Can we control our thought?

Chris
Chris’ Dialogue
Published in
2 min readApr 1, 2024

“เราไม่สามารถควบคุมความคิดของเราได้ แต่เราสามารถควบคุมการกระทำของเราได้”

ผมเคยเชื่อยังงี้นะในสมัยเด็ก แล้วก็พบว่ามันไม่จริง

พอได้เรียนจิตวิทยามามากขึ้นแล้ว เราจะพบว่าคำว่า “ความคิด” ที่เรามักจะใช้กันมันกว้างมากๆ

ก้อนกลมๆ ในหัว ที่เรามักจะเรียกว่าความคิด จริงๆ แล้วมันแตกออกเป็นส่วนประกอบได้หลายอย่างมากเลย

จริงๆ มีมากกว่านี้ แต่แค่อยากจะแยกให้เห็นว่าบางครั้งเรามักจะเหมารวมทุกสิ่งอย่างในนี้ว่ามันเป็น “ความคิด” แต่ถ้าดูดีๆ มันแยกเป็นหลายส่วนได้มากๆ

กลับมาที่คำถาม บางครั้งเราก็เชื่อว่าความคิดที่เกิดในหัวของเรามันคุมไม่ได้ มันเกิดมาอย่างสุ่มๆ แบบเราเห็นของสวยๆ เราก็อาจจะอยากซื้อ เราเห็นสิ่งน่าเกลียดเราก็จะคิดหลีกหนี เราเห็นคนโดนทำร้ายเราก็อาจจะหลีกเลี่ยงที่จะคิดช่วยเหลือไม่ได้

แต่ตรงข้าม บางครั้งผมเชื่อว่าหลายๆ คนก็คงเคยมีประสบการณ์ที่เข้าไปควบคุมความคิดตัวเองได้ ว่าแบบเอ้อ คิดยังงี้ไม่เวิร์คแฮะ ต้องคิดอีกแบบเวิร์คกว่า

ยกตัวอย่างง่ายๆ ที่สุด เลยผมเชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยต้องปรับความคิดตัวเองว่าเวลาที่พ่อแม่พูดบางอย่างคือเขาโกรธเขาเกลียดเรา เป็นความคิดที่ว่าเอ้อจริงๆ อาจจะไม่ใช่ อาจจะเป็นความหวังดีที่เราไม่เคยเข้าใจมาก่อน

เห้ย มันก็เหมือนถ้าเราพยายามจริงๆ เราก็ปรับความคิดได้นี่ เราก็ควบคุมได้นี่

แต่ตรงข้าม ทำไมเวลาที่เราเห็นอะไรบางอย่างที่เราไม่ชอบใจ เราห้ามคิดไม่ดีไม่ได้เลยนะ เอ้อ ควบคุมความคิดไม่ได้นี่นา คุมได้แต่การกระทำหรือเปล่านะ

คืองี้ครับ ถ้าผมพูดให้ชัดเลย สิ่งที่เรา “ควบคุมได้ยาก” จนอาจจะเหมือนควบคุมไม่ได้เลย มันคือ Signal ครับ ไม่ใช่ความคิด

สมองเป็นอวัยวะชนิดนึง ดังนั้นมันมีความสามารถในการส่งสัญญาณได้เสมอครับ เหมือนกับที่ผิวหนังของเราสามารถส่งสัญญาณ “เจ็บปวด” ได้

แล้วสัญญาณนี่แหละที่เราห้ามไม่ได้ เราตียังไงก็มีสัญญาณว่าเจ็บ

แต่ความเจ็บมันหมายความว่าอะไร ความเจ็บแปลว่าเราต้องวิ่งหนี หรือแปลว่าเรากำลังพัฒนาฝึกฝน ตรงนี้มันก็แล้วแต่ใช่มั้ย

สมมติถ้าเราพึ่งผ่าตัดเสร็จ หรือเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงมา กำลังอยู่ในห้องหมอ หมอกำลังทดสอบปฏิกิริยาในร่างกายด้วยการใช้ค้อนตีที่เข่า การที่เรารู้สึกเจ็บ ก็แปลว่าดีสิ ร่างกายเราไม่เพี้ยน ยังไม่ชาทั้งตัวเป็นอัมพาต ใช่มั้ยครับ

ส่วนที่เราควบคุมไม่ได้จริงๆ เลยคือสัญญาณครับ แต่การตีความของสัญญาณเนี่ยเราควบคุมได้

ทีนี้สัญญาณในร่างกายอย่างผิวหนังมันดูตรงไปตรงมาเนอะ แต่สัญญาณในสมองที่เป็นสัญญาณทางความคิดและจิตใจมันจะไม่ตรงไปตรงมาขนาดนั้น

ผมยกตัวอย่าง ถ้าสมมติตอนวัยเด็กคุณเคยถูกหมากัด เจ็บมากจนฝังใจ ตอนเจอหมาคุณเกิดความกลัว เกิดความคิดว่าหมาไม่น่าเข้าใกล้

ถ้าคุณสังเกตดีๆ มันจะมีสองจังหวะนะ

  1. สมองส่งสัญญาณว่านี่คืออันตรายนะ ผ่านจากความฝังใจในอดีต สัญญาณนี่ทำให้เรามีเลือดไปเลี้ยงในสมองมากขึ้น มีความระวังตัวมากขึ้น
  2. สัญญาณนี้กระตุ้นให้เกิดความคิดและ Narrative ที่ตามมาว่าหมาเป็นสิ่งมีชีวิตที่อันตรายไม่ควรเข้าใกล้

ที่เราแทบจะควบคุมไม่ได้จริงๆ คือข้อ 1 ครับ ส่วนข้อ 2 เราควบคุมได้

อีกตัวอย่างนึง สมมติคนพูดคำหยาบใส่เรา เราไม่คุ้นเคยเลย ในสังคมที่เราอยู่ไม่ค่อยพูดกัน เราตกใจมาก เราคิดว่าเขาต้องดูถูกเหยียดหยามไม่เคารพเราแน่ๆ

อีกครั้ง มันมีสองจังหวะนะครับ

  1. สมองส่งสัญญาณว่านี่คือส่ิงไม่คุ้นเคย ต้องระวังตัวไว้
  2. สัญญาณนี้กระตุ้นให้ตีความว่านี่คือการดูถูกเหยียดหยามกันแน่นอน

สิ่งที่เราคุมแทบจะไม่ได้ คือข้อ 1 ครับ ยังไงสมองก็ส่งสัญญาณอย่างห้ามไม่ได้

เหมือนเวลาที่ผิวหนังเราโดนตีแล้วเจ็บ ยังไงเราก็เจ็บ

แต่สิ่งที่เราคุมได้คือข้อสองครับ คือการตีความ

ทีนี้เข้าใจเรื่องนี้มันมีประโยชน์ยังไงกันนะ

ผมพบว่าคนที่ไม่เข้าใจมักจะทำผิดพลาดแบบนี้ครับ

แบบแรก หลายคนพยายามแก้ไขโดยการควบคุมแต่ในระดับการกระทำแต่ไม่สนใจความคิด จริงๆ ในทางจิตวิทยามันมีคำอยู่เขาเรียกว่า Reaction Formation ซึ่งเป็น Defense mechanism แบบนึง แต่การควบคุมแต่การกระทำแบบนี้มักจะทำให้เกิดการกดขี่อารมณ์ตัวเองไว้ จนเก็บกดอารมณ์โกรธไว้ภายใน

คนแบบนี้มักจะเกิดการ Overcompensate ด้วยนะครับ เช่น ลองนึกว่าคุณกำลังโกรธใครซักคน แล้วคุณรู้สึกว่าความโกรธมันไม่เหมาะสม แสดงออกไม่ได้ ต้องควบคุมการกระทำ บางที การกระทำที่คุณทำออกไปกลายเป็นว่าไปใส่ใจดูแลไอ้คนที่คุณโกรธมากกว่าปกติเสียอีก

หรืออีกอันง่ายๆ เลยที่เห็นบ่อยในวัยเด็ก คือ ดันไปแอบชอบคนๆ นึงที่ “ไม่ควรจะชอบ” (อาจจะเป็นโดนล้อ เพศเดียวกัน หรืออะไรก็ตามที่ “ไม่ควร”) ก็ไปคุมแต่ระดับการกระทำ ก็กลายเป็นอารมณ์แบบ แกล้งเยอะๆ เพราะแอบชอบเขา อะไรยังงี้

ใช่ครับ พวกคนที่ปัจจุบันนิยมเรียกว่า “ซึนเดเระ” ก็มีคำอธิบายทางจิตวิทยา เรียกว่า Reaction Formation ครับ

แบบสอง พยายามแก้ไขโดยการพยายามควบคุมสัญญาณในสมองให้หายไป พยายาม Ignore สัญญาณเหล่านั้นทิ้ง

“ฉันไม่ได้โกรธ”​ “ฉันไม่ได้ดีใจอะไรขนาดนั้น” “ฉันไม่ได้เสียใจ” “ฉันไม่ได้กลัว” อะไรยังงี้

คนที่ทำแบบนี้มักจะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า Alexithymia หรือขาดความสามารถในการเชื่อมต่อกับอารมณ์ความรู้สึกสัญญาณภายในตัว เพราะสัญญาณมันไม่เคยหาย แต่คุณพยายามไม่ฟังมัน แล้วพอไม่ฟังมากๆ สัญญาณนั้นก็จะกระตุ้นให้คุณทำอะไรบางอย่างที่คุณก็งงกับตัวเองทีหลัง

เคยเจอมั้ยครับ คนที่ขึ้นเสียงจนดังลั่นทั้งห้อง แล้วพอคนอื่นถามว่าโกรธหรือเปล่า ก็บอกว่าตัวเองไม่ได้โกรธ พอถามว่าทำไมขึ้นเสียง ก็ตอบว่าเอ๊ะนี่ฉันขึ้นเสียงเหรอเนี่ยไม่รู้ตัวเลย

นี่แหละครับคือคุณไม่ฟังสัญญาณมากๆ จนสัญญาณเหล่านี้มันควบคุมการกระทำคุณไปโดยไม่รู้ตัว

ถ้าเราเข้าใจว่าเราคุมสัญญาณไม่ได้ แต่คุมการตีความได้ เวลาไปแอบชอบใครที่ไม่ควรจะชอบ เราก็แค่ยอมรับว่าสัญญาณ Attractive ที่มีให้กันมันห้ามไม่ได้ มันจะมีมาเสมอ แต่เราจะ “คิดยังไง” กับสัญญาณนั้นมันอีกเรื่อง

เราอาจจะสามารถคิดได้ว่านี่เป็นปกติมนุษย์ ทำความเข้าใจธรรมชาติของสัญญาณนี้

และมันจะทำให้แรงที่เราต้องใช้ในการ Reaction Formation ควบคุมการกระทำ มันน้อยลงไปกว่าการควบคุมการกระทำล้วนๆ ไปเยอะมาก

คนที่คิดว่า “การออกกำลังกายมันน่าเบื่อ” แล้วใช้ Reaction Formation พาตัวเองไปออกกำลังกาย มันใช้แรงภายในเยอะนะครับ

ตรงข้าม คนที่ปรับโลกภายในให้เข้าใจว่าสัญญาณเบื่อมาจากไหน แล้วเราจะมีมุมมองกับสัญญาณนั้นยังไงให้มันดี จนไม่ได้มีความสัมพันธ์ความคิดในแง่ลบกับการออกกำลังกาย จะไม่ต้อง “ฝืนตัวเอง” ขนาดนั้นแล้วครับในการไปออกกำลังกาย

และก็มักจะทำการออกกำลังกายต่อเนื่องยาวนานมีระเบียบวินัยได้ดีกว่า

ผมไม่เคยเห็นคนออกกำลังกายทุกวันอย่างมีระเบียบวินัยคนไหน เล่าให้ฟังเลยนะว่าโอ้ยทุกเช้าเนี่ยผมไม่อยากไปออกเลยแต่ผมอ่ะเป็นคนมี Willpower ไง เลยลากตัวเองไปออกได้ทุกวัน

นานๆ อาจจะมีที แต่วิธีการแบบนี้ ไม่เคยเห็นใครทำต่อเนื่องได้เลยครับ

ส่วนมากจะเป็นสามารถ Enjoy และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับการออกกำลังได้แล้วมากกว่านะครับ หรือพูดง่ายๆ คือสามารถ “เปลี่ยนความคิดที่มีต่อการออกกำลังกาย” สำเร็จไปแล้ว

จริงๆ สัญญาณพวกนี้เป็นสัญญาณที่สำคัญมากๆ และเราไม่จำเป็นจะต้องพยายามไปบอกสมองให้หยุดส่งสัญญาณ

เรามีทางเลือกที่จะใช้สัญญาณแบบนี้ยังไงก็ได้ครับ

ผมว่าคนที่มีจิตที่ Healthy คือจะเข้าใจว่าสัญญาณมันพยายามจะช่วยเรา แต่ก็มีสติพอที่จะ “เลือก” ว่าจะคิดยังไง ทำยังไง กับสัญญาณเหล่านั้นที่สมองปล่อยออกมา

แน่นอน ผมตอนเด็กๆ ที่เปลี่ยนสัญญาณเป็นความคิดเลยอย่างเร็วมากๆ แล้วก็เลยมองว่าความคิดคุมไม่ได้ นั่นน่ะผมยังไม่ Healthy และ Mature มากพอครับ

ถ้าจะฝึก ฝึกให้ช้าลงครับ แยกแยะระหว่าง “สัญญาณ” กับ “ความคิดที่ตามมา” ให้ได้ก่อน

พอคุณแยกได้แล้ว คุณจะเปลี่ยนส่วนหลังได้

Awareness มาก่อนเสมอครับ

ปล. สุดท้ายผมเลือกใช้คำว่า “สัญญาณ” เป็นส่ิงที่แทบจะควบคุมไม่ได้ แทนที่จะใช้คำว่าคุมไม่ได้ เพราะจริงๆ มันมีวิธีคุม ได้ครับ ว่าเราจะปลูกฝัง Cultivate สัญญาณแบบไหนให้ดังให้ไม่ดัง แต่คือคุณต้องทำงานกับจิตตัวเองในการเยียวยาประเด็นฝังใจหรือ Trauma ต่างๆ ซึ่งมันเป็นงานระยะยาวทางจิตเลยครับ หรือทำ Meditation ให้จิตพัฒนาขึ้น แต่เอาเป็นว่าใน Moment ต่อ Moment ในจังหวะที่มันเกิด คุณคุมไม่ได้แน่นอนครับ

ปล 2. การเปลี่ยนการตีความต้องไม่ขัดกับสัญญาณนะครับ อย่างถ้าสัญญาณในสมองคือ “กลัว” แล้วเราไปตีความว่า นี่ไม่ใช่กลัว นี่คือความตื่นเต้น หรือเราแอบชอบใครก็ตีความในระดับความคิดว่า “นี่ไม่ได้แอบชอบนะ นี่คือแค่เป็นห่วงแบบเพื่อนเฉยๆ” อันนี้คือไม่ได้นะครับ ไม่ใช่อ่านอันนี้ไปแล้วเปลี่ยนความคิดแบบโกหกตัวเอง ไปนี่ไม่ได้นะครับผิดทางมากๆ การตีความต้องไม่ขัดกับสัญญาณครับ

--

--

Chris’ Dialogue
Chris’ Dialogue

Published in Chris’ Dialogue

เขียนเรื่องราวที่พบเจอในระหว่างชีวิตนักพัฒนาซอฟต์แวร์ และชีวิตมนุษย์

Chris
Chris

Written by Chris

I am a product builder who specializes in programming. Strongly believe in humanist.

Responses (1)