Defense Mechanism ของคนเราไม่เหมือนกันนะ
“ทำไมเราแนะนำอะไรไปแล้วเขาไม่ฟังเลยวะ”
หลายๆ ครั้งเวลาที่ใครคนใดคนนึงมีความทุกข์ ผมจะเห็นเพื่อนหรือคนที่ห่วงใยเข้าไปให้คำแนะนำในการจัดการจิตใจของตัวเอง และผมมักจะได้ยินและเห็นอารมณ์หงุดหงิดกลับมาเสมอ
เวลาคนเป็นโรคซึมเศร้า แพทย์และนักจิตวิทยาต่างแนะนำว่าเราไม่ควรไปบอกเขาว่า “สู้ๆ นะ” ทั้งๆ ที่มันเป็นคำที่ให้กำลังใจคนได้หลายคน และพอคนแชร์คำแนะนำนี้มากๆ หลายๆ คนก็เลยหงุดหงิดว่า “พูดอะไรก็ไม่ได้เลย”
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมสนใจและอยากไขปริศนา เพื่อให้เราเข้าใจตัวเองและผู้อื่นมากขึ้น
เวลาที่เราเจอปัญหาในชีวิตที่ยากลำบาก หรือเราไขไม่ตก ในจิตใจของมนุษย์เราเนี่ยมันมีกลไกที่เรียกว่า Defense Mechanism อยู่ ถ้าพูดภาษาไทยบ้านๆ หน่อยก็จะเรียกว่า “วิธีทำใจ” ละกัน
ซึ่ง Defense Mechanism เนี่ยมีหลากหลายมาก (ถ้าใครได้เรียน Enneagram มาจะเห็นอย่างน้อย 9 แบบ)
ผมขอยกตัวอย่าง Defense Mechanism หรือวิธีการทำใจเพื่ออยู่ในโลกอันโหดร้ายใบนี้ ที่เราจะเห็นกันอย่างคุ้นเคยมาบ้างละกันนะ
- Self-encouragement บางคนเวลาท้อถอย ต้องปลุกด้วยการเชียร์ตัวเองขึ้นมา บอกว่าฉันทำได้ ยึดเป้าหมาย โฟกัส แล้วลุยต่อไป
- Prepare for the worst บางคนเวลาท้อถอย ต้องจินตนาการไปถึง Worst-case scenario แล้วเตรียมใจไว้แต่เนิ่นๆ ยิ่งเตรียมใจไว้เท่าไหร่ยิ่งมีพลังจะลุยได้มากขึ้นเท่านั้น
- Positive Reframing: บางคนเวลาท้อถอย ต้องพยายามคิดในแง่บวก ใช้การเปลี่ยนมุมมอง มองว่าเออ อย่างน้อยก็มีตรงนั้นนะในแง่ดี อย่างน้อยก็ยังมีเรื่องนี้ที่ดีอยู่ ในมุมนึงมันก็ทำให้เราเติบโตขึ้นนะ
- Introjection: บางคนเวลาท้อถอย อาจจะต้องขยี้ตัวเองให้ไปจนสุดเลยเพื่อลุกขึ้นมา ขยี้ให้ตัวเองอยู่กับความรู้สึกลบๆ ตรงนั้นมากแบบม้วนเดียวจบ แล้วจะลุกขึ้นมาได้ อย่างเช่น อกหักแล้วขยี้ด้วยการฟังเพลงอกหักให้มันร้องไห้สลายไปเลยซ้ำๆ จนลุกมาได้
- Deny: บางคนเวลาเจออุปสรรคในชีวิตจะทำการปฏิเสธไปเลย ว่าแบบไม่จริงไม่เกิดขึ้นหรอก แล้วก็รีบออกมามี Action อะไรซักอย่าง อะไรก็ได้ แต่ต้อง Act ออกมา เพื่อหยุดคิดและหยุดรู้สึก อุปสรรคไม่มีจริงหรอกถ้าเราลุกขึ้นเดินหน้าไม่หยุดยังไงเราก็ชนะ อะไรแบบนี้
- Super Reasonable: บางคนเวลาเจออุปสรรคจะไม่สนใจความรู้สึกตัวเองและคนอื่น แล้วหันไปสนใจแต่บริบท กฎเกณฑ์ แล้วเอาหลักการความรู้มาฟาด ทำเป็นคนมีเหตุผล ปกป้องความรู้สึกลบๆ
- Detachment: บางคนเวลาเจออุปสรรคก็พยายามมองกว้าง เอาตัวเองถอยออก ซูมออกมาเยอะๆ ให้ไม่รู้สึก ถ้าซูมมากไปก็อาจจะเป็น ช่างมันเหอะ ยังไงอีก 60 ปีเราก็จะตายอยู่แล้ว กะอีแค่เรื่องอกหักแค่นี้จะเป็นอะไรมากมาย ซูมออกมามองกว้างขึ้น
- Comparison: บางคนเวลาเจออุปสรรคพอตระหนักว่ายังมีคนที่แย่กว่าตัวเองอยู่ ก็พอจะทำใจลุกขึ้นไปสู้ได้
- Distraction: อย่าคิดเรื่องที่ทำให้ปวดหัว ไปคิดเรื่องอื่นทำใจก่อน เดี๋ยวพอมีพลังค่อยกลับมาคิดเรื่องนี้ใหม่
- Numbing: บางคนเวลาเจออุปสรรค ก็พยายามทำให้ตัวเองรู้สึกอย่างอื่น กินเหล้า เที่ยว นอน
จริงๆ มีมากกว่านี้อีกเยอะครับ แต่ผมว่าลิสต์แค่นี้ก็เยอะพอแล้วแหละ
Defense mechanism ไม่ใช่สิ่งไม่ดีหรือดีในตัวมันเอง มนุษย์เราจำเป็นต้องมีกลไกในการป้องกันจิตใจของตัวเองเสมอ มันเป็นสิ่งจำเป็นในตัวมนุษย์ เซลล์สมองในส่วนที่สร้างกลไกป้องกันตัวเองตรงนี้ยังอยู่ยงคงกระพันติดตัวยีนของมนุษย์ ตลอดประวัติศาสตร์มนุษย์ชาติ ก็สะท้อนว่ามันน่าจะจำเป็นต้องการอยู่รอดของมนุษย์ (หรืออย่างน้อย ไม่ทำให้โอกาสอยู่รอดน้อยลง)
พวกเราทุกคนใช้ Defense Mechanism หลายตัว แต่มักจะมีตัวที่ใช้บ่อยจนชินเสมอ
โครงสร้างของ Psyche หรือจิตใจคนเราจะมีจุดอ่อนไหวเปราะบางที่แตกต่างกัน ทำให้เราเลือกใช้กลไกป้องกันตัวหลักๆ คนละแบบกัน
บางคนใช้ Worst-case เป็นตัวหลักในการป้องกันตัวเอง
บางคนใช้ Positive Reframing เป็นตัวหลัก
บางคนใช้ Numbing เป็นตัวหลัก
ก็แล้วแต่คนไป และขึ้นกับประเด็นเปราะบางในใจแต่ละคนคืออะไร
หลายๆ ครั้งเวลาที่เราเห็นเพื่อน คนในครอบครัว คนรัก คนรู้จัก เราทุกข์ใจ เรามักจะอยากแบ่งปัน (หรือโยน) Defense mechanism ของเราให้กับเขา
“เธอก็ลองคิดในแง่บวกสิ” — Positive Reframing
“เธอก็อย่าคิดมาก คิดเรื่องอื่น” — Distraction
“สู้ๆ นะ” — Encouragement
“ลองคิดดูนะ มีคนลำบากกว่าเธอเยอะแยะเลยนะ” — Comparison
“Worst case มันก็ได้แค่นี้แหละ รู้งี้ก็น่าจะสบายใจแล้วนะ” — Prepare for the worst
“ป่ะๆๆ ไปดื่มกัน” — Numbing
แต่ทุกคนมีประเด็นในจิตใจคนละแบบกัน และ Defense mechanism แต่ละตัวมันถูกออกแบบมาปกป้องความเปราะบางคนละอย่างกัน
คนที่เปราะบางในด้านความไม่แน่นอน การรู้อย่างแน่นอนว่า Worst-case คืออะไร จะทำให้คลายกังวลไปได้ อ่ะ ยังไงก็ไม่เละไปกว่านี้ รู้แน่ชัดแล้ว แน่นอนขึ้นละ ก็จะเป็นเครื่องมือที่เหมาะสำหรับเขา
คนที่เปราะบางในด้านสัมผัสกับความรู้สึกทางลบ การ Distraction ให้ตัวเองออกจากความรู้สึกให้ได้ ก็จะเป็นเครื่องมือที่เหมาะกับเขา
ทีนี้ลองจินตนาการว่า สมมติเรามีเพื่อนที่เปราะบางด้านความไม่แน่นอน แต่เราไปแนะนำว่า “อย่าไปคิดถึงมัน คิดอะไรสนุกๆ บวกๆ ดีกว่า” มันไม่ช่วยเยียวยาความเปราะบางของเจ้าตัวเลย เพราะมันไม่ได้เยียวยาทำให้รู้สึกว่าโลกแน่นอนขึ้น
และตรงข้าม คนที่มีความเปราะบางด้านรับความรู้สึกลบได้ยาก ไปบอกให้เขาคิดถึง Worst-case ให้ละเอียดจะได้เตรียมใจได้ ยิ่งอาจจะขยี้ความเปราะบางของเขาเสียด้วยซ้ำ
ประเด็นคือ มันง่ายมากๆ ที่เราจะคิดว่า Defense mechanism ที่เราใช้จนชิน เป็นเครื่องมือที่เหมาะกับทุกคนและคนที่เรารัก
และภาพที่ผมเห็นที่ผมเกริ่นไปในต้นเรื่อง
“ทำไมแกไม่คิดบวก”
“ทำไมแกไม่ลุกขึ้นสู้!”
“ทำไมบอกแบบนี้ถึงทำร้ายแก นี่ฉันหวังดีนะ!”
เหตุการณ์พวกนี้ มันเกิดจากการที่ Defense Mechanism ที่เราแนะนำให้คนอื่น มันได้ผลกับแค่เราเอง แต่มัน Mismatch ไม่ลงล็อกกับคนอื่นเขา
และผมตีความว่าความหงุดหงิด ก็มาจากความผิดหวังที่ Defense mechanism ที่ตัวเองใช้ มันไม่ได้ผลกับคนอื่น
ซึ่งจริงๆ ถ้าเรียนจิตวิทยามาถึงจุดนึง จะเข้าใจได้ว่า มันธรรมดามากๆ ที่กลไกการป้องกันตัวของเรามันอาจจะไม่ได้ช่วยปกป้องคนอื่นได้
เพราะความเปราะบางของคนเรามันต่างประเด็นกัน
(แต่น่าแปลกใจ ผมเคยได้ยินเรื่องราวในเว็บบอร์ดต่างประเทศ ที่มีคนแชร์ประสบการณ์ที่จิตแพทย์พลาดเรื่องนี้บ่อยเหมือนกัน ที่ยัดเยียด Defense Mechanism ที่ตัวเองเชื่อว่าดี ได้ผลกับตัวเอง ให้ผู้ป่วย จนผู้ป่วยรับไม่ได้ น่าเศร้ามาก ผมคิดว่ามันเป็นเบสิคมากแท้ๆ)
โอเค ทีนี้หลายคนอาจจะบอกว่า งั้นเราแนะนำอะไรไม่ได้เลยเหรอวะ
คำตอบคือได้ครับ
การแบ่งปัน Defense Mechanism ให้กันและกัน หลายๆ ครั้งช่วยให้เพื่อนเราเติบโตขึ้นด้วยซ้ำ ผมเองก็เคยแบ่งปันวิธีการ Positive Reframing ของตัวเอง แล้วเพื่อนที่รับฟังก็อ้อ เออ คิดแบบนี้เพื่อเดินต่อก็ได้นี่นา แล้วก็ช่วยเขาได้ ให้อาวุธไปอีกอย่างนึง
แต่เราต้องระวังเรื่องการยัดเยียด
คือเราต้องทำใจไว้ว่า กลไกของเรามันอาจจะใช้กับเขาไม่ได้ แล้วคอยสังเกตปฏิกิริยาของผู้รับ ว่าเขารับได้มั้ย
อย่างผมกลไกหลักจะเป็น Positive Reframing กับการให้เหตุผล มันปกติมากที่ผมจะเห็นแล้วแนะนำไปว่า “เอ้อ ลองคิดในแง่นี้สิ” เป็นท่าแรก
แต่สิ่งที่ต้องฝึกคือ สังเกตว่า คำแนะนำนี้มันช่วยมั้ย
สังเกตจากแรงสะท้อน ทั้งคำพูด สีหน้า ท่าทาง และภาษากาย มันจะบอกได้ว่าเขารับได้หรือรับไม่ได้
ถ้าเขารับไม่ได้ มันไม่ช่วย ก็ถอย ไม่ไปต่อ
ถ้าคำแนะนำนี้ทำให้ผู้รับเจ็บ แล้วเราเป็นห่วงผู้รับ เราก็ขอโทษ แสดงความห่วงใย
“ที่แนะนำให้ลองคิดแบบนี้เพราะเราห่วงใย แต่เราไม่ได้ตั้งใจกดดัน ถ้าทำให้กดดันขอโทษด้วยนะ”
ถ้าเราเอาจิตห่วงใยเป็นที่ตั้ง คำพูดนี้ไม่ได้ยากครับ
จุดที่ยากกว่าจริงๆ คือเรายอมรับได้มั้ยว่าเราเองอาจจะไม่มีปัญญาช่วยเขาได้ อาจจะทำได้แค่นั่งอยู่ข้างๆ เฉยๆ ไม่มีคำแนะนำอะไรที่เราให้เป็นประโยชน์กับเขาได้เลย
ความจริงข้อนี้ทำให้หลายคนรู้สึก Powerless และอยากจะปฏิเสธ
มันต้องมีอะไรที่กูทำได้มากกว่านี้สิวะ มันต้องมีคำพูดที่ช่วยดึงเขาขึ้นมาได้สิวะ
แต่ผมกลับพบจากประสบการณ์ส่วนตัวเคยดูแลผู้ป่วยซึมเศร้ามา
ผมพบว่าการยอมรับความ Powerless ยอมรับความที่ว่า เออ ฉันห่วงคุณนะ แล้วฉันมีปัญญาทำได้แค่แสดงความเป็นห่วง ไม่มีปัญญาแนะนำอะไร
แล้วแค่นั่งข้างๆ เขาไปเฉยๆ
หลายๆ ครั้งกลับช่วยมากกว่าพยายามฝืน ด้วยซ้ำไปนะ
แต่สุดท้าย มันมีสิ่งนึงที่เราต้องกลับมาดูตัวเองด้วย
ว่าเรากำลังมอบกลไกเหล่านี้ให้ด้วยความห่วงใย หรือเพื่อปกป้องตัวเอง
หลายๆ ครั้งผมพบว่า คนเราแนะนำคนอื่น เพียงเพื่อปกป้องตัวเองจากเสียงบ่น เสียงความทุกข์
หรือปกป้องตัวเองจากความรู้สึกผิดภายในตัวเอง ที่ว่า “ฉันต้องช่วยคนอื่น”
ไม่ได้มาจากจิตที่ห่วงใย แต่เป็นจิตที่ปกป้องตัวเอง
ในกรณีนี้ ต้องมีสติให้ดี
ถ้าคุณเข้าใจว่าคุณแค่จะปกป้องตัวเอง และการแนะนำคนอื่นทำให้สถานการณ์แย่ลง
มันมีทางเลือกมากมายที่เราทำได้นะ
เดินถอยออกมาพัก ก็ทำได้
บอกตรงๆ ว่าตอนนี้รับไม่ไหว ก็ทำได้
เลือกจะไม่ช่วย ก็ทำได้
ทำงานกับความรู้สึกผิดของตัวเองที่มาจากตรงไหนก็ไม่รู้ ก็ทำได้
แต่ทุกอย่างเริ่มจากความเข้าใจตัวเองก่อนครับ
การแนะนำสั่งสอนโดยไม่ได้มีจิตเมตตาตั้ง แต่มีจิตอื่นๆ เช่น จิตที่จะปัดรำคาญเป็นตัวตั้ง หรือมีจิตที่แบกภาระหน้าที่เป็นตัวตั้ง หรือมีจิตที่จะโชว์เหนือเป็นตัวตั้ง
ผมพบว่าหลายๆ ครั้ง คนรับก็เซ็ง คนสอนก็เบื่อหน่าย
ไม่ได้มีอะไรดีขึ้นมาเลยครับ
ถ้าผมสรุปสั้นๆ ก็อยากให้มี Takeaway ประมาณนี้ครับ
- คนเรามี Defense Mechanism ที่แตกต่างกัน ขึ้นกับจุดเปราะบางของแต่ละคน
- Defense Mechanism ที่ได้ผลกับเรา ที่ช่วยเราทำใจ อาจจะไม่ได้ผลกับคนอื่น อาจจะทำให้แย่ลองได้ด้วยซ้ำ
- เราแบ่งปัน Defense Mechanism ให้กันได้ และเป็นทางที่อาจจะช่วยให้อีกคนโตขึ้นด้วยซ้ำ แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า มันอาจจะไม่ได้ผลกับเขา
- ถ้ามีจิตเมตตาเป็นตัวตั้ง สิ่งที่มอบให้ ไม่ได้ผลไม่มีประโยชน์กับเขา ก็แค่ยอมรับ ไม่มีความจำเป็นต้องโกรธ
- หลายๆ ครั้งเราต้องยอมรับความ Powerless ในการช่วยเหลือคนอื่นของเรา (ส่วนตัวผมยิ่งเรียนศาสตร์โค้ชชิ่ง ศาสตร์ Theraphy ลึกขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งเข้าใจมากขึ้นว่าการช่วยคนอื่นทำใจมันยากมาก และเรามีโอกาสที่จะ Powerless ในจะช่วยคนอื่นได้เสมอ) การยอมรับได้ในเวลาที่มันมาถึง จะดีต่อตนเองและผู้อื่นมากกว่า
- ตั้งสติว่าเราอยากช่วย หรืออยากอย่างอื่น ในการแนะนำ ถ้าไม่ได้อยากช่วย ผมเชื่อว่าการเลือกทางอื่นที่ไม่ใช่ให้คำแนะนำ ดีกว่าครับ
จบ และผมขอขอบคุณมากถ้าอ่านมาถึงตรงนี้
ผมหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ผู้อ่านดีขึ้น และโลกดีขึ้น เล็กน้อยก็ยังดีครับ