CRM System & CRM Software

Pavinee Thongngao
CSCMU Undergrad Seminar
3 min readApr 10, 2020

เนื่องจากปริมาณธุรกิจในตลาดมีการแข่งขันสูงตามการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจอยู่ตลอดเวลา คู่แข่งก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่จำนวนลูกค้ายังเท่าเดิม การบริหารความสัมพันธ์ลูกค้าแบบ CRM จึงเกิดขึ้นเพื่อให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจสูงสุด นำมาซึ่งความภักดีของลูกค้าต่อธุรกิจหรือองค์กร สามารถทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีโอกาสที่จะทำกำไรในระยะยาวได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย

CRM คืออะไร ???

CRM ย่อมาจาก Customer Relationship Management เป็นการบริหารจัดการความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับลูกค้า ออกแบบมาเพื่อช่วยให้บริษัทสามารถจัดการกระบวนการต่าง ๆ ภายใน ให้ดำเนินการนำเสนอสินค้าหรือบริการได้อย่างสอดคล้องและตอบสนองได้ตรงต่อความต้องการของลูกค้า

เป้าหมายของระบบ CRM

นั้นไม่ได้เน้นเพียงแค่การให้บริการแก่ลูกค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเก็บข้อมูลพฤติกรรมในการใช้จ่ายและความต้องการของลูกค้า จากนั้นจะนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์และใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือการบริการรวมไปถึงนโยบายในด้านการจัดการ ซึ่งสุดท้ายแล้วเป้าหมายของการพัฒนา CRM ก็คือ การเปลี่ยนจากผู้บริโภคไปสู่การเป็นลูกค้าตลอดไป

กระบวนการทำงานของ CRM
กระบวนการทำงานของ CRM ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนดังนี้

กระบวนการทำงานของ CRM
  1. Identify : การเก็บข้อมูลว่าลูกค้าของบริษัทเป็นใคร เช่น ชื่อลูกค้า ข้อมูลสำหรับติดต่อกับลูกค้า
  2. Differentiate : เป็นการวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าแต่ละคน และจัดแบ่งลูกค้าออกเป็นกลุ่มตามคุณค่าที่ลูกค้ามีต่อบริษัท
  3. Interact : การมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าเพื่อเรียนรู้ความต้องการของลูกค้า และสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าในระยะยาว
  4. Customize : นำเสนอสินค้าหรือบริการที่มีความเหมาะสมเฉพาะตัวกับลูกค้าแต่ละคน

ทำไมธุรกิจถึงต้องการระบบ CRM ???

สำหรับเหตุผลที่ธุรกิจต้องการระบบ CRM มาช่วยเพิ่มประโยชน์ให้ธุรกิจ มีดังต่อไปนี้ค่ะ โดยจะแบ่งให้เห็นว่าในแต่ละด้านทั้ง ด้านการตลาด ด้านการขาย ด้านการบริการ ช่วย support ธุรกิจในเรื่องการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้ามากขนาดไหน ซึ่งจะเล่าในเชิงประโยชน์ของ Software ที่เข้ามาช่วยนะคะ ไปดูกันเลยยยย

ด้านการตลาด

  • แบ่งที่มาของผู้ที่ติดต่อเข้ามายังบริษัทหรือธุรกิจได้ดี โดยจะทำการจัดกลุ่ม ว่าลูกค้าเข้ามาจากเคมเปญการตลาดใดและการโฆษณาจากแหล่งใด เช่น เข้ามาจาก การจัดกิจกรรมทางการการตลาดการออกอีเวนท์, การออกบูธ, เข้ามาจากโฆษณา เช่น การโฆษณาบิลบอร์ด ตามที่ต่างๆ, การลงสื่อนิตยสารฉบับใดๆ ฉบับไหนบ้างที่สร้างรายได้ให้เรา, การโฆษณาใน Facebook, การโฆษณาทางทีวี, การแจกใบปลิว,การส่งอีเมล์, การส่งเอกสารไปยังบ้านของกลุ่มเป้าหมาย
  • สามารถวิเคราะห์การลงทุนได้ชัดเจนมากขึ้น โดยสามารถวิเคราะห์ได้ว่าการลงทุนกับสื่อไหนคุ้มค่า และได้ผลตอบแทนเท่าไหร่ กำไรเท่าไหร่วัดได้ชัดเจนมากขึ้นในรูปแบบของตัวเลขและตัวเงิน
  • การทำงานที่ส่งเสริมกันระหว่างงานการตลาดกับการขายทำได้ง่าย ซึ่งสามารถทำได้โดยการส่งต่อลูกค้าไปยังพนักงานขายที่เหมาะสมหรือพนักงานขายที่ดูแลเฉพาะกลุ่มลูกค้า กลุ่มนั้นๆ ใครเป็นลูกค้ารายหลัก รายสำคัญ การจัดกลุ่มลูกค้า การแบ่งเกรดลูกค้า เช่น 10 อันดับลูกค้าที่ทำเงินให้กับบริษัทของเราก็สามารถดูได้
  • ช่วยบริหารจัดการ ติดตามและดูแลลูกค้าได้อย่างง่าย สะดวก รวดเร็ว เช่น การส่ง E-mail Marketing, การส่งอีเมล์จำนวนมาก (Mass E-mail), การส่ง SMS Marketingไปยังกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งต่างๆเหล่านี้สามารถดำเนินการผ่านระบบได้ทั้งหมดเลย

ด้านการขาย

  • เห็นความเคลื่อนไหวในกิจกรรมที่พนักงานขายทำกับลูกค้าทั้งหมด เช่น การโทรศัพท์, การเข้าพบ, การส่งอีเมล์, วันที่ปิดยอดขาย, วันที่เก็บเงินได้ รวมทั้งทราบว่าลูกค้ารายใดเข้ามาจากทางพนักงานขาย เช่น การออกไปพบลูกค้าโดยตรง และมาจากพนักงานขายรายใด ใครเป็นผู้ติดต่อลูกค้าในครั้งแรก และใครเป็นผู้ปิดการขาย พนักงานขายแต่ละรายทำยอดขายได้เท่าไหร่
  • มีรายงานที่สามารถวัดผลได้เป็นรูปแบบที่สามารถปรับแต่งให้เข้ากับองค์กร เช่น แบ่งแยกยอดขายตามประเภทของลูกค้า, แบ่งแยกยอดขายตามประเภทอุตสาหกรรม, แบ่งแยกยอดขายตามพื้นที่, แบ่งแยกยอดขายตามพนักงานขาย, แบ่งแยกยอดขายตามเวลา ทั้งแบบquarter, Monthly, Yearly รวมทั้งสามารถดูรายงานย้อนหลังได้ทั้งหมด หรือแม้กระทั่งคาดการณ์ยอดขายล่วงหน้า

ด้านการบริการ

  • ทุกช่องการติดต่อของลูกค้าถูกบันทึกจัดเก็บไว้ในระบบ ซึ่งหมายความว่า ทุกกรณี (Case) ที่ลูกค้าติดต่อเข้ามาขอรับบริการไม่ว่าจะติดต่อผ่านทางช่องทางไหนจะถูกบันทึกจัดเก็บไว้ในระบบและส่งต่อไปยังเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องอย่างรวดเร็ว ทำให้แก้ไขปัญหาได้เร็วขึ้นกว่าเดิม ณ เวลาจริง บันทึกเป็นผลการทำงานและเปอร์เซนต์การตอบสนองต่อกรณีต่างๆ ว่าใช้เวลาเท่าไหร่ในการปิดกรณีนั้นๆ
  • พนักงานสามารถติดต่อกันได้ภายในแผนกและประสานงานกับแผนกที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็ว
  • บันทึกข้อมูลวิธีการแก้ไขปัญหาและการตอบสนองต่อคำถามต่างๆของลูกค้า โดยจะถูกบันทึกเก็บไว้และสามารถค้นหาได้ นำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้งเมื่อเจอเคสแบบเดิม ที่ใช้วิธีการแบบเดิมในการตอบสนองกับลูกค้า อาจแค่ปรับนิดหน่อยหรือใช้มันได้เลย ประหยัดเวลาเป็นอย่างมาก รวมทั้งสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าเป็นอย่างสูง ทำให้เปอร์เซนต์การกลับมาซื้อสินค้าหรือบริการของลูกค้าสูงขึ้น
  • สามารถวัดผลได้เป็นตัวเลขและมีระบบรายงานทางสถิติต่างๆ เช่น ตัวเลขอัตราความพึงพอใจในการให้บริการ, ระยะเวลาในการให้บริการเฉลี่ยต่อราย, จำนวนลูกค้าที่พนักงานให้บริการต่อวัน ต่อ พนักงานหนึ่งคน, ปริมาณงานที่ทำได้สำเร็จ, กำหนดระยะเวลาในการให้บริการ ต้องเสร็จเมื่อไหร่, ปริมาณงานบริการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง, จำนวนงานบริการที่สำคัญต้องทำก่อน , คะแนนของพนักงานแต่ละคน คนใดทำงานได้ดี คนใดต้องปรับปรุง

โอ้โหหห !! เห็นมั้ยละว่า CRM มีประโยชน์ขนาดไหนต่อธุรกิจ เห็นแบบนี้แล้วหลายๆธุรกิจต้องนำไปปรับใช้ซะแล้วว ก่อนจะไปรู้จัก CRM Software ที่ช่วยบริหารความสัมพันธ์ลูกค้าแล้ว ไปดูกันก่อนค่ะ ว่าธุรกิจประเภทใดควรจะนำ CRM ไปปรับใช้ ไปดูกันเลยยย

ธุรกิจประเภทใดบ้างที่ควรใช้ระบบ CRM ???

  • CRM เหมาะสำหรับธุรกิจที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของทีมงาน และฐานลูกค้า เนื่องจากธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องมีศูนย์กลางที่สามารถเก็บข้อมูลของลูกค้าได้ เพราะระบบ CRM ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหา ด้วยการจัดระบบรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับลูกค้า และทำให้ทุกคนในทีมได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสถานะธุรกิจและสถานะความสัมพันธ์กับลูกค้าในทุกๆเรื่อง
  • บริษัทรูปแบบ B2B (Business to Business) โดยเป็นบริษัทที่จำนวนลูกค้าอาจจะไม่ได้มีจำนวนที่เยอะมาก แต่ในการซื้อขายแต่ละครั้งเป็นการซื้อขายที่มีมูลค่ามหาศาล ซึ่งโดยปกติแล้วจะต้องติดตามลูกค้าจากข้อมูลการขายที่ย้อนไปเป็นเวลาหลายเดือนหรืออาจจะหลายปีและมีข้อมูลต้องอัพเดทตลอดเวลา
  • บริษัทรูปแบบ B2C (Business to Customer) โดยเป็นบริษัทที่จำนวนลูกค้ามีเป็นจำนวนมาก เช่น 7–11, agoda บริษัทในรูปแบบนี้จะต้องมีฐานข้อมูลของลูกค้าอยู่มาก ยิ่งถ้าในบริษัทมีหลายทีมงานและมีการจัดเก็บข้อมูลแยกกัน อาจจะทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการสื่อสารได้ ระบบ CRM จึงเข้ามามีบทบาทที่สำคัญอย่างมากในการรักษาสายสัมพันธ์ หรือในกรณีที่พนักงานไม่เพียงพอสำหรับการตอบสนองความต้องการของจำนวนลูกค้าเป็นจำนวนมาก

ในเมื่อรู้จักระบบ CRM กันไปพอสมควรแล้ว ต่อไปนะคะ มารู้จัก CRM Software กันดีกว่าค่ะ ตัวช่วยที่ทำให้การบริหารความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับลูกค้าดียิ่งขึ้น และส่งผลต่อธุรกิจให้มีรายได้มหาศาล ไปรู้จักกันเลยยย

CRM Software คืออะไร ???

CRM Software คือ ชุดซอฟต์แวร์ที่สร้างขึ้นเพื่อติดตามการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบริษัทและลูกค้า ทำให้พนักงานผู้ให้บริการมีข้อมูลครบถ้วนในการให้บริการ ทำให้ลูกค้าประทับใจในความถูกต้องและรวดเร็วในบริการ และทำให้ลูกค้ามีความจงรักภักดีต่อองค์กร

ประเภทการใช้งาน CRM Sofware

แบ่งตามการใช้งาน สามารถแบ่งได้ 3 ประเภทดังนี้

  1. Operational CRM : เป็นซอฟท์แวร์ front office ที่ใช้ช่วยจัดการกระบวนการทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น sales, marketing หรือ service เช่น การจัดการข้อมูลติดต่อลูกค้า การเสนอราคา การบริหารฝ่ายขาย การเก็บข้อมูลพฤติกรรมลูกค้า ระบบบริการลูกค้า เป็นต้น
  2. Analytical CRM : ระบบวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าที่รวบรวมได้จากส่วน Operational CRM หรือจากแหล่งอื่นๆ เพื่อแบ่งลูกค้าออกเป็นกลุ่มและค้นหากลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่บริษัทสามารถนำเสนอสินค้า หรือบริการเพิ่มเติมได้
  3. Collaborative CRM : ระบบช่วยสนับสนุนในการติดต่อปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าผ่านทางช่องทางต่างๆ เช่น ติดต่อส่วนตัว จดหมาย โทรศัพท์ เว็บไซต์ E-Mail เป็นต้น รวมถึงช่วยจัดการทรัพยากรที่บริษัทมีคือ พนักงาน กระบวนการทำงาน และฐานข้อมูลลูกค้า เพื่อนำไปให้บริการแก่ลูกค้าและช่วยรักษาฐานลูกค้าของบริษัทได้ดีขึ้น

แบ่งตามการพัฒนา สามารถแบ่งได้ 2 ประเภทหลักๆ ดังนี้

  1. Cloud-based CRM : หรือที่เรียกว่า Software as a Service (SaaS) เป็นระบบที่เก็บข้อมูลเอาไว้บนคลาวด์ มีข้อดีก็คือ พนักงานสามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดของโลกใบนี้ก็ตาม ขอแค่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตก็สามารถเข้าถึงได้แล้ว เพราะระบบ Cloud-based CRM ใช้งานง่ายมาก ทั้งการติดตั้งและการใช้งาน มีความยืดหยุ่นสูง แต่ก็ยังมีข้อด้อยในเรื่องของระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูล เนื่องจากไม่สามารถควบคุมการจัดเก็บข้อมูลและการบำรุงรักษาข้อมูลได้ หากระบบคลาวด์มีปัญหาก็อาจส่งผลกระทบต่อระบบข้อมูลเราได้เช่นกัน
  2. On-premises CRM : เป็นระบบ CRM ที่ถูกติดตั้งไว้บนเซิฟเวอร์ขององค์กร ซึ่งหากองค์กรใดต้องการติดตั้งระบบ CRM ในลักษณะนี้จะต้องลงทุนซื้อเซิร์ฟเวอร์และฮาร์ดแวร์เอง โดยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อสัญญาล่วงหน้าแทนการจ่ายค่าบริการรายปีแบบ Cloud-based CRM แต่โดยรวมจะมีข้อดีตรงที่องค์กรสามารถควบคุมความเสี่ยงได้ด้วยระบบการรักษาความปลอดภัยที่ง่ายและบำรุงรักษาฐานข้อมูลได้เอง ซึ่งช่วยให้องค์กรมั่นใจได้ว่าข้อมูลไม่เสียหายง่ายๆ แน่นอน ระบบแบบนี้ส่วนใหญ่จึงมักถูกใช้กับองค์กรที่มีขนาดใหญ่และมีระบบ CRM ที่ซับซ้อน

ตัวอย่าง CRM Software ในตลาด

สำหรับ CRM Software ในตลาดปัจจุบันมีมากมายให้เลือกใช้ สามารถเลือกได้เลยว่าตัวไหนเหมาะกับธุรกิจของเรา CRM Software ที่ดังๆในตลาดยกตัวอย่างดังต่อไปนี้

  1. Salesfore
  2. Zoho
  3. Less Annoying CRM
  4. Hubspot
  5. Pipedrive

หากใครสนใจ CRM Software เพื่อนำไปใช้กับธุรกิจสามารถเข้าไปดูได้ที่นี่เลยย >> CRM Software <<เค้าจัดอันดับและบอกข้อดี-ข้อเสียของ Software แต่ละตัวแล้วว ซึ่งดีมากๆเลยค่ะ

และสำหรับใครที่สนใจ Salesforce (Software อันดับต้นๆของโลก) สามารถไปเรียนรู้ได้ที่นี้เลยค่ะ >> Salesforce <<

“สุดท้ายแล้วว….ขอบคุณมากๆเลยนะคะที่อ่านมาจนถึงตรงนี้ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกๆคนที่เข้ามาอ่านนะคะ ขอบคุณมากๆค่ะ”

References

--

--