What is non-agile mindset, exactly?

Chris
Chris’ Dialogue
Published in
1 min readOct 22, 2019

มีคนพูดถึงเรื่องที่ว่าทำ Agile ไม่ได้เพราะ Mindset ผิด เยอะ แต่ประโยคนี้หลายคนอาจจะงงว่าแล้วยังงั้น Mindset คืออะไรเหรอ จุดไหนที่ผิด พอได้อ่านและได้ไอเดียจาก บทความนี้ ผมเลยอยากจะขยายความ

ประเด็นของการทำ Agile คือการมอบอำนาจให้ทีมตัดสินใจ แต่ถ้ายังงั้นแล้วผู้บริหารระดับกลางหรือผู้นำมีหน้าที่อะไร จริงๆ คำตอบก็คือมีหน้าที่สนับสนุน

แต่แน่นอนว่ามันมีหลายคนที่เรียนมาตลอดชีวิตตั้งแต่เด็กที่พ่อแม่สั่งสอนมา ระดับประถม ระดับมัธยม รวมไปถึงมหาวิทยาลัย ว่าภาพของผู้นำที่ดีคือต้อง “ควบคุมได้”

ซึ่งความเชื่อตรงนี้บางทีมันลึกมาก ลึกจนถึงขั้นผมเห็นหลายคนที่แม้แต่ตอนที่ KPI ขึ้น (มาตรวัดยุคก่อน) แต่รู้สึกว่า “ควบคุมไม่ได้” ก็ยังไม่สามารถบอกตัวเองได้ว่าฉันทำได้ดีแล้ว

แน่นอนความเชื่อนี้มันถูกสอนและปลูกฝังมาในสมัยที่งานยังต้องเน้นการควบคุม มันเคยมีประโยชน์ แต่เนื่องจากมันถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กยันโต การจะเอาออกก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

ภาพของผู้นำที่ดี ภาพของพ่อแม่ที่ดี คนทุกคนมีภาพจำ

ประเด็นคือคนที่มีภาพจำว่าการเป็นผู้นำคือต้องเอาอยู่ หรือคอยวางแผนให้ลูกน้องปฏิบัติ เวลาที่บอกว่าไม่ให้ทำแบบนั้นแล้ว ให้ปล่อยทีม พอทีมทำได้ดีเขาก็จะไม่รู้สึกว่าเขามีส่วนร่วม มองไม่เห็นว่าเขามีความจำเป็นอะไร คนอื่นก็อยู่กันได้ เขามองไม่ออกไปเลยว่าแล้วมีฉันอยู่ทำไม เวลาคนอื่นมาทำว่าคุณทำงานอะไร เขาจะตอบได้แต่ตามตำรา ว่าตำแหน่งแบบนั้นแบบนี้ ทำหน้าที่ตามตำรา แต่ตอบแบบกระอักกระอ่วนไม่สามารถภูมิใจกับสิ่งนั้นได้ บอกแบบ Personal ไม่ได้ แม้ว่าทีมทำได้ดีหรือไม่ได้ดีก็ตาม

แต่พอทีมทำได้ไม่ดีขึ้นมาเขาจะโทษตัวเองที่ไม่ “คุม” ให้ดีกว่านี้ โทษตัวเอง กลัว กังวลว่าคนอื่นจะมองว่าเขากาก เอาไม่อยู่ เป็นคนผู้นำที่ชุ่ย ปล่อยให้มีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้อย่างไร!! ทำไมถึงไม่ลงไปจัดการ!! ทำไมไม่วางแผนให้ลูกน้อง!!

ระบบไม้บรรทัดที่ใช้ในการตัดสินตัวเอง ภาพจำเหล่านั้น ตรงนี้แหละที่จุดเป๊ะๆ ที่ผมเรียกว่า non-agile mindset

ซึ่งความเชื่อและภาพจำแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับผู้บริหารเท่านั้น แม้แต่คนทำงานหลายคนก็มีความคาดหวังว่า ฉันจะไม่ต้องแก้ปัญหาหรือคิดเกี่ยวกับปัญหาพวกนี้ นั่นมันหน้าที่ของผู้บริหารเขา

แล้วเวลาลูกน้องที่มีภาพจำตรงนี้ เขาบ่นว่า “หัวหน้าไม่คิดมาให้ล่ะ หน้าที่หัวหน้าไม่ใช่เหรอ” มาผสมกับหัวหน้าที่มีภาพจำเดียวกันที่มีภาพว่า “หัวหน้าที่ดีคือหัว ลูกน้องที่ดีคือมือเท้า” ต่อให้คุณ Implement Agile หรือ Process ยังไงมันก็ไปไม่ได้

เพราะภาพจำของ “การทำงานร่วมกันที่ดี” มันฝังหัวอยู่ และตราบใดที่มีภาพนั้น ต่อให้เขาจะทำได้ผลลัพธ์อย่างไร งานออกมาดีแค่ไหน เขาจะไม่รู้สึกอุ่นใจหรืออยู่กับตัวเองได้

สมมติต่อให้เรามี Process หรือพยายามบอกให้ไม่ Control ให้ปล่อยทีมตัดสินใจ

ทีมทำงานดีสิบครั้ง เขาไม่เข้าใจ เขาเชื่อมโยงไม่ได้ว่าเขามีส่วนร่วมช่วยเหลือให้งานมันดีอย่างไร ดังนั้น มันคือ “ความฟลุ๊ก” ทั้งหมด มันคือ “เฮ่ออ โล่งอก รอดได้ไงไม่รู้ แต่รอดว่ะ” ทั้งหมดสิบครั้ง

ส่วนถ้าทีมทำงานออกมาพังครั้งเดียว เสียงในหัว จากภาพจำของความเป็น “หัวหน้าที่ดี” จะดังขึ้นมาเลยว่า “นั่นไง ทำไมไม่จัดการให้มันดีกว่านี้ เห็นมั้ย สุดท้ายไม่จัดการ พังหมด คุณเป็นผู้นำที่แย่”

นั่นแหละ เสียงในหัวและภาพจำนั่นแหละ คือ จุดเป๊ะๆ ของ Non-agile mindset ที่เป๊ะที่สุดที่ผมมีปัญญาอธิบาย

ซึ่ง ผมไม่ได้เขียนบล็อกนี้เพื่อให้ใครเอาไปใช้ตีตัวเองโทษตัวเอง หรือเอาไปตีคนอื่นว่านี่ไงแกมีภาพจำผิดๆ แกมี Mindset ที่ผิดนะ แกต้องเปลี่ยนนะ

(ผมประเมินความเสี่ยงไว้แล้วว่าอาจจะมีคนใช้แบบนี้ จึงขอดักคอไว้ก่อน ถึงแม้ดักคอก็คงมีคนทำอยู่ดีแหละ แต่ผมว่า คนที่ได้ประโยชน์น่าจะเยอะกว่า เลยเขียนต่อดีกว่า)

ผมเขียนเพื่อให้เห็น ว่า “ภาพจำ” เป็นสิ่งที่สร้างขึ้น หล่อหลอมมา ไม่ได้เป็น “ธรรมชาติ”

สำหรับคนที่มีภาพจำตรงนี้ หลายครั้ง จะเชื่อว่าภาพจำมันเป็น “ความจริง” มันเป็น​ “สัจธรรมของโลกนี้” มันเป็น “เรื่องทั่วไป”

ผมเขียนเพื่อให้เห็นว่า ไม่ใช่ ความเชื่อนี้ไม่ใช่ข้อเท็จจริงของโลก เป็นแค่ภาพที่ถูกหล่อหลอมเฉยๆ

และเมื่อเราเห็นว่าสิ่งนี้มันถูกสร้างขึ้นหล่อหลอมขึ้นมา

คุณก็จะเห็นความเป็นไปได้ที่จะหล่อหลอมใหม่อีกครั้ง

ซึ่งการหล่อหลอมใหม่ มันใช้เวลาแน่ๆ แต่คุณต้องเห็นก่อนไงว่ามันไม่ใช่ “ความจริง” มันเป็น “ทางเลือก”

สำหรับคนที่อยู่ร่วมกับคนที่มีภาพจำนี้ ไม่ว่าในฐานะลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน หรือผู้ใหญ่กว่า

ผมไม่ได้เขียนบล็อกนี้ ให้คุณเดินเอาไปชี้หน้าด่าใครว่า “นี่ไง ปัญหาของแก แก้สิ”

เพราะยิ่งทำแบบนั้น ภาพจำก็ยิ่งทำงานหนักขึ้น ลึกขึ้น

ผมอยากให้เข้าใจมากขึ้นว่ามันเป็นธรรมดาที่คนที่ถูกสอนแบบนี้มาแต่เด็ก ประถม มัธยม ครอบครัว มหาลัย เขาจะต้องใช้เวลาอย่างมากในการเปลี่ยนภาพจำตรงนั้น

ผมอยากให้คุณเข้าใจธรรมชาติของสิ่งนี้อย่างมีเมตตามากขึ้น

เขามีไม้บรรทัดวัดตัวเอง ที่มันถูกฝังหัวมา และมันต้องใช้คำยืนยัน Confirmation จากคนรอบข้างที่ทำให้เขาเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องโบยตีตัวเองด้วยระบบวัดแบบเดิมอีกต่อไปแล้วนะ

มันจะช่วยให้วางลงง่ายขึ้น

ฝากไว้เท่านี้ครับ

ปล. ประเด็นเสริมที่อยากให้สังเกต ผมเห็นว่ามนุษย์เราต้องมี Connection กับงาน มีเรื่องราวที่อธิบายได้ว่าตัวเองมีส่วนร่วมกับงานอย่างไร มนุษย์อยาก Contribute อยากมีส่วนร่วม อยากมีผลงาน อยากทำงาน แต่………. กลไกในการสร้างเรื่องราวว่าตัวเองช่วยเหลือโลกนี้และคนรอบข้างอย่างไร จะ Healthy หรือไม่ ก็อีกเรื่อง

--

--

Chris
Chris’ Dialogue

I am a product builder who specializes in programming. Strongly believe in humanist.