สรุปหนังสือ: ความลับที่คนอ่านหนังสือเท่านั้นจะรู้

Teerasak Thaluang
Daily Grow-up
Published in
1 min readAug 1, 2020

เขียนโดย ทาคาชิ ไซโต | แปลโดย กมลวรรณ เพ็ญอร่าม
Published 2020 โดยสำนักพิมพ์ช็อร์ตคัต (Frist Published 2019)
182 pages

“การอ่านหนังสือคือความสุขที่สามารถสัมผัสได้เฉพาะผู้ที่เกิดในเผ่าพันธ์มนุษย์เท่านั้น” ประโยคหนึ่งในหนังสือที่ผมรู้สึกชอบมาก ๆ ครับ

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือแปลจากภาษาญี่ปุ่น ของคุณทาคาชิ ไซโต ศาสตราจารย์ด้านอักษรศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเมจิ ผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการศึกษาทฤษฎีกายภาพและการสื่อสาร อีกทั้งยังเป็นนักเขียนติดอันดับขายดีของญี่ปุ่นอีกด้วย

สำหรับหนังสือเล่มนี้ อาจารย์ไซโตพยายามชี้ให้เห็นข้อดีต่าง ๆ ของการอ่านหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือแนววิชาการหรือเรื่องที่เรียบเรียงขึ้นจากความจริง (Non-Fiction) และหนังสือแนวนวนิยายที่แต่งขึ้น (Fiction) ซึ้งล้วนแล้วแต่สามารถขยายขอบเขตทางความคิดและทัศนคติของผู้อ่านให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นได้ หากรู้เทคนิคและวิธีการอ่านที่ถูกต้องครับ

อ่านอย่างไรให้เรามีความคิดที่ละเอียดลึกซึ้ง

การอ่านทำให้เรามีความรู้มากขึ้นก็จริง แต่คนที่มีความรู้ก็อาจไม่ใช่คนที่มีความ “ละเอียดลึกซึ้ง” เสมอไป สิ่งที่ทำให้เรามีความละเอียดลึกซึ้งได้ก็คือ “การเรียนรู้” และเข้าใจให้ถึง “แก่นแท้” ของสิ่งต่าง ๆ ที่เราได้อ่าน

การคิดแบบวิเคราะห์
โดยการจะเข้าถึงแก่นแท้ของเรื่องราวต่าง ๆ นั้น เราต้องฝึกฝน “ความสามารถในการคิดวิเคราะห์” หรือความเชื่อมโยงระหว่างคำพูดและการกระทำที่แตกต่างไปในแต่ละบริบทหรือสถานการณ์ โดยเฉพาะในการอ่านวรรณกรรม หากเราสามารถเข้าใจความสู้สึกอันซับซ้อนที่ผู้เขียนส่งผ่านมาทางเรื่องราวต่าง ๆ ในหนังสือได้ เราก็จะสามารถพัฒนาไปสู้ผู้ที่มีความละเอียดลึกซึ้งมากขึ้นได้

การจับใจความและสร้างทักษะทางปัญญา
นอกจากความสามารถในการคิดวิเคราะห์แล้ว “ความสามารถในการจับใจความ” และ “การสร้างทักษะทางปัญญา (หรือความสามารถในการเข้าใจ)” ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ การเรียนรู้จากการถ่ายทอดทักษะจากมืออาชีพ จะสามารถกระตุ้นให้เราพยายามสร้างทักษะในลักษณะเดียวกันกับผู้ที่ถ่ายทอด ดังนั้นการอ่านหนังสือจากผู้ที่มีทักษะทางปัญญาชั้นเลิศ อย่างเช่น “คัมภีห้าห่วง” ของท่านมูซาชิ ก็จะสามารถขัดเกลาทักษะทางปัญญาของเราให้สูงขึ้นและละเอียดลึกซึ้งมากขึ้นด้วยเช่นกัน

จดจำความรู้สึกแรกเริ่ม
ความรู้สึกแรกเริ่มคือ ความรู้สึกที่เรายังอ่อนประสบการณ์ แม้ว่าวันนี้เราจะมีความรู้และประสบการณ์มาขึ้นแค่ไหนก็จงอย่าลืมวันแรกที่เรายังไม่รู้อะไรเลย การจดจำความรู้สึกแรกเริ่มนี้ จะทำให้เราหมั่นฝึกฝนตัวเองอยู่เสมอ และไม่เป็นคนประเภทน้ำเต็มแก้ว

ดึงความคิดเข้าหาตัวเอง
เมื่อเราอ่านเรื่องราวในหนังสือ ให้เราคอยถามตัวเองว่า “ในสถานการณ์แบบนี้ ถ้าเป็นเราจะทำอย่างไร” หากเราอ่านแล้วเจอเนื้อหาที่ทำให้เราฉุกคิดอะไรบางอย่าง แปลว่าเนื้อหาส่วนนั้นอาจซ้อนทับกับประสบการณ์ของเรา ให้เราจดเอาไว้เพื่อนำมาขบคิดในมุมมองของตัวเอง การทำแบบนี้ก็จะทำให้เรามีความคิดที่ละเอียดลึกซึ้งมากขึ้นได้

เขียนความประทับใจที่มีต่อหนังสือ
หากเราอ่านหนังสือไปเรื่อย ๆ โดยไม่ได้ใช้พลังของการคิดวิเคราะห์ เราอาจสรุปเนื้อหาของหนังสือได้ แต่เราอาจไม่สามารถเขียนแสดงความรู้สึกที่มีต่อหนังสือเล่มนั้นได้ การฝึกเขียนความประทับใจจะทำให้เราสัมผัสถึงอารมณ์และสิ่งต่าง ๆ ที่สะท้อนออกมาจากผู้เขียนได้อย่างลึกซึ้งขึ้น

แลกเปลี่ยนความเห็น
การแลกเปลี่ยนความเห็นจากคนที่อ่านหนังสือเล่มเดียวกัน เราอาจพบว่าคนอื่นอาจมีมุมมองที่ต่างไปจากเรา ซึ่งจะกระตุ้นให้เราขบคิดในประเด็นนั้นได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น หรือหากคุณไม่มีคนให้พูดคุยด้วย การหาอ่านรีวิวหนังสือที่คนอื่นเขียนไว้ ก็อาจทำให้เราเห็นประเด็นหรือมุมมองที่ต่างออกไปได้เช่นกัน

อ่านอย่างไรให้มีความรู้ที่ล้ำลึก

ความรู้เป็นสิ่งที่แตกตัวเหมือนกับการแบ่งเซลล์ มันจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้แบบทวีคูณ ดังนั้นหากเราเริ่มอ่านหนังสือในช่วงแรก หรืออ่านจบไปประมาณ 20–30 เล่ม แต่กลับรู้สึกว่าไม่ค่อยมีความรู้อะไรเพิ่มเติมมากนัก

ไม่ต้องกังวลครับ เมื่อถึงจุดหนึ่งคุณจะพบว่า คุณสามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้นอย่างน่าตกใจ เพราะความรู้จะเชื่อมโยงกันจนทำให้อัตราการเรียนรู้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และยิ่งเรานำความรู้ไปแบ่งปันให้คนอื่นหรือนำมาใช้ก็จะยิ่งทำให้ความรู้นั้นล้ำลึกมากขึ้น

แม้แต่การอ่านวรรณกรรมคราสสิก หากเราสามารถหาความเชื่อมกับสถานการณ์ปัจจุบันได้ เราก็จะได้รับความรู้ดี ๆ มากขึ้นได้เช่นกัน

หนังสือขายดีติดอันดับ ส่วนไหญ่จะมีเนื้อหาตรงกับสถานการณ์และกระแสสังคมในช่วงนั้น จึงเป็นหนังสือที่ควรอ่านอย่างยิ่ง

อ่านอย่างไรให้มีวิสัยทัศน์

คนที่มีทัศนคติดีมักถูกเรียกว่า ผู้มีวิสัยทัศ โดยวิสัยทัศก็คือ มุมมองความคิดที่เติบโตมาจากการเรียนรู้ ดังนั้นการอ่านงานของนักเขียนที่มีผลงานเลื่องชื่อก็สามารถทำให้เราซึมซับมุมมองความคิดของพวกเขาได้ อย่างเช่นงานเขียนของท่านอาจารย์ขงจื้อ

อ่านอย่างไรให้ชีวิตล้ำลึกขึ้น

สำหรับวรรณกรรม แพ้ชนะไม่ใช่สิ่งสำคัญ โดยส่วนใหญ่วรรณกรรมจะมุ้งเน้นไปที่การหาความหมายของชีวิต หากเราอ่านหนังสือและพยายามเข้าใจความหมายของชีวิตของตัวละครนั้นไปด้วย และตรึกตรองถึงความหมายในชีวิตของเราเอง สิ่งที่เราให้คุณค่า ก็จะทำให้เราสามารถเข้าใจความละเอียดลึกซึ้งของเรื่องราวต่าง ๆ ที่พบเจอ และเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นได้มากขึ้น

การอ่านเชิงวิจารย์

การอ่านหนังสือเป็นการเข้าไปยังโลกอีกใบหนึ่งของผู้เขียน ซึ่งอาจทำให้เรารับเอาแนวความคิดของผู้เขียนเข้ามาเป็นของเราได้ง่าย ๆ โดยไม่รู้ตัว ซึ่งบางครั้งอาจส่งผลในทางลบ ดังนั้นเราจึงควรอ่านในเชิงวิจารย์ หรือการอ่านโดยใช้มุมมองของตัวเองมากกว่า การอ่านเชิงวิจารย์กับหนังสือหลายประเภท จะทำให้ความคิดของเรามีความสมดุลมากขึ้น และสามารถแยกแยะหรือเลือกรับแนวความคิดบางส่วนของผู้เขียนและซึมซับเนื้อหาไปได้พร้อมกันได้ด้วย

สุดท้ายขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่าน ที่สามารถเพิ่มพูนความรู้ ทัศนคติและพัฒนาความคิดให้ละเอียดลึกซึ้งได้มากขึ้นด้วยเทคนิคต่าง ๆ จากหนังสือเล่มนี้นะครับ

ขอบคุณที่ติดตามครับ

--

--

Teerasak Thaluang
Daily Grow-up

Engineer | Father | Reader and Giver for daily grow-up