เช็คความพร้อมแพ็คความรู้เตรียมเข้าสู่โลกแห่ง Web 3.0 กัน

คำว่า Web 3.0 กำลังมาแรงและถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ บางคนเรียกว่ามันจะเป็นยุคสมัยใหม่ที่จะเปลี่ยนโลกอินเทอร์เน็ตจากที่เรารู้จักกันดีไปตลอดกาล

ว่าแต่… Web 3.0 นี่มันคืออะไรนะ?

หนทางในการบรรลุถึงตัวตนของมันอาจยาวไกล เรามาที่จุดสตาร์ท เริ่มด้วยการเล่าถึงวิวัฒนาการของอินเทอร์เน็ตกัน

ยุคสมัยทั้งสามของอินเทอร์เน็ต

Web 1.0: อ่านได้เขียนไม่ได้

ในยุคที่หนึ่งนี้ ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเกือบทั้งหมดเป็นเพียงคนเสพข้อมูลที่ผู้สร้างเว็บกำหนดไว้ให้เท่านั้น ไม่ได้มีช่องทางให้คนทั่วไปแบบเราๆเอาของขึ้นไปให้ผู้ใช้คนอื่นๆดู

หน้าที่ของเว็บไซต์ในยุค Web1 หลักๆแล้ว คือการให้ผู้สร้างเว็บสามารถเผยแพร่ข้อมูลไปให้คนเข้ามาดูได้ โดยเว็บในยุคนี้ที่อาจเห็นกันอยู่บ่อยๆคือ เว็บข่าว หรือเว็บ landing page ต่างๆ

เพื่อให้เห็นภาพ ขอยกตัวอย่างเว็บ Cleverse Landing Page นะฮะ(เว็บสวยมากอยากให้ลองไปเยี่ยมดู 🥰) ซึ่งจะเห็นได้ว่ามันเป็นเว็บที่ทาง Cleverse ใส่ข้อมูลให้คนที่เข้ามาดูได้สัมผัสเท่านั้น แต่ไม่ได้มีช่องทางอะไรให้คนดูส่งข้อมูลกลับมา

ถนนวันเวย์แห่งข้อมูลของ Web 1.0

ประเด็นหนึ่งของ Web1 ที่น่าพูดถึงคือ เราที่เป็นผู้ใช้ทั่วไปไม่สามารถรู้ได้เลย ว่าข้อมูลบนเว็บที่เราอ่านอยู่เนี่ย มันถูกต้องหรือเปล่า? ข่าวบนเว็บนี้มันจริงไหม? หรือเจ้าของเว็บแอบปล่อย fake news มาไหมนะ? เพราะถึงมีคนรู้ว่าข้อมูลบนเว็บนี้มันผิด เค้าก็ไม่สามารถบอกคนอื่นได้เลย — ทั้งนี้อาจจะมองได้ว่า เว็บเฟคนิวส์เดี๋ยวก็โดนรัฐบาลแบน แต่สิ่งที่ต้องการสื่อคือถ้าอาศัยแค่เพียงความสามารถของ Web1 นั้น ผู้ใช้แบบเราๆไม่สามารถทำอะไรบนอินเทอร์เน็ตได้นอกจากเสพข้อมูล

Web 2.0: อ่านก็ได้เขียนก็ได้

ในยุคที่สองนี้ สิ่งที่แตกต่างจากยุคแรกก็คือข้อมูลและ content ต่างๆนั้นจะเกิดจากผู้ใช้งานทั่วไปแทนที่ผู้สร้างเว็บจะเป็นคนใส่เองทั้งหมด

Web2 นี้ผู้ใช้จะสามารถสร้าง content ของตัวเองขึ้นมาเพื่อให้ผู้ใช้คนอื่นๆสามารถดูได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบ โพสต์รูปลงโซเชี่ยล เขียนบทความ(แบบที่ผมเขียนมานี่) คอมเม้นต์ในโพสต์ของสำนักข่าว และอื่นๆอีกมากมาย ข้อมูลที่ผู้ใช้สามารถเสพได้จะเกิดจากผู้ใช้ด้วยกันเองซะส่วนใหญ่ ไม่ใช่ผู้สร้างเว็บยื่นมาให้อย่างเดียว

ซึ่งการที่ผู้ใช้สามารถคอมเม้นต์หรือโพสต์บนโซเชี่ยลได้นี่ ก็ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า Web2 สามารถลดปัญหาเรื่องการเสพข้อมูลแบบทางเดียวใน Web1 ลงได้ เพราะถ้าหากเราเห็นว่าเว็บไหนมีข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เราก็สามารถคอมเม้นต์หรือโพสต์เตือนผู้ใช้คนอื่นๆได้เลย …แต่คนอื่นๆเชื่อเรามั้ยก็อีกเรื่องนะ

อีกสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคของ Web2 ก็คือ ผู้พัฒนาเว็บนั้นสามารถทำเว็บที่เปิดให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสามารถใช้งานระบบอื่นๆที่อยู่นอกอินเทอร์เน็ตได้ด้วย ตัวอย่างเช่น ระบบ Online Banking ที่ผู้ใช้โอนเงินให้กันและกันผ่านหน้าเว็บได้เลยแทนที่จะต้องไปธนาคาร — โดยสิ่งนี้เป็นเรื่องที่ยุค Web1 ไม่สามารถทำได้ เพราะเว็บในยุคนั้นยังไม่มีความสามารถให้ผู้ใช้ส่งข้อมูลความต้องการโอนเงินขึ้นอินเทอร์เน็ตได้

เพื่อความเห็นภาพ ขอยกตัวอย่าง หน้าบริษัท Cleverse บน LinkedIn ซึ่งในกรณีนี้ LinkedIn ถือเป็นผู้สร้างเว็บ ที่เปิดให้ผู้ใช้งานอย่าง Cleverse สร้างคอนเท้นต์ แล้วผู้ใช้คนอื่นๆก็เข้ามาอ่านได้

อะไรนะ? โฆษณาไม่เนียน? …มาทำเป็นรู้ทัน 👁👄👁

ถนนทูเวย์ทั้งอ่านทั้งเขียนของ Web 2.0

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ยังมีประเด็นเรื่องการปรับเปลี่ยนโยกย้ายปลอมแปลงข้อมูลของผู้สร้างเว็บได้อยู่ คอมเม้นต์เราอาจถูกลบหรือแบนทิ้งได้ หรือวันดีคืนดีระบบ Online Banking อาจจะหยุดให้บริการไปดื้อๆ ซึ่งผู้ใช้อย่างเราๆก็คงได้แต่นั่งหน้าตึงแล้วมูฟออน

อีกประเด็นสำคัญก็คือ: มีผู้สร้างเว็บปริมาณไม่น้อยที่ต้องการข้อมูลส่วนตัวของเรา ก่อนที่เราจะเข้าไปใช้บริการได้ หลังจากนั้นจะโดนเก็บข้อมูลอะไรอีกบ้างก็ตอบได้ยาก แถมข้อมูลเหล่านั้นจะถูกเอาไปใช้อะไรบ้างก็สุดเราจะรู้ได้

จะไม่ยอมให้ข้อมูลก็ลำบากเพราะโอนเงินผ่านอินเทอร์เน็ตมันสะดวกเกินห้ามใจ

ที่พูดถึงนี่ไม่ได้แปลว่าผู้สร้างเว็บจะทำอะไรนอกลู่นอกทางกันไปทุกรายนะครับ (ถึงแม้ปัจจุบันจะมีเคสเกี่ยวกับข้อมูลและความเป็นส่วนตัวไม่น้อย) แต่อะไรที่ทางเทคนิคแล้วสามารถเกิดขึ้นได้ มันก็มักจะเกิดขึ้นอยู่เสมอไปจริงๆ

Web 3.0: อ่านเขียนได้ แถมอำนาจอยู่ในมือเรา

และแล้วเราก็มาถึงยุคที่สาม

ซึ่งคำว่า “Web3” นี่ ผมคิดว่ามันยังไม่มีคำนิยามและขอบเขตที่ชัดเจนนัก ต่างคนต่างมีนิยามที่ให้กับมันที่ใกล้เคียงกัน แต่ก็มีจุดเล็กๆน้อยๆที่แตกต่างกันบ้าง

สำหรับบทความนี้ผมขอเล่าถึงนิยามของ Web3 สำหรับผมเองให้ฟัง

Web3 คือโลกอินเทอร์เน็ตที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของมันอย่างแท้จริง ข้อมูลทั้งหมดนั้นไม่มีใครคนใดคนหนึ่งถือแต่เพียงผู้เดียว ไม่มีความลับและข้อมูลทุกอย่างสามารถถูกตรวจสอบความถูกต้องได้โดยทุกๆคน ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและระบบทั้งหมดโดยไม่มีใครสามารถห้ามได้

ถ้าขอสามคำ ผมก็คงต้องขอยกคำยอดฮิตที่ใช้อธิบาย Web3 ขึ้นมา ซึ่งก็คือ: Decentralized, Permissionless กับ Trustless

โลกใหม่

มาลองขยายความกันดูครับ ทีนี้เพื่อความเห็นภาพขอยกตัวอย่างเทียบกับระบบ Online Banking ใน Web2

Decentralized หมายความว่า แทนที่ธนาคารจะเป็นผู้สร้างระบบที่ถือข้อมูลทั้งหมดและเป็นผู้มีอำนาจอนุญาตให้เราสามารถใช้ระบบได้นั้น จะกลายเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์(ที่เราก็เอาคอมพิวเตอร์เราไปเป็นหนึ่งในนั้นได้ถ้าต้องการ)เป็นคนถือข้อมูลแทน

ซึ่งในโลกของ Web2 นั้น เมื่อธนาคารเป็นคนเดียวที่เปิดระบบให้สามารถใช้งานบริการของเค้าได้ ถ้าหากระบบธนาคารเซิฟเวอร์ล่มหรือโดนแฮคไป ผู้ใช้บริการทุกคนก็จะได้แต่นั่งมองตาปริบๆ เพราะไม่มีหนทางอื่นให้เราสามารถโอนเงินของธนาคารนั้นๆได้เลย

แต่ในโลกของ Web3 นั้น หากเครื่องคอมพิวเตอร์เจ้าประจำที่เราใช้บริการเกิดอาการล่มไป เราก็สามารถไปเลือกใช้คอมพิวเตอร์เครื่องอื่นๆในเครือข่ายได้เลย เพราะทุกเครื่องก็มีข้อมูลเดียวกันอยู่และให้บริการได้เหมือนเครื่องประจำของเรา

Decentralized แล้วระบบเจ้านึงล่มก็ไม่หวั่น

Permissionless หมายความว่า แทนที่ธนาคารจะเป็นผู้กุมอำนาจหนึ่งเดียวในการเลือกให้บริการเราตามแต่เงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด เราจะสามารถเข้าใช้งานบริการกับคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายเจ้าไหนก็ได้ โดยที่ไม่มีใครมีอำนาจมาขวางเราได้เลย เพราะถ้าเจ้านึงเลือกไม่ยอมให้บริการเรา เราก็ไปหาคนอื่นที่ยอมให้บริการแทนได้เสมอ(หรือเราจะไปเป็นหนึ่งในสมาชิกเครือข่ายเองเลยก็ยังได้)

Permissionless แล้วไม่มีใครขวางได้

Trustless หมายความว่า แทนที่จะเช่ือใจธนาคารผู้สร้างระบบที่ผู้จัดการเบื้องหลังเป็นมนุษย์ที่มีโอกาสผิดพลาด และผู้มีอำนาจในธนาคารมีอำนาจปรับเปลี่ยนปลอมแปลงทำอะไรกับระบบก็ได้

เราเปลี่ยนมาเชื่อใจโค้ดคอมพิวเตอร์และกลไกการตกลงระหว่างคอมพิวเตอร์ ในเครือข่าย— เรียกว่า Consensus —ว่าจะให้ผลประโยชน์กับคนที่ทำงานถูกต้อง และลงโทษคนที่ทำงานผิดหรือปลอมแปลงข้อมูล

กล่าวได้อีกอย่างว่า จริงๆคำว่า Trustless ไม่ได้หมายถึงเราไม่ต้องเชื่อใจใครเลย แต่เราสามารถแบ่งความเชื่อใจให้คนในเครือข่ายคนละนิดละหน่อยได้ ไม่ต้องเชื่อใครคนใดคนหนึ่งหมดใจแบบ Web2

หากสนใจเกี่ยวกับ Trustless และ Consensus แนะนำให้อ่านบทความเพิ่มเติมครับ เนื่องจากจะอธิบายเรื่อง consensus ลงรายละเอียดในบทความนี้เกรงว่าจะยาวกันเกินไป

นี่ก็ยาวแล้ว? อันนี้พยายามย่อแล้วจริงๆนะฮะ 🥲 ถ้าอยากอ่านบทความยาวของจริงเกี่ยวกับ Consensus ทักมาในเพจ Cleverse ดูได้(เขียนจริงเมื่อไหร่อีกเรื่อง)

Trustless แล้วไม่ต้องเชื่อใครหมดใจ

สรุปเทียบระหว่างระบบใน Web2 vs Web3 จะออกมาตามภาพด้านล่างนี้ครับ:

จับ Web 2.0 ชนกับ Web 3.0

จริงๆแล้ว ไอเดียและสิ่งที่ Web3 จะเป็นไม่ได้สุดแค่สามสิ่งนี้ แต่ยังมีเรื่องอีกเยอะแยะมากมายที่ผู้คนกำลังวาดภาพเกี่ยวกับอนาคตของอินเทอร์เน็ตด้วย เช่น การนำ AI หรือ Machine Learning มาต้มยำกับเว็บไซต์เพื่อทำให้ประสบการณ์ใช้งานดีขึ้น

…ก่อนที่จะออกทะเลต้มยำ ขอพาไหลไปสู่หัวข้อถัดไปสำหรับบทความนี้ครับ

Web3 ไอเดียก็ดูเหมือนจะดีนะ แต่สามข้อนั้นมันทำได้จริงเรอะ?

ทำได้จริงครับ ด้วยสิ่งที่เรียกว่า Blockchain

Blockchain

Blockhain คืออะไร? สำหรับนิยามสั้นๆขอยกคำพูดจากเว็บ Ethereum.org มาเลยแล้วกันครับ:

A blockchain is a public database that is updated and shared across many computers in a network. — Ethereum.org

แปลไทย: Blockchain คือฐานข้อมูลที่เปิดสาธารณะให้ทุกคนสามารถเข้ามาดูได้ โดยที่มีเครือข่ายคอมพิวเตอร์เป็นคนถือข้อมูลและจัดการการเปลี่ยนแปลงของข้อมูล

ทีนี้มาลองแกะคำว่า Block + chain แยกกันออกมาดูทีละอันกัน

“Block” คือ?

Block ก็คือกลุ่มข้อมูลธุรกรรมที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน โดยธุรกรรมแต่ละอันจะบอกว่าสถานะของฐานข้อมูลจะต้องถูกเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง เวลามีธุรกรรมใหม่เกิดขึ้น(เช่นผู้ใช้โอนเงิน)ก็จะถูกนำไปใส่ Block ซึ่งการที่ธุรกรรมนั้นจะเปลี่ยนแปลงฐานข้อมูลจริงๆ ต้องรอให้ทั้งเครือข่ายยอมรับก่อนว่า Block นี้ถูกต้องไม่มีการปลอมแปลงข้อมูล

ตัวอย่างธุรกรรมเช่น บัญชี A โอนเงินให้ บัญชี B 10 USD ทำให้ในฐานข้อมูล บัญชี A เงินต้องลดลง 10 USD และ บัญชี B เงินต้องเพิ่มขึ้น 10 USD

“Chain” ล่ะ?

Chain เป็นกลไกที่บอกว่า Block ควรต้องถูกเก็บเชื่อมต่อกันเป็นเส้นๆและข้อมูลธุรกรรมภายในไม่สามารถถูกแก้ไขได้ โดยที่ทุกๆ Block จะมีวิธีการเข้ารหัสเพื่อเชื่อมไปยัง Block ก่อนหน้า เชื่อมย้อนไปเรื่อยๆจนถึง Block แรก — เรียกอีกชื่อว่า Genesis Block — ซึ่งการที่ Block ถูกเชื่อมต่อๆกันเป็นโซ่หนึ่งเส้นแบบนี้เลยมีชื่อเรียกว่า Blockchain นั่นเอง

หน้าตาง่ายๆของ Blockchain

เวลามี Block ใหม่พยายามขอต่อที่ท้ายเชน คอมพิวเตอร์ — เรียกว่า Node — ในเครือข่าย ต้องยอมรับก่อนว่าธุรกรรมภายในถูกต้อง และ Block นั้นเข้ารหัสชี้ไปยัง Block สุดท้ายได้ถูกต้อง หลังจากเครือข่ายยอมรับ Block ใหม่นี้แล้วก็จะนำเอา Block มาต่อท้ายสุดของเชน เพื่อให้ Block ใหม่ในอนาคตมาต่อกับ Block นี้สืบเนื่องไป ​​(อ่านละเอียดได้ที่นี่)

ทีนี้อาจจะมีคำถามผุดขึ้นในใจว่า เข้ารหัส นี่มันคืออะไรฉันงงใจจัง

มาดำดิ่งดูการทำงานของ Blockchain กัน

Blockchain ทำงานยังไงของมัน?

หัวข้อนี้อาจจะลงลึกเกินไปบ้าง สามารถข้ามไปหัวข้อ Ethereum ได้เลยถ้าต้องการครับ 🥺

เพื่อการอธิบายขอใช้ตัวอย่างระบบ Banking เหมือนเดิมครับ

เริ่มด้วย Blockchain โล่งๆเลย ฐานข้อมูลว่างเปล่า ไม่มีธุรกรรมใดๆ

จากนั้นมี 2 ธุรกรรมเกิดขึ้น:

  • Alice ฝากเงิน 100 USD
  • Bob ฝากเงิน 50 USD

จากนั้น Node ที่ Alice กับ Bob ใช้ ก็จะจัดการมัดธุรกรรมให้กลายเป็น Block แล้วสร้างสิ่งที่เรียกว่า “Hash” ขึ้นมาโดยการเข้ารหัสด้วยข้อมูลเหล่านี้: Hash ของ block ก่อนหน้า กับธุรกรรมทั้งหมดใน Block นี้

สามารถมองว่า Hash เป็นลายนิ้วมือของแต่ละ Block เลยก็ได้ — เหมือนเป็นผลลัพธ์จากการปั่นรวม DNA ของ Block ออกมา

จากนั้น Node ก็จะส่ง Block นี้ไปให้เครือข่ายตรวจสอบความถูกต้องของ Block นี้ ซึ่งถ้าเครือข่ายยอมรับแล้วว่าถูกต้อง Block นี้ก็จะถูกนำไปต่อท้ายเชน แล้วคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในเครือข่ายก็อัปเดตเชนใหม่ให้เหมือนกัน

หลังจากนั้นแล้ว Alice ก็ทำธุรกรรมโอนเงิน 20 USD ให้ Bob

ซึ่ง Node ก็จะนำธุรกรรมดังกล่าวมาสร้าง Block 2 เพื่อเอาเข้าเชน

ถ้าอยากรู้ว่าตอนนี้ Alice กับ Bob มีเงินอยู่เท่าไหร่บ้าง เราจะรู้ได้จากการไล่ทำธุรกรรมทีละอันตั้งแต่ Block 0 มาเลย

ทีนี้ สมมติว่ามี Node หนึ่งพยายามโกง โดยการเปลี่ยนธุรกรรมอันแรกสุดเลย เพิ่มเงินที่ Alice ฝากจาก 100 USD เป็น 110 USD ล่ะ?

โตไปไม่โกง

จากภาพจะเห็นได้ว่า คนที่พยายามเปลี่ยนแปลงข้อมูลใน Blockchain ไม่สามารถแค่เปลี่ยนธุรกรรมตรงๆแล้วจบ แต่ต้องไล่เข้ารหัส Block หลังจากนั้นใหม่ทุก Block — เพราะการเข้ารหัสนั้น ถ้าข้อมูลเปลี่ยนไปแม้แต่นิดเดียว ผลลัพธ์จะเปลี่ยนไปทันที — ซึ่งในทางเทคนิคแล้วการเข้ารหัสหนึ่งครั้งกินทรัพยากรเครื่องคอมพิวเตอร์ค่อนข้างมาก ยิ่งถ้า Blockchain ยาวมากๆแล้วต้องเข้ารหัสใหม่เยอะๆ จะกินทรัพยากรเยอะถึงขั้นที่ไม่คุ้มทำแต่อย่างใด

ทำไมไม่คุ้มทำ? เพราะว่าถึงแม้จะปั้นน้ำให้เป็นเชนใหม่ได้สำเร็จ การจะนำเชนที่ถูกปลอมแปลงนี้ไปไล่บอกทุกคนในเครือข่ายให้ยอมรับว่าเชนนี้ถูกต้องนั้นเป็นไปไม่ได้เลย โดยเฉพาะถ้าคนส่วนใหญ่รู้ว่าเชนที่ถูกต้องคืออะไรและไม่ได้อยากร่วมมือโกงด้วย (ซึ่งโดยกลไกผลประโยชน์แล้ว คนส่วนใหญ่ย่อมไม่อยากทำ ด้วยเหตุผลที่อธิบายไปใน Trustless)

การทำงานดังนี้ของ Blockchain จึงทำให้การทำฐานข้อมูลที่ทั้ง Decentralized, Permissionless และ Trustless เป็นไปได้จริงนั่นเอง

ออกตัวก่อนเลยว่าอันนี้คือการอธิบายการทำงานของ Blockchain แบบพยายามย่อหนักมาก ถ้าอยากให้ดำดิ่งจริงๆทักมาได้ครับ

ถัดไป อยากพูดถึง Ethereum แบบเร็วๆซักนิดครับ

ซึ่งเป็น Platform เจ้าที่ผมคิดว่าทำให้ Blockchain โด่งดังขึ้นและมีของให้ใช้มากมาย ไม่ใช่เป็นเพียงสกุลเงินแบบ Bitcoin ทำให้เราเข้าใกล้อินเทอร์เน็ตแบบ Web3 ที่แท้จริงขึ้นไปอีกก้าวนึง

Ethereum

เจ้า Ethereum เป็น Platform ที่ใช้ blockchain เป็นไอเดียหลัก เพื่อให้นักพัฒนาสามารถเข้ามาสร้างนวัตกรรมบน Blockchain ได้

ในโลกของ Ethereum นั้น จะมี Blockchain อยู่เส้นเดียวที่ทุก Node ในเครือข่ายยอมรับว่าเป็นเชนที่ถูกต้อง ซึ่งทุก Node ก็จะมีเชนที่หน้าตาเหมือนกันนี้คัดลอกเก็บไว้บนเครื่องตัวเอง

Node ใดๆก็ตามใน Ethereum สามารถขอให้ทั้งเครือข่าย คำนวณหรือทำธุรกรรมใดๆก็ตามได้ เช่น Alice ส่งข้อความให้ Bob หรือ Bob ขอกู้เงินจาก Alice — ซึ่งสังเกตว่าธุรกรรมไม่ได้สุดอยู่แค่การโอนเงินอีกแล้ว

ซึ่งการส่งข้อความหรือทำธุรกรรมอื่นใดที่ซับซ้อนนี้ โดยปกติแล้วผู้ใช้แบบ Alice ก็จะไม่ใช่คนนั่งคำนวณเอง ว่าธุรกรรมนี้จะเปลี่ยนแปลง Blockchain ไปยังไงบ้าง แต่มักจะเป็นชุดคำสั่งที่มีนักพัฒนาสร้างขึ้นมาให้ผู้ใช้สามารถเรียกใช้ได้ ชุดคำสั่งนี้เรียกว่า Smart Contract

Smart Contract? ชื่อดูจะเท่ ว่าแต่มันคืออะไร

แบบที่กล่าวไปด้านบน มันคือชุดคำสั่งที่นักพัฒนาสามารถสร้างขึ้น และนำไปวางบน Blockchain เพื่อให้ทุกคนเรียกใช้ได้ โดยนักพัฒนาสามารถสร้าง Smart Contract ได้หลากหลาย ตั้งแต่ทำระบบธนาคาร ระบบกู้ยืมเงิน ระบบซื้อขายของ และอื่นๆอีกนับไม่ถ้วน

ซึ่ง Smart Contract จะเป็นโค้ด(โดยมากเขียนด้วยภาษา Solidity) ทำให้การทำธุรกรรมใดๆผ่าน Contract นี้ จะเป็นไปตามโค้ดที่เขียนไว้เป๊ะๆ โดยที่ทุกคนสามารถดูได้ว่าชุดคำสั่งนี้ถูกเขียนไว้ยังไง จะเกิดอะไรขึ้นบ้างหากเราไปเรียกใช้ด้วย Input แบบนี้

สิ่งนี้ทำให้ผู้ใช้สามารถทำธุรกรรมที่ซับซ้อนได้ โดยไม่ต้องหลุดออกจากโลกของ Blockchain เลยทำให้การทำธุรกรรมใดๆบน Ethereum จะยังคงคอนเซ็ปต์ Decentralized, Permissionless, Trustless อยู่

ตัวอย่างคร่าวๆของชุดคำสั่งที่ Smart Contract ที่ทำงานแบบกระปุกน้องหมู — ฝากเงินเข้าไปแล้วจะถอนได้เฉพาะหลังจาก Deadline ที่กำหนด:

ตัวอย่างชุดคำสั่งของ Smart Contract (ไม่ใช่โค้ดจริง 👀)

Smart Contract นี้ ถือได้ว่าเป็นอาวุธสำคัญที่สุดทำให้การสร้าง Application ที่ซับซ้อนบนโลกของ Web3 เกิดขึ้นได้จริงเลยก็ว่าได้

ซึ่งการที่ Ethereum เป็น Platform เจ้าแรกที่ทำให้ Blockchain สามารถถูกนำไปใช้ในเคสที่หลากหลายมากมายได้ โดยเฉพาะเมื่อเรามี Smart Contract ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์ใหม่ๆอยู่อย่างไม่หยุดยั้ง ก็เรียกได้ว่ายิ่งผลักดันให้เราเข้าใกล้วันที่ยุคใหม่ของอินเทอร์เน็ตจะมาถึงเข้าไปทุกที

ม้วนเสื่อเก็บหมอน

Web 3.0 เป็นทิศทางที่อินเทอร์เน็ตกำลังพุ่งไปเพื่อเล็งจะคืนอำนาจแก่ผู้คน ส่งอำนาจจากกลุ่มเล็กๆของตัวตนใหญ่ๆสู่มือของผู้ใช้ทุกคน ขยับความเชื่อใจที่ต้องมอบทั้งหมดให้กับผู้สร้างเว็บไซต์ไปสู่เครือข่ายของคนที่เป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ตคนนึงเช่นเดียวกับเรา

เทคโนโลยี Blockchain ถือเป็นชิ้นส่วนหลักที่ทำให้เป้าหมายนั้นเป็นจริงได้ นำมาโดย Ethereum ที่แบก Smart Contract เป็นอาวุธสำคัญในการตอบโจทย์ที่มีคุณค่า เพื่อนำอินเทอร์เน็ตเข้าสู่ยุคใหม่ …Web 3.0 ครับ

ส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่าบริการทุกอย่างบนอินเทอร์เน็ตไม่ได้จะกลายเป็น Web3 หรอกนะครับ เพราะ Application หลายอย่าง มันก็ไม่ได้ควรเป็น Decentralized, Permissionless, Trustless ขนาดนั้น คิดว่าจะเป็นการอยู่ร่วมกันของ Web1, Web2, Web3 ตามความเหมาะสมเสียมากกว่า

เป้าหมายของบทความนี้แท้จริงแล้วเพียงอยากอธิบายความหมายของ Web3 กับเทคโนโลยี Blockchain แค่นั้นครับ เพราะผมเชื่อว่า Blockchain ยังไม่ใช่ปลายทางของ Web3 แต่อย่างใด วันพรุ่งนี้อาจจะมีเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกใหม่ๆผุดขึ้นมา ที่สามารถตอบโจทย์ของ Web3 ได้ดียิ่งกว่า Blockchain ก็เป็นได้

จบแล้วฮะ สำหรับบทความนี้

จริงๆแล้วยังมีอีกหลายเรื่องมากที่น่าพูดถึง ทั้งเรื่อง Consensus, ข้อดีข้อเสียของ Blockchain แล้วมันกำลังถูกแก้ยังไงบ้าง, Ethereum 2.0… ไล่หัวข้อได้อีกสามหน้ากระดาษ

ถ้าอยากฟีดแบคบทความนี้ หรืออยากเห็นบทความเรื่องไหนเพิ่ม ย้ำอีกครั้งครับ; ทักมาได้

รอติดตามบทความถัดไปจาก Cleverse ได้เลยครับ

สปอยล์: เป็นบทความสำหรับ Developer แหละ

--

--

Aikdanai Sidhikosol
Cleverse, a Web3 Focused Venture Builder

An average guy who’s interested in not-so-average stuff 👨‍💻 Software Engineer @Cleverse