ระเบียบวินัยหรือ Discipline เป็น Emotion แบบนึง

Chris
Chris’ Dialogue
Published in
2 min readSep 11, 2023

สมัยหนึ่งผมเคยเชื่อว่าความมีระเบียบวินัยจะเกิดขึ้นได้เราจำเป็นต้องทิ้งอารมณ์ความรู้สึก และใช้ “ความพยายาม” และตั้ง“จิตมุ่งมั่น” เพื่อเอาชนะ “มารร้าย” ที่คอยยั่วยวนให้เราละทิ้งระเบียบวินัยทำในสิ่งที่เละเทะและเลวทราม

ผมมองไปดู ผมก็เห็นหลายๆ คนเชื่อแบบนั้น

พอโตขึ้นมาผมพบว่ามันไม่ใช่เลย

เรื่องที่เรามีระเบียบวินัยได้จริงๆ ในชีวิตของผม ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ ออกกำลังกาย ดูแลต้นไม้ พอจังหวะที่เรามีระเบียบวินัยกับมันจริงๆ แล้ว เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ต้องตั้งจิตมุ่งมั่นเพื่อเอาชนะความขี้เกียจหรือมารร้ายยั่วยวนอะไรเลย

ผมรู้สึกว่า ก็แค่ลุกไปทำ แค่นั้นเอง

มันเป็นปรากฎการณ์ที่ขัดแย้งกับสิ่งที่ผมถูกสอนมาตอนเด็กเป็นอย่างมาก ว่าระเบียบวินัยเกิดจากการฝืนสัญชาตญาณสัตว์ป่าบ้าง ฝืนมารร้ายยั่วยวนใจ ต้องใช้พลังงานสู้กับความอยากกิเลสของตนเองโน่นนี่นั่นบ้าง

แต่พอจังหวะที่เรามีระเบียบวินัยกับอะไรซักอย่างได้ขึ้นมาจริงๆ เรารู้สึกว่ามันไม่ได้เป็นยังงั้น เราไม่ได้รู้สึกว่าเราต้องสู้กับอะไรเลย โลกภายในมันสงบกว่านั้นเยอะ

ผมเชื่อว่าคนที่ออกไปวิ่งทุกวันได้ นั่งสมาธิทุกวันได้ หรืออ่านหนังสือสัปดาห์ละเล่มได้ หรือแม้แต่ฝึกกีฬาทุกวันได้ ก็รู้สึกแบบนั้นนะ มันไม่ได้ต้องฝืนตัวเองหรือสู้กับตัวเองอะไรมากมายเลย

จริงๆ เรื่องนี้มีคนอธิบายไว้อันนึงในแง่ของการสร้าง Habit ว่าถ้าเราทำอะไรซ้ำๆ ได้จุดนึงแรงต้านจะน้อยลงไป ซึ่งก็ถูก แต่ผมก็พบว่ามันยังไม่ใช่ซะทีเดียว เพราะผมก็มีหลายอย่างที่เคยสร้าง Habit ได้ แล้วก็ทิ้งมันลงไปได้ง่ายๆ เช่นกัน

จนกระทั่งผมได้มาเจอคำอธิบายเรื่องนึงที่พูดถึงเรื่องนี้ในอีกแง่มุมนึงที่ผมว่ามันตรงกับประสบการณ์ภายในของตัวผมเอง

Discipline ไม่ใช่การทิ้งความรู้สึก ตรงข้าม Discipline เป็นสิ่งที่คนเราสังเกต (Observe) ได้จากความรู้สึกภายในแบบนึง

ความรู้สึกนั้นมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Resolve หรือชื่อไทยน่าจะเป็น ความแน่วแน่

เมื่อคนเรามีอารมณ์ความรู้สึกที่ชื่อว่า “ความแน่วแน่” เกิดขึ้น เราจะสามารถทำสิ่งที่ผู้คนสังเกตเห็นว่า “นี่คือความมีระเบียบวินัย” ได้

คนที่แน่วแน่ว่าจะไม่ทานเครื่องดื่มแอลกฮอลล์แม้ทุกคนจะเมาหมด ก็ดูเป็นความมีระเบียบวินัยในสายตาผู้อื่น

คนที่แน่วแน่กับการจัดการมื้ออาหารของตัวเอง ให้ได้สารอาหารหรือแคลลอรี่ที่เหมาะสม ก็ดูเป็นความมีระเบียบวินัยในสายตาผู้อื่น

คนที่แน่วแน่กับการอ่านหนังสือสอบ ก็ดูเป็นความมีระเบียบวินัยในสายตาผู้อื่น

ในสายตาผู้อื่นที่มองเข้ามา มันเหมือนกับคนเหล่านี้สามารถต่อสู้เอาชนะกับสิ่งยั่วยวน ไม่ว่าจะเป็น Peer pressure หรือกลิ่นอาหารอร่อย หรือเกมและสิ่งสนุกต่างๆ

แต่ประสบการณ์ภายในของคนเหล่านี้ หลายๆ ครั้ง มันไม่ใช่การต่อสู้กับสิ่งยั่วยวน มันไม่ใช่แบบ โอ้ย อยากเล่นเกมจังเลย แต่วันนี้ต้องอ่านหนังสือ โอ้ย อยากเล่นอยากเล่นอยากเล่นอยากเล่นอยากเล่นอยากเล่นๆๆๆๆๆๆๆ แล้วเอาชนะได้

มันไม่ใช่ในหัวมีแต่ความอยากเล่น นึกถึกเกมตลอดเวลา แต่ใช้ Willpower ใช้จิตดี บังคับฝืนร่างกายไปอ่านหนังสือ ให้กายไปจ้องตัวหนังสือ 3 นาที ให้กายเปิดหน้าหนังสือใหม่ทุกๆ 1 นาที โดยในหัวยังนึกถึงเกมตลอดเวลา

“ฉันจะเอาชนะความอยากในหัวให้ได้ ฉันจะบังคับร่างกายให้ทำตามสิ่งที่ถูกต้องให้ได้”

ถ้ามันเป็นแบบนั้นผมเชื่อเลยว่าคนๆ นี้เขาอ่านหนังสือไม่รู้เรื่องแน่นอน

คนที่ทำได้ มันไม่ใช่ประสบการณ์ภายในเป็นแบบนั้นครับ ที่ในหัวมีแต่มารผจญเต็มหัว แต่ยังบังคับกายให้ทำในสิ่งที่ถูกต้องได้

แต่ผมพบว่า ประสบการณ์ภายใน มันจะเป็นการโฟกัสอยู่กับความแน่วแน่ภายในใจของเขา แน่วแน่ว่าฉันจะอ่านหนังสือ เพื่อให้สอบได้ แล้วจะได้ผลเรียนดี ทำให้พ่อแม่ภูมิใจ มีชีวิตที่ดีขึ้น (โน่นนี่นั่นไปตามภาษา)

ซึ่งความแน่วแน่นี้ มันเป็นอารมณ์หรือ Emotion แบบนึง

การที่เราเข้าใจว่า Discipline ที่สังเกตได้ จริงๆ เกิดจากอารมณ์ที่ชื่อว่า Resolve มีประโยชน์ยังไง

มีอย่างน้อยสองข้อที่ผมนึกได้ครับ

ข้อแรก เวลาคนเราใช้ Defense mechanism หรือกลไกป้องกันตัวเองที่ชื่อว่า Numbing หรือทำให้มึนช้าทำให้ตัวเองไร้ความรู้สึก เพื่อลดความเจ็บปวดลง เราลดการสัมผัสอารมณ์ความรู้สึกตัวเองลงไป (ผมยกตัวอย่างง่ายๆ นะ เราดื่มเหล้าให้รู้สึกน้อยลง มึนมากขึ้น หรือ นอนเยอะๆ ให้มึน)

การ Numbing นี้มันช่วยลดความเจ็บปวดจากความรู้สึกบางอย่างที่เราไม่อยากแตะต้องได้ แต่ตรงข้าม มันลดความรู้สึกทุกอย่างลงไป รวมถึง Resolve ด้วย

เราจะเห็นคนเมาเหล้าสามารถทำอะไรประหลาดๆ ที่ไม่กล้าทำตอนไม่เมาได้ แต่ต่อเนื่องยาวนานไม่ได้ เพราะกลไกล Numbing อาจจะทำให้เขากล้าขึ้นเพราะสัมผัสความรู้สึกทางลบเช่นความหวาดกลัวได้น้อยลง แต่ทำให้เขาสัมผัสความรู้สึกแบบ Resolve ได้น้อยลงด้วย

มันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะเขียน New year resolution แบบตั้งใจมากๆ ในกระดาษสมุดอย่างดี ในขณะที่เมา แต่มันง่ายที่เราจะประกาศว่าปีหน้าจะยังงั้นยังงี้ในเวลาเมา แบบที่ทุกคนที่ฟังก็รู้ว่า คุณแค่พูดไปงั้นแหละอย่าไปเอาจริงเอาจังอะไร

ดังนั้น ถ้าอยากจะมีระเบียบวินัย เรายิ่งต้องสัมผัสความรู้สึกตัวเองให้ได้มากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง

โดยเฉพาะความรู้สึกที่ชื่อว่า Resolve นี้ ต้องสัมผัสและรู้จักกับมันเยอะๆ เลย

ข้อสอง ความรู้สึกทุกความรู้สึกมี Shadow ของมันอยู่เสมอ มีขั้วตรงข้ามอยู่เสมอ

ความรู้สึกที่เป็นขั้วตรงข้ามของ Resolve หรือจิตมุ่งมั่นคืออะไร

จากประสบการณ์ของผม มันคือ Doubt หรือความสงสัยครับ

มันยากมากที่ผมจะไปออกกำลังกายทุกวัน โดยยังสงสัยอยู่ว่ามันจะช่วยให้เราสุขภาพดีขึ้นจริงๆ เหรอวะ

มันง่ายมากที่เราจะคิดว่า “แค่เล่นเกมนิดหน่อยเอง ไม่เป็นไรหรอก” ถ้าเรายังสงสัยว่าเวลาที่เพิ่มในการอ่านหนังสือนั้นจะช่วยให้เราทำผลการเรียนดีขึ้นจริงๆ เหรอวะ

และยิ่งง่ายเข้าไปใหญ่ถ้าเรายังสงสัยว่า เราจะเรียนหนังสือให้ดีไปทำไมวะ

หรือเราอาจจะย่ามใจ ผมเองก็เคยที่ลึกๆ เชื่อว่าเราทำได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือหรอก เราเก่ง เป็นความโอหังที่เคยมี และทุกวันนี้ก็มีอยู่บ้าง แต่ความย่ามใจนี้ก็เป็นที่มาที่ทำให้เราสงสัยว่า “อ่านหนังสือไปมีประโยชน์จริงเหรอวะ” นั่นแหละครับ

มาถึงตรงนี้ เราจะพบว่า อีกแนวทางที่ดีในการเข้าถึงจิตมุ่งมั่นหรือ Resolve

คือการทำงานกับความสงสัยหรือ Doubt ให้เจือจางลงไปครับ

การอยู่กับความสงสัยอย่างตรงไปตรงมา รับรู้ว่าฉันยังไม่เชื่อเต็มที่นะ แล้วก็ทำงานกับมัน หาข้อมูลบ้าง ตัดสินใจศรัทธา Despite of Doubt บ้าง สร้างข้อตกลงกับตัวเองบ้าง (เช่น เราจะลอง 3 สัปดาห์ก่อนแล้ววัดผล)

ก็จะช่วยความสงสัยลง และทำให้ Resolve ของเราแน่นหนาขึ้น

แต่หลายๆ ครั้ง ผมเห็นเรามักจะปฏิเสธและฝังกลบ Doubt หรือความสงสัยภายในตัว ด้วยประโยคประมาณว่า “เราคงคิดมากไปเอง” “อย่าไปคิด” “สงสัยอะไรเนี่ย”

“เล่นเกมนิดนึงก็ไม่ได้ อย่าแม้แต่จะคิดเลยนะแก คนมีระเบียบวินัยเขาไม่ทำยังงี้”

แบบนี้อาจจะเป็นการฝังกลบความสงสัยหรือ Doubt ลงไปข้างใน

และผลที่ตามมาคือ มันจะย้อนกลับมาทำร้ายเรา ตอนที่เราพยายามเข้าถึง Resolve

เพราะมันเป็นเงาของกันและกัน มันเป็นความรู้สึกเดียวกัน แค่คนละข้าง

ทุกๆ ครั้งที่คุณพยายามเข้าถึง Resolve คุณจะเข้าถึง Doubt ด้วยเสมอ

และถ้าคุณไม่เคยทำงานกับ Doubt เลย คุณจะดึง Resolve ขึ้นมาใช้ไม่ได้ ดึงขึ้นมาทีไร ก็จะเป็นภาพของคนที่ทุกครั้งที่อยากจะอ่านหนังสือเรียนเตรียมสอบ นึกถึงเกมขึ้นมาตลอด ทำไมต้องอยากเล่นเกมในเวลานี้ ทำไมต้องอยากทำโน่นนี่นั่นเวลานี้

อาจจะเป็นเพราะเราไม่เคยทำงานกับ Doubt ลึกๆ ในตัวเอง

ทำให้ทุกครั้งที่พยายามเอาจิตมุ่งมั่นมาใช้ เราตัว Doubt ก็จะโผล่มาด้วยเสมอ เพราะมันคือตัวเดียวกัน

และเรื่องที่น่าเศร้าที่ผมอยากจะขอเสนอคือ

ในสมัยเด็กผมถูกสอนว่า Doubt พวกนี้ที่โผล่ขึ้นมาคือมารร้าย คือกิเลส คือมารผจญ ที่เราต้องไม่สนฟังมัน ต้องฆ่ามันให้ตาย ต้องทำลายมันให้สิ้น

ผมพบว่ามันเป็นคำสอนที่ใช้ไม่ได้ผลกับผมเลย และผมเชื่อว่าไม่ได้ผลกับคนอีกจำนวนมากบนโลกนี้

ผมพบว่า เมื่อผมสนใจและทำงานอย่างเป็นมิตรกับมัน กลับทำให้ชีวิตผมดีขึ้นและมีระเบียบวินัยในตัวเองมากขึ้นด้วยซ้ำไปครับ

บทความนี้ผมสรุปและเสริมเติมจากคลิปนี้ครับ

เขามีสอนวิธีการฝึกสัมผัสกับ Resolve ประมาณนึง ลองดูได้ครับ

--

--

Chris
Chris’ Dialogue

I am a product builder who specializes in programming. Strongly believe in humanist.