วยอารมณ์และความหัวร้อน เวลานั้น ก็ไม่คิดจะฟังคำตอบใดๆ แต่จะบอกว่านี่เป็นการกดดัน ก็ดันไม่รู้ตัวพอที่จะยอมรับว่าตอนนี้ไม่พอใจกำลังกดดันอยู่ จึงมีทางหนีให้ตัวเองอีกว่า “นี่ไง เปิดโอกาสให้เถียงแล้ว ไม่ได้กดดัน”

มันจึงไม่ได้เป็นประโยคที่มีความหมายอะไรเลย เป็น Mix message ที่ตีความไม่ได้ เข้าใจได้ยาก ไม่เคลียร์

มันก็กลับมาเรื่องที่ผมพูดเสมอ

“Self-awareness การเข้าใจตัวเองและจัดการตัวเอง เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการบริหาร สำคัญกว่าการเข้าใจและจัดการคนอื่นด้วยซ้ำ”

อาจฟังดูแปลก แต่จริงมากๆ ครับ

--

--

Chris
Chris’ Dialogue

I am a product builder who specializes in programming. Strongly believe in humanist.