Notes on empathy

Chris
Chris’ Dialogue
Published in
1 min readMay 4, 2017

เวลาที่เราหงุดหงิดไม่พอใจพฤติกรรมบางอย่างมากๆ ก็เป็นไปได้สูงเลยว่าเพราะเราไม่ยอมรับพฤติกรรมนั้นๆ เป็นทางเลือกของตัวเราเอง

เช่น ถ้าเราไม่ชอบคนไร้มารยาท เวลาที่เราไร้มารยาทเองเราก็มักจะตำหนิตนเอง และยอมรับตนเองไม่ได้ พยายามเป็นอย่างมากให้ไม่มีพฤติกรรมนั้นๆ

ซึ่งการปิดทางเลือกของตัวเองทิ้งในลักษณะนี้ นั่นอาจจะเป็นเรื่องดีหรือไม่ดีก็ได้

แต่ทันทีที่เราจินตนาการได้ว่า “ฉันเองก็มีสิทธิ์เป็นแบบนั้นได้นะ” “ถ้าฉันเป็นแบบนั้นบ้าง ทำอะไรแบบนั้นลงไปบ้าง ฉันจะรู้สึกอย่างไรนะ”

เมื่อนั้น empathy ก็จะเกิด

empathy มันจะไม่เกิดในสภาวะที่เราตำหนิติติงกับตัวเองเสียจนไม่สามารถเห็นภาพว่าตัวเองก็สามารถพลาด มีพฤติกรรมแบบนั้นได้เหมือนกัน

ซึ่งการจำกัดกรอบตัวเองแบบนี้ มันอาจจะดี หรืออาจจะไม่ดีก็ได้ ขึ้นกับว่าเรารู้ตัวไหมว่าเราจำกัดกรอบตัวเองให้ไม่ทำพฤติกรรมเหล่านั้นเพราะอะไร

หลายๆ ครั้งกฎที่เราบังคับกับตัวเองมันเกิดอย่างไร้สติ ตัวอย่างง่ายที่สุดคือคนบางคนอาจจะไม่ชอบการไม่ตรงเวลาเลย เคร่งครัดกับเวลามากๆ โดยที่เขาเห็นภาพว่าเขาไม่ชอบเพราะไม่อยากทำให้คนอื่นเดือดร้อน

ซึ่งถ้าเหตุผลเป็นเช่นนั้นจริง แปลว่าเมื่อเขาอยู่ในกลุ่มคนที่ไม่ตรงเวลาก็ไม่ว่าไม่ทุกข์ร้อนอะไร เขาก็ต้องทำตัวไม่ตรงเวลาได้สิ เหตุผลหายไปแล้วนิ

ผมพบว่ามักจะไม่เป็นเช่นนั้น หลายๆ คนก็ยังเลือกจะตรงเวลาเสมออยู่ดี

เพราะจริงๆ เหตุผลของเขาคือเขาไม่ชอบเวลาตนเองทำให้คนอื่นต้องคอย โดยมิได้เกี่ยวกับคนอื่นเดือดร้อนจริงๆ ไหม

การไม่ชอบเป็นคนทำให้คนอื่นเดือดร้อน กับการไม่ชอบเวลาคนอื่นเดือดร้อน เป็นสองสิ่งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

เมื่อเขาจำกัดกรอบตัวเองแล้วว่าเขาจะไม่ยอมผิดต่อเวลา การจำกัดกรอบแบบนี้อาจจะเป็นสิ่งดีหรือไม่ดีก็ได้ แต่เมื่อเขาเห็นว่าจริงๆ แล้วกรอบตรงนี้มาจากความไม่ชอบส่วนตัวของเขา มิได้เห็นภาพลวงตาว่ามันเป็นสิ่งที่ผิดเพราะอย่างอื่น เห็นชัดเจนว่าความเคร่งในระดับนั้นมันเกิดเพราะความเป็นตัวเขา เป็นทางที่เขาเลือกเอง มิใช่เกิดจากปัจจัยรอบข้าง

เมื่อนั้นเขาถึงจะเริ่มยอมรับทางเลือกของคนอื่นได้ เห็น trade-off ของมันในเชิงตรรกะ

ในระดับนี้เขาจะรับมือกับคนที่เลือกวิถีต่างออกไปได้ อย่างน้อยก็ดีกว่าตอนที่ไม่ยอมรับอย่างรุนแรง

เพราะในเวลาที่ไม่ยอมรับเลย แค่นั่งคิดว่าทำไปทำไมยังคิดไปด้วยความหงุดหงิดโมโหโกรธาเสียด้วยซ้ำ มิได้วิเคราะห์ด้วยสติ

ถ้าเขาเริ่มยอมรับแล้ว ว่ามันเป็นทางเลือกนึงบนโลกใบนี้ แล้วเขาเพิ่มเติมโดยการมองเห็นว่า ถ้าฉันถูกเลี้ยงดูมาอีกอย่างนึง ผ่านปัจจัยรอบข้างมาอีกอย่างนึง ฉันก็อาจจะ “เป็น” คนที่ไม่ตรงเวลาก็ได้นะ

เขาจะเริ่มมีความสามารถในการ put self into others shoes

แล้วเมื่อเขามีความสามารถนี้แล้ว เขาต่อยอดมันอีก เขาจินตนาการไปถึงได้ว่า ถ้าฉันเป็นแบบนั้นฉันจะรู้สึกยังไงนะ

เมื่อนั้น empathy จะเริ่มเบ่งบาน

นั่นแหละคือที่มาของ empathy และการ put self into other shoes

ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้แปลว่าต้องยอมรับคนที่ไม่ตรงเวลา แต่แค่เห็นชัดเจนขึ้นว่าเกิดจากอะไรได้ เขารู้สึกอย่างไร คิดอย่างไร

และตรงข้าม การจำกัดกรอบตัวเองโดยไร้สติในนามของความดีงามที่คิดแท้จริงแล้วเป็นเรื่องส่วนตน ตำหนิตนเองและคนอื่นไปพร้อมๆ กันโดยไม่ทราบสาเหตุ

นั่นเป็นสิ่งที่น่าเศร้ายิ่ง ทั้งในแง่ศักยภาพและความเห็นอกเห็นใจระหว่างมนุษย์

ปล. เปลี่ยนคำว่าไม่ตรงเวลา เป็น ไร้มารยาท ไม่รับผิดชอบ ขี้เกียจ หรืออะไรก็ได้ทั้งนั้น

--

--

Chris
Chris’ Dialogue

I am a product builder who specializes in programming. Strongly believe in humanist.