คุยกับโฟล์ค ปัณณธร ผู้ถูกมะเร็งท้าทายชีวิตวัยสิบปลาย ๆ กับความหมายของคำว่าเวลา

บาดแผล การต่อสู้และการเติบโตของเด็กหนุ่มจิตวิทยาที่ปฏิเสธให้โรคร้ายใด ๆ เป็นข้อจำกัดของชีวิต

Pan Langnamsank
circular
4 min readApr 18, 2018

--

วันนี้เป็นเช้าอีกวันหนึ่งที่สดใส คุณลืมตาตื่นขึ้นมาเตรียมพร้อมจะใช้ชีวิต แต่จู่ ๆ มีคนเดินเข้ามาบอกคุณว่าร่างกายของคุณในตอนนี้ กำลังต่อสู้กับโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนมานับไม่ถ้วนอย่างมะเร็ง

คุณจะทำอย่างไรต่อไป

นี่เป็นสถานการณ์เดียวกันกับที่เด็กหนุ่มคนตรงหน้าผมนี้เคยพบเจอในวัยเพียง 16 ปี
ผมกำลังพูดถึงโฟล์ค (ปัณณธร กิตติภัทรพล) นิสิตชั้นปีที่ 1 จากคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภายนอก เด็กหนุ่มแว่นกลมหน้าตาเป็นมิตรคนนี้เดินเข้ามาทักทายผมด้วยความเป็นกันเอง ประหนึ่งเพื่อนร่วมรุ่นที่รู้จักกันมานานนับปีทั้งที่พึ่งรู้จักกัน ประเมินผิวเผินแล้วชีวิตน่าจะมีความสุขดี
แต่ภายใน เด็กหนุ่มแว่นกลมหน้าตาเป็นมิตรคนเดียวกันนี้ เต็มไปด้วยบาดแผลและร่องรอยการต่อสู้ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ จากการต่อสู้กับศึกหนักที่จู่โจมเขาอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว

28 คือจำนวนครั้งที่ร่างกายเขาผ่านกระบวนการเคมีบำบัด
มองลึกลงไปในบาดแผลอย่างไม่ผิวเผิน เขามีความพิเศษที่ซ่อนอยู่

ความพิเศษตรงที่เรื่องราวของเขาต่อจากนี้ อาจสะกิดให้คุณเริ่มเห็นคุณค่าของเวลา และอยากออกไปต่อสู้กับทุกศึกของชีวิต ไม่เว้นแม้แต่มะเร็ง

เตรียมพร้อมก่อนสู้ศึก

“ตอนเด็กเราเป็นคนไม่เรียนเลยนะ ไม่ได้เกเร แต่ไม่เข้าใจว่าเรียนไปทำไม เกรดเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2.3 กว่า ติดศูนย์แล้วค่อยมาตามแก้เอา ไม่รู้ด้วยว่าตัวเองชอบอะไร เรื่องที่คิดก็มีแต่เกม สนุกดี” โฟล์คเกริ่นนำบทสนทนาด้วยการเล่าถึงชีวิตตัวเองในวัยเริ่มต้นศึกษา

แม้ไม่ได้ใส่ใจกับการเรียนเท่าไหร่ แต่โฟล์คค้นพบว่าตัวเองมีความสุขและทำได้ดีในการเรียนภาษาอังกฤษ และนั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โฟล์คตัดสินใจไปเรียนซัมเมอร์ที่ประเทศนิวซีแลนด์

“พ่อแม่ส่งให้ไปเรียนที่นิวซีแลนด์กับพี่ชายฝาแฝดตอนประมาณม. 3 แล้วเราชอบชีวิตที่นั่น มันเรียนแค่เท่าที่จำเป็น ไม่หนักเหมือนที่ไทย ตอนอยู่ไทยเราเป็นเหมือนเด็กเนิร์ดที่ไม่ค่อยเรียน ชอบโดนคนอื่นแกล้ง แต่อยู่ที่นั่นไม่ค่อยมีใครทำอะไรเรา คนนิสัยดี ยิ่งเราเป็นเด็กต่างชาตินะ เราเป็นเหมือนดารา เป็นแรร์ไอเทม เขาดูแลเราดี”

จากการเรียนเพียง 3 เดือน เมื่อรู้สึกว่าชีวิตที่นี่ลงตัวกว่า โฟล์คจึงอาศัยอยู่ที่นั่นกับโฮสต์แฟมิลี่ต่อเป็นเวลาเกือบ 3 ปีจนคุ้นชินกับสังคมและใช้ชีวิตเป็นปกติ

แต่ชีวิตมักส่งบททดสอบที่ไม่คาดคิดมาให้เราเสมอ และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของศึกครั้งใหญ่ที่โฟล์คกำลังจะต้องเผชิญ

ประกาศศึก

“เราเริ่มมีอาการเหนื่อยง่าย ตอนนั้นคิดว่าเป็นเพราะนอนน้อยไม่ก็เข้ายิมบ่อย มันถึงจุดที่เราเหนื่อยจนอยากกลับไปนอนระหว่างเรียน แต่เรากลัวว่าเราจะคิดไปเอง เพราะในชีวิต ทุกคนมันก็เหนื่อยเหมือนกันหมดแหละ เราไม่อยากใช้มันเป็นข้ออ้างให้ตัวเองได้กลับไปพักผ่อนในขณะที่ทุกคนตั้งใจ เราจะกลายเป็นคนไม่เอาไหนเอง”

สัญญาณเตือนภัยแรกดังขึ้นเมื่อโฟล์คเรียนอยู่ประมาณม.5 แล้วก็หายไป

ทุกอย่างดูเหมือนจะเป็นปกติ แต่ความกังวลของโฟล์คก็ต้องทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อร่างกายของเขาเริ่มไม่เป็นไปดั่งใจคิด

“กินอาหารไม่ได้เหมือนปกติ มีอาการหนาวสั่นตอนดึก ตื่นมาเหงื่อท่วมเตียง เลยไปตรวจที่โรงพยาบาล ตอนแรกคิดว่าจะอยู่แค่วันเดียว ไป ๆ มา ๆ ปาเข้าไป 2 อาทิตย์ โดนตรวจคอ ยัดท่อและตรวจร่างกายนู่นนี่ ปรากฎว่าเจอก้อนเนื้อ”

เป็นครั้งแรกที่โฟล์คได้รู้จักกับก้อนเนื้อบางอย่างที่ฝังตัวอยู่ในร่างกายเขา แพทย์ที่ให้การรักษาบอกว่ามีความเป็นไปได้ 2 แบบ แบบแรกสามารถรักษาให้หายได้ง่ายเพียงกินยา แบบที่สองคือเป็นมะเร็ง ซึ่งโฟล์คค่อนข้างแน่ใจว่าโชคจะเข้าข้างเขาอย่างแน่นอน

“ตอนนั้นเรามองโลกบวกมาก มะเร็งอะไรเนี่ย มันแรร์เกินไป กูไม่ใช่คนนั้นที่เป็นแน่นอน เลยถามหมอไปว่าเคสแรกนอกจากกินยาแล้วต้องทำอะไรบ้างล่ะ มั่นใจมาก ๆ ว่าตัวเองไม่ได้เป็น”

แต่โชคชะตาเข้าข้างเขาได้ไม่นาน สุดท้ายความจริงก็โผล่เข้ามาเล่นงาน เมื่อพ่อของเขาโทรศัพท์มาประกาศนามของศัตรูตัวฉกาจในศึกนี้

“โฟล์ค ใจเย็น ๆ นะ”
“ลูกเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง”

ศึกครั้งแรก

“ตอนได้ยิน เรารู้สึกเฉย ๆ นะ ไม่รู้ว่าต้องรู้สึกหรือทำตัวยังไง แต่พอวางสายจากพ่อแล้วมือมันสั่น น้ำตามันไหลออกมาเอง”

เมื่อความเจ็บป่วยมีชื่อเรียกชัดเจน ขั้นตอนการรักษาที่มีแบบแผนจึงได้เริ่มต้นขึ้น
“90% เป็นโอกาสที่หมอบอกว่าเราจะรอด ซึ่งเป็นตัวเลขที่เยอะฉิบหายเลย หายอยู่แล้ว แม่บอกว่าทำดีจะต้องได้ดี เราก็ทำบุญมาตั้งแต่เด็กและค่อนข้างมั่นใจว่าเป็นคนดี เพราะฉะนั้นบุญจะต้องช่วยกู ต้องรอดสิ”

ไม่แน่ใจว่าอะไรทำให้เด็กคนนี้มั่นใจและมองโลกในแง่ดีได้ขนาดนั้น แต่นั่นทำให้โฟล์คมีขวัญกำลังใจในการทำเคมีบำบัด (คีโม) ตามกระบวนการที่แพทย์บอกไว้ แม้ไม่คุ้นชินแต่โฟล์คก็อดทนไว้ได้ โดยตลอดระยะเวลาการรักษา โฟล์คอยู่ที่นิวซีแลนด์ตลอด เนื่องจากมีประกันครอบคลุมไว้อยู่ ซึ่งหากกลับมาที่ไทย ครอบครัวของโฟล์คจะต้องแบกรับค่ารักษาอันหนักหน่วงนั้นไว้เอง

ผ่านไป 6 เดือนอย่างรวดเร็ว โฟล์คกลับมาตรวจสแกนร่างกายใหม่ และได้ค้นพบว่าศึกบางศึกของชีวิต ก็ยาวนานกว่าที่คิด

“ฉิบหาย ปรากฎว่ามันไม่หาย ก้อนเนื้อบวมกว่าเดิม ตกใจ สั่น ครั้งนี้พยายามจะไม่ร้องไห้ เพราะพ่อแม่ก็มาเยี่ยมอยู่ด้วยกันข้าง ๆ แต่สุดท้ายก็ร้องอยู่ดี” โฟล์คเล่าให้เราฟังถึงช่วงเวลาที่ทุกอย่างดูพังทลาย

จาก 90% ในการตรวจครั้งแรก ลดลงมาเหลือ 50% ที่จะมีโอกาสรอดในครั้งที่สอง คราวนี้จากการมองโรคในแง่ดี โลกของโฟล์คได้เปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิง

ศึกครั้งที่สอง

“ตอนเป็นครั้งแรก เรามั่นใจว่าจะหาย คนรอบข้างก็พูดอย่างนั้นทำให้มั่นใจขึ้นไปอีก แต่พอมันไม่หาย ใจสลาย เหมือนอกหัก เจ็บมาก คราวนี้ลึก ๆ เราก็ยังเชื่อว่ามันจะหายนะ แต่พยายามคิดไว้เลยว่าจะตายแล้ว อยากใช้ชีวิตให้ดี ทำอะไรก็ทำไปเถอะก่อนตาย”

ความผิดหวังอาจทำให้เราใจสลาย แต่ในขณะเดียวกันมันก็ย้ำเตือนว่าวินาทีนี้เรายังคงหายใจ

โฟล์คกลับมารับการรักษาอีกครั้งกับขั้นตอนที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งการทำเคมีบำบัดที่หนักขึ้น การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cell) จากพี่ชายฝาแฝด และการฉายรังสีรักษา (Radiotherapy)

“ช่วงที่แย่คือตอนที่ปลูกถ่าย Stem Cell ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน อยู่แต่บนเตียงนอน เดินได้แค่ในห้องเล็ก ๆ ห้ามออกจากโรงพยาบาลเลย เพราะเสี่ยงติดเชื้อจากภายนอก จริง ๆ แค่อยู่ในห้องเฉย ๆ ก็ยังเสี่ยงเลยนะ ต้องล้างปอดด้วย แต่พอเสร็จสิ้นตรงนั้น เราก็หาย กลับไปใช้ชีวิตปกติ แต่ก็ลำบากมากเพราะขาดเรียนเยอะ”

โชคร้ายที่โรคร้ายมาเกิดขึ้นในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต
แต่โชคดี ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ คนบางคนยังมีกำลังที่จะสู้อย่างสุดหัวใจ

“ตอนเราไปทำคีโมก็ต้องเอาการบ้านไปทำ ตามงานเพราะไม่ได้ไปเรียนเลย น่าเบื่อฉิบหาย แต่ว่าต้องทำเพื่อผ่านไปให้ได้ ไม่ได้คิดอะไรมากกว่านั้น จริง ๆ มองกลับไปก็งงเหมือนกันว่าทำไปได้ยังไง เราต้องนั่งรถบัสไปทำคีโมในโรงพยาบาลไกล ๆ เองด้วยช่วงนั้น มีคนมาถามว่าทั้งหมดนี่ทำได้ไงวะ”

ผมเฝ้ารอฟังเคล็ดลับในการอดทนต่อสู้กับอุปสรรคของชีวิตจากผู้มีประสบการณ์
และนี่คือคำเฉลย

“เอาตรง ๆ กูก็ไม่รู้ว่ะ แต่เชื่อนะว่าทุกคนไปอยู่จุดนั้น แม่งต้องทำ แม่งก็ทำได้ ถ้าไม่ทำก็ตาย ก็ต้องทำ แค่นั้นเอง ขออย่าตาย เราทำได้”

หลังจากที่หายเป็นปกติ โฟล์คเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตให้ดีขึ้น ทั้งออกกำลังกาย ตั้งใจเรียน และทำงานพิเศษควบคู่ไปด้วย

“เราจบ Year 12 ซึ่งเป็นวัยที่ทำงานได้แล้วของที่นั่น เรารู้สึกว่าเราควรโตได้แล้ว ไม่ควรขอเงินพ่อแม่ เลยย้ายออกจากโฮสต์แฟมิลี่ มาเช่าห้องอยู่เอง ทำงาน 4–5 อย่าง เก็บเงินจ่ายค่าเช่าเอง อยากจะเรียนจบที่นั่นโดยไม่ต้องขอพ่อแม่เลย ซึ่งเราทำได้ แฮปปี้นะ พ่อแม่รู้สึกว่าเราพยายาม แล้วเราก็รู้สึกด้วยว่าเฮ้ย เป็นมะเร็งทำได้ขนาดนี้ มันแรร์และเหนือว่ะ”

ถึงตรงนี้ ผมสงสัยว่าอะไรเป็นจุดเปลี่ยนให้โฟล์คผันตัวจากนักเรียนเกรด 2.3 มาเป็นคนขยันขันแข็งเกินเด็กนักเรียนทั่วไป

“จริง ๆ อันนี้อาจจะไม่เกี่ยวกับมะเร็งนะ พอโตถึงจุดหนึ่ง มันก็คิดได้ว่าพ่อแม่ส่งมา ค่าเรียนมันก็แพงมาก อย่างน้อยก็ต้องทำให้มันดี ไม่ต้องได้ที่หนึ่งหรืออะไร แต่ขอให้มันดีที่สุดเท่าที่ชีวิตเราจะทำได้ ซึ่งเราก็ทำได้นะ” เป็นคำตอบของโฟล์คในวัยที่เติบโตแล้ว

แต่เหมือนโชคชะตาเล่นตลก เมื่อทุกอย่างดูจะเข้าที่เข้าทาง จู่ ๆ โฟล์คกลับมามีอาการปวดหลังขั้นรุนแรง ต้องกลับไปตรวจใหม่อีกครั้งกับกระบวนการผ่าตัดที่เจ็บจนต้องร้องไห้ออกมาอย่างทรมาน

ไม่ผิดคาดมากนัก นี่คือจุดเริ่มต้นของศึกครั้งที่สาม
กับโอกาสในการรักษาให้หายที่เหลือเพียง 20% และความตายที่เข้ามาท้าทายอย่างใกล้ชิด

ศึกครั้งที่สาม

“วิธีรักษาคราวนี้คือทำคีโมแบบหนัก ๆ และถ่าย Stem Cell อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งครั้งนี้จะไม่ใช่เซลล์ของพี่ชายแล้ว แต่เป็นของคนแปลกหน้าที่ใกล้เคียงกับร่างกายเรามากที่สุด ซึ่งมีโอกาสทำให้เราตายระหว่างทางด้วย เพราะเราไม่รู้เหมือนกันว่าเซลล์ของคนอื่นที่เข้ามามันจะเข้ากับร่างกายเราไหม สุดท้ายมันจะคิดว่าอวัยวะภายในเราเป็นศัตรูหรือเปล่า ถ้าเป็นอย่างนั้นมันก็แค่ทำลายทิ้ง”

บางครั้ง ชีวิตก็บังคับให้เราต้องตัดสินใจอะไรที่ยากเกินจะคาดเดา สู้หรือไม่สู้ก็อาจจะตาย

ผลเสียที่ตามมาของการรักษาเหล่านี้คืออายุขัยที่สั้นลงด้วยฤทธิ์ของรังสีและเคมี การทำงานที่มีประสิทธิภาพน้อยลงของหัวใจ และการผุพังของอวัยวะภายในต่าง ๆ

สุดท้าย ไม่ว่าจะต้องเสียอะไร โฟล์คเลือกที่จะยอมรับทุกเงื่อนไข เพื่อต่อโอกาสการมีชีวิตรอดให้ได้มากที่สุด

ในช่วงเวลาที่มืดมนของชีวิตนี้ พี่ชายฝาแฝดที่โฟล์ครักและเชื่อใจที่สุดก็มีปัญหาเรื่องหนังสือเดินทาง ทำให้ต้องเดินทางกลับไทยอย่างจำเป็น กลายเป็นโฟล์คต้องอยู่ด้วยตัวเองคนเดียว แม้จะอยากกลับบ้านใจจะขาด แต่โฟล์ครู้ดีว่านั่นเป็นการเคลื่อนย้ายภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดมาที่ครอบครัวของเขา

“ตอนแรกเราตัดสินใจที่จะอยู่ต่อ แต่เราได้ไปคุยกับพ่อแม่เพื่อน แล้วเขาตอบกลับมาว่ารู้ไหม ถ้าลูกฉันเป็นอะไรขึ้นมา ฉันไม่สนใจว่าจะต้องเสียทุกอย่าง ให้ขายทุกอย่างก็ได้ เพื่อให้เขาหาย เขาเป็นพ่อแม่ เขาก็อยากทำหน้าที่พ่อแม่ให้ดีที่สุด”

จากประโยคเล็ก ๆ นั้น การตัดสินใจครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้น

“เราชั่งน้ำหนักดูว่าเลือกทางไหนดีกว่ากัน ถ้าเรากลับไทย เราเห็นแก่ตัวนะ ที่เอาค่าใช้จ่ายทั้งหมดไปให้พ่อแม่ แต่ถ้าเราเลือกที่จะอยู่ต่อ เราก็เห็นแก่ตัวอีกเหมือนกัน ที่ไม่ให้พ่อแม่ได้ทำหน้าที่ของพ่อแม่ที่เขาต้องการทำ ถ้ารักษาอยู่ที่นี่แล้วไม่หาย ตาย ไม่ได้กลับไปที่บ้าน มันจะแย่มาก”

การกลับบ้านคือคำตอบ โฟล์คกลับมาพักรักษาตัวที่ไทยพร้อมครอบครัวที่พร้อมจะอยู่เคียงข้างเขา และความฝันครั้งใหม่ก็ก่อตัว

“เราอยากเข้าจุฬา ซึ่งมันดูเป็นไปได้ยากมากสำหรับสภาพเราตอนนั้น ตอนที่จะสอบเราก็ยังต้องทำคีโมไปด้วยเลย แต่เราไม่มีทางเลือก ต้องทุ่มเทกับการเรียนแล้วก็รักษาตัวเองไปด้วย ไม่อยากเลื่อนการรักษา ถ้าปล่อยให้ช้าไปอีกแค่สักวัน ไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทุกวันนี้การรักษาก็ดูจะล่าช้าอยู่แล้ว ถ้าให้สอบให้เสร็จก่อนแล้วค่อยมาทำ ไม่เอา ไม่รอ” ในเวลานี้ โฟล์ครู้ดีว่าแค่วินาทีเดียวก็มีความหมายกับชีวิตเขามากแค่ไหน

และด้วยความพยายามอย่างหนัก สิ่งที่โฟล์คเฝ้ารอก็ได้เกิดขึ้น

“สุดท้ายก็ได้เข้ามาเรียนที่นี่” โฟล์คกล่าวอย่างภูมิใจ ในที่สุดเขาก็กลายเป็นนิสิตคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เราอาจรู้ตัวว่าใจเราสู้ได้มากขนาดไหน ในวันที่ทางเลือกเดียวของเราคือการสู้อย่างสุดหัวใจ

สงบศึก

“สุดท้ายเรารอดนะ ตอนนี้สเตมเซลล์ที่ถ่ายมาก็เข้ากับร่างกายเรา อวัยวะข้างในยังทำงานได้อยู่ แต่หมอไม่เคยบอกว่าหายขาดนะ จะมั่นใจว่าหายขาดได้จริง ๆ ก็อีกประมาณ 5 ปี เป็นเวลาที่มะเร็งไม่น่าจะกลับมาแล้ว ตอนนี้ผ่านไป 1 ปีแล้ว ผ่านมาได้ 1 ส่วน 5 แล้ว ไหวแหละ” โฟล์คเล่าถึงสถานการณ์ปัจจุบัน หลังจากที่ร่างกายผ่านการรักษาทั้งหมดมาและเริ่มเชื่อฟังเขาได้อย่างสงบ

แต่ถึงแม้จะหลุดพ้นจากช่วงเวลานั้นมาได้ โฟล์คก็ยังถูกช่วงเวลานั้นหลอกหลอนและวนเวียนอยู่ในความคิดเสมอ

“บางทีเดินอยู่ ถ้าแบบแดดร้อน ๆ แล้ววูบวาบ คัน ๆ ตัว เราจะคิดแล้วว่าเป็นมะเร็งป่าววะ น้ำหนักลง น้ำหนักขึ้น เป็นมะเร็งป่าววะ และมันทำให้เรานิสัยเปลี่ยนไปด้วยนะ แต่ก่อนเราขี้อาย เดี๋ยวนี้กวนตีนขึ้น เข้าหาผู้คนมากขึ้น เพราะถ้าอยู่คนเดียวนี่ตายแน่ ๆ มีความคิดแย่ ๆ เข้ามาบ่อย คิดถึงเรื่องมะเร็งทุกวัน สลัดออกไปไม่ได้ ความคิดตรงนี้มันคงไม่หายไปแหละ น่าจะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต ที่ทำได้ก็คือเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน”

ปัญหาบางอย่างอาจจะติดอยู่ในใจเราไปตลอด ที่เราทำได้อาจเป็นเพียงการยอมรับและอาศัยอยู่ร่วมกับมัน

และจากประสบการณ์ความเจ็บปวดทั้งหมดที่ผ่านมา โฟล์คมีหนึ่งเรื่องที่อยากสื่อสารกับทุกคน

“อันนี้แค่สำหรับเรานะ คนชอบบอกคนป่วยว่าเดี๋ยวมันก็หาย แต่มันมีโอกาสที่จะไม่หายแล้วเป็นซ้ำเป็นซ้อนอีกเหมือนกัน อย่างเราเป็นมะเร็งตั้งหลายครั้ง เราเลยรู้สึกเหมือนตอนแรกโดนหลอกให้สบายใจเลย รู้ว่าหวังดีแหละ แต่สุดท้ายมันเจ็บมากกว่าเดิมอีก บางทีพูดตรง ๆ ไปเลยดีกว่าว่ามันอาจจะไม่หายได้ง่าย ๆ อย่างที่คิดนะ แล้วยอมรับกันตรงนั้น ดีกว่าหลอกว่าหายแน่นอน สุดท้ายไม่หาย เจ็บอยู่ดี หนักกว่าเดิมอีก แต่อันนี้ก็แล้วแต่คน บางคนอาจจะรู้สึกว่ามันเป็นพลังงานด้านบวก ซึ่งก็ดีสำหรับเขา แต่การให้ความมั่นใจว่าเขาจะหายแน่ ๆ อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน”

เราอาจต้องระมัดระวังให้มากขึ้น ก่อนที่ความหวังดีของเราจะไปทำร้ายใครในภายหลัง

ยามศึกเรารบ ยามสงบเรารัก

ยังมีอีกหลายเรื่องที่เราได้สนทนากัน ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ที่โฟล์คเล่าอย่างติดตลกว่าไม่เข้าใจกับการที่มนุษย์ปฏิบัติต่อมนุษย์คนอื่นเป็นคนคุยเท่าไหร่ อาจเป็นเพราะเขาให้ค่ากับเวลาทุกวินาทีของชีวิตเขาเกินกว่าจะมาเป็นคนคุยของใคร

“เราเชื่อว่าเราไม่ควรจะต้องเฟคใส่เมื่อเจอคนที่ใช่นะ เราควรเป็นตัวของตัวเอง ใช่ก็คือใช่ ไม่ต้องทำเป็นเหมือนไลน์ไปบ่อย ๆ ทำอะไรอยู่ กินข้าวยัง อะไรแบบนี้ ถ้าไม่ใช่ก็คือไม่ใช่ ไม่อยากเป็นคนคุยของใครด้วย เราให้ค่าเวลาของเรามาก จะเป็นมะเร็งแล้วตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ทุกวันนี้ก็เจอคนที่เข้าใจเรามาก ๆ ยอมรับเราแล้วก็คบกันอยู่ ช่วงนี้เราก็ดูแลตัวเองให้ดี ไม่อยากให้ใครที่รักเราเป็นห่วง”

รวมถึงเรื่องชีวิตและความฝันต่อจากวันนี้ของเด็กหนุ่มคนนี้ที่เราได้คุยกัน โฟล์คยังคงรอยยิ้ม ความเฮฮาเมื่อแรกพบไว้อยู่ หลังจากเล่าเรื่องศึกหนักที่ได้ผ่านมาทั้งหมด และเขายังยินดีที่จะเล่าให้คนอื่นฟังต่อ ๆ ไปด้วยเช่นกัน

“ เรายินดีเล่าทุกอย่างที่ผ่านมานะ ไม่ได้คิดว่ามันเป็นเรื่องน่าอาย มันเป็นเรื่องที่ใครเลือกไม่ได้อยู่แล้ว จริง ๆ ทุกวันนี้เรายังไม่รู้เลยว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง อยู่ ๆ มันก็เป็น แต่มองย้อนกลับไป เราดีใจที่มันเกิดขึ้นนะ มันทำให้เราเป็นเราในวันนี้ สิ่งที่พิเศษของเราตอนนี้ก็คือเราเข้ากับคนได้ง่ายมากด้วย คิดว่านะ ใช่ไหมล่ะ” โฟล์คพูดติดตลกถึงการที่มะเร็งทำให้เขาเข้าใจชีวิตมนุษย์มากขึ้น

“เราได้ยินเรื่องคนที่เป็นมะเร็งมาหลายคน เมื่อผ่านพวกนี้ไปได้ เค้ากลายเป็น Limited Edition จะมีสักกี่คนที่เข้มแข็งจนผ่านมะเร็งและการทำคีโมนับไม่ถ้วนแบบนั้นไปได้”

ทุกการต่อสู้ จะทำให้เราเติบโตและแข็งแกร่งขึ้นเสมอ

นั่งคุยกันไปชั่วโมงเศษ ถึงเวลาที่ต้องแยกย้าย ก่อนจากลา ผมขอบคุณโฟล์คที่เล่าเรื่องทั้งหมดนี้ให้คนแปลกหน้าอย่างผมฟังและเตือนให้ผมตระหนักถึงการต่อสู้และความหมายของชีวิต

นี่คือคำตอบที่ผมได้รับ

“ก็แบบนี้แหละนะ เจอ Limited Edition เข้าไป”

Circular #1
ปัณณธร กิตติภัทรพล (ชั้นปีที่ 1 คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
สัมภาษณ์และเรียบเรียง: ปัน หลั่งน้ำสังข์, ปัณณธร กิตติภัทรพล
ถ่ายรูป: ปกรณ์ นาวาจะ
Graphic: ปกรณ์ นาวาจะ, นิติพัฒน์ ใจดี

--

--

Pan Langnamsank
circular

สิ่งมีชีวิตขนาดธุลีของดวงดาว ออกเดินทางเพื่อแสวงหา สร้าง และสลายตัวตน