
วิธีตั้งค่า macOS ให้รองรับ NTFS ได้ แบบไม่เสียเงิน
macOS 10.14 Mojave ก็ใช้ได้นะ
รูปแบบการจัดเก็บข้อมูลไฟล์แบบ NTFS พัฒนาโดย Microsoft ซึ่งไม่มีผลต่อการใช้งานอะไรในระบบ Windows แต่ถ้าคุณเป็นผู้ใช้ macOS คุณจะพบกับความลำบากที่ว่า macOS ไม่รองรับระบบไฟล์ NTFS (อ่านได้ แต่เขียนไฟล์ไม่ได้)
ข่าวดีคือมีนักพัฒนาพยายามทำให้ macOS รองรับระบบไฟล์ NTFS ได้ โดยวิธีที่ง่ายที่สุดคือการติดตั้งโปรแกรมเสริมอย่างเช่น Paragon NTFS แต่ปัญหาคือมันเป็นโปรแกรมเสียเงิน ซึ่งวิธีที่ผมนำเสนอในบทความนี้จะเป็นการใช้โปรแกรมฟรี 100% ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น แต่จะติดตั้งค่อนข้างยาก เพราะต้องไปยุ่งกับไฟล์สำคัญที่ระบบล็อคไว้
สรุปขั้นตอนทั้งหมด:
- ติดตั้ง osxfuse และ ntfs-3g
- ปิดระบบป้องกันไฟล์
- รันคำสั่งพิเศษเพื่อให้เขียนไฟล์ NTFS ได้
- กลับไปเปิดระบบป้องกันไฟล์ เพื่อความปลอดภัย
ขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลา 10–15 นาทีโดยประมาณ
วิธีตั้งค่า:
1. ติดตั้ง osxfuse และ ntfs-3g
ก่อนจะเริ่มขั้นตอนนี้ ในเครื่องจำเป็นต้องมี Homebrew ก่อน ถ้าใครมี Homebrew แล้ว สามารถข้ามขั้นตอนนี้ได้เลย แต่ถ้ายังไม่มีหรือไม่เคยได้ยินชื่อนี้มาก่อน ให้คัดลอกคำสั่งด้านล่างไปแปะใน Terminal แล้วกด Enter
/usr/bin/ruby -e "$(curl -fsSL https://raw.githubusercontent.com/Homebrew/install/master/install)"
หลังจากติดตั้ง Homebrew เสร็จแล้ว เราจะทำการติดตั้ง osxfuse ให้คัดลอกคำสั่งด้านล่างไปแปะใน Terminal แล้วกด Enter
brew cask install osxfuse
หลังจากนั้น ติดตั้ง ntfs-3g ให้คัดลอกคำสั่งด้านล่างไปแปะใน Terminal แล้วกด Enter
brew install ntfs-3g
ตรวจสอบให้แน่ใจว่าโปรแกรมเหล่านี้ติดตั้งได้อย่างไม่มีปัญหา ถ้าพบปัญหาอะไร ให้ลองนำข้อความ Error ไปค้นหาใน Google ดูครับ มีคนตอบไว้หมดแล้ว
2. ปิดระบบป้องกันไฟล์
macOS จะมีระบบป้องกันไฟล์ที่เรียกว่า System Integrity Protection มีไว้เพื่อป้องกันการแก้ไขไฟล์ระบบสำคัญ แต่เป็นเพราะการตั้งค่าให้รองรับ NTFS จำเป็นต้องเข้าไปยุ่งกับไฟล์ระบบ เราเลยจำเป็นต้องปิดระบบความปลอดภัยที่ว่านี้
วิธีการปิดระบบป้องกันไฟล์:
- ปิดคอมพิวเตอร์ด้วยการ Shut Down
- เปิดคอมพิวเตอร์ ก่อนเปิดให้กดปุ่ม Command+R ค้างไว้จนกว่าโลโก้ Apple จะขึ้นมาบนหน้าจอ
- ถ้าทำถูกต้อง จะมีหน้าจอเลือกภาษา ผมแนะนำให้เลือกภาษาอังกฤษ
- จากเมนูด้านบน เลือก Utilities -> Terminal
- พิมพ์คำสั่งด้านล่าง แล้วกด Enter
csrutil disable
- หลังจากนั้น ให้รีสตาร์ตคอมพิวเตอร์
3. รันคำสั่งพิเศษเพื่อให้เขียนไฟล์ NTFS ได้
หลังจากที่เราปิดระบบป้องกันไฟล์แล้ว ตอนนี้เราจะทำการรันคำสั่งพิเศษ โดยคำสั่งนี้จะทำการติดตั้งไดรเวอร์ ntfs-3g เข้าไปแทนที่ไดรเวอร์ ntfs ที่มากับเครื่อง
เปิด Terminal ขึ้นมา แล้วรันสองคำสั่งนี้
sudo mv /sbin/mount_ntfs /sbin/mount_ntfs.originalsudo ln -s /usr/local/sbin/mount_ntfs /sbin/mount_ntfs
หลังจากนี้ คอมพิวเตอร์ของคุณจะรองรับการเขียนไฟล์ NTFS แล้ว แต่ตอนนี้ยังเหลืออีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญ
4. กลับไปเปิดระบบป้องกันไฟล์ เพื่อความปลอดภัย
หลังจากที่เราเข้าไปยุ่งระบบสำคัญ เราก็ควรที่จะทำให้มันกลับสู่สภาพเดิมที่ควรจะเป็น
วิธีการเปิดระบบป้องกันไฟล์:
- ปิดคอมพิวเตอร์ด้วยการ Shut Down
- เปิดคอมพิวเตอร์ ก่อนเปิดให้กดปุ่ม Command+R ค้างไว้จนกว่าโลโก้ Apple จะขึ้นมาบนหน้าจอ
- ถ้าทำถูกต้อง จะมีหน้าจอเลือกภาษา ผมแนะนำให้เลือกภาษาอังกฤษ
- จากเมนูด้านบน เลือก Utilities -> Terminal
- พิมพ์คำสั่งด้านล่าง แล้วกด Enter
csrutil enable
- หลังจากนั้น ให้รีสตาร์ตคอมพิวเตอร์ ก็เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี