Hyperledger : Linux แห่งโลก Blockchain

Methus Kaewsaikao
3 min readDec 29, 2017

--

Introduction to Blockchain

Bitcoin นั้นเป็นเงินตราอันแรกที่มีรากฐานอยู่บนเทคโนโลยี Blockchain หลาย ๆ เคยอาจจะเคยได้ยินว่า Bitcoin เป็นเงินตราที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกการเงินในอนาคต ซึ่งอาจจะจริงหรือไม่จริง แต่เรื่องมั่นใจได้ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตก็คือ Blockchain จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงแทบทุกธุรกิจเพราะมันได้กำจัดปัญหาของความน่าเชื่อถือของกันและกันให้หมดไป

Blockchain นั้นเปรียบเสมือนฐานข้อมูลที่อนุญาตให้ทุกคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ และเป็นระบบที่มีความปลอดภัยต่อการแก้ไขข้อมูลในอดีต เป็นระบบการจดบันทึกข้อมูลร่วมกันและธุรกิจจำนวนมากก็มีพื้นฐานอยู่บนการทำงานแบบนี้ และเมื่อธุรกิจเหล่านั้นประยุกต์ใช้ Blockchain ก็จะทำให้ผู้ใช้งาน (End User) ใช้งานที่เป็นธุรกรรมได้โดยไม่ต้องพึ่งพาการเชื่อถือบุคคลที่สาม ทำให้องค์กรสามารถสร้าง Application ที่น่าเชื่อถือ ตรวจสอบได้ และมีความโปร่งใสในการทำงานร่วมกัน

โดยพื้นฐานของ Blockchain นั้นจะทำการเก็บข้อมูลลงบน Block และทำการเข้ารหัสทางเดียวและกระจายข้อมูลนั้นไปให้ทุกคนในเครือข่าย ทำให้ไม่สามารถแก้ไขธุรกรรมในอดีตได้เลย การจะแก้ไขหรือเพิ่มข้อมูลก็จะต้องทำใน Block ถัดไปเรื่อย ๆ แม้ว่าจะมีการแก้ไขข้อมูลใน Block ใหม่แต่อดีตของทุกธุรกรรมก็จะยังอยู่กับทุกคน และแต่ละ Block เองก็จะเรียงต่อกันเป็นสายโซ่หรือที่เรียกว่า Blockchain ซึ่งแก้ไขไม่ได้เพราะทุก Block ต้องอ้างอิงกับ Block ก่อนหน้าเท่านั้น เปรียบเสมือนหอคอย Jenga ที่สามารถต่อได้จากได้บน ถ้ามีการแก้ไขตรงกลางเพียงนิดเดียวก็จะทำให้หอคอยถล่มลงมา และถึงแม้จะมีคนแอบแก้ไขได้จริงก็จะสามารถถูกตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว

Blockchain เปรียบเสมือนหอคอย Jenga ที่แก้ไขได้แค่ชั้นบนสุด และแก้ไขชั้นล่างไม่ได้เลย และทุกคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียก็มีหอคอยที่หน้าตาเหมือนกันทุกประการอยู่ที่บ้านของตัวเอง เมื่อมีคนต้องการเพิ่ม Block ด้านบนก็จะต้องประกาศให้คนอื่นรับรู้และยอมรับซึ่งต้องเป็นไปตามข้อตกลงหรือ Consensus ของระบบนั้น

Smart Contract

โดยปกติแล้วการทำสัญญาเงื่อนไขระหว่างสองกลุ่มนั้นจำเป็นต้องอาศัยตัวกลางอย่างสำนักงานกฏหมาย หรือการถ่ายโอนเงินก็ต้องทำผ่านธนาคาร Smart Contract คือสัญญาดิจิตอลที่จำทำให้ธุรกรรมระหว่างกลุ่มคน 2 กลุ่มขึ้นไปสามารถทำงานร่วมกันได้ด้วยความไว้ใจกันโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตัวกลาง

โดยเมื่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ร่วมกันร่าง Smart Contract ขึ้นมาแล้วก็สามารถนำขึ้นไปบน Blockchain และทำธุรกรรมทุกอย่างที่ต้องการผ่าน Blockchain โดยตัว Blockchain จะเป็นตัวที่ทำงานทุกอย่างให้เป็นไปตามที่ตกลงกันใน Smart Contract และธุรกรรมทุกอย่างก็จะถูกบันทึกลงบน Blockchain ตลอดกาล ทำให้เกิดความโปร่งใสและความเชื่อมั่นระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

Linux Foundation

Linux Foundation คือองค์กรไม่แสวงหากำไรที่เจาะจงการพัฒนาและดูแลโปรเจ็ค Opensource เพื่อให้ทุกคนในโลกได้ใช้งานซอฟต์แวร์ที่ีดีและฟรี หนึ่งในโปรเจ็คที่โด่งดังที่สุดนั้นก็คือ Linux Operating System ซึ่งเป็น Platform ที่ถูกใช้มากที่สุดในโลก แม้แต่บางคนที่ไม่เคยรู้จัก Linux ก็อาจได้ใช้งานมันโดยไม่รู้ตัวยกตัวอย่างเช่นโทรศัพท์ Android ก็มีพื้นฐานอยู่บน Linux OS นั่นเอง

เมื่อ Blockchain เองก็เป็นสิ่งหนึ่งที่จะมีผลกระทบต่อโลกอย่างมากในอนาคต การมีโปรเจ็ค Opensourced Blockchain จึงเป็นภาระกิจหนึ่งที่ Linux Foundation ต้องการที่จะทำเพื่อให้ทุกคนเข้าถึง Blockchain ได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินแพง ๆ และสามารถประยุกต์ใช้กับธุรกิจจำนวนมากได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสร้าง Blockchain ขึ้นมาเองทั้งหมดและมันคือโปรเจ็คที่เราจะพูดถึงในวันนี้นั่นก็คือ Hyperledger

Hyperledger นั้นจะรวบรวมเอา Platform ที่มีความโดดเด่นและช่วยเหลือวงการ Opensourced Blockchain เข้ามาไว้ด้วยกันโดยสนับสนุนด้านเงินทุน การพัฒนาและการตลาด โดย Platform เหล่านี้ถูกพัฒนาโดยบริษัทใหญ่ ๆ มากมายอย่างเช่น IBM Hitachi และ Intel เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม Blockchain ไม่ใช่ยาวิเศษ (Silver Bullet) ที่แก้ได้ทุกปัญหา เหมือนกับธนูที่สามารถใช้ล่าสัตว์ได้แต่ตัดต้นไม้ไม่ได้ Blockchain ก็เป็นเหมือนเทคโนโลยีหนึ่งที่มนุษย์พึ่งค้นพบและมีปัญหาจำนวนมากที่รอให้มันแก้ไขอยุ่ แต่บางปัญหานั้นมันก็อาจไม่มีประโยชน์อะไร สำหรับใครที่ยังลังเลอยู่ว่าเราควรเพิ่มระบบ Blockchain ในองค์กรของเราหรือไม่ ขอแนะนำให้อ่าน Blockchain ไม่ใช่ทุกอย่าง

Blockchain ระบบปิด

Hyperledger Frameworks นั้นจะเป็นระบบปิดโดยให้เข้าร่วมเฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้นหรือที่เรียกว่า Permissioned Blockchains ข้อได้เปรียบของ Blockchain แบบนี้คือ ลดโอกาสที่จะม่ีผู้ไม่หวังดีในระบบ และยังสามารถปรับเปลี่ยนข้อตกลงในการเพิ่ม Block หรือ Consensus ให้เหมาะกับการใช้งานได้

Blockchain เหล่านี้มักจะต้องใช้ VPN ในการสร้างเครือข่ายคอมพิวเตอร์ส่วนตัวระหว่างองค์กรขึ้นมา และใช้ Firewall ปกป้องมันจากผู้คนภายนอก มันจึงเป็นระบบที่ Centralize ต่อคนภายนอกแต่ Decentralize ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน

Distributed Ledger

ใน Hyperledger มักจะใช้คำว่า Distributed Ledger แทนคำว่า Blockchain ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นคำที่ครอบคลุมการประยุกต์ใช้ที่มากไปกว่า Blockchain โดย Distributed Ledger อาจเรียกได้ว่า Blockchain นั้นเป็นส่วนหนึ่งของ Distributed Ledger ในบทความนี้จะใช้คำว่า Distributed Ledger เป็นหลัก โดย Platform ที่ใช้ทำ Distributed Ledger นั้นจะประกอบไปด้วยส่วนประกอบ 3 อย่างด้วยกันคือ

  • Data Model
  • Language of Transactions
  • Protocol

Hyperledger Ecosystem

Hyperledger เป็นโปรเจ็คที่ประกอบด้วย 5 Platform ในการสร้าง Blockchain และเครื่องมืออีก 4 อย่างในการสนับสนุนการทำงานบน Blockchain ดังนี้

Hyperledger Sawtooth

Hyperledger Sawtooth คือ Framework ที่ใช้ในการสร้าง Distributed Ledger โดยมีเป้าหมายในการจัดการ Supply Chain และการทำงานร่วมกันกับ Internet Of Things โดยออกแบบให้เพิ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบได้ง่ายและใช้พลังงานและงบประมาณน้อยโดยมีระบบ Consensus ของตัวเองที่เรียกว่า Proof of Elapsed Time (PoET)

Hyperledger Fabric

Fabric นั้นถูกออกแบบมาให้เป็น Distributed Ledger ระหว่างองค์กรและแต่ละองค์กรก็มีความลับบางอย่างที่ไม่สามารถแชร์ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องรับรู้ เช่น บริษัทขายส่งที่มีสัญญาของราคากับผู้ซื้อแต่ละคนไม่เหมือนกัน และผู้ซื้อแต่ละคนอาจไม่จำเป็นต้องเป็นปริมาณสินค้าทั้งหมดที่มี ส่วนผู้ตรวจสอบของรัฐบาลอาจต้องการตรวจสอบปริมาณของสินค้าที่มี แต่ไม่จำเป็นต้องเห็นราคา

โดย Fabric จะใช้แนวคิดของ Channel ซึ่งเป็นช่องทางการส่งข้อมูล ทุกคนที่อยู่ใน Channel เดียวกันจะเห็นข้อมูลและทำงานกับข้อมูลได้เหมือน ๆ กัน แต่คนที่อยู่นอก Channel ถึงแม้จะเข้าถึง Blockchain ได้แต่ก็ไม่สามารถถอดรหัสข้อมูลได้

นอกจากนี้ Fabric ยังสามารถเปลี่ยนแปลง Consensus และระบบ Login ของแต่ละองค์กรได้อย่างง่ายดาย

Hyperledger Iroha

Iroha นั้นเป็น Platform ที่ถูกสร้างและใช้งานในภาษา C++ และออกแบบมาให้ใช้งานกับโทรศัพท์มือถืออย่างเช่น iOS และ Android เป็นหลัก

Iroha ใช้ Consensus ที่ชื่อว่า YAC ซึ่งเป็น Voting based consensus algorithm

Hyperledger Indy

Indy เป็นระบบที่ใช้งานกับการยืนยันตัวตนของบุคคลแบบกระจายศูนย์คล้ายกับระบบ Login by Facebook ซึ่งออกแบบให้นำไปใช้กับระบบอื่นได้โดยง่าย

Hyperledger Burrow

Burrow มีนิยามว่าเป็น Permissinable Smart Contract Machine ซึ่งเป็นเหมือนซอฟต์แวร์ที่สามารถรัน Smart Contract ของ Ethereum ได้แต่จะรันบน Apache-licensed EVM และเป็นระบบปิด

Burrow นั้นสามารถนำไปใช้บน Sawtooth ทำให้ Sawtooth สามารถรัน Smart Contract ของ Ethereum ได้อีกด้วย

Hyperledger Cello

Cello นั้นช่วยให้ผู้พัฒนา Blockchain สามารถสร้าง จัดการและปล่อย Blockchain ขึ้นไปบน Cloud ได้อย่างง่ายดาย

Hyperledger Explorer

เป็นตัวที่ใช้ทำ Visualization ให้กับ Blockchain ต่าง ๆ

Hyperledger Composer

เป็น Platform ที่ใช้ Javascript ในการทำ Blockchain โดยทำให้เราสามารถขึ้นโครงและสร้าง API ให้กับ Blockchain ของเราอย่างรวดเร็ว และสามารถ Deploy Blockchain นั้นขึ้นไปบน Fabric ได้อีกด้วย

อนาคตของ Blockchain

Blockchain นั้นอาจเป็นเทคโนโลยีที่ผู้คนทั่วไปให้ความสนใจเพราะราคาที่พุ่งสูงขึ้นของ Cryptocurrency บน Blockchain ในปี 2017 แต่ถ้าลองมองให้ลึกไปกว่านั้น Blockchain สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับธุรกิจจำนวนมากและ Hyperledger เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้องค์กรต่าง ๆ สามารถประยุกต์ใช้ Blockchain ได้ทันที ในอนาคตผู้คนมากมายอาจได้ใช้ Blockchain โดยไม่รู้ตัวเหมือนกับที่ได้ใช้ Linux บนระบบมือถือ Android หรือได้เข้าใช้งาน Website ที่ทำงานโดย Linux

และเมื่อองค์กรจำนวนมากได้ใช้งาน Blockchain ก็จะก่อให้เกิดประสิทธิภาพและความโปร่งใสของข้อมูล ลดการเกิดคอร์รัปชั่นและค่าส่วนต่างและค่าธรรมเนียมจากมือที่สาม Blockchain นั้นเป็นความหวังของโลกอนาคตที่ใสสะอาดที่ในอดีตเราอาจได้เพียงแค่ฝันถึง แต่ Blockchain จะทำให้วันนั้นมาถึงอย่างแน่นอนครับ

ข้อมูลและรูปภาพ : edx.org : Blockchain for Business — An Introduction to Hyperledger Technologies

--

--