เรื่องราวได้เรียนรู้จาก 1 ปีแห่งการทำงานในโลกแห่งความเป็นจริง
การออกเดินทางครั้งสุดท้าย
ช่วงนี้ก็คงเป็นช่วงเวลาที่นิสิตนักศึกษา รหัส 58 หลาย ๆ คนเริ่มก้าวเข้าไปสู่ชีวิตใหม่ในโลกแห่งการทำงาน หลังจากที่พวกเราเดินทางในระบบการศึกษากันมาอย่างยาวนาน ก้าวใหม่ก้าวนี้ สำหรับเรา มันเป็นก้าวที่ “โหวงๆ” หน่อย เพราะที่ผ่านมาในชีวิต แต่ละก้าวเราเดินไปพร้อมกันหลาย ๆ คน มี Check Point เรื่อย ๆ มีจุดให้แวะพักอยู่เสมอ พอเรียนจบป.6 แล้ว เราก็ไปสอบเข้าโรงเรียนมัธยมต่อ ผ่านไปอีกหน่อย เราก็ตั้งใจอ่านหนังสือ เพื่อสอบเข้ามหาลัยตามที่เราฝัน ที่ผ่านมาเราไม่ค่อยได้เลือกเส้นทางอะไรมากนัก แต่ก้าวครั้งนี้ มันเป็นการเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหญ่ ที่เราไม่รู้เลยว่า มันจะไปจบตรงไหน เส้นทางที่เราเลือกมันจะเป็นอย่างไรบ้าง ในโลกแห่งความเป็นจริงใบใหญ่นี้ จะพาเราไปพบกับอะไรบ้างนะ
แต่ในขณะเดียวกัน วันนี้เมื่อหนึ่งปีที่แล้ว ก็เราก็มี “เด็กใหม่” อีกกลุ่มนึง ที่เริ่มออกเดินทางครั้งใหญ่ เริ่มสร้างเส้นทางของตัวเองเหมือนกัน พี่ ๆ รหัส 57 ได้เริ่มออกเดินทางมาแล้ว 1 ปี เราเชื่อว่า ทุกคนต่างก็ได้เรียนรู้ในสิ่งที่แตกต่างกันไป ในแบบของตัวเอง เราว่ามันเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ถ้าเราลองเข้าไปฟังเรื่องราวของพี่ ๆ เราก็อาจจะได้เรียนรู้แนวคิด แนวทาง ที่เอามาปรับใช้สำหรับการออกเดินทางก้าวแรกของเราได้ สำหรับเรา ความพิเศษของการเรียนรู้จากคนที่โตกว่าเราแค่ปีเดียวมันคือเราจะได้เห็นสเต็ป ที่ไม่ใหญ่ ไม่เล็กเกินไป ย่อยง่าย เข้าใจเร็ว การฟังคนที่โตกว่าเรามาก ๆ เราก็จะได้เรียนรู้จากมุมมองแบบนึง แต่ครั้งนี้เรามาลองฟัง ลองเรียนรู้ จากเรื่องราวของพี่ ๆ ที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลกลุ่มนี้กัน :)
สำหรับบทความนี้ เราไปลองไปคุยกับพี่ ๆ จุฬาฯ 6 คนจากหลายสายงาน บางคนทำงานตรงสายตัวเอง บางคนทำไม่ตรงสาย ทำบริษัท Start Up, บริษัทใหญ่ หรือหน่วยงานราชการ แล้วเราก็ได้ลองเอาสิ่งที่พี่ ๆ ได้เรียนรู้ หรืออยากฝากถึงน้อง ๆ มาสรุปเป็น 7 สิ่งที่ได้เรียนรู้ จากการทำงานมา 1 ปี ในโลกแห่งความเป็นจริง ไปเริ่มกันเลยดีกว่า!
1. กลุ่มคนที่เรารู้จัก เป็นแค่กลุ่มเล็ก ๆ บนโลกเท่านั้น
พอเราได้เริ่มเข้าไปทำงานจริง ๆ แล้ว เราจะได้เจอคนอีกมากมาย จากหลากหลายที่ อาจจะต่างมหาลัย ต่างคณะกัน พื้นฐานต่างกัน ทำให้เราได้รู้ว่ามันยังมีคนอีกหลายแบบมากในโลกนี้ มีทั้งคนที่เก่งกว่า ที่เราจะสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จากพวกเค้าได้ อาจจะมีคนที่เราคุยกับเค้าไม่รู้เรื่องเลย เหมือนพูดกันคนละภาษา ซึ่งก็เป็นสิ่งใหม่ ที่เราจะได้เรียนรู้ที่จะปรับตัว เพื่อทำงานร่วมกัน และก็อาจจะมีคนที่เราได้มีโอกาสสอนเค้า ให้เค้าได้เรียนรู้จากเรา ก็เป็นโอกาสดีที่เราจะได้ฝึกพัฒนาตัวเองจากอีกมุมมองนึงเหมือนกัน
2. แต่ละคนล้วนมีเส้นทางชีวิตเป็นของตัวเอง
ณ วันที่เราทุกคนแยกย้ายออกไปมีเส้นทางชีวิตเป็นของตัวเอง ถ้าเราลองมองเพื่อน ๆ ของเรา เราอาจจะเห็นเพื่อนบางคนที่เงินเดือนเยอะกว่าเรา เราอาจจะรู้สึกแย่กับเงินของเราที่ได้ไม่เท่าเพื่อน หรือเพื่อนได้โอกาสที่ดีกว่า ได้ไปต่างประเทศ เรากลับรู้สึกเหมือนยังย่ำอยู่ที่เดิม แต่จริง ๆ แล้ว ชีวิตเรามันพึ่งเริ่มต้นเท่านั้นเอง อย่าพึ่งรู้สึกเขว อยากให้ลองถามกับตัวเองดูอีกครั้ง ว่าจริง ๆ แล้ว เราต้องการอะไรจากการทำงาน เราเลือกที่จะเริ่มต้นกับงานนี้เพราะอะไร เป้าหมายของเราคืออะไร เราก็มีเส้นทางของเรา ในความเร็วท่ีพอเหมาะ ในแบบที่พอดีกับเรา ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ เรียนรู้ไป เวลาหาเงินยังมีอีกเยอะ และสุดท้ายในระหว่างทาง สิ่งที่ผ่านเข้ามามันก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของเรา ว่าเราจะมองสิ่งที่ผ่านเข้ามาเหล่านั้นอย่างไร เราก็ต้องจัดการกับความคิดของตัวเราเองให้ได้ และเวลาจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ทุกอย่างชัดเจนขึ้นเองในท้ายที่สุด
3. Culture และ เพื่อนร่วมงาน คือสิ่งสำคัญ
Culture และเพื่อนร่วมงานเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ สำหรับการทำงาน และสำหรับบางคนมันอาจจะเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่าเรื่องเงินเดือนด้วยซ้ำ เพราะจริง ๆ แล้วมันมีอีกหลายอย่างมากที่เราอยากได้จากการทำงาน เราอาจจะ อยากจะพัฒนาตัวเอง อยากทำงานร่วมกับคนเก่ง ๆ และมี mindset ที่ดี อยากฝึกใช้ภาษาที่สาม ถ้าเราได้ไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่ส่งเสริมเราในแบบที่เราต้องการ มันเป็นเรื่องที่ดีมาก ถ้าเราไปเจอกับสังคมที่แย่ หัวหน้าที่ไม่ดี บางทีมันก็เป็นอะไรที่ Toxic กับตัวเราเอง ซึ่งมันก็คงไม่ดีสักเท่าไหร่ และสำหรับเพื่อนร่วมงาน ก็เป็นอีกส่วนสำคัญในการทำงาน อยากให้ใส่ใจเพื่อนร่วมงาน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน อาจจะเริ่มต้นจากการลองคุยเรื่องที่เค้าสนใจ ก็เป็นวิธีง่าย ๆ วิธีนึง ที่เราต้องพยายามใส่ใจเพื่อนร่วมงาน เพราะว่าเราจะต้องอยู่กับเค้าทุกวัน ต้องทำงานด้วยกันทุกวัน แล้วยิ่งถ้าเราจูนกับเค้าติด มันก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ ทำให้เราทำงานได้อย่างมีความสุขมากขึ้นในทุก ๆ วัน
4. เรื่องระหว่างการเรียนรู้ในการทำงาน
มันจะมีอะไรมากมายให้เราได้เรียนรู้ เราอาจจะได้เรียนรู้จากความคิดของคนอื่น เรียนรู้จากเจ้านาย บางครั้งการเรียนรู้จากคนที่เค้ามีประสบการณ์มาก่อน ดูวิธีการพูด การตัดสินใจ การทำงานจากเค้า มันก็เหมือนกับเป็นการเรียนทางลัดเหมือนกัน และบางครั้งเราก็ได้เรียนรู้จากคนที่คิดเห็นต่างจากเรา ผ่านการพยายามเงียบไว้ และก็ฟังเค้าก่อน ฟังเพื่อเข้าใจ แล้วก็เรียนรู้ซึ่งกันและกันไป
ในการทำงาน อะไรที่ทำได้ ก็ลองทำไปก่อน ถึงแม้มันจะเล็ก ๆ น้อย ๆ มันอาจจะดูเป็นอะไรไม่รู้ในชีวิตเรา แต่มันก็อาจจะช่วยให้เรารู้จักคนมากขึ้น หรืออาจจะส่งผลดีกับเราได้ในอนาคต
ในการเรียนรู้บางครั้งเราก็ต้องมีความมั่นใจที่จะลงมือทำ เราต้องมั่นใจบ้างเพื่อให้ได้ลองลงมือ แต่ถ้ามั่นใจมากเกินไป ก็อาจจะพลาดสิ่งที่ยังไม่เคยรู้ เราต้อง Balance สองอย่างนี้ให้ได้ และก็อย่ามั่นใจจนทำให้เกิดความผิดพลาด บางบริษัท หรือเจ้านายบางคนก็อาจจะใจดี ให้ผิดบ้าง ลองบ้าง แต่ก็อย่าผิดบ่อยเกินไป อย่าผิดร้ายแรง
การยอมไม่ใช่ทางออกเสมอไป บางครั้งเราก็ยอมบ้างเพื่อที่จะได้เรียนรู้ แต่ถ้าสำหรับบางเรื่องที่เราคิดว่าไม่ใช่ หรือไม่ถูก ก็ควรที่จะไปคุยกับเจ้านายตรง ๆ แต่ก็คุยกันด้วยเหตุผล
คอมเมนท์ คำติ เป็นสิ่งที่ดีกับตัวเรา แต่เวลาฟัง เราต้องแยกแยะให้ได้ บางคนคอมเมนท์เพื่อให้เราพัฒนา แต่ก็อาจจะมีบางคอมเมนท์ที่ไม่ได้มีเจตนาดี หรือเป็น Toxic เราก็ต้องมีวิจารณญาณ และก็เลือกรับคอมเมนท์ที่ดี กรองเอาเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ รับเอามาเพื่อเรียนรู้และพัฒนาตัวเราให้ดีขึ้น
5. ต้องลำดับความสำคัญให้เป็น
การทำงานทำให้เราเข้าใจมากขึ้นเลยว่า เราไม่สามารถทำทุกอย่างให้ดี ไปพร้อม ๆ กันได้ อาจจะเป็นไปได้ที่เราจะทำมันทุกอย่าง แต่มันก็คงจะออกมาดีทั้งหมดได้ยาก ทำให้เราต้องเรียนรู้ที่จะจัดลำดับความสำคัญ เลือกสิ่งที่สำคัญที่สุดก่อน หรือเลือกสิ่งที่คิดว่าอยากรู้อยากทำมากที่สุดก่อน เราอาจจะต้องพักบางสิ่งไว้บ้าง เพื่อให้เราโฟกัสกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า และทำมันให้ดี และสุดท้ายก็อย่าลืมแบ่งเวลาสำหรับตัวเอง ให้เราได้พัก ได้ไปทำอะไรไร้สาระ ทำอะไรก็ตามที่มันเป็นการพักผ่อนสำหรับเราบ้าง
6. เงินก็เป็นเรื่องสำคัญ
บางคนอาจจะมองว่า งานแรก ๆ เรื่องเงินไม่ใช่เรื่องสำคัญ ขอให้ได้โอกาสสำหรับการเรียนรู้มากที่สุดพอ ได้ทำงานที่ชอบก็พอ ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ว่าบางครั้งทั้งสองอย่างมันก็ต้องไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเรื่องงานที่ชอบ งานที่ดี กับเงินที่เพียงพอกับการใช้ชีวิต เพราะสุดท้ายแล้ว เงินก็ยังคงเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับการใช้ชีวิตประจำวัน เราต้องลองคำนวณเงินสำหรับใช้จ่าย สำหรับการพักผ่อน หรือสำหรับความสุขของเรา ให้ได้ตัวเลขที่พอดีกับตัวเราเอง เพื่อให้เราได้ทำงานที่ชอบ กับเงินที่เราอยู่ได้อย่างมีความสุขในทุก ๆ วัน
7. “สมดุล” ข้อนี้สำคัญที่สุด
สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับชีวิตและการทำงานคือ “สมดุล” สมดุลสำหรับทุก ๆ เรื่อง ทั้งเรื่องสุขภาพ ที่ไม่ว่าเราจะทำงานหนักแค่ไหน สุขภาพก็เป็นสิ่งที่เราควรจะดูแล หาเวลาไปออกกำลังกาย ลงทุนเพื่อสุขภาพบ้าง เรื่องความสัมพันธ์ ก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่เป็นอีกอย่างที่ลืมไม่ได้ เราต้องแบ่งเวลามาให้ครอบครัวบ้าง เจอเพื่อนบ้าง งานเยอะแค่ไหนก็ต้องมีเวลาให้คนรอบข้าง เพราะว่างานไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต และสุดท้ายคือสมดุลความสุขของตัวเราเอง ให้เวลากับตัวเองบ้าง แบ่งเวลาสำหรับมาดูแลใจของตัวเอง สำรวจตัวเองอยู่เสมอ ว่าเรามีความสุขอยู่ใช่ไหม เรายังเดินทางอยู่บนเส้นทางที่เราอยากเดิน ในแบบที่เราแฮปปี้ใช่ไหม เส้นทางมันไม่จำเป็นจะต้องเหมือนเดิมตั้งแต่ต้นเสมอไป มันก็คงจะค่อย ๆ ปรับไป ตราบใดที่เรายังเรียนรู้และเติบโตขึ้นอยู่ทุก ๆ วัน ใช้ชีวิตอย่างมีสมดุล คือเรื่องที่สำคัญที่สุด
และสุดท้ายเราว่า สำหรับเรื่องราวที่ได้แชร์อยู่ในบทความนี้ ประโยชน์มันไม่ได้ตกอยู่แค่กับน้อง ๆ หรือใครที่เป็นคนอ่านเท่านั้น เราว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นกับพี่ ๆ เจ้าของเรื่องด้วย ที่ต้องมองย้อนกลับไปมองตัวเองว่าช่วงชีวิตที่ผ่านมา โลกนั้นมอบอะไรให้กับเรา และเราได้เก็บเกี่ยวอะไรเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตัวเราบ้าง และทุกคนเอง ก็สามารถลองมองย้อนกลับไปในการเดินทางของตัวเรา และก็ทบทวนดูว่าเราได้เรียนรู้อะไร จากช่วงเวลาที่ผ่านมาบ้าง ต่างคนก็คงจะได้เติบโตในแบบของตัวเอง ถ้าใครมีเรื่องราวอะไรที่น่าสนใจ ที่อยากส่งต่อ ก็มาแชร์กันได้นะครับ :)
ขอขอบคุณพี่ ๆ จุฬาฯ ทั้ง 6 คน ที่เป็นเจ้าของบทเรียนทั้ง 7 ข้อ ที่ได้แชร์ให้กับผู้อ่านทุกคนด้วยนะครับ หลายประโยคคูล ๆ ก็ยกมาจากที่พี่ ๆ แชร์มา ขอบคุณมาก ๆ นะครับ ❤
- พี่โก้ วิศวฯ
- พี่ปั่น วิศวฯ
- พี่ไปร์ท วิศวฯ
- พี่แจ็คกี้ วิศวฯ
- พี่ตู้ ECON
- พี่ยูอิ บัญชีฯ
บทความนี้เป็นบทความที่ 2 ของ Circular แล้ว! เข้าไปอ่านบทความก่อนหน้า หรือติดตามบทความต่อ ๆ ไปได้เลย! ที่ Facebook Page : Circular หรือคลิกที่ลิงก์นี้เลย https://www.facebook.com/Circular-1571078633007652/