Love languages

Chris
Chris’ Dialogue
Published in
1 min readApr 2, 2017

เนื่องในโอกาสวันวาเลนไทน์ซึ่งเป็นแห่งความรักเลยอยากจะเขียนเกี่ยวกับความรักทิ้งไว้หน่อย

ปัญหานึงของคนรักกัน ไม่ว่าจะรูปแบบของคู่รัก พ่อแม่ พี่น้อง ที่ผมเจอบ่อยมากคือการที่เราไม่สามารถสื่อให้อีกฝั่งรู้สึกถึงความรักที่ตนเองมีต่ออีกฝั่งได้

หลายเรื่องเศร้าที่แชร์ให้ระลึก มีเนื้อเรื่องประมาณว่าพ่อแม่ที่รักลูกมากแต่ลูกไม่เคยรู้ตัวจนกระทั่งพ่อแม่ตายไป ลูกเสียใจทีหลังว่าทำไมไม่รู้แต่เนิ่นๆ

สำหรับหลายๆ คน มันอาจจะเป็นแค่เรื่องซึ้งๆ เตือนใจ แต่ผมกลับมองว่า มันเป็นปัญหาเลยนะ ว่าทำไมตอนมีชีวิตอยู่ถึงสื่อความรักต่อกันไม่ได้ ทำไมลูกถึงไม่รับสารรักของพ่อแม่ทั้งๆ ที่พ่อแม่พยายามทุกอย่าง ในมุมตรงข้าม ผมก็เคยเห็นพ่อแม่อีกหลายคนที่ไม่เข้าใจว่าลูกตัวเองรักพ่อแม่ทำเพื่อพ่อแม่เยอะขนาดไหน แต่ไม่อาจะเข้าใจและรับรู้ได้

ส่วนคู่รักก็คงมีปัญหานี้เป็นธรรมดา ว่าทำไมเรารู้ศึกว่าคู่รักเราน้อยลง ทำไมเค้าถึงไม่เข้าใจว่าที่เราเหนื่อยทั้งหมดทั้งชีวิตก็เพื่อเค้า เคสที่ผู้ชายบ่นว่าทำทุกอย่างเพื่อเธอแต่เธอก็ยังงอแงคิดว่าไม่รักไม่แคร์กัน เคสที่ผู้หญิงบ่นว่าไม่เห็นเข้าใจเลยว่าแฟนตัวเองรักตัวเอง เราก็คงเห็นกันบ่อยๆ

ผมเคยศึกษาปัญหานี้ค่อนข้างลึกในระดับนึง และจากการทดลองรวมถึงอ่านหลายๆ อย่าง พบว่าทฤษฎีที่อธิบายปัญหานี้ได้ดีที่สุดคือ “5 ภาษารัก” (http://www.5lovelanguages.com/)

ทฤษฎี 5 ภาษารัก บอกว่า มนุษย์เรามี 5 ช่องทางในการรับและสื่อสารความรักต่อกัน

1. การพูด การบอกรัก

2. การกระทำ การรับใช้

3. การให้ของขวัญ การใช้วัตถุ

4. การสัมผัส การกอด จูบ จับมือ

5. การใช้เวลาร่วมกัน

จุดสำคัญของทฤษฎีนี้คือ มนุษย์แต่ละคนสื่อสารเก่งในบางช่องทาง และจะรับสารความรักของอีกฝั่งได้ดีในบางช่องทาง

ถ้าฟัง “ส่ง” กับฝั่ง “รับ” นั้นใช้ภาษาเดียวกัน แค่ทำนิดเดียวก็สัมผัสถึงความรักที่มีต่อกันได้

แต่ถ้าฝั่ง “ส่ง” ใช้คนละช่องกับฝั่ง​ “รับ” มันต้องทำมากกว่าปกติ ถึงจะสื่อความรักได้

แปลว่าอะไร แปลว่า คนบางคนอาจจะรู้สึกถูกรักมากๆ เมื่อมีคนมาบอกรัก และกลับแทบไม่รู้สึกว่าถูกรักเลย เวลาอีกฝั่งให้ของขวัญหรือเข้ามาเอาอกเอาใจรับใช้ บางคนอาจจะรู้สึกถูกรักมากๆ เมื่อมีการกอด จูบ หรือแม้แต่เซ็กส์ แต่กลับเฉยๆ ที่จะใช้เวลาร่วมกัน

นี่คือสาเหตุว่าทำไมผู้หญิงบางคนมีคนมาจีบทำโน่นทำนี่ให้กลับเฉยๆ พอมีอีกคนปากหวานพูดเก่งมากลับหลงกันง่ายๆ คือ ช่องทางในการรับความรักของเค้าคือ “คำพูด” ไม่ใช่ “การรับใช้” การรับใช้ไม่ทำให้เค้ารู้สึกเป็นคนสำคัญ ไม่รู้สึกพองโต แต่คำพูดหวานๆ ต่างหากที่ทำให้เค้ารู้สึก

(ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด ไม่ใช่เรื่องโง่ มันเป็นแค่ความแตกต่างของมนุษย์ ผมไม่เคยเห็นด้วยกับการด่าว่าโง่หลงคารมง่ายๆ เราควรเข้าใจว่าธรรมชาติของมนุษย์ไม่เหมือนกัน)

ทำไมบางคู่ถึงสามารถคง Long distance relationship ได้ เพราะเค้าไม่จำเป็นต้องมีการ “ใช้เวลาร่วมกัน” ก็สามารถสัมผัสถึงความรักอีกฝั่งได้

ปัญหาการสื่อสารความรักที่มักเกิดคือ มนุษย์เรามักจะเคยชินกับช่องทางการบอกแบบเดิมๆ แล้วก็ไม่เข้าใจว่าทำไมอีกฝั่งรับสารนั้นไม่ได้

ลองคิดภาพว่าถ้าพ่อแม่คนนึงโตมาในยุคปู่ย่าที่ไม่บอกรักกันในครอบครัว แล้วมีลูกที่รับความรักโดยการกระทำไม่เก่ง ต้องใช้คำพูด

ไม่ว่าพ่อแม่จะพยายาม “ทำ” แค่ไหน ลูกก็รับสารความรักนั้นได้น้อยมาก

แล้วถ้าตัวพ่อแม่เองก็ไม่เข้าใจ รวมถึงอาจจะมีอีโก้ว่า “ฉันบอกรักลูกตรงๆ ไม่ได้ มันเสียฟอร์ม” มันก็ยิ่งเป็นแนวโน้มให้เกิดโศกนาฎกรรมที่ไม่เข้าใจกันในครอบครัว

หรือแม้แต่คู่สามีภรรยา ที่สามีพยายามสื่อความรักให้ภรรยาโดยการทำงานหนัก หาเงินมาปรนเปรอ แต่ภรรยาไม่ได้รับสารความรักด้วยช่องทาง “การให้ของขวัญ” ต่อให้ทำจนป่วยตาย ก็ไม่อาจสื่อความรักได้ อาจจะต้องตายไปโดยสงสัยว่า ทำไมฉันทำขนาดนี้แล้วภรรยาถึงยังชอบงอนชอบบอกว่า “คุณไม่เห็นรักฉันเลย”

ซึ่งน่าเศร้านะ บางทีแค่ “พูด” คำเดียว หรือ “กอด” แค่รอบเดียว อาจจะเวิร์คกว่าทำงานจนเหนื่อยตายก็ได้ ถ้าภรรยาเป็นคนที่รับสารรักด้วยสัมผัสหรือคำพูดอ่ะนะ

แต่ด้วยความเป็นมนุษย์ เรามักจะเลือกสื่อสารด้วยช่องทางที่เราถนัด มากกว่าช่องทางที่อีกฝั่งรับได้

ซึ่งไม่แปลก เหมือนเราเป็นคนไทย เราก็คงพูดภาษาไทยเป็นหลัก ถึงแม้จะรู้ว่าอีกฝั่งเป็นคนญี่ปุ่น แต่จะให้เราพูดภาษาญี่ปุ่น มันก็ต้องฝึกฝนกันพอสมควรก่าจะพูดได้คล่อง

ไม่แปลก เพราะส่วนมากแต่ละคนจะมีความคุ้นชินของตัวเองซึ่งหล่อหลอมจากสังคมที่อยู่ บางคนเกิดมาในกลุ่มเพื่อนวัยเด็กที่บอกรักกันใสๆ ก็จะไม่อายที่จะบอกรักตรงๆ บางคนเกิดมาอยู่ในกลุ่มเพื่อนเฮ้วๆ ที่แสดงความรักโดยการแกล้งกันไม่พูดกัน สร้างความรู้สึกว่า “เพื่อนกันบอกรักกันมันแปลกๆ ว่ะ” มันก็จะทำให้โตมาสื่อสารด้วยช่องทางการกระทำได้เป็นหลัก

และหลายคนไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าแต่ละคนรับความรักคนละช่องทางกัน นี่เป็นแรงจูงใจให้ผมเขียนบทความนี้ เพราะประเด็นหลักของบทความนี้คือ

ทุกคนรับความรักและส่งความรักคนละช่องทาง

คำถามคือ เมื่อคุณรู้เช่นนี้แล้ว แล้วมีปัญหาในการสื่อสารความรัก คุณจะทำอย่างไร

คุณจะเลือกพูดภาษาเดิมให้หนักขึ้น รุนแรงขึ้น บอกรักบ่อยขึ้น กอดมากขึ้น รับใช้มากขึ้น ให้เวลามากขึ้น หรือให้ของขวัญมากขึ้น

หรือคุณจะเลือกเข้าใจว่าอีกฝั่งอาจจะรับภาษาคุณไม่ได้ ลองฝึกพูดภาษารักใหม่ที่อีกฝั่งเข้าใจ ลองเปลี่ยนจากการรับใช้เป็นการกอด เปลี่ยนจากการพูดเป็นการให้เวลาต่อกัน เปลี่ยนจากการให้ของขวัญเป็นการบอกตรงๆ

ในช่วงแรกๆ มันจะรู้สึกจั๊กกะเดี๋ยมอยู่บ้าง ว่า “ฉันไม่ใช่คนแบบนี้ ให้ฉันบอกรักตรงๆ เหรอมันไม่ใช่อ่ะ ไร้สาระ” หรือ “ฉันไม่ใช่คนแบบนี้ จะให้ฉันกอดเค้าตรงๆ เหรอ มันแปลกอ่ะ”

คำถามสุดท้ายคือ คุณจะเลือกรักอีโก้ของตัวเอง เห็นความสำคัญในการใช้วิธีตัวเองและยืนยันว่าอีกฝั่งต้องรับให้ได้ ฉันไม่ยอมเปลี่ยน ฉันเป็นแบบนี้ หรือจะเลือกรักอีกฝั่ง เห็นความสำคัญของความรักที่คุณมีมากกว่าความเป็นตัวเอง

ข้อนี้คุณเลือกได้นะครับ อยู่ที่คุณแล้วครับ

--

--

Chris
Chris’ Dialogue

I am a product builder who specializes in programming. Strongly believe in humanist.