Product Owner ต้องเล่นเกมรุก

Chris
Chris’ Dialogue
Published in
3 min readJul 5, 2022

ในชีวิตการทำงาน ผ่านการร่วมงานกับ Product Owner มาก็มาก เป็นตำแหน่งที่ขึ้นชื่อว่าเครียดและมีแรงกดดันเยอะ

และผมบนแรงกดดันเหล่านี้ ผมเห็นว่าปัญหาที่เจอบ่อยมากคือ PO เลือกจะเล่นเกมรับ

เพื่อให้เข้าใจว่า PO เกมรับกับ PO เกมรุกต่างกันยังไง ขอเกริ่นเรื่องบทบาทของ PO นิดนึง

ถ้าเราไปดูใน scrum.org เราจะพบว่า Product owner มีหน้าที่ 4 ข้อ

  • Developing and explicitly communicating the Product Goal;
  • Creating and clearly communicating Product Backlog items;
  • Ordering Product Backlog items; and,
  • Ensuring that the Product Backlog is transparent, visible and understood.

แต่ในทางปฏิบัติ หลายๆ องค์กรจะเห็นอยู่ข้อเดียว

“Prioritized backlog” จัดเรียงลำดับความสำคัญ

ถ้าพูดถึงในเรื่องการจัดลำดับความสำคัญแล้ว Product Owner ควรจัดตามอะไรนะ?

คำตอบแบบพื้นๆ แต่ถูกต้องเป๊ะๆ เลยคือ เรียงตาม Business value

แต่คำตอบนี้มันมีปัญหา เพราะคำตอบนี้มันวาดภาพให้คน (รวมถึงตัวผมในอดีต) เข้าใจว่า เราสามารถอธิบาย Business value ของแต่ละไอเดียได้อย่างเป๊ะๆ

คำตอบแบบนี้มันสร้างภาพให้ชวนคิดว่า PO จะสามารถทำอะไรตามภาพข้างต้นได้ แบบว่า ถ้ามีคนฝั่งธุรกิจ 3 คนมาเสนอไอเดีย PO จะสามารถบอกได้เป๊ะๆ ว่าไอเดียแรกจะมีมูลค่า 10 ล้าน ไอเดียสองมีมูลค่า 9.9 ล้าน ไอเดียสามมีมูลค่า 9.8 ล้าน ดังนั้นเราจะทำไอเดียแรกก่อน

เนี่ยเราก็แค่หาคนที่สามารถประเมินไอเดียได้แบบนี้มาทำตำแหน่ง PO ก็จบแล้ว

เพ้อเจ้อ!!

เอาจริงๆ นะ ในโลกความเป็นจริงเนี่ย ผมกล้าบอกเลยว่าไอเดียที่ยังไม่เกิด ไม่มีใครประเมินได้ละเอียดขนาดนั้นหรอกครับ หรือถ้าได้ก็ไม่ได้มีความแม่นยำ

ถ้าใครมีปัญญาประเมินศักยภาพของไอเดียได้แม่นยำขนาดนั้น เขาไปเป็นนักลงทุนในธุรกิจเกิดใหม่ น่าจะรวยกว่ามาทำตำแหน่ง PO เยอะอ่ะครับ คงทำงาน PO แค่เป็น Passion เอาสนุกเฉยๆ

ในบางครั้งเราสามารถประเมิน Business value ได้ชัดเจนแจ่มแจ้งว่างานไหนมีมากกว่างานไหน แต่หลายๆ ครั้งมันก็ไม่ชัดเจนขนาดนั้น

แล้วยังงั้น PO จะประเมินจากอะไรครับ

เรากลับมาดูข้อนี้กันดีกว่า

  • Developing and explicitly communicating the Product Goal;

Product owner มีหน้าที่กำหนดเป้าหมายของ Product

มีหน้าที่กำหนดว่า Product นั้นมีเป้าหมายอะไร จะสร้างคุณค่าด้วยวิธีการอย่างไร จะมี Position แบบไหนในตลาด จะเป็นอะไร และจะไม่เป็นอะไร

ซึ่งพอมันมีตรงนี้แล้ว คำถามว่า ถ้าประเมิน business value ได้ไม่ชัด แล้วจะประเมินจากอะไร

คำตอบคือประเมินว่า มัน Align กับทิศทางของ Product ขนาดไหน

ซึ่งทิศทางนั้น Product owner จะกำหนด

ดังนั้นในกรณีที่ Product owner ไม่สามารถตอบได้ว่าไอเดีย A จะทำกำไรมากกว่าไอเดีย B อย่างชัดแจ้ง

ก็จะยังสามารถตอบได้ว่า ไอเดีย A ตรงกับทิศทางของ Product มากกว่า B

PO ที่เล่นเกมรุกคืออะไร

PO ที่เล่นเกมรุกคือ PO ที่วางทิศทางของ Product ที่ตัวเองดูแล

ทิศทางนี้จะนำมาซึ่งวางแผนการโจมตีตลาด เราจะวางตัวตรงไหน ใครคือคู่แข่ง

หรือแม้แต่ระบบที่ใช้ในองค์กร ทิศทางก็จะเป็นตัวกำหนดแผนการรุก ว่าเราจะสร้าง Adoption ยังไง เราจะเปิดตัวที่แผนกไหน เราจะบอกว่าเรามีหน้าที่อะไร เราทำอะไรได้ แล้วเราทำอะไรไม่ได้

งั้น PO ที่เล่นเกมรับคืออะไร

PO ที่เล่นเกมรับคือ PO ที่ไม่กำหนดทิศทางรุกตลาดของ Product เป็น PO รอรับไอเดียทั้งหมดจากทุกคนเข้ามารวมกัน

เพื่อให้เห็นภาพ PO เกมรับจะทำงานลักษณะนี้

แต่ PO เกมรุกจะทำงานแบบนี้

ข้อแตกต่างเลยคือ PO เกมรุกจะมีกลยุทธ์และ Feature ต่างๆ ในใจทั้งหมด หรืออย่างน้อยสุดมีความชัดเจนในหัวว่าจะสร้าง Product แบบไหน

เขาเลือกฟังไอเดียของแผนกต่างๆ เพียงเพื่อแค่มาดูว่ามันอาจจะทำให้สำเร็จ Direction ที่วางไว้ง่ายขึ้น เขาจึงพยายามฟังเพื่อเลือกไอเดียที่ดีมาเสริมให้ทิศทางแข็งแกร่งขึ้น

เขาเป็นคนกำหนดทิศทาง และทิศทางนี้จะเป็นตัวบ่งบอกว่า Feature บางอันมันอาจจะไม่เหมาะ ถึงแม้อาจจะสามารถตีตลาดได้เหมือนกัน แต่มันไม่ตรงกับทิศทางของระบบ

เขาวางแผนการบุกไว้แล้วจึงสามารถเลือกได้

ส่วน PO เกมรับ ทำหน้าที่ตั้งรับ รับฟังไอเดียมาทำเพื่อให้ทีมไม่ว่าง มีหน้าที่เอาไอเดียที่ห่วยแตกออกไป แล้วเลือกไอเดียที่ห่วยน้อยที่สุดมาทำ

หลังจากเขียนตรงนี้ผมได้ยินคำเถียงมา

“แต่องค์กรผม PO ก็มีบอส ไม่ได้มีสิทธิ์กำหนดทิศทางอะไรหรอก”

ผมจะบอกว่า PO ไม่ได้จำเป็นต้องมีสิทธิ์ในการกำหนดทิศทางนะ

PO สามารถรับทิศทางของ Product มาได้นะ ไม่จำเป็นต้องคิดเอง

แต่คุณต้องรับทิศทางคร่าวๆ ของบอสคุณมา แล้วทำให้มันเป็นรูปเป็นร่างขึ้น

รู้ว่าจากทิศทางคร่าวๆ นั้นเราจะมี Direction ที่ละเอียดขึ้นอย่างไร อะไรจะทำ อะไรจะไม่ทำ วางตัวแบบไหน สร้าง Adoption ประมาณไหน

ผมขอใช้คำเปรียบเปรยให้เห็นภาพ

เมื่อขงเบ้งวางแผนการบุกเมืองว่าจะตีผ่านแม่น้ำเว่ย แม่ทัพอาจจะเสนอได้ว่าอยากจะเดินผ่านสะพานใด ใช้กำลังเท่าไหร่ แต่แม่ทัพใดเสนอว่าอยากเดินทัพทางอ้อมแม่น้ำแยงซี มันง่ายที่จะบอกว่าไม่เอา โดยที่ไม่ต้องมานั่งเถียงว่าแม่น้ำไหนดีกว่ากัน

และ่กลยุทธ์นั้นการบุกเมืองว่าจะตีผ่านแม่น้ำเว้ย ถูกกำหนดกับเล่าปี่ไว้แต่แรกแล้ว

และถ้าบอสของ PO ไม่มีทิศทางล่ะทำไง

นั่นแหละโอกาสของ PO แล้วที่จะกำหนดมันขึ้นมา

“ต่อให้ผมกำหนดทิศทางขึ้นมา ผมก็ต้องฟัง business และหาทางต่อรองกับทุกฝ่ายอยู่ดี ผมไม่ได้มีอิสระขนาดนั้น”

ใช่

แต่เท่าที่ผมสังเกต PO ที่เล่นเกมรับ จะเหนื่อยมาก

เพราะเขาไม่มีทิศทางที่ชัดเจนที่กำหนดไว้ ทุกคนจึงไม่รู้ว่าไอเดียแบบไหนเวิร์คไม่เวิร์คบ้าง ทุกคนจึงมองว่าทุกๆ ไอเดียเป็นไปได้หมด ทุกคนจึงเสนอไอเดียเต็มที่

และ PO ก็ต้องมานั่ง Defend ว่าทำไมบางไอเดียไปอยู่ท้าย backlog ทำไมอาจจะไม่ได้ทำในปีนี้ และก็ต้องนั่งปลอบประโลมหรือไปจนถึงให้กำลังใจว่า ซักวันเดี๋ยวจะทำอันนี้นะ (แต่ก็ไม่ได้ทำหรอก)

และหลายๆ ครั้งก็จะกลายเป็นเกม ใครตะโกนดังสุดหรือใครใหญ่สุดได้ก่อน

ส่วน PO ที่เล่นเกมรุก ถึงแม้ว่าสุดท้ายการกำหนดทิศทางนั้นไม่ได้มีอิสระเต็มที่ ต้องให้ทุกฝ่ายเห็นตรงกัน ต้องเหนื่อยมากๆ ในการ Defend direction ที่ตัวเองกำหนดไว้

แต่การ defend direction สำเร็จแล้วทุกคนยอมรับ เห็นภาพเลยว่าไอเดียในอนาคตแบบไหนจะเข้าเค้าไม่เข้าเค้า

มันจะลดความเหนื่อยล้าของ PO ได้มากในระยะยาว

PO ในองค์กรใหญ่ อาจจะหนีไม่พ้นที่ต้องหาทางต่อรองให้ทุกฝ่ายพอใจลงตัว

แต่การต่อรองในระดับ Feature by feature มันเหนื่อยและถึกทน กว่าต่อรองในระดับ Direction มาก

PO ที่เล่นเกมรุก งานจะง่ายในระยะยาว และก็สนุก

ส่วน PO ที่เล่นเกมรับ งานจะอึดถึกและน่าเบื่อมากๆ

ถ้าวันนี้คุณเล่นเกมรับอยู่ จะเปลี่ยนมาเล่นเกมรุกยังไง

มีสองท่าที่ผมคิดออก

  1. ถ้าไม่มีใครมีทิศทางอะไร เริ่มเสนอทิศทางจากข้อมูลเก่าที่เราเคยมี
  2. ถ้ามีคนที่เป็นหัวหน้าที่มีทิศทางในใจ ทำความเข้าใจทิศทางนั้นจนลึกซึ้ง และวางแผนสำหรับอนาคตให้ละเอียด ตรวจสอบว่าแผนการบุกนี้ตรงใจหัวหน้ามั้ย

ทั้งสองท่านี้ผมเคยทำมาแล้ว ไม่ใช่ในบทบาท PO แต่ในบทบาท Tech lead บาง บทบาทที่ปรึกษาบ้าง

และจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ท่าสองท่านี้ ทำให้ผมสามารถมีบทบาทในการกำหนดทิศทางได้มากขึ้นเสมอครับ

แต่ก่อนอื่นผมว่าที่ยากที่สุดคือ เราต้องกล้ากำหนดทิศทางไปเสนอ ซึ่งรอบแรกมันจะผิด รอบแรกมันจะมั่ว รอบแรกมันจะมีโอกาสโดนหัวหน้าหรือลูกค้าด่าเยอะ

ตรงนั้นเป็นจุดที่เราต้องกัดฟันอดทนให้ได้ กัดฟันรับฟีดแบ็คมาปรับใหม่

แต่พอเราเสนอได้ตรงใจเมื่อไหร่ โมเมนตัมมันมาแน่นอนครับ

เป็นยังงี้เสมอจากประสบการณ์ของผม

ขอจบแค่นี้ละ พอแล้ว

--

--

Chris
Chris’ Dialogue

I am a product builder who specializes in programming. Strongly believe in humanist.