โทษคนอื่นไม่ใช่คำตอบ โทษตัวเองก็ไม่ใช่คำตอบ

Chris
Chris’ Dialogue
Published in
1 min readFeb 28, 2021

เรามักถูกสอนกันมาว่าถ้ามีอะไรผิดพลาดให้โทษตัวเองก่อน แต่ในทางจิตวิทยาแล้ว การโทษตัวเองไม่ใช่คำตอบเลย

ใน Responsibility Process ที่ผมเคยเรียน การโทษตัวเองนั้นทำให้จมปลักอยู่กับความผิดของตัวเอง ทำให้ไปไหนไม่ได้ เพราะตัวฉันผิด ตัวฉันมันเลว ถึงได้มีปัญหา

ถ้าเราโทษตัวเองอย่างไม่สิ้นสุด ปลายทางคือเมื่อเราเจอปัญหา เรามันแย่ เรามันไม่ดี เราฆ่าตัวตายเลยดีกว่า ไม่ใช่การแก้ปัญหา

ใน Satir Theraphy เราเชื่อว่าปัญหาไม่ได้เป็นปัญหา แต่ปัญหาคือวิธีการ Cope วิธีการอยู่ร่วมกับโลกที่สร้างบาดแผลและใช้ไม่ได้ผล นั่นแหละคือปัญหา

All people possess the necessary coping resources to face life’s challenges, though some may have yet to access these resources or may view any or all of them negatively.

Problems stem from the ways people cope with them, not the problems themselves. In other words, the “problem” is not actually the problem.

จะเห็นได้ว่าโมเดลจิตวิทยาสมัยใหม่มักจะไม่สนับสนุนการให้โทษตัวเอง ตรงข้าม ให้รักตัวเองมากขึ้นด้วยซ้ำ

ในขณะที่เรายังตะโกนด่าใส่คนอื่นว่าให้โทษตัวเองบ้างสิวะ หัดดูตัวเองบ้าง

ใน Cognitive Behaviour เชื่อว่า

  1. Psychological problems are at least partly based on faulty or unhelpful thought patterns.
  2. Psychological problems are at least partly based on patterns of unhelpful behaviors that are learned.
  3. People that deal with psychological problems can learn better coping strategies that will relieve their symptoms and lead to happier, healthier lives.

หรือแปลเป็นไทย

  1. ปัญหาทางจิตวิทยา มีส่วนตั้งต้นมาจากรูปแบบความคิดที่ใช้ไม่ได้ผลกับจิตตัวเองในเวลาปัจจุบัน
  2. ปัญหาทางจิตวิทยา มีส่วนตั้งต้นมาจากนิสัยและพฤติกรรมซ้ำๆ ที่ตัวเองเรียนรู้มา ใช้ไม่ได้ผลกับจิตตัวเองในเวลาปัจจุบัน
  3. ผู้คนที่มีปัญหาทางจิตวิทยา สามารถเรียนรู้วิธีการอยู่ร่วมกับตัวเอง ที่จะสามารถช่วยเหลือให้มีชีวิตที่มีความสุขและสุขภาพดีขึ้นได้

จะเห็นว่าไม่ว่าศาสตร์ไหนก็ไม่มีการสนับสนุนให้โทษตัวเองเลย แต่อาจจะพูดถึงรูปแบบความคิด รูปแบบพฤติกรรม ซึ่งนั่นไม่ใช่ตัวตน

ถึงตรงนี้ คนที่ไม่คุ้นชิ้นอาจจะถามว่าอ้าวถ้าไม่โทษตัวเองแล้วจะแก้ปัญหาได้ยังไง ก็ด่าคนอื่นไปเรื่อยงี้เหรอ

ซึ่งนั่นมาถึงความเชื่อที่ไม่เวิร์คอันใหญ่สุดที่ผมพบ

สังคมไทยมักสอนมาว่าการแก้ปัญหาทำได้โดย

  1. หาคนผิดให้เจอ
  2. ให้คนผิดรับภาระแก้ปัญหาทั้งหมด

ซึ่งถามว่าจริงๆ แล้ว คนไม่ผิดลงทุนแก้ปัญหาไม่ได้เหรอ

ไม่มีความจำเป็นเลยที่จะต้องมี “คนผิด” ถึงจะแก้ปัญหาได้

ปัญหาโลกร้อน ตอนนี้คนมีส่วนทำให้โลกร้อนตายไปเกือบครึ่งโลกแล้ว ถ้าเราจะไปบอกว่าเราไม่ได้ทำโลกร้อนเท่าคนอื่น ทำไมเราต้องมาเสียสละแก้ปัญหาใช้ชีวิตแบบรักษ์โลกด้วย แล้วเราจะไปชุบชีวิตพวกต้นตอมาแก้ปัญหาได้มั้ย

หรือสมมติระบบงานเราล่มเพราะคนที่ลาออกไปแล้วทำพลาด เราจะรอเขากลับมาแก้ให้เหรอ

การที่มนุษย์ยังมีศักยภาพในการแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ แปลว่าจริงๆ การแก้ปัญหาของมนุษย์ไม่จำเป็นต้องเริ่มจากการหาว่าใครผิด

แต่เริ่มได้จากการมองว่าเราต้องการอะไร อะไรคืออุปสรรค จะร่วมกันกำจัดอุปสรรคอย่างไรได้บ้าง

การพูดว่าคุณมันห่วย ใน Responsibility Process บอกว่า ภาษาในลักษณะนี้ ทำให้อีกฝั่งรู้สึกไร้พลังในการแก้ปัญหา

ผมอยากให้จินตนาการไปถึงสุดโต่ง มันจะชัดเจนขึ้น

ถ้าพ่อแม่เราบอกเราว่า “แกมันห่วยแตกไม่น่าเกิดมาเลย” เราจะรู้สึกอยากลาโลกนี้ หรือว่าอยากพัฒนาตัวเอง

ตรงข้าม ถ้าพ่อแม่บอกว่า “การแกล้งน้องมันไม่ดีนะ”

อันนี้ไม่ทำให้เด็กท้อจนอยากลาโลกหรอกครับ

ในศาสตร์จิตวิทยาสมัยใหม่ คนที่มีปัญหาส่วนตัว เขามักจะโฟกัสที่ “พฤติกรรม” และ “รูปแบบ” โดยไม่โทษตัวตน

เพราะเราเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมามีศักยภาพในตัวเองเสมอ

คนที่ห่วยแตกไปยังตัวตนและจิตวิญญาณไม่มีจริง แต่คนที่มีพฤติกรรมห่วยซ้ำไปซ้ำมาจนเป็นรูปแบบ มันมีอยู่

และเราจะเน้นแก้ไขพฤติกรรมรวมไปถึงแนวคิดมุมมองโลกหรือ Trauma ที่นำมาซึ่งพฤติกรรมนั้น

เพื่อดึงเอาศักยภาพที่แท้จริงของมนุษย์ที่มีอยู่ข้างในกลับคืนมา

ดังนั้นการบอกก่นด่าให้คนอื่นโทษตัวเองผมคิดว่าไม่ใช่ทางออกหรือคำตอบของอะไร

แต่การชี้ว่าพฤติกรรมของเขาสร้างความทุกข์ใจให้คนรอบข้างหรือตัวเขาเองอย่างไรบ้าง นั่นเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งของการเยียวยาครับ

แล้วเราจะขุดกันไปได้อีกว่าพฤติกรรมเหล่านั้นมาจากแรงขับอะไร ซึ่งนั่นแหละคือศาสตร์จิตวิทยาที่ผมคิดว่าน่ารักและดีงาม

ปล. บทความนี้ได้แรงบันดาลใจจากการคุยกับรุ่นพี่ใน FB เรื่องจิตวิทยา

--

--

Chris
Chris’ Dialogue

I am a product builder who specializes in programming. Strongly believe in humanist.